“ผมสนใจเรื่องความฝันมาเนิ่นนานแล้ว…ผมอยากทำหนังเกี่ยวกับความฝัน” Christopher Nolan ผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของยุคนี้บอก “ตอนแรกผมจะทำเป็นหนังสยองขวัญ แต่แล้วในที่สุดมันก็กลายมาเป็นอย่างที่เห็น ผมเฝ้าค้นหาวิธีที่จะเอา “ความฝัน” มาเป็นหัวใจของเรื่องราว แล้วแนวคิดที่ว่า ถ้าเกิดใครคนหนึ่งสามารถรุกล้ำความฝันของเราแล้วขโมยความคิดไปจากเราได้ล่ะ?”
16 กรกฎาคมเมื่อ 10 ปีก่อน คือวันที่หนังไซไฟแอ็กชันแนวโจรกรรมเรื่อง Inception (2010) เข้าฉายเป็นวันแรก โดยวันนี้เป็นวันที่เปี่ยมไปด้วยมนต์ขลังของโลกภาพยนตร์ดั่งเช่นในยุคก่อน ที่หนังตัวอย่างแทบจะไม่บอกอะไร และคนดูจะรับรู้เรื่องราวของหนังยังสดใหม่ครั้งแรกเมื่อได้ชมภาพยนตร์
ด้วยเพราะเป็นหนังของ Nolan ที่ดึงดูดคนดูได้ตั้งแต่ชื่อผู้กำกับ นักแสดงนำหลายคนล้วนมีชื่อเสียง ทั้ง Leonardo DiCaprio, Tom Hardy, Joseph Gordon-Levitt, นางเอกออสการ์ Marion Cotillard, Michael Caine, Ken Watanabe และ Ellen Page และความที่ Warner Brothers กล้าลงทุนกับหนังถึง 160 ล้านเหรียญฯ (จริง ๆ แล้ว Nolan ได้ทุนสร้างมากกว่านี้ แต่เก่งจึงจบงบที่ 160…ที่เหลือคืนค่ายไป!) ท้ังที่ไม่ใช่หนังซูเปอร์ฮีโร ไม่ใช่หนังภาคต่อ แต่คนดูก็พร้อมแห่เข้าไปดูหนังชนิดที่ยังไม่รู้ว่า จะได้ดูหนังแนวอะไร เนื้อเรื่องคร่าว ๆ เป็นมายังไง
กว่าจะสร้างหนัง Inception ผมต้องจูงใจและทำให้คนกลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มนึงเชื่อเหมือนกันกับผม หลัก ๆ คือให้ทุกคนอ่านบท และที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของผมต้องตอบทุกคำถามของพวกเขา (ผู้บริหารสตูดิโอ) อย่างถ้าทำเสร็จแล้วหนังจะออกมาหน้าตาประมาณไหน ที่สำคัญคือคนดูจะอินตามเรื่องราวที่เข้าใจยากแบบนี้ด้วยจริง ๆ ใช่มั้ย…แน่นอน ทุกคนที่ได้อ่านบทแล้วก็กังวลกันทั้งนั้น” Nolan กล่าว
Inception คือโพรเจกต์ในฝันของ Nolan ที่อยากจะทำมาตั้งแต่หนังเรื่องแรก ๆ แต่เขาก็รู้ว่า ในตอนนั้นบารมีของเขายังมีไม่มากพอจะขอทุนสร้างระดับ 160 ล้านเหรียญฯ จากค่ายหนัง หลังจากเสร็จ Insomnia (2002) เขาเริ่มเขียนโครงเรื่องของหนัง ความยาว 80 หน้าเกี่ยวกับจอมโจรขโมยฝัน Emma Thomas ภรรยาของโนแลนและนั่งแท่นโปรดิวเซอร์หนังทุกเรื่องของเขายังไม่ค่อยมั่นใจในตอนได้อ่านโครงเรื่องว่า สามีของเธอจะขายโพรเจกต์ผ่าน และเมื่อเขาได้ผ่านการทำหนังอย่าง The Prestige (2006) ที่ขายการเล่าเรื่องนักเล่นกลได้อย่างหักมุมซับซ้อน และหนังฟอร์มใหญ่ยักษ์อย่าง The Dark Knight (2008) แล้ว เขาก็กลับมาจับสิ่งที่เขาใฝ่ถึงความฝันเสียที
“ถึงอย่างนั้น บทมันก็ยังแห้งและเฉยชามาก” Nolan อธิบายถึงบทร่างแรกของหนัง “ผมใช้เวลาคิดอยู่ 10 ปีว่าจะทำให้หนังไม่แห้งแล้งทางความรู้สึกได้ยังไง จนพบว่า ความฝันของมนุษย์ต้องมีเดิมพันทางด้านความรู้สึก ผมจึงเชื่อมโยงมิติด้านอารมณ์ของหนังไว้ที่ตัวละครเอก ให้คนดูติดตามเอาใจช่วยเขาว่าเขาจะได้กลับบ้านไปเจอหน้าลูก ๆ ไหม นั่นแหละคือจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่ทำให้ผมเขียนบทจนสำเร็จ”
ผมต้องอ่านบทอยู่สองสามรอบ จนมาเข้าใจจริง ๆ ก็ตอนได้นั่งลงคุยกับ Chris” Leonardo DiCaprio นักแสดงที่รับบท Cobb บอก เขาคือตัวเลือกหนึ่งเดียวของ Nolan มาตั้งแต่แรก และนักแสดงทุกคนที่จะมารับบทอื่น นอกจากจะถูกทดสอบบทของตัวเองแล้ว ก็ยังจะต้องถูกทดสอบความเข้ากันได้กับ Leonardo ด้วย
Nolan ถ่ายทำหนังใน 6 ประเทศทั่วโลก (ย้อนรอยทุบสถิติเดินทางถ่ายทำทั่วโลกกับหนัง Tenet ที่ 7 ประเทศ) ได้แก่ ฝรั่งเศส, แคนาดา, ญี่ปุ่น, โมร็อคโค, อังกฤษ และสหรัฐฯ ทั้งลุยขึ้นเทือกเขาหิมะ (Tom Hardy ต้องไปหัดเล่นสกีเพราะต้องมาถ่ายฉากนี้) แทรกไปในความจอแจของเมืองใหญ่ ซึ่ง Nolan บอกชัดเลยว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนัง James Bond ตอนที่เขาชอบที่สุดอย่าง On Her Majesty’s Secret Service (1969) (แต่คนดูให้การตอบรับน้อยที่สุดจนต้องเปลี่ยนนักแสดง George Lazenby) รวมถึงการประดิษฐ์ฉากขึ้นในโรงถ่าย
และตามสไตล์ผู้กำกับหนังแบบ Old School ที่ต้องคุมถ่ายเองทุกซีน นอกจากนั้นเขายังถ่ายหนังด้วยสถานที่จริงมากที่สุดอย่างแทบจะไม่พึ่ง CG เลย ดังนั้นฉากห้องโรงแรมที่ยกพื้นขึ้นให้เอียง 25 องศา ซึ่งนักแสดงและทีมงานก็ต้องเอียงตามตอนถ่ายทำกันไปด้วย หรือฉากโถงทางเดินหมุน 360 องศาที่เห็นจึงเป็นฉากที่ถูกสร้างขึ้นมาจริง ๆ (Joseph Gordon-Levitt ต้องซ้อมแสดงฉากเดินไปมาในฉากหมุนนั้นฉากเดียวอยู่ 2 สัปดาห์ก่อนแสดงจริง) หรือฉากรถไฟที่ชนแหวกแถวรถยนต์บนท้องถนนนั้น Nolan ก็ใช้รถไฟจริง ๆ มาถ่าย
ท้ายที่สุดแล้ว Inception ก็สามารถทำรายรับรวมทั่วโลกไปถึง 829 ล้านเหรียญฯ เป็นอันดับ 6 หนังทำเงินสูงสุดของปี 2010 เป็นรองแค่ Avatar, Toy Story 3, Alice in the Wonderland, Iron Man 2 และ The Twilight Saga: Eclipse ที่หากนับว่า Avatar เข้าฉายตั้งแต่ปี 2009 และ Alice in the Wonderland คือหนังรีเมก ก็ทำให้ Inception คือหนังเนื้อหาดั้งเดิมที่ไม่ใช่ภาคต่อที่ทำรายได้สูงสุด แค่นั้นยังไม่พอ หนังยังชนะ 4 รางวัลออสการ์ ได้แก่สาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยม (Wally Fisher), ผสมเสียงยอดเยี่ยม, ตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม และวิชวลเอฟเฟกต์ยอดเยี่ยม และยังเข้าชิงอีก 4 สาขา ได้แก่สาขาภาพยนตร์ยอดยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (เขียนคนเดียวโดย Christopher Nolan), เพลงประกอบยอดเยี่ยม (Hans Zimmer) และองค์ประกอบศิลป์ยอดเยี่ยม
อย่างหนึ่งที่เป็นสูตรอันจะทำให้หนังประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ ก็คือการทำให้คนกลับไปดูซ้ำ ซึ่งใช้ได้กับหนังของ Nolan เสมอ เพราะไม่มีใครสามารถดูเข้าใจได้ในรอบเดียว (ดูซ้ำก็ยังสนุก) แถมตอบจบก็ยังทิ้งปมไว้ให้คนดูสงสัยว่า Cobb ได้กลับสู่โลกความจริงหรือยังอยู่ในฝัน ซึ่งชวนให้คนกลับไปดูซ้ำเพื่อจับผิดรายละเอียดต่าง ๆ
ผมต้องระลึกอยู่เสมอว่า เราต้องรับผิดชอบต่อการทำหนังที่คนดูสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้เป็นวงกว้าง ไม่ใช่แค่ทำหนัง แล้วคนดูไม่เข้าใจ สุดท้ายก็จบไป มันเป็นหน้าที่ของผมที่จะทำหนังเนื้อหาเข้าใจยาก และขณะเดียวกัน หนังก็ยังต้องดูสนุกด้วย จึงกลายเป็นความท้าทายของผมในการทำงานหนัง…เอาล่ะ! ต่อให้คนดูจะงงก็นะ พวกเขารู้ต้องยังรู้สึกว่ามันสนุกอยู่” นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้หนังทุกเรื่องของ Nolan ที่แม้เนื้อหาจะซับซ้อนแค่ไหน ก็ยังมัดใจคนดูอยู่หมัดเสมอ
30 กรกฎาคมนี้ ภาพยนตร์หลายแห่งได้นำ Inception กลับมาฉายใหม่เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี และเพื่อปูทางสู่ Tenet (ที่มีแนวโน้มจะเลื่อนฉายไปปลายปี เพราะโรงภาพยนตร์ในสหรัฐฯ ยังต้องปิดยาว ๆ กันต่อไป) เอาเป็นว่าใครที่พลาดไม่ได้ดูโรงในรอบที่แล้ว หรืออยากกลับไปซ้ำเพราะรอ Tenet ไม่ไหว ก็ลองเช็กรอบฉายกันอีกที หรือไม่อยากรอชมในโรง ก็ไปดูใน Netflix ที่นี่ได้เลย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส