หลังจากที่ตะลอนฉายในเทศกาลต่าง ๆ ในที่สุด Hope Frozen สารคดีว่าด้วยเรื่องของครอบครัว เนาวรัตน์พงษ์ ผู้ตัดสินใจใช้เทคโนโลยีไครออนิกส์ (cryonics) แช่แข็งร่างที่ไร้ลมหายใจของลูกสาววัย 2 ขวบอย่าง ‘น้องไอนส์’ ด.ญ.เมทรินทร์ เนาวรัตน์พงษ์ ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งสมองระดับรุนแรง เพื่อหวังว่าจะยืดอายุร่างของลูกสาว รอวันที่จะมีโอกาสรักษาให้ฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง ฝีมือการกำกับโดย ไพลิน วีเด็ล นักข่าวอิสระหญิงลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ก็ได้มีโอกาสฉายทาง Netflix อย่างที่เราได้ชมกันไปแล้ว
นอกจากเรื่องราวการแช่แข็งมนุษย์ที่ทั้งเต็มไปด้วยความเจ็บปวด ความรัก ความหวัง และความเชื่อที่ขัดแย้งกันแล้ว เรื่องราวเบื้องหลังการทำสารคดีของเธอก็เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ทั้งน่าเจ็บปวดจากการขอทุน และด้านที่สวยงามมากมายหลากหลาย ที่เธอกำลังจะเล่าให้เราได้ฟังในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้
ทั้งหมดที่เธอเล่า คือเบื้องหลังของการ “แช่แข็ง” ความรักและความหวังเอาไว้ในรูปแบบสารคดี ที่หวังว่าสักวัน
น้องไอนส์อาจจะได้มีโอกาสดู…
หลายคนทราบแล้วว่าคุณเป็นนักข่าวมาก่อน แต่จริง ๆ แล้วคุณไม่ได้เรียนด้านนี้โดยตรง
จริง ๆ เราเรียนจบชีวะค่ะ (หัวเราะ) ระหว่างที่เราจบชีวะ เราก็ได้มีโอกาสทำ Thesis ทำงานค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับต้นไม้ เพราะว่าเรามีความฝันว่าเราอยากอยู่กับธรรมชาติ อยากจะศึกษาเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติทั้งพืชและสัตว์ แต่พอไปทำปั๊บ เราก็ต้องอยู่ป่าคนเดียว นั่งนับต้นไม้ รู้สึกว่ามันเหงามาก (หัวเราะ) เรามีความฝันโรแมนติกว่าการอยู่กับธรรมชาติคงจะมีความสุข แต่พอไปอยู่จริง ๆ ก็เจอยุงกัดบ้าง (หัวเราะ) แล้วก็ต้องมานั่งคิดตัวเลข ทำ Algorithm เพื่อที่จะวิจัยว่าพืชชนิดนี้จะสูญพันธ์ภายในกี่ปี ต้องนั่งคำนวณคนเดียวอยู่ในห้องอีกปีหนึ่ง พอปีสาม เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว เราเริ่มรู้จักตัวเองว่าไอ้สิ่งที่เราอยากจะเป็นมันไม่ใช่
จุดเริ่มต้นการเป็นนักข่าวของคุณเริ่มที่ตรงไหน
เราเองก็ยังชอบเรียนรู้วิทยาศาสตร์นะคะ แต่ว่าขั้นตอนการปฏิบัติจริง ๆ คงไม่ใช่ตัวเราแล้ว เราก็เลยคิดถึงกล้องที่เราชอบพกพาไปด้วยทุกหนแห่ง เอาไปถ่ายรูปทุกอย่างเลย ไปงานวิจัยก็ถ่าย ไปท่องเที่ยวก็ถ่าย ก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเราเองชอบเล่าเรื่องมากกว่า พอกลับมาจากวิจัยก็ชอบเล่าว่า ไปเจองู เจออะไรก็แล้วแต่ พอกลับมาก็ใช้รูปภาพในการเล่าเรื่องให้คุณพ่อคุณแม่และครอบครัวฟัง คุณพ่อก็เป็นนักข่าวอยู่แล้ว ส่วนคุณแม่เป็นอาจารย์ เราเองก็ได้เห็นพ่อทำงานมาตลอด พอเรียนจบ เราก็เลยไปฝึกงานกับหนังสือพิมพ์ที่อเมริกา เป็นช่างภาพนิ่ง ถ่ายข่าวทั่วไป ใช้เวลาอยู่ประมาณ 3-4 ปี
มีวันหนึ่งที่เราไปถ่ายภาพข่าวกลับมา แล้วก็ได้เห็นข่าวบนจอทีวี เป็นข่าวเมืองไทยจาก CNN เห็นข่าวรถถังออกมาวิ่งในกรุงเทพฯ เราก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องกลับบ้าน เพราะข่าวที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้วแหละ เราก็กลับมาเป็นฟรีแลนซ์ ทำงานให้กับสำนักข่าว AP ทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ดูแลการรายงานข่าวในอินเทอร์เน็ตทั้งทวีปเอเชีย ทำงานอยู่ 4 ปีก็คิดถึงการลงสนาม คิดถึงการจับกล้อง ได้ไปเจอกับแหล่งข่าว กับผู้คนมาก ๆ ก็เลยออกมาทำฟรีแลนซ์ใหม่ แต่เปลี่ยนมาเป็นการถ่ายวีดิโอ ตอนแรกก็ถ่ายวิดิโอสั้น 3-4 นาทีให้กับ National Geographic, New York Times, Wall Street Journal ประเด็นที่เราทำก็มีตั้งแต่ประเด็นสิทธิสตรีที่เกาหลี จนถึงการค้ายาบ้าระหว่างไทย-พม่า
ทุก ๆ ครั้งที่เราถ่ายภาพข่าว หรือทำคลิปข่าว เราจะรู้สึกอึดอัดว่า เอ๊ะ เรามีเวลาแค่ 90 วินาทีในการที่จะเล่าประเด็นที่เราอยากจะนำเสนอให้เราเข้าใจ ซึ่งจริง ๆ มันมีมากกว่านี้เยอะ เพราะฉะนั้น ชิ้นข่าวที่เราส่งไปก็จะเริ่มยาวขึ้น ๆ (หัวเราะ) จนเราเริ่มทำสารคดีให้กับสำนักข่าว Al Jazeera ซึ่งเป็นสารคดีข่าวเจาะลึก เราก็ทำอยู่ที่ความยาว 25 นาที
อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณอยากทำสารคดี Hope Frozen
วันหนึ่งสามีเราที่ก็เป็นนักข่าวเหมือนกัน ชวนเราไปทำข่าวเกี่ยวกับครอบครัวหนึ่ง ที่กำลังเป็นเรื่องไวรัลในตอนนั้น เป็นเรื่องที่ได้ออกรายการในไทยหลายรายการเยอะแยะมากมาย ซึ่งครอบครัวนี้ได้ไปทำการ Cryopreservation เป็นวิธีการเก็บรักษาร่างที่เสียชีวิตด้วยการแช่แข็ง ซึ่งครอบครัวนี้ได้เอาลูกสาวของเขาที่เสียชีวิตเพราะมะเร็งสมอง สามีที่เป็นชาวอเมริกันก็เลยชวนเราไปเป็นล่าม
ตอนแรกเราคิดว่าจะทำข่าวแค่สั้น ๆ แต่ว่าตอนนั้นเรานั่งคุยกันยาวเลยค่ะ ตอนนั้นเราคุยกันอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเรื่องของความรักที่เขามีให้กับลูกสาวของเขา เรื่องของปรัชญา อะไรคือความตาย ความหมายของความตายกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปกับเทคโนโลยีอย่างไร มันเป็นประเด็นที่เรารู้สึกว่าสะกิดทั้งสมองและหัวใจของเราไปด้วยพร้อมกัน แล้วเราก็มีคำถามมากมายเต็มไปหมด จนเราใช้เวลา 2 ปีครึ่งกว่าที่จะถามได้ทั้งหมด
แล้วคุณตัดสินใจเปลี่ยนจากสารคดีข่าวสั้น กลายเป็นหนังสารคดีขนาดยาวได้อย่างไร
จริง ๆ แล้ว บอกตรง ๆ ว่า เรายังไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับเรื่องนี้เลยค่ะ (หัวเราะ) ตอนแรกอย่างที่บอกว่า เราอยากจะทำคลิปข่าว แต่ถ้าจะทำคลิปข่าว เราว่ามันก็สั้นเกินไป คนก็อาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมครอบครัวนี้ถึงได้ตัดสินใจทำสิ่งนี้ ตอนแรกคิดแค่ว่าจะทำเป็นสารคดีข่าวสั้นส่งให้ National Geographic หรือลูกค้าของเราตามปกติ แต่พอทำไปแล้ว ปรากฏว่ามันก็ยังมีคำถามเพิ่มอีก
จนผ่านไปหนึ่งปี เราก็รู้สึกว่านี่มันเป็นหนังยาวแล้วแหละ เราก็เลยเริ่มขอทุน ซึ่งเราก็ไม่รู้เลยว่าต้องทำยังไง ถึงขั้นต้อง Google เอาเลยว่า Feature length Film ขอทุนยังไง ทุนอยู่ที่ไหนบ้าง (หัวเราะ) ซึ่งเราก็สมัครไปหลายทุนมาก ใช้เวลาอยู่เกือบสองปีกว่าจะได้ทุน
พอจะเล่าให้ฟังได้ไหมว่า สารคดีเรื่องนี้มีความลำบากในการขอทุนอย่างไรบ้าง
การขอทุนเป็นสิ่งที่ยากลำบากที่สุดของสารคดีเรื่องนี้เลยค่ะ เพราะว่าในเมืองไทย ทุนจากรัฐบาลหรือเอกชนมีน้อยมาก ๆ เลย ถ้าเทียบกับเกาหลีหรือญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นเราก็ต้องหาทุนที่อยู่ต่างประเทศ ตั้งแต่อเมริกา อังกฤษ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เยอรมนี นอร์เวย์ ก็ไม่ได้ทุนเลย จนกระทั่งได้ทุนจากอังกฤษมา ซึ่งตลอดเวลาที่ขอทุน 2 ปี เราก็ทำงานเป็นนักข่าวครึ่งหนึ่ง แล้วก็ทำอีกงานคือการเขียนโครงการเพื่อจะขอทุน
ระหว่างที่เรารอทุน เราก็ถ่ายทำไปก่อน เราโชคดีตรงที่มีทีมงานที่ทำงานกับเรามาหลายปี ซึ่งเขาก็ไว้ใจว่าเรื่องที่เราทำสักวันหนึ่งจะมีทุนเข้ามา (หัวเราะ) ก็จะเป็นเพื่อน ๆ ที่ทำงานให้กับเราฟรี ๆ รวมถึงคนในครอบครัวเราด้วย อย่างเช่นน้องสาวก็มาช่วยคัดฟุตเตจให้ หรือคุณพ่อคุณแม่ก็มาช่วยทำซับไตเติลให้ฟรี ๆ
ตอนแรกที่คุณบอกกับพวกเขาว่าจะขอเข้าไปถ่ายทำสารคดี พวกเขาพูดถึงอย่างไรบ้าง
ต้องบอกว่า ครอบครัวนี้เปิดกว้าง เปิดให้เราทำงานตั้งแต่วินาทีแรกที่เราเจอกันเลยค่ะ เพราะว่าด้วยความที่ตัวของคุณพ่อ (ดร.สหธรณ์ เนาวรัตน์พงษ์) และคุณแม่ (ดร.นารีรัตน์ เนาวรัตน์พงษ์) เองก็เป็นนักวิชาการ ทุกครั้งที่เราเอาหนังไปประกวดในเทศกาล หรือแม้แต่ลงใน Netflix เราก็จะถามพวกเขาว่าโอเคไหม เพราะว่าเราเองก็กลัวเหมือนกันว่า จะมีผลกระทบกับครอบครัวอย่างไรบ้าง ทุกครั้งที่ถาม ครอบครัวเองก็จะตอบว่า “ดีนะ ที่มีคนออกความคิดเห็นได้”
เพราะแม้ว่าจะไม่เห็นด้วย แต่ว่าการให้ข้อมูลกับสังคม การเปิดเผยเรื่องราวให้กับสังคม สามารถทำให้สังคมพัฒนาได้
แม้ว่าเราจะเล่าเรื่องราวที่มีความเจ็บปวดอย่างมาก เขาก็ยินยอมที่จะเปิดเผยความรู้สึกเจ็บปวดของเขา เพื่อที่จะให้สังคมพัฒนาต่อไปได้เรื่อย ๆ
มีสิ่งไหนไหมที่คุณไม่คาดว่าจะได้เจอในการทำสารคดีเรื่องนี้
สิ่งที่เราไม่ได้คาดหวังก็คือ น้องเมทริกซ์ (เมทริกซ์ เนาวรัตน์พงษ์) ที่เป็นพี่ชายของน้องไอนส์ ตอนแรกที่เราเจอกับน้องเมทริกซ์ ตอนนั้นน้องอายุประมาณ 13-14 ขวบ ยังเป็นเด็กอยู่ ก็ยังไม่ได้พูดคุยอะไรมาก แต่พอถ่ายไปเรื่อย ๆ เราเริ่มรู้จักน้อง และน้องก็เริ่มเป็นหนุ่ม อายุ 15-16 และเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งเราเห็นเลยว่าเขาเป็นเด็กอัจฉริยะ จากที่เราคาดคิดว่าตัวเอกของสารคดีเรื่องนี้จะเป็นคุณพ่อ ที่จริงตัวเอกของหนังคือน้องเมทริกซ์ต่างหาก
มีซีนไหนในในสารคดีเรื่องนี้ที่คุณประทับใจที่สุดบ้างไหม
ซีนที่เราว่าน่ารักที่สุด จริง ๆ ไม่ใช่ซีนที่เราถ่าย แต่เป็นซีนฟุตเตจของเมทริกซ์ที่กำลังสร้างเครื่อง Jet Engine ตอนนั้นเขาอายุแค่ 8 ขวบเอง พอเขาลองสตาร์ตเครื่องก็ไม่ติดสักที แล้วพ่อเขาก็จะถ่ายเก็บไว้ทุกครั้งที่เขาพยายามจะสตาร์ตเครื่อง สตาร์ตแล้วก็ระเบิดบ้างอะไรบ้าง จนถึง 50 ครั้งเขาก็ประสบความสำเร็จ เราคิดว่าฉากนี้ทำให้เราเห็นเลยว่าเขาเป็นครอบครัววิทยาศาสตร์จริง ๆ และมีความเพียรพยายามอย่างสูง ฉากนั้นบอกถึงความน่ารัก และความพยายามของเมทริกซ์ได้มากเลย
ส่วนฉากที่กระทบจิตใจเรามากที่สุดก็คือ ตอนที่คุณแม่ได้นำเอาของของน้องไอนส์มาดู และเล่าเรื่องราวชีวิตของน้องให้เราฟัง ว่าตอนน้องเขามีชีวิตอยู่ เขาใช้สิ่งนี้นะ คือเราไม่ได้เป็นแม่ แต่ว่าฉากนั้น ใครก็ตามที่เคยสูญเสียคนที่เรารักไป ก็คงต้องเข้าใจว่า แม้ว่าคนที่เรารักจะจากไป แต่สิ่งของที่เขาทิ้งไว้ก็ยังเป็นสิ่งที่มีความหมายมาก ๆ สำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่
ในฐานะที่คุณเองเป็นนักทำสารคดี ในประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหว คุณเองมีอารมณ์อ่อนไหวไปกับเรื่องราวของครอบครัวบ้างไหม หรือว่าต้องวางท่าทีในฐานะตัวกลาง
ด้วยความที่แบ็กกราวด์ของเราเป็นนักข่าว เราก็จะชินกับการวางตัวเป็นกลาง แล้วเราก็ต้องคิดถึงคนดูด้วย เพราะเราไม่ได้ทำหนังเพื่อที่จะให้ครอบครัวดูอย่างเดียว เพราะฉะนั้นหน้าที่ของผู้กำกับคือการคิดว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ เขาอยากจะเห็นฉากไหนต่อ เขาสงสัยเรื่องไหนบ้าง ฉะนั้น เราก็จะพยายามจะวางตัวให้เป็นกลางมากที่สุด แต่ว่าพอหลังจากฉายไปแล้ว เราก็เริ่มสนิทกับครอบครัวมากขึ้น โดยเฉพาะกับน้องเมทริกซ์ เพราะว่าเราได้ใช้เวลากับเขาอยู่ 2-3 ปี หลังจากฉายเราก็ยังพูดคุยกัยอยู่ ได้เจอกันเกือบทุกเดือน
ตัวคุณเองเชื่อในกระบวนการไครออนิกส์แค่ไหน เพราะในสารคดีเองก็มีการให้ข้อมูลว่า แม้ว่ามันจะมีความเป็นไปได้ แต่มันก็อาจจะเป็นไปไม่ได้เลยก็ได้
เท่าที่เราได้สัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์มา หลาย ๆ คนก็ต่างบอกว่าความเป็นไปได้มันน้อยมาก ๆ เลย ซึ่งก็จะมีคนอีกกลุ่มที่บอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่จะบอกกันว่าเป็นไปได้น้อยมาก อีกพันปี ใครจะไปรู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น
ดร.สหธรณ์ ทุก ๆ คน รวมถึงคุณ เชื่อมั่นในสิ่งนี้มากแค่ไหน
ทุกคนรวมทั้ง ดร.สหธรณ์ เอง หรือแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ ALCOR (The Alcor Life Extension Foundation) เองก็สงสัยค่ะ ว่ามันเป็นไปได้แค่ไหน แต่เมื่อเรายังไม่รู้คำตอบในตอนนี้ เราก็ได้แต่ดูผลวิจัยที่ออกมา และตอนนี้ก็ยังไม่มีผลวิจัยที่มากพอที่จะตอบคำถามนี้ได้ เพราฉะนั้นเราก็ได้แค่รอน่ะค่ะ
เราเองสัมภาษณ์ ดร.สหธรณ์ ประมาณ 14 ครั้ง ซึ่งในการสัมภาษณ์ทุกครั้ง คำตอบของเขาก็เหมือนเดิมทุกครั้ง คือเขาค่อนข้างที่จะมั่นใจว่ามันจะเกิดขึ้นจริง เราว่าการที่เขาคิดว่ามันจะเกิดขึ้นจริง มันคือวิธีที่ ดร.สหธรณ์แสดงความรักต่อลูกสาว เขาคิดว่ามันเป็นไปได้จริงเพราะว่าเขาคิดเพื่อลูก
ได้ยินมาว่า ตัวหนังสารคดีเรื่องนี้จะมีการเก็บไว้ที่ Alcor เพื่อที่จะเก็บเอาไว้ให้น้องไอนส์ดู ในกรณีที่น้องไอนส์ได้ฟื้นขึ้นมาจริง ๆ พอเล่าเบื้องหลังได้ไหมว่ามีกระบวนการอย่างไรบ้าง
ตอนนี้เรามี Harddisk ที่มีฟุตเตจหนังเรื่องนี้อยู่ รวมทั้งฟุตเตจที่เขาชอบที่สุดก็คือฟุคเตจที่สมาชิกครอบครัวทุกคนเป็นคนถ่ายนั่นแหละ (หัวเราะ) มันเป็นสิ่งที่มีความหมายของเรามาก ๆ ซึ่งก็อยู่ที่เราทั้งหมดเลย ซึ่งประมาณปลายปีนี้ ครอบครัวก็จะเอา Harddisk นี้ไปเก็บไว้ที่ ALCOR
ซึ่งที่ ALCOR จะมีห้องใต้ตินอยู่ ซึ่งจะเป็นเหมืองเกลือที่มีความชื้นต่ำ ซึ่งก็จะมีหนังฮอลลีวูดที่ยังเป็นฟิล์มที่ยังคงเก็บไว้ในเหมืองเกลือ ซึ่งปกติที่ ALCOR ก็จะมีการเก็บสิ่งของของคนที่ถูกแช่แข็ง เมื่อไหร่ที่เขาฟื้นคืนชีพชึ้นมา ก็จะมีสิ่งของที่เก็บไว้ที่ห้องนี้ เราก็หวังว่า Harddisk ที่เรามอบไว้ให้ครอบครัวก็จะอยู่ในนั้นด้วย
ส่วนตัวหนังก็จะอยู่ใน Netflix ตลอด ถ้าอีกร้อยปีพันปีข้างหน้า Netflix ยังไม่ล้มละลายนะ (หัวเราะ)
(อ่านบทสัมภาษณ์ต่อหน้า 2)
ในหนังมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของศาสนา ปรัชญา ความเชื่อ ผสมกับเรื่องวิทยาศาสตร์ วิชาการหนัก ๆ ผสมรวมกันอยู่พอสมควร คุณรักษาสมดุลประเด็นของทั้งสองฟากฝั่งอย่างไรบ้าง
สิ่งที่เราทำคือ เราจะปักธงตรงความจริง เราจะพยายามเล่าเรื่องที่เป็นความจริงที่สุดที่จะเล่าเรืองที่เป็นความจริงที่สุดที่เราจะเล่าได้ แต่แน่นอนว่า ทุกวันนี้ที่เรานอนไม่หลับตอนกลางคืนเพราะว่าเราห่วง (หัวเราะ) ห่วงครอบครัว ห่วงว่าจะมีผลกระทบอย่างไรหลังหนังฉายไปแล้ว สำหรับเรา มันต้องมีการบาลานซ์กัน 3 อย่างในการเล่าเรื่อง
หนึ่งคือความจริง สอง หลักจรรยาบรรณในการทำงาน ทั้งกับตัวของครอบครัว และผู้ชม และสามก็คือคนดู เพราะว่าถ้าเราเล่าไปแล้วคนไม่ดูเลย มันก็คงไม่ค่อยดี เราก็เลยต้องบาลานซ์ระหว่าง 3 อย่างนี้ ในระหว่างที่ทำ เราไม่เคยคิดว่าจะมีเรื่องไหนที่เราเล่าไม่ได้เลยค่ะ ตอนที่เราตัดต่อ เราก็คิดว่าเราเล่าทุกอย่างอย่างตรงไปตรงมามาก ๆ
แล้วสารคดีเรื่องนี้มีโอกาสฉายใน Netflix ได้อย่างไร เขาสนใจอะไรในสารคดีเรื่องนี้
คิดว่าเขาสนใจในสิ่งเดียวที่เราสนใจ คือเป็นหนังที่มี Theme ที่ทุกคนเข้าใจได้หมด ไม่ว่าเราจะมาจากประเทศไหน มันคือหนังที่ถามคำถามกับปะระเด็นใหม่ ๆ ที่มนุษย์ก็มีคำถามและมีความสงสัย เช่นคำถามว่าอะไรคือชีวิต อะไรคือความตาย อะไรคือหน้าที่ของคนเป็นพ่อแม่ รวมถึงธีมของความรักที่ทุกคนเข้าใจได้ ถึงแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวคนไทย แต่ก็ยังมีประเด็นที่สามารถที่สื่อสารได้กับคนทุกคน ไม่ว่าจะมาจากประเทศไหน
หลังจากที่ถ่ายทำเสร็จ มันทำให้มุมมองหรือแนวคิดเกี่ยวกับความตายของคุณเปลี่ยนไปบ้างไหม
ต้องบอกว่าไม่เปลี่ยนไปค่ะ หลายคนอาจจะคิดว่าเราทำหนังเพื่อที่จะเข้าใจตัวเอง เพื่อที่จะบรรลุอะไรบางอย่าง (หัวเราะ) แต่ว่าสาเหตุที่เราทำหนังเรื่องนี้ก็คือ มันเป็นประสบการณ์ที่เราจะแชร์มากกว่า สไตล์หรือวิธีการของการเล่าเรื่องของเราก็คือ การนำความจริงที่บริสุทธิ์ที่สุดที่เราทำได้ ความจริงที่เรารู้สึกว่า นี่แหละคือความจริงเอามาให้คนดู แล้วให้คนดูคิดเอง เราจะไม่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใส่ความคิดของตัวเราเองลงไปเราอยากจะเอาประสบการณ์ของการได้ไปเจอกับครอบครัวนี้ และการที่และเรื่องราวของเขา ได้สะกิดใจ ได้สะกิดความคิดของเรา ได้เอามาแชร์ให้กับคนดูค่ะ
ฟีดแบ็กหลังจากที่หนังเข้าฉายใน Netflix เป็นอย่างไรบ้าง
ส่วนใหญ่จะดีหมดเลยค่ะ เกือบทุกวันเราจะได้รับอีเมลและ Facebook Message จากคนดูทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ รวมทั้งคนที่ได้สูญเสียคนที่รักมาเล่าความรู้สึกให้ฟัง บางคนเขียนมาบอกว่า ผมไม่เห็นด้วย แต่เมื่อผมดูหนังแล้ว ผมเข้าใจ และนี่คือสิ่งที่ทำให้ผมเข้าใจมากที่สุด คือเราเน้นของความเป็นมนุษย์
โดยเฉพาะในช่วงนี้ ไม่ว่าจะประเทศไหน ก็จะมีความแตกแยกเยอะแยะมากมาย ไม่ว่าเราจะอยู่ด้านไหนก็แล้วแต่ เวลาเราคิดถึงอีกฝ่าย เราก็จะรู้สึกว่ามันเลว มันแย่ ถ้ามีความคิดไม่เหมือนเราแสดงว่าไม่ได้เป็นมนุษย์เหมือนเรา แ่ต่ว่าหนังเรื่องนี้เน้นเรื่องของความเป็นมนุษย์
ถึงแม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วย เราอาจจะคิดไม่เหมือนกัน แต่ความเป็นมนุษย์ ความรัก ความหวัง นี่คือสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ด้วยกัน
เพราะฉะนั้น ฟีดแบ็กที่ได้มา เหมือนว่าทุกคนได้รู้สึกเหมือนกับครอบครัว ๆ นี้เหมือนกันหมดทุกคนค่ะ
คำถามนี้อาจจะดู Sci-Fi หน่อย แต่ถ้าสมมติว่าวันหนึ่ง วิทยาการในอนาคตสามารถทำให้คุณและพวกเราสามารถที่จะมีอายุยืนยาวจนทันช่วงเวลาที่น้องไอนส์ฟื้นขึ้นมาพอดี ถึงเวลานั้น คุณคิดว่าอยากจะทำภาคต่อของสารคดีเรื่องนี้ไหม
(หัวเราะ) ถ้าเป็นภาคสองของสารคดีเรื่องนี้ คงต้องเป็น Fiction แล้วล่ะค่ะ (ภาพยนตร์ที่แต่งเรื่องราวขึ้นและใช้คนแสดง) ถ้าวิทยาการทำให้เราสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้ …ก็มีความคิดว่าอยากจะทำต่อค่ะ แต่ว่าตอนนี้เราขอหายเหนื่อยก่อน (หัวเราะ)
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส