Release Date
01/10/2020
ความยาว
110 นาที
Our score
7.0The Last Full Measure
จุดเด่น
- หนังจากชีวิตจริงที่ดราม่าสร้างแรงบันดาลใจ และได้เห็นความรักของพ่อที่มีต่อลูกสุดซาบซึ้ง คำคมเยอะ ดาราดังหลากรุ่นแสดงกันดีเยี่ยม
จุดสังเกต
- หนังติดวิธีแบบสารคดีที่เชยและออกจะน่าเบื่อไปสักหน่อย บทพูดคมคายแต่ดูเกินจริงไปนิด โพรดักชันดูธรรมดาไม่น่าจดจำ
-
บท
8.1
-
โพรดักชัน
7.5
-
การแสดง
8.0
-
ความสนุกตามแนวหนัง
4.5
-
ความคุ้มค่าการรับชม
7.0
เรื่องย่อ: ถ่ายทอดวีรกรรมของ วิลเลียม เอช. พิตเซนบาร์เกอร์ (รับบทโดย เจเรมี เออร์วีน) หน่วยพลร่มสังกัดกองทัพอากาศสหรัฐฯ ระหว่างสงครามเวียดนามปี 1966 เมื่อเขาโรยตัวลงมาเพื่อช่วยชีวิตเพื่อนทหารราบ และตัดสินใจทิ้งโอกาสในการหนีออกจากเขตปะทะไปพร้อมเฮลิคอปเตอร์ลำสุดท้าย เพื่อช่วยรักษาและต่อลมหายใจให้เพื่อนทหารอีก 60 ชีวิต จนท้ายสุดสงครามครั้งนั้นก็หลงเหลือไว้เพียงร่างของเขา และความยุติธรรมที่ถูกเพิกเฉย
ถึงแม้ต้องใช้เวลานานถึง 30 ปี แต่วันนี้ความจริงทั้งหมดกำลังจะถูกเปิดเผย เมื่ออดีตสหายร่วมรบ (รับบทโดย วิลเลียม เฮิร์ต) ลุกขึ้นมาขอความช่วยเหลือจากทนายกระทรวงกลาโหม สก็อตต์ ฮัฟฟ์แมน (รับบทโดย เซบาสเตียน สแตน) เพื่อเสนอชื่อ วิลเลียม เอช. พิตเซนบาร์เกอร์ รับเหรียญเกียรติยศ เชิดชูความกล้าหาญชั้นสูงสุดของประเทศ นำมาสู่จุดเริ่มต้นของการตามหาความจริงจากครอบครัวของวีรบุรุษ และทหารผ่านศึกคนอื่นที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อ ทวงความกล้าหาญ แด่ฮีโร่ที่โลกลืม รวมทั้งเปิดโปง “ความลับ” บางอย่างที่เกือบถูกลบหายไปพร้อมกับสงครามครั้งนั้น
The Last Full Measure มาจากคำพูดของประธานาธิบดีลินคอล์น ครั้งสงครามกลางเมืองเพื่อกล่าวถึงเหล่าผู้คนที่สละชีวิตพลีแก่ชาติ อันมาจากประโยคเต็ม ๆ ที่ว่า “..They gave the last full measure of devotion.” และมันก็เหมาะเหลือเกินในการนิยามถึงภารกิจชีวิตอันนำมาจากเรื่องจริงของทหารอเมริกันนามว่า วิลเลียม เอช. พิตเซนบาร์เกอร์
หนังสงครามที่สร้างจากเรื่องจริงมักมีมนต์เสน่ห์บางอย่าง และไม่เพียงแต่เรื่องราวในห้วงสงครามเท่านั้น หากแต่เรื่องราวผลพวงหลังจากนั้นก็ล้วนน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และสำหรับเรื่องราวของ วิลเลียม เอช. พิตเซนบาร์เกอร์ กับผู้คนรายล้อมรอบชีวิตเขาเองก็ล้วนไม่ธรรมดาเช่นกัน มันเต็มไปด้วยเรื่องราวการต่อสู้จากชีวิตจริง ทั้งในช่วงสงครามเวียดนามอันโหดร้ายในช่วงปี 1966 หรือตลอดช่วงการเรียกร้องความยุติธรรมแก่วีรบุรุษที่กินเวลานานกว่า 35 ปี มันคือความกล้าหาญในการแสดงธาติแท้อันอ่อนแอของตนเอง เพื่อยกย่องความกล้าอันบริสุทธิ์ที่ถูกละเลย
เราอาจกล่าวได้ว่าเนื้อหาของหนังนั้นหลัก ๆ อยู่ในเรื่องย่อแล้วทั้งสิ้น แต่ผู้สร้างก็ใช้วิธีการสร้างตัวละครสมมติอย่าง สก็อตต์ ฮัฟฟ์แมน เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมที่ต้องเป็นผู้เดินทางสอบสวนรื้อฟื้นการเลื่อนระดับเหรียญของพิตเซนบาร์เกอร์จากเดิมเหรียญกล้าหาญไปเป็นเหรียญเกียรติยศระดับสูงสุด โดยต้องไปสัมภาษณ์ร้อยเรียงการพูดคุยตัวละครต่าง ๆ ที่อิงจากบุคคลที่มีอยู่จริง ทั้งสนับสนุน และขัดขวาง ให้มีเส้นเรื่องที่ดูเป็นหนังขึ้น
แต่ว่ากระนั้นก็ต้องสารภาพว่าหนังยังคงมีความเป็นสารคดีจัด ๆ ทั้งวิธีการเล่าเรื่องและการนำเสนอ ซึ่งน่าเบื่อจัด ๆ เลย แต่โชคยังดีว่าหนังยังมีบทที่คมคายให้ชื่นชมได้ตลอด แต่นั่นล่ะเราอยากจะมาดูหนังมากกว่าอ่านหนังสือคำคม ทว่าก็ต้องยอมรับนะว่าการดูตัวละครพูดอะไรคม ๆ ตลอดเรื่องมันก็เจ๋งดีไม่น้อยล่ะ
“เขาพลาดที่จะได้สร้างครอบครัวและได้รักลูกของเขาเอง เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่เขาจะรู้ว่า พ่อของเขารักเขามากแค่ไหน” – นั่นคือคำพูดจริง ๆ ของ แฟรงก์ พิตเซนบาร์เกอร์ คุณพ่อของวิลเลียมที่ได้กล่าวถึงลูกชายของเขา ซึ่งถูกนำมาใช้ในหนังด้วย ก็สะท้อนความปวดร้าวจากการต่อสู้และรอคอยอย่างยาวนานกว่า 35 ปีของคุณพ่อคนหนึ่ง ที่เรียกร้องให้รัฐบาลอเมริกันให้ความสำคัญกับลูกชายของเขาที่เสียชีวิตในหน้าที่ในสงครามเวียดนามอย่างสมเกียรติเสียที นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่หนังเขียนบทแบบคมคายมาก
เมื่อบทพูดดี บทหนังมาจากเรื่องจริงฮีโรอเมริกันที่น่ายกย่อง มันจึงดึงดูดดาราชั้นดีมารวมตัวกันมากทีเดียว ทั้ง รุ่นเด็กอย่าง เจเรมี เออร์ไวน์ ที่แม้จะปรากฏเพียงในฉากแฟลชแบ็กแต่เขาก็มีเสน่ห์มากพอให้เราจดจำ และ เซบาสเตียน สแตน ที่พลิกจากวินเทอร์โซลเยอร์นักฆ่าหน้าตายในหนังมาร์เวลมาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นโครงกระดูกของเรื่องและจำเป็นต้องแสดงให้เห็นพัฒนาการตัวละครมากสุดได้แบบผ่านมาตรฐาน นอกจากนั้นหนังยังมากมวลด้วยรุ่นใหญ่มากฝีมือทั้ง แบรดลีย์ วิทฟอร์ด, ซามูเอล แอล. แจ็กสัน, คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์, ไดแอน แลดด์ และยังเป็นหนังเรื่องสุดท้ายของดารารุ่นเก๋าอย่าง ปีเตอร์ ฟอนดา ด้วย
และสิ่งที่อยากให้ข้อมูลเป็นพิเศษคือ การต่อสู้เพื่อให้เรื่องราวดังกล่าวปรากฏสู่จอภาพยนตร์นั้นก็เป็นหนังอีกเรื่องได้เลยเช่นกัน เพราะผู้กำกับเจ้าของรางวัลไพรม์ไทม์เอมมี่อย่าง ท็อดด์ โรบินสัน ได้บังเอิญรู้จัก พิตเซนบาร์เกอร์ ตั้งแต่ปี 1991 จากงานที่เขาถูกจ้างเขียนบทและต้องสัมภาษณ์กลุ่มโรงเรียนทหารอากาศพลร่ม ในช่วงเวลานั้นพิตเซนบาร์เกอร์ยังไม่ได้รับความยุติธรรม เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์การบินหนุ่มคนหนึ่งเป็นผู้ช่วยรวบรวมข้อมูลและแนะนำให้รู้จักทหารผ่านศึกทั้งหลาย เขาน่าจะเป็นภาพของตัวละครฮัฟฟ์แมนตัวจริง
และการต่อสู้เพื่อให้ได้เหรียญเกียรติยศก็ดำเนินไปพร้อม ๆ กับที่โรบินสันต้องสู้ฟันฝ่าให้ค่ายผ่านโพรเจกต์ที่สุ่มเสี่ยงเพราะเกี่ยวข้องกับนักการเมืองดังในประเด็นอ่อนไหว และที่ดราม่าสุดคือ พิตเซนบาร์เกอร์ ได้รับเหรียญเกียรติยศในปี 2000 ทว่าเจ้าหน้าที่หนุ่มคนนั้นก็ไม่ทันได้เห็นทั้งการรับเหรียญและหนังของโรบินสัน เพราะเขาเสียชีวิตไปในปี 1999 เสียก่อน
และถ้าจะให้นิยามว่าหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไรกันแน่ มันคือหนังรักครับ โดยเฉพาะความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ถึงการเล่าเรื่องอาจเชยและน่าเบื่อ แต่สาระภายในนั้นเป็นอมตะไร้กาลเวลาอย่างแน่นอน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส