จีน ญี่ปุ่น เกาหลี คือ 3 ชาติที่เป็นตัวแทนของความเป็น “เอเชีย” ในสายตาของตะวันตกมาเนิ่นนาน แต่ในที่สุด Walt Disney Animation Studios ก็เลือกเอาวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่เรียกว่าภูมิภาคอาเซียนบ้านเรา มานำเสนอในแอนิเมชันเรื่องล่าสุด Raya and the Last Dragon
ที่ว่าด้วยเรื่องของเมืองสมมติ “คูมันตรา” ที่มีมนุษย์และมังกรอาศัยร่วมกัน แต่แล้วกลับมีพลังชั่วร้ายหมายคุกคามดินแดน เหล่ามังกรจึงได้สละตัวเองเพื่อยับยั้งเอาไว้ จนกระทั่ง 500 ปีต่อมา พลังชั่วร้ายได้กลับมาอีกครั้ง “รายา” หญิงสาวนักรบสันโดษ และตุ๊กตุ๊ก ตัวนิ่มคู่ใจ จึงต้องออกตามหา “ซิซู” (ได้แรงบันดาลใจจาก “พญานาค”) เพื่อร่วมกันฟื้นฟูเมืองและผู้คนที่แตกแยกกลับมารวมกันอีกครั้ง
และก็เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งว่า ใน Raya and the Last Dragon นี้ มีทีมงานชาวไทยที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับทีมงานของ Disney ด้วย นั่นก็คือ ฝน-ประสานสุข วีระสุนทร หรือ Fawn Veerasunthorn หนึ่งในทีมงานชาวไทยที่ทำงานในตำแหน่ง Head of story ดูแลงานด้านเนื้อหาและบทของแอนิเมชันเรื่องนี้ด้วย
ทาง #beartai ได้รับโอกาสสุดพิเศษในการสัมภาษณ์เธอผ่านทางออนไลน์ ส่งตรงจาก Walt Disney Animation Studios ในฐานะของ Head of Story ชาวไทยใน Disney และในฐานะตัวแทนชาวอาเซียน ในการนำวัฒนธรรมละแวกบ้านเรามาผสมผสานกัน และรอให้ทั้งโลกได้พิสูจน์กันในวันฉายจริง 4 มีนาคมนี้
ฝน-ประสานสุข วีระสุนทร | Fawn Veerasunthorn
ฝน ประสานสุข วีระสุนทร เรียนจบจากมหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนจะย้ายไปเรียนที่ Columbus College of Art and Design สหรัฐอเมริกา มีผลงานในฐานะ Story Artist ให้กับแอนิเมชัน Disney เช่น Zootopia, Ralph Breaks the Internet และแอนิเมชันรางวัลออสการ์จากเรื่อง Frozen และ Moana ที่ได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม และทำหน้าที่ Head of Story (หัวหน้าฝ่ายเรื่องราวและทีมนักวาดภาพเรื่องราว) ในแอนิเมชัน Disney เรื่องล่าสุด Raya and the Last Dragon
อยากให้คุณเล่าให้ฟังหน่อยว่า ก่อนที่คุณจะได้มาร่วมงานในแอนิเมชัน Raya and The last Dragon คุณมาร่วมงานกับ Disney ได้อย่างไร
ตัวเราเองทำงานแอนิเมชันมาจนถึงจุดหนึ่ง จนตัวเราเองรู้สึกว่า เราโตมากับแอนิเมชันของ Disney ก็เลยลองสมัครเข้าไปทำงานกับ Disney ดู สมัครไป 2-3 รอบ เขาก็ยังไม่เอา แต่ตอนสมัครรอบสุดท้าย ทาง Disney ก็เรียกไปสัมภาษณ์อีกรอบ ก็เลยได้ร่วมงานกัน ซึ่งก็ร่วมงานกันมาประมาณเกือบสิบปีแล้วค่ะ
ที่ผ่านมาเราก็ได้ร่วมงานในแอนิเมชันหลายเรื่อง ทั้ง Frozen, Zootopia, Moana เราได้ทำงานกับผู้กำกับ เคยร่วมงานกับผู้กำกับของ Raya and The last Dragon มาก่อนแล้ว พอคราวนี้ที่เขาเป็นผู้กำกับและโพรดิวเซอร์ ก็เลยได้มาร่วมงานด้วยกันค่ะ ด้วยความที่เราเคยมีความสัมพันธ์กับผู้กำกับมาจากเรื่องก่อน ๆ
แล้วพอมีโพรเจกต์ Raya and The last Dragon เขาก็เลยถามเราว่า สนใจอยากร่วมงานด้วยกันไหม ตอนแรกเราก็ถามว่า จริงเหรอ แน่ใจหรือเปล่า (หัวเราะ) เขาก็บอกเราว่า แน่ใจสิ เพราะว่าถึงเวลาแล้ว ไม่ต้องกลัว เดี๋ยวเขาซัปพอร์ตให้ เขาบอกเหตุผลว่า เขาอยากได้คนรุ่นใหม่ที่จะมาซัปพอร์ตโพรเจกต์นี้ได้
ขอย้อนถามเล็กน้อย พอจะบอกได้ไหมว่าแอนิเมชันเรื่องไหนของ Disney ที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณอยากมาทำงานกับ Disney
(ยิ้ม) ถ้าจะให้ย้อนเวลากลับไป ก็น่าจะเป็นเรื่อง Dumbo (1941) ค่ะ เป็นแอนิเมชันที่เราดูหลายรอบมาก เรารู้สึกว่า Dumbo เป็นแอนิเมชันที่ต่อให้เราไม่เข้าใจภาษาอังกฤษเลยก็สามารถดูได้ หรือแม้แต่เด็ก ๆ ก็สามารถดูได้
เราก็เลยรู้สึกว่า สำหรับเรา แอนิเมชันเป็นสื่อที่น่าสนใจดีเนอะ มันเป็นสื่อกลางที่ทำให้เราสามารถพูดคุย บอกเล่าเรื่องราวได้กับคนหลากหลายเชื้อชาติ โดยที่ไม่มี Language Barrier (กำแพงทางภาษา) มากั้น จากจุดนั้น ก็เลยทำให้เราสนใจในแอนิเมชัน
ทาง Disney ได้บอกเหตุผลไหม ว่าทำไมเขาถึงเลือกคุณมาร่วมงานในโพรเจกต์ แอนิเมชัน Raya and The last Dragon นี้
คือด้วยความที่ผู้กำกับของแอนิเมชันเรื่องนี้ 2 คน คนหนึ่งคือ Carlos López Estrada เป็น Head of Story ที่เราเคยร่วมงานด้วยจากแอนิเมชันเรื่อง Frozen ส่วน Don Hall ก็เคยร่วมงานกับเราในแอนิเมชัน Moana ซึ่งเขาก็คุ้นเคยกับวิธีการทำงานของเราอยู่แล้ว เขาก็เลยรู้สึกว่า ถึงเวลาแล้วนะ ที่เราควรจะมาทำงานในตำแหน่งนี้
ด้วยความที่ตำแหน่งนี้ เป็นตำแหน่งที่ควบคุม Storyboard Artist คนอื่น ๆ เราก็จะสามารถให้คำแนะนำได้ว่า ซีนนี้ควรจะทำแบบนี้นะ ถ้าเป็นไอเดียนี้น่าจะตลกกว่านะ เขาก็เลยบอกว่า ถึงเวลาแล้วนะที่คุณจะสยายปีก (หัวเราะ) ถึงเวลาแล้วที่จะมีความรับผิดชอบที่มากขึ้นค่ะ
อยากให้คุณขยายความให้เราฟังหน่อยว่า ตำแหน่ง Head of Story ของคุณ มีหน้าที่ ขอบเขตความรับผิดชอบอะไรบ้าง
คือในตำแหน่งนี้ เรามีหน้าที่ดูแลควบคุมทีมงาน Story Artist ซึ่งตอนนี้มีทีมงานอยู่ประมาณ 10-15 คนค่ะ ในช่วงของงานโพรดักชัน เราก็จะต้องทำงานร่วมกับผู้กำกับและนักเขียน ซึ่งนักเขียน ผู้กำกับ และเรา ก็จะมาเจอกันทุก ๆ วัน มานั่งคุยกันว่า ซีนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ทุก ๆ วันก็จะมีคนให้โน้ตกับทีมของเราว่า เนื้อเรื่องของจุดนี้ยังไม่เคลียร์นะ จุดนี้มีปัญหานะ แล้วเราก็จะมานั่งคิดกันว่า แล้วเราจะแก้ปัญหาได้ยังไงบ้าง เป็นการแก้ปัญหาในทุก ๆ วันว่า จะทำยังไงให้หนังออกมาดีที่สุดที่เราจะสามารถทำได้ ณ จุด ๆ นั้น แล้วเราก็จะเป็นคนที่ประสานงานไปให้กับทีมงานต่อไป
ทีมงานของเราโดยหลัก ๆ ก็จะเล่าเรื่องด้วยการวาดภาพ ทีนี้ แทนที่เราจะเอาสคริปต์ไปให้กับทีมโพรดักชันไปทำการ Animate โดยทันที แต่ต้องมาผ่านทีมของเราก่อน เพื่อที่จะมาดูกันว่าเนื้อเรื่องสนุกไหม เนื้อเรื่องเคลียร์ไหม มุกตลกฮาไหม เศร้าไหม ซึ่งกับเรื่องนี้ เราทำงานกันอยู่ 2-3 ปี ทำกันหลายรอบมาก (หัวเราะ) ซึ่งพอเป็นการวาดอย่างเดียว มันก็เลยไม่ได้เปลือง Resource (ทรัพยากร) อะไรเท่าไหร่
หมายความว่า แอนิเมชันของ Disney แต่ละเรื่องให้ความสำคัญกับสคริปต์เป็นหลักเลยใ่ช่ไหม
ค่ะ คือเรื่องสคริปต์ต้องทำมาจนถึงจุด ๆ หนึ่ง ก่อนที่ทุกอย่างจะเข้าสู่ขั้นตอนโพรดักชัน เราจะทำงานร่วมกันกับทีมโพรดักชันจนถึงจุด ๆ หนึ่งที่เขาบอกว่า โอเค ทุกอย่างค่อนข้างจะเคลียร์แล้ว เราได้ Identify ฉากนี้ ๆๆๆ แล้ว เพื่อกระจายงานให้แผนกอื่นทำต่อ
ด้วยความที่ Raya and The last Dragon เป็นแอนิเมชันเรื่องแรกที่สร้างจากแรงบันดาลใจของความเป็นอาเซียน คุณและทีมงานมีวิธีการ Research ข้อมูล และเลือกเอาความเป็นอาเซียนในแง่ต่าง ๆ มาใส่ในแอนิเมชันเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
คือเราโชคดีที่คนเขียนบททั้งสองคนของเรา คนหนึ่ง (Adele Lim) เกิดและเติบโตที่ประเทศมาเลเซีย ส่วนอีกคนหนึ่ง (Qui Nguyen) เติบโตในครอบครัวชาวเวียดนามที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา เราเลยรู้สึกว่า เราทั้งสามคนมีความเข้าใจในจุดนี้อยู่แล้วว่า ถ้าเกิดตัวละครต้องเผชิญกับวิกฤติ ปัญหา เหตุการณ์ประมาณแบบนี้ คนอาเซียนหรือคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะรับมือหรือแก้ปัญหายังไง
ซึ่งอันนี้ช่วยได้มากเลยในการวางแนวทางของคาแรกเตอร์ วางแนวทางของพล็อตเรื่อง ซึ่งเราโชคดีที่ไม่ได้เป็นคนอาเซียนคนเดียวใน Story Room เพราะพอเราอธิบายเรื่องต่าง ๆ ที่มีความเป็นอาเซียน พวกเขาก็จะบอกว่า “โอเค เข้าใจ” หรือ “แม่เราก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน ที่บ้านเราเคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว” (หัวเราะ) ซึ่งมันดีมากที่ได้มีโอกาสแชร์เรื่องราวที่เป็นส่วนตัวของคนในทีมงานนี้
ด้วยความที่หนังเรื่องนี้เป็นหนังแฟนตาซี เมือง “คูมันตรา” เป็นเมืองสมมติที่ไม่ได้มีอยู่จริงในประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งก็ถือว่าเป็นความท้าทายของทีมงานที่ต้องคิดกันตลอดว่า ทำยังไงเราถึงจะนำเสนอเรื่องราวของภูมิภาคอาเซียนนี้ ที่มีความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งในการทำงานนี้ เราได้ Visual Anthropologist (นักมานุษยวิทยาทัศนา) และน้องสถาปนิกคนไทยที่ชื่อตั้น (ณัฐกฤต สุนทรีรัตน์) มาช่วย ซึ่งทั้งสองคนนี้ไม่ได้มีความรู้เรื่องแค่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง เขามีความรู้ทั้งภูมิภาค ซึ่งเขาก็จะสามารถบอกได้ว่า คนอินโดนีเซียสร้างวัดนี้เพราะด้วยเหตุผลนี้ ๆๆๆ
ซึ่งถ้าเราดูย้อนลงไปในรากของวัฒนธรรมของเรา มันมีหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน เพราะว่าเรามีความคาบเกี่ยวกันทางด้านวัฒนธรรม
ทั้งความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศาสนา ภูมิอากาศ วิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ความสำคัญของครอบครัว อะไรแบบนี้ ซึ่งอิทธิพลเหล่านี้ก็จะไปเซ็ตในแง่ของดีไซน์ ว่าบ้านควรจะเป็นยังไง วัดควรจะเป็นยังไง เสื้อผ้าหน้าผม พอเราเข้าใจในรากของวัฒนธรรมอันนี้ เราสามารถเอามาดีไซน์ Cosmology ของเมืองคูมันตราออกมาได้ ไม่ใช่เพียงแค่ว่าไปหยิบอันโน้นอันนี้มาใส่เพราะคิดว่ามันสวยดี น่ารัก
ทุกอย่างที่เขาสร้างมันเริ่มมาจากศูนย์จริง ๆ ทีมงานทำงานกันอย่างหนักมาก ซึ่งพอมันออกมาแล้ว เราก็รู้สึกได้ว่า นี่มันเป็น South East Asia นะ แต่ถ้าดูลึกลงไปจริง ๆ จะพบว่า มันคือคูมันตรา ไม่ใช่ที่ใดที่หนึ่ง
ด้วยความที่วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางอย่างก็มีประเด็นอ่อนไหว เช่นวัฒนธรรมดั้งเดิม หรือศาสนา ฯลฯ คุณและทีมงานมีวิธีการระวัง เลือกใช้ และผสมผสานสิ่งเหล่านั้นทั้งในเนื้อเรื่องและวิชวลอย่างไรไม่ให้ออกมาเสียหาย
แน่นอนว่า พอเราเลือกที่จะทำเรื่องนี้ เราเอาประเด็นเรื่องของศาสนาออกไปก่อนเลย เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน อย่างตัวละคร “ซิซู” (ให้เสียงโดย Awkwafina) แม้ว่าเราจะได้แรงบันดาลใจมาจากพญานาค แต่เรารู้ว่าพญานาคเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่คนบูชา ซึ่งก็มีความอ่อนไหว ซึ่งเราก็ค่อนข้างระมัดระวังไม่ให้มันออกมามีความรู้สึกดูหมิ่น
ส่วนในด้านวิชวล เราค่อนข้างไว้ใจว่า ทีมงานเขาไม่ได้ลอกแบบมาโต้ง ๆ เขาจะคิดทุกอย่างผ่านความเป็นคูมันตรา ยกเว้นเรื่องอาหาร ที่เรารู้สึกว่า ไม่จำเป็นต้องไปทำให้มันแฟนตาซีมากก็ได้นะ ถ้าจะมีขนุน ทุเรียน ก็ขอให้เป็นขนุน ทุเรียนแบบจริง ๆ ก็แล้วกันนะ (หัวเราะ)
ด้วยความที่เราไม่ได้เป็นทีมงานจากอาเซียนคนเดียว จริง ๆ ก็ยังมีคนไทย คนอินโดนีเซีย คนมาเลเซีย ฯลฯ เวลาที่มาดูเนื้อเรื่องกัน ก็จะมาคุยกันว่า “ตรงนี้เราจะใส่กระติบข้าวเหนียวลงไปด้วยได้ไหม” ซึ่งทีมงานก็จะเอามาปรับเปลี่ยนให้มีความเป็นคูมันตรานั่นแหละ แต่พวกเราดูก็จะรู้ว่ามันคล้าย ๆ กระติบข้าวเหนียว ซึ่งเราก็โอเค
เพราะว่าพอมันเป็นครั้งแรก ที่เราจะสามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปสู่ระดับโลกขนาดนี้ได้แล้วเนี่ย เราก็ไม่ได้อยากจะดัดแปลงให้มันแฟนตาซีไปซะทุกอย่าง
เราอยากใส่อะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้คนดูได้เห็นแล้วรู้สึกชื่นใจว่า ดูแล้วรู้ว่ามันคืออันนี้ เราไปตลาดน้ำแล้วเคยเจออันนี้มาก่อน
ซึ่งเราว่าสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ นี่แหละที่ทำให้คนดูสามารถรู้จักความเป็นอาเซียนได้ดียิ่งขึ้น
เนื่องจากคนไทยเองก็ตื่นเต้นกับการมาของแอนิเมชันเรื่องนี้มาก ๆ คุณคาดหวังไว้บ้างไหมว่าคนไทยจะชอบ Raya and The last Dragon มากแค่ไหน
อืม…เป็นคำถามที่ดี คือทุกเรื่องที่เราทำเนี่ย เราคิดว่า หนึ่ง เราอยากจะทำให้มันดีที่สุด ในฐานะที่เป็นแอนิเมชันของ Disney ไม่ใช่เพียงแค่ว่ามันเป็นแอนิเมชันของ South East Asia แต่เพียงอย่างเดียว แต่เราอยากให้เป็นหนังที่ดีด้วย
และสอง ที่เป็นโบนัส เพราะมันเป็นความต้องการส่วนตัวก็คือ ในฐานะที่เราเป็นคนไทยที่เติบโตมากับวัฒนธรรมของเอเชีย ที่ไม่ใช่จากวัฒนธรรมของเรากันเอง ทั้งจากญี่ปุ่น เกาหลี จีน ซึ่งเป็นประเทศเอเชียที่มีความโดดเด่นในระดับโลก แต่นี่จะเป็นโอกาสครั้งแรกที่ทำให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นว่า เรามีที่ยืนในสังคมนะ ไม่ใช่ว่าคนไม่อยากจะดูวัฒนธรรมของเรา แต่ที่ผ่านมาเราไม่มีโอกาสเปิดเผยเรื่องราวสู่ชาวโลกในระดับนี้
อยากให้น้อง ๆ หรือคนที่ได้ดูรุ่นต่อ ๆ ไปรู้สึกว่า เราสามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ของเราเองได้ เราไม่จำเป็นจะต้องคิดว่าจะต้องทำคอนเทนต์ที่หวังว่าคนตะวันตกดูแล้วจะชอบ
ตอนเด็ก ๆ เราจะได้ยินบ่อยว่า วัฒนธรรมไทยมันไม่อินเตอร์เลย แต่เราก็เชื่อว่าไม่จริง เราจะทำให้หนังเรื่องนี้ทำให้เห็นว่า เรามีตัวตนของเรา ที่เราสามารถภูมิใจได้ในฐานะที่เป็นคนอาเซียน
คำถามสุดท้าย คุณอยากฝากอะไรถึงแฟน ๆ Disney ชาวไทยที่รอชม Raya and The last Dragon บ้าง
ค่ะ ก็หวังว่าผู้ชมชาวไทยจะชื่นชอบหนังเรื่องนี้นะคะ มีอะไรหลาย ๆ อย่างที่เราแอบเอาไว้ในเรื่อง ให้คนดูไปดูแล้วก็บอกว่า “เฮ้ย อันนี้ตั้งใจหรือเปล่านะ” คำตอบก็คือ “ตั้งใจค่า” (หัวเราะ)
เรารู้ว่าเราทำหนังมาเพื่อสำหรับคนดูทั่วโลก แต่ว่าในมุมหนึ่ง เราก็ทำหนังมาเพื่อคนบ้านเรา ในทีมงานเรามีคนไทยหลายคน เขาก็จะบอกกันว่า ซ่อนอันนี้ไว้ได้มั้ย หรือชื่อตัวละครตัวนี้ทำไมดูไทย ๆ จัง ซึ่งคำตอบก็คือ “ก็ชื่อไทยจริง ๆ นั่นแหละ” (หัวเราะ)
ซึ่งในหนังจะมีอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้รู้สึกว่า คนบ้านเราก็มีเสียง มีความสำคัญ ให้คนชาติอื่นเขาได้ยินเราบ้าง เพราะคนตะวันตกหลายคนที่รู้จักเรา ก็อาจจะรู้จักแค่อาหารไทย
เราอยากให้หนังเรื่องนี้ ทำให้ผู้คนมีความรู้สึก มีความสนใจในประเทศและภูมิภาคของเรามากขึ้น และอยากให้น้อง ๆ สนใจในศิลปะวัฒนธรรมไทย ให้เขารู้สึกว่า ตัวตนของเราเองก็มีความสำคัญ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส