Release Date
08/09/2020
ความยาว
98 นาที
Our score
8.0#Alive
จุดเด่น
- Setting ของเรื่องเป็นเสน่ห์ได้แต่เริ่ม แม้ต่อยอดไปไม่สุดเท่าไหร่นัก แตแค่พลอตกับนักแสดงที่ได้ยูอาอินมาย้อมหัวทองเล่นหนังแมสจัดดูบ้าง ก็น่าจดจำดี
จุดสังเกต
- เมกอัปซอมบี้ฉากที่มีจำนวนเยอะ ๆ ยังดูหยาบ ๆ การเล่าเรื่องยังไม่ค่อยไต่อารมณ์ให้พุ่งไปถึงตอนจบได้นัก ฉากแอ็กชันบางฉากยังไม่ค่อยเต็มที่ดูขาด ๆ เกิน ๆ
-
บท
8.0
-
โพรดักชัน
7.5
-
การแสดง
7.5
-
ความสนุก
8.0
-
ความคุ้มค่าการรับชม
9.0
ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า เกาหลีจะขโมยวัฒนธรรมซอมบี้ของฝั่งตะวันตกให้กลายเป็นแนวหนังเฉพาะตัวของตนเองแล้วส่งเอาไปขายต่างประเทศได้อีก เริ่มจากคลื่นความนิยมลูกใหญ่จากฝั่งหนังอย่าง Train to Busan และสานต่อด้วยคลื่นกระแทกที่สองจากฝั่งซีรีส์ที่มีซอมบี้ย้อนยุคทางเน็ตฟลิกซ์อย่าง Kingdom ที่ความนิยมสูงมาทั้ง 2 ซีซัน จึงไม่แปลกเลยที่เน็ตฟลิกซ์จะจับกระแสนี้ได้และดึงหนังฉายโรงอย่าง #Alive มาเติมเต็มความต้องการของผู้ชมสตรีมมิ่งของตนเองได้อย่างทันท่วงที
แม้ว่าผู้กำกับ อิลโช จะเพิ่งได้เปิดตัวกับหนังยาวเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกก็ตาม แต่ก็ได้นักแสดงรุ่นใหม่ฝีมือเยี่ยมที่เคยผ่านงานหนังของผู้กำกับเทพแห่งเกาหลี อีชางดง อย่าง Burning มาแล้ว อย่าง ยูอาอิน มาประกบคู่กับดาราสาวที่มีผลงานคุ้นหน้าจากซีรีส์ Memories of the Alhambra ทางเน็ตฟลิกซ์อย่าง พักชินฮเย ก็เป็นแม่เหล็กสำคัญที่เสริมกับพลอตหนังที่ว่าด้วยเด็กหนุ่มติดอยู่ในห้องตนเองขณะที่โลกภายนอกกำลังโกลาหลใหญ่ ให้ยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีก
จริง ๆ ความเจ๋งของหนังเรื่องนี้คือ การเซ็ตเรื่องราวให้เกิดขึ้นในห้อง แบบสถานการณ์ที่ตัวละครเป็นหนูติดจั่น ออกข้างนอกห้องลำบากเพราะมีฝูงซอมบี้รายล้อม ในขณะที่สถานการณ์ในห้องก็บีบบังคับเหมือนห้องกับดักที่มีน้ำเอ่อสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างกับในหนังผจญภัย เพราะเริ่มที่เสบียงมีจำกัดซ้ำร้ายยังเกิดเรื่องราวให้เสบียงหดหายไปไวขึ้นอีก
จากนั้นการรับรู้สถานการณ์ต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ ถูกตัดทอนลงเรื่อย ๆ เหมือนคนที่ถูกปิดผัสสะต่าง ๆ ทีละอย่าง ตั้งแต่ ห้ามส่งเสียงดัง สัญญาณมือถือที่ขาดหาย จากนั้นก็เริ่มลามไปสู่อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ จนในที่สุดก็แทบไม่รู้อะไรโลกภายนอกอีกเลย ตัวละครต้องประยุกต์ใช้สิ่งที่ตัวเองมีเอาตัวรอด และเป็นหนังที่ตัวละครใช้ประโยชน์จากโดรนได้คุ้มค่ามากเรื่องหนึ่ง
และด้วยเวลาที่บีบให้ตัวเอกต้องทำอะไรสักอย่างก่อนที่จะอดตาย เขาก็ได้พบกับผู้รอดชีวิตอีกคนที่อยู่อีกฝั่งตรงข้าม ก็ทำให้หนังเล่นสถานการณ์ต่อเนื่องไปได้อีกขยัก ทว่าจุดที่น่าเสียดายก็มาจากตรงที่หนังเริ่มทิ้งไอเดียเรื่องการเอาตัวรอดในห้องปิดตายไปนี่เอง การถูกปิดตาปิดหูปิดโลกภายนอกที่อุตส่าห์สร้างมาได้น่าสนใจ ก็ยังขยี้ใช้ได้ไม่เต็มที่ดี
ซึ่งปัญหานี้ในองก์ต่อมาที่พระเอกเจอนางเอกแล้วก็ทวีความน่าเป็นห่วงขึ้นไปอีก เพราะหนังต้องไปเล่นท่าประหลาดจากหนังเอาตัวรอดกลายเป็นหนังบู๊ 1 ต่อ 100 ที่ดูเกินจะเชื่อ ทั้งการออกแบบฉากหนีตายพร้อมสู้กับฝูงซอมบี้ก็ดูไม่ค่อยหนักแน่นลงตัวนัก ความเชื่อถือต่อหนังเลยยิ่งอ่อนแอลงไปอีก นี่ยังไม่นับสภาพว่าคนที่ติดอยู่ในห้องเป็นเดือน ๆ (นึกภาพคนกักตัวอยู่บ้านช่วงโควิด-19 ที่แย่กว่าตรงที่ไม่มีอาหารดี ๆ มากพอเต็มมื้อมาเสิร์ฟเรื่อย ๆ) แล้วจะยังดูไม่ค่อยอิดโรย แถมยังแข็งแรงฟิตเปรี๊ยะได้ขนาดนั้นอีก
ทว่าในความที่คิดแบบฉากต่อไปจะเป็นอะไรได้อีก ไปเรื่อย ๆ ที่อาจสร้างรูโหว่ในบท และการเปลี่ยนแนวหนังไปเรื่อย ๆ ถึง 3 ครั้งจากเอาตัวรอดห้องปิดตาย เป็นบู๊ระห่ำเพื่อช่วยเธอ จนไปถึงองก์ท้ายที่กลายเป็นดราม่าเขย่าขวัญจิตวิทยา ที่ทำให้หนังไม่ค่อยเป็นหนึ่งเดียวกันนัก และกราฟความมันก็ไม่ค่อยไต่ได้ดีนักในองก์ท้าย
อย่างไรก็ดีหนังก็วางตัวเป็นหนังซอมบี้ที่ดูง่ายเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนมาก เหมาะกับการดูเพื่อพักผ่อนเอาสนุกเอามันแบบไม่เครียดจัดเกินไป ซึ่งอาจเป็นข้อดีที่พอให้อภัยจากการที่มันไม่ได้ฉายโรงและลงสตรีมมิงทันที และว่ากันแบบแฟร์ ๆ ในความไม่คงที่ของหนัง ก็ยังดูกลมดูอิ่มดูพอเป็นไปได้มากกว่าภาคต่อของ Train to Busan อยู่หลายขุมอยู่
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส