วันที่ 3 กรกฎาคม ย้อนกลับไปเมื่อ 35 ปีก่อน กลางช่วงเทศกาลซัมเมอร์ของสหรัฐฯ และใกล้กับวันชาติอเมริกา 4 กรกฎาคม โปรแกรมหนังที่จะถูกวางไว้ในช่วงวันนี้จะต้องเป็นโปรแกรมทองที่จะเรียกผู้ชมทั้งครอบครัวออกมาชมกันในช่วงวันหยุดยาว และในปีนั้นเองภาพยนตร์ไซไฟผจญภัยเดินทางย้อนเวลาเรื่องหนึ่งก็ได้เข้าฉายในปีนั้น และกลายเป็นหนังทำเงินระดับปรากฎการณ์ Back to the Future ครองแชมป์อันดันหนึ่งตาราง box office ของสหรัฐฯ ตั้งแต่สัปดาห์ที่เข้าฉายยาวไปจนจบปีใหม่ (ส่งผลให้ในปีนั้นมีหนังที่ครองแชมป์บนตารางหนังทำเงินแค่ 3 เรื่องคือ Ghostbusters (1984) หนังเก่าจากปีก่อน, Rambo: First Blood Part II (1985) และเรื่องนี้
- ชมคุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ review หนังสือ “The Ultimate Visual History” ของภาพยนตร์ Back to the Future
เรื่องราวการสร้าง Back to the Future
Back to the Future เป็นผลงานการอำนวยการสร้างของพ่อมดฮอลลีวูด Steven Spielberg ที่กำลังโด่งดังจากการทำหนัง E.T. the Extra-Terrestrial (1982) และ Raiders of the Lost Ark (1981) และเป็นผลงานของผู้กำกับ Robert Zemeckis ที่ตอนนั้นยังไม่ได้กำกับหนังหลายเรื่อง มีแค่ Romancing the Stone (1984) นำแสดงโดย Michael Douglas และ Kathleen Turner และ (1980) นำแสดงโดย Kurt Russell พวกเขาทั้งสองร่วมกันสร้างหนังไซไฟผจญภัยเนื้อหาวิทยาศาสตร์ ที่นำแสดงโดยนักแสดงวัยรุ่นที่เล่นหนังมาไม่กี่เรื่องอย่าง Michael J. Fox จาก Class of 1984 (1982) และอีกคนคือ Christopher Lloyd ที่มีผลงานเป็นที่รู้จักในตอนนั้นจาก The Adventures of Buckaroo Banzai Across the 8th Dimension (1984) และ Star Trek III: The Search for Spock (1984)
หนังกลายเป็นความสำเร็จระดับปรากฏการณ์แค่ไหนในเวลานั้น เห็นได้จากการที่หนังใช้ทุนสร้าง 19 ล้านเหรียญฯ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปานกลางไม่มากไม่น้อย เปิดตัวสุดสัปดาห์แรกไป 11 ล้านเหรียญฯ และทำรายได้ลากยาวต่อเนื่องตลอดทั้งปี ไปจบโปรแกรมฉายในสหรัฐฯ ด้วยรายได้รวมสูงถึง 211 ล้านเหรียญฯ และรายรับรวมทั่วโลก 391 ล้านเหรียญฯ แถมหนังยังคว้ารางวัลออสการ์สาขาเอฟเฟกต์ และตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม รวมถึงเข้าชิงบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Bob Gale และ Robert Zemeckis), ตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม และเพลงประกอบยอดเยี่ยมด้วย ย้ำอีกครั้งว่า นี่ไม่ใช่ผลงานของนักแสดงหรือผู้กำกับดัง ดังนั้นความสำเร็จจึงอยู่ที่พลังการขับเคลื่อนของตัวหนังเองล้วน ๆ
“ถ้าได้เป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนกับพ่อตัวเองขึ้นมาละ ผมจะสนิทกับพ่อได้ไหม พ่อแม่เราก็เคยเป็นเด็กเหมือนเรามาก่อน แล้วก็ยังไม่มีใครทำหนังเกี่ยวกับประเด็นนี้เลย ผมเลยอยากทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา”
Bob Gale มือเขียนบทของหนังที่ไม่ยอมให้หนังมีฉบับรีเมกเล่า (เขาเป็นคนถือลิขสิทธิ์ของหนังและบทเพียงหนึ่งเดียว)
ก่อนที่จะเล่าว่าไอเดียแรก ๆ ของการย้อนเวลาของตัวละครนำอย่าง Marty McFly เป็นยังไง “มันจะเกิดขึ้นเพราะอุบัติเหตุเหมือนเดิมครับ แต่ตอนแรกเราไม่มีรถเดอลอเรียน ในบทร่างแรก ๆ เคยเป็นห้องกาลเวลา ฉากหอนาฬิกาช่วงท้ายก็จะไม่มี แต่เป็นการระเบิดของนิวเคลียร์แทน ซึ่ง…มันซับซ้อนเกินไปน่ะครับ
แต่แนวคิดหลักของเรื่องที่ไม่เคยเปลี่ยนสำหรับทีมสร้างทุกคนคือ “กฎการย้อนเวลา” ที่พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเราเกิดการไปเปลี่ยนแปลงอดีต ย่อมจะส่งผลต่ออนาคตรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะกับปัจจุบันในปี 1985 ที่ Marty เดินทางจากมา ก็จะกลายเป็นปัจจุบันแบบใหม่อย่างสิ้นเชิง ทีมเขียนบทอาศัยรถใต้ดินในนิวยอร์กเป็นตัวเปรียบเทียบ ว่าหากเปลี่ยนสาย สถานีปลายทางก็เปลี่ยนไปตาม เช่นเดียวกับความเป็นจริงชุดเก่าซึ่งจะถูกแทนที่ด้วยชุดใหม่
“สตูดิโอ Columbia บอกว่าหนังมันก็น่ารักอบอุ่นดี แต่มีเรื่องรักไม่พอ สตูดิโอ Disney บอกว่า เนื้อหามันไม่เหมาะสม เพราะมีเรื่องราวที่แม่ไปตกหลุมรักลูกชายตัวเอง เราเลยต้องไปพึ่ง Steven Spielberg”
Bob Gale เล่าถึงความหลังต่อ
ถึงหนังที่ถูกสตูดิโอปฏิเสธรวม 40 ครั้ง และสตูดิโอ Universal เองก็กดดันให้ทั้งเขาและผู้กำกับเปลี่ยนไปทำหนังเรื่องอื่น ถูกสั่งเปลี่ยนชื่อหนัง เปลี่ยนโทนหนังบ้าง เพื่อให้หนังเสี่ยงต่อการขาดทุนน้อยที่สุด แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ไม่เกิดขึ้น
“Bob กับผมรู้อยู่แล้วว่าบทหนังของเราดีจริง ๆ แม้ว่าทุกคนจะบอกให้เลิกให้หยุดไม่รู้จะกี่ครั้ง ทุกไดอะล็อก ทุกจังหวะ ทุกการตัดต่อ ทุกช็อตล้วนออกมาในแบบที่หนังเรื่องหนึ่งควรจะมี นั่นคือ การขับเคลื่อนพล็อตและพัฒนาตัวละครอย่างสมเหตุสมผลและสนุกด้วย” ผู้กำกับ Zemeckis กล่าวอย่างภูมิใจในผลงาน
Spielberg เคยอำนวยการสร้างในผลงานสองเรื่องแรกของผู้กำกับ Robert Zemeckis อย่าง I Wanna Hold Your Hand (1978) กับ Used Cars (1980) แต่ต่อมา Zemeckis เกิดเปลี่ยนใจ กลัวคำครหาว่ามาเกาะบารมีของ Spielberg โดยไม่ได้ใช้ฝีมือของตัวเอง เขาจึงไปพิสูจน์ตัวเองกับหนังตลกผจญภัยอย่าง Romancing the Stone (1984) ซึ่งกลายเป็นความสำเร็จในที่สุด ทำรายได้ไป 76 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้างแค่ 10 ล้านเหรียญฯ จากความสำเร็จครั้งนี้จึงเพิ่มความมั่นใจให้กับ Zemeckis ที่จะกลับไปให้ Spielberg เดินหน้าโพรเจกต์ต่อไป (สุดท้าย Back to the Future ก็เป็นหนังทำเงินสูงสุดอันดับ 3 ของ Zemeckis เป็นรองแค่ Forrest Gump (1994) และ Cast Away (2000))
การถ่ายทำ Back to the Future
การถ่ายทำเริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 1984 ทีมงานยกกองกันไปถ่ายในโรงเรียนช่วงปิดเทอม จนกระทั่งสัปดาห์ที่หกนั้นเองที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อ Zemeckis ตัดสินใจเปลี่ยนตัวพระเอกของเรื่องกลางคันจาก Eric Stoltz ที่ดูซีเรียสเกินไปจนหนังขาดความเฮฮา เป็นเหตุให้ทีมงานต้องหาผู้มารับบทเป็น Marty McFly คนใหม่อย่างปัจจุบันทันด่วน และก็บทก็ไปตกอยู่ที่ Michael J. Fox ที่เป็นตัวเลือกสำรองอันดับ 1
Bob Gale เล่าให้ฟังต่อว่า “เราอยากได้ Michael J. Fox มาตั้งแต่แรก แต่ตอนนั้นเขากำลังเล่นซีรีส์เรื่อง Family Ties เราจึงไปเจรจากับโปรดิวเซอร์ของซีรีส์นั้นเพื่อขอยืมตัว แต่เขาบอกว่า “ไม่ได้เด็ดขาด” เราจึงให้เขาลองอ่านบทหนัง จนเขาตอบพวกเราว่า “ขืนให้ Michael ได้อ่านบทหนังเรื่องนี้ แต่ต้องบอกว่าเขาจะไม่ได้เล่น…เขาคงเกลียดขี้หน้าผมไปชั่วชีวิตแน่นอน” ถึงตอนนั้นล่ะ เราถึงแคสต์ Eric Stlotz มาแทน แต่พอถึงคราวตัดรวมฟุตเทจที่ถ่ายไปให้ Steven Spielberg, Frank Marshall และ Kathleen Kennedy เหล่าโปรดิวเซอร์ของเรื่อง ทุกคนก็บอกตรงกันว่า Stoltz ยังไม่ใช่ Marty”
พวกเขาต้องถ่ายซ่อมแบบมโหฬาร (ลองดูฉากที่ Stlotz ได้ถ่ายทำเสร็จไปแล้วในคลิปก็ได้) เพื่อทดแทนฉากเปลี่ยนใหม่ให้เป็น Michael J. Fox นำแสดง แล้วคิวของ Fox ที่ติดพันการถ่ายซีรีส์ก็ไม่ใช่ว่าจะได้มา นักแสดงหนุ่มวัย 23 ยังคงต้องถ่ายซีรีส์ในช่วงกลางวัน และมาเข้ากองถ่ายหนัง Back to the Future ช่วงกลางคืน เริ่มตั้งแต่ 6 โมงเย็นลากยาวไปถึงตี 2 ซึ่งต้องบอกเลยว่า การจะได้นักแสดงที่เปี่ยมไปด้วยพลังงาน แรงดีไม่มีตก ที่มาร่วมกับหนังที่ต้องเร่งถ่ายแบบนี้ หาได้ไม่ง่ายนัก
(อ่านต่อหน้าถัดไป)
Back to the Future Part 2 และ Part 3
เพราะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ภาคต่อจึงต้องตามมาอย่างแน่นอน กับภาค 2 ในปี 1989 ที่เรื่องราวจะซับซ้อนยิ่งขึ้นไปกว่าภาคแรก เพราะมีทั้งการย้อนเวลากลับไปในอดีตช่วงเวลาเดียวกันกับภาคแรก พร้อมกับเงื่อนไขที่ว่า ตัวตนที่ย้อนเวลาไปในภาคแรกห้ามรับรู้ถึงตัวตนในภาค 2 ที่ย้อนเวลาไปซ้ำอีกครั้ง รวมถึงยังเกี่ยวพันไปถึงโลกอนาคตในปี 2015 ที่โลกต้องผจญหายนะจากการร่วมมือกันของ Biff Tannen ตัวร้ายวัยหนุ่มและวัยแก่ที่รวมหัวกันเปลี่ยนแปลงอดีตจนตัวเองกลายเป็นมหาเศรษฐี ก่อนจะไปต่อกันที่ภาค 3 ที่เข้าฉายในปี 1990 ที่ย้อนอดีตกันไปถึงยุคคาวบอยตะวันตก ปี 1885 ที่ตัวร้ายคือ ปู่ทวด Mad Dog ต้นตระกูลของ Biff Tannen ขณะเดียวกัน Dr. Emmett Brown ก็ได้พบรักกับ Clara Clayton ด้วย
ทำไม Back to the Future Part 3 ถึงไม่ฮิต
กับตัวภาค 3 เอง ที่อาจถูกมองว่าเสื่อมความนิยมลง ถ้าวัดที่รายได้ในสหรัฐฯ ที่ทำไปไม่ถึงร้อยล้าน อยู่ที่ 88 ล้านเหรียญฯ (ทำรายรับรวมทั่วโลกไปที่ 249 ล้านเหรียญฯ ซึ่งก็ไม่นับว่าน้อยสำหรับรายได้ในตลาดโลก) และจากทุนสร้าง 40 ล้านเหรียญฯ ก็ห่างไกลจากคำว่าขาดทุน) มีการวิเคราะห์หาสาเหตุว่าทำไมในเวลานั้นหนังถึงไม่ได้รับความนิยมเท่าสองภาคแรก รวมถึงเมื่อเวลาผ่านมาถึง 35 ปี หนังก็สนุกสมกับเป็นไตรภาคที่ยอดเยี่ยมเกินกว่าที่ถูกประเมินต่ำกว่าที่ควรจะเป็นตอนหนังฉาย
The Hollywood Reporter วิเคราะห์ว่า เป็นเพราะหนังเปลี่ยนโทนจากการมีอุปกรณ์ในโลกอนาคต หรือการเดินทางไปโลกอนาคตที่ดูน่าตื่นตากว่าการย้อนกลับไปเล่าในโลกตะวันตกยุคคาวบอย ซึ่งเป็นบรรยากาศของหนังที่เห็นได้เป็นการทั่วไปของหนังในยุค 80s รวมถึงภาค 2 ที่เป็นส่วนขยายก็กลายเป็นภาคที่มีเส้นเรื่องสลับซับซ้อนที่ถือว่าลงตัวและเชื่อมโยงกับภาค 1 ได้ยังกลมกลืน แตกต่างจากภาค 3 ที่เพิ่มเส้นเรื่องและตัวละครใหม่ ๆ เข้ามา จนแฟน ๆ ของหนังอาจมองว่า จงใจสร้างเพื่อเรียกเงินจากกระเป๋าคนดู เพราะเรื่องราวของคู่ขนานของปี 1955 และ 1985 ได้รับบทสรุปจบลงอย่างสมบูรณ์ไปแล้ว
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ภาค 3 ทำรายได้ไม่เท่าภาค 2 (ทุนสร้างเท่ากันที่ 40 ล้านเหรียญฯ ทำรายได้ในสหรัฐฯ ไป 119 ล้านเหรียญฯ และทั่วโลก 346 ล้านเหรียญฯ) อาจเป็นเพราะออกฉายห่างจากภาค 2 ไม่นานเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งอาจยังไม่มากพอจะสร้างความคิดถึงและความอยากดูให้คนดูกลับมาดูภาค 3 (เป็นกรณีเช่นเดียวกับ The Matrix ภาค 2 และ 3 ที่ออกฉายห่างกันแค่ 6 เดือนในปี 2003 และภาคหลังสุดก็ทำรายได้น้อยสุดไตรภาคแบบเดียวกันเป๊ะ) แต่ขณะเดียวกัน ภาค 3 ก็เปิดอิสระให้กับ Bob Gale และ Robert Zemeckis ในการใส่เนื้อหาที่ไม่ต้องยึดโยงกับ 2 ภาคแรกได้อย่างมันมือ และถ้าไม่ใจร้ายเกินไป หนังภาค 3 ก็ปิดเรื่องราวอย่าง Happy Ending ให้กับทั้ง 3 เรื่องได้อย่างดี
ถ้าใครอยากชมสารคดีฉบับเต็ม เบื้องหลังงานสร้างหนัง Back to the Future ความยาวชั่วโมงกว่า ๆ What the Fact ได้นำ VDO YouTube มาโพสต์ไว้ให้ดูแล้วด้านล่างนี้เลย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส