[รีวิว] GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี – “ฉลาดเกมส์โกง” กับผี เลยต้องโดน “ฟ้ามีตา”
Our score
5.7

Release Date

26/05/2021

แนว

สยองขวัญ/ระทึกขวัญ/ดราม่า

ความยาว

1.57 ชม. (117 นาที)

เรตผู้ชม

18+ (ความรุนแรงทางเพศ,การฆ่าตัวตาย)

ผู้กำกับ

ปวีณ ภูริจิตปัญญา

[รีวิว] GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี – “ฉลาดเกมส์โกง” กับผี เลยต้องโดน “ฟ้ามีตา”
Our score
5.7

GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี

จุดเด่น

  1. การแสดงและคาแร็กเตอร์ของต่อ ธนภพ แบกหนังได้น่าสนใจมาก ๆ
  2. ธีมและโครงเรื่องน่าสนใจมาก ถ้าต่อยอดได้ไกลกว่านี้ก็จะดี

จุดสังเกต

  1. บทในบางจุดยังอธิบายได้ไม่เคลียร์ และทิ้งบางปมไปเฉยเลย
  2. เนื้อหาคอนแรกเหมือน "เอาวิทยาศาสตร์ไปหาผี" แต่กลายเป๊น "ผีโน้มกลับมาหาวิทยาศาสตร์" ซะงั้น
  3. ตอนจบองค์ที่สาม จบแบบฟ้ามีตา จบไปไกลสุดกู่มาก ๆ
  • ความสมบูรณ์ของเนื้อหา

    5.7

  • คุณภาพงานสร้าง

    5.2

  • คุณภาพของบท / เนื้อเรื่อง

    4.8

  • การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง

    7.2

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    5.5

เรื่องย่อ การทดลองเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายกลับพลิกผัน เมื่อกล้ากับวี หมอเพื่อนคู่หูเกิดเห็น ‘ผี’ ด้วยตาตัวเองเป็นครั้งแรก การเผชิญหน้าครั้งนี้ทำให้ทั้งคู่ต้องการค้นหาคำตอบเรื่องผีและข้อพิสูจน์เกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย การหมกมุ่นยึดติดเพราะอยากรู้โดยไม่คิดหน้าคิดหลังทำให้พวกเขาถลำลึกจนกู่ไม่กลับ และอาจทำให้ทั้งคู่ต้องสูญเสียมิตรภาพและคนที่ตนรักไป


หลังจากที่ปลายปีที่แล้ว GDH ได้จัดงานแถลงข่าว GDH Xtraordinary 2021 LINE UP เพื่อเผยไลน์อัป 5 โปรเจกต์หนังใหม่ที่จะเข้าฉายในปี 2563-2564 ซึ่งในปีทีแล้ว ‘อ้ายคนหล่อลวง’ (2563) หนังเรื่องแรกของโปรแกรมนี้ก็ได้เข้าโรงฉาย และเอาเข้า Netflix เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี

ถึงทีของหนังเรื่องที่ 2 ของโปรเจกต์นี้อย่าง ‘GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี’ ที่คราวนี้ GDH ขอหวนคืนสู่หนังผีอีกครั้ง (หลังจากห่างหายจากแนวนี้ไปสักพัก) โดยผู้กำกับ ‘กอล์ฟ-ปวีณ ภูริจิตปัญญา’ ที่ผ่านผลงานทั้งหนังผี-หนังไม่ผีทั้งหลาย ตั้งแต่ ‘บอดี้ ศพ19’ (2550), ‘สี่แพร่ง’ ตอน “ยันต์สั่งตาย” (2551) , ‘ห้าแพร่ง’ “หลาวชะโอน” (2552) ตอน “หลาวชะโอน” และ ‘รัก 7 ปี ดี 7 หน’ ตอน “14” (2555)

GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี

นอกจากจะเป็นการหวนสู่หนังผีของ GDH แล้ว หนังเรื่องนี้ยังเป็นภาพยนตร์ Netflix Original เรื่องแรกของ GDH ที่ฉายเฉพาะใน Netflix ด้วย ซึ่งนอกจากว่าจะมีข้อดีตรงที่ชมได้ทั่วโลกแล้ว ส่ิงที่หนังเรื่องนี้มีความแตกต่างอย่างชัดเจนก็คือ การดันเรตติงขึ้นไปถึง 18+ ทั้งภาพโหด ๆ และภาพความรุนแรงต่าง ๆ ใส่ในหนังแบบจัดเต็มได้กว่าหนังเรื่องอื่น ๆ ของ GDH ที่เคยมีมา

GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี

จริง ๆ พอได้ยินจั่วหัวว่าหนังเรื่องนี้เป็น “หนังผีสายวิทย์” แค่ทีเซอร์ก็น่าสนใจแล้วแหละ บวกกับความเป็น GDH ที่ขึ้นชื่อเรื่องการเคี่ยวกรำบทหนังแบบเข้มข้น รวมถึงการเจอกันครั้งแรกของ 2 นักแสดงแห่งนาดาวอย่าง ‘ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร’ ในบท ‘หมอวี’ หมอสุดเนิร์ดที่มีปมบางอย่างในใจ ‘ไอซ์-พาริส อินทรโกมาลย์สุต’ ในบท ‘หมอกล้า’ หมอมาดเท่ที่มีโปรเจกต์ลับที่อยากจะทดลองอะไรบางอย่างเกี่ยวกับวิญญาณและโลกแห่งความตาย และ ‘ณิชา-ณัฏฐณิชา ดังวัธนาวณิชย์’ กับการเล่นหนังครั้งแรกในบท ‘ใหม่’ แฟนหมอกล้า

GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี

ถ้าว่ากันด้วยเรื่องของธีม หรือแก่นเรื่อง จริง ๆ ต้องบอกว่ามันมีความน่าสนใจและมีความเท่ในตัวของมันเองอยู่แล้วนะครับ แล้วมันก็สัมผัสได้ตั้งแต่องก์แรก ที่เราจะได้เห็นความแตกต่างระหว่างมุมมองเกี่ยวกับวิญญาณ ไสยศาสตร์ที่แตกต่างกันของทั้งคู่ โอเค แม้ว่าตอนปูเรื่องแรก ๆ จะแอบรู้สึกยุกยิกกับการคุยอะไรเนิร์ด ๆ ไปบ้างกว่าจะปูเข้าเรื่องว่ามีโปรเจกต์ลับ ๆ เพื่อทดลองการปรากฏตัวของวิญญาณ และหวังว่าจะเป็นโปรเจกต์ที่ตีพิมพ์ในวารสารการวิจัยระดับโลก มันก็ค่อนข้างจะมีอะไรให้รู้สึกคันหัวใจยุบยิบอยู่เหมือนกัน

GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี

ตั้งแต่ในองก์แรก เราจึงจะได้เห็นการวางโครงคร่าว ๆ การสร้างโลเกชันหลักอยู่ในที่ที่ (ว่ากันว่า) วิญญาณเยอะสุด ๆ อย่างโรงพยาบาล (เพราะคนตายทุกวันและมีห้องดับจิต) และการอธิบายอธิบายเหตุผลในทางวิทยาศาสตร์ว่า “ผีมีจริงไหม?” “ถ้าผีมีจริง มีอะไรที่จะวัดได้ไหม” และ “ถ้าผีมีจริง จะปรากฏตัวได้อย่างไร เมื่อไหร่?” ในองก์แรกอย่างชัดเจน รวมถึงเคมีที่เข้ากันของไอซ์และต่อ ที่แม้ว่าอายุจะห่างกันพอสมควร แต่ก็เรียกได้ว่าดูมีความเข้าขากันในระดับที่น่าสนใจ ทั้งหมดนี้จึงทำให้ในองก์แรกนั้นมีสถานะเป็นหนังแนวลี้ลับ ผสมสืบสวนสอบสวน (มีคอมเมดี้แทรกเล็กน้อย) ที่ดูพอจะเข้าใจในเจตนาและวิธีการของตัวละครได้ในระดับหนึี่งเลยทีเดียว รวมถึงความพยายามในการประคับประคองประเด็นความเชื่อระหว่างพุทธกับผี จนเรียกได้ว่าดูแล้วนึกถึง ‘ฉลาดเกมส์โกง’ (2560) ได้ในแวบหนึ่งเหมือนกันนะครับ

GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี

แต่พอเข้าสู่องก์ที่สอง ดูเหมือนว่าตาชั่งในการประคับประคองความเชื่อทั้งสองฝั่งเริ่มก็เริ่มจะเสียสมดุล เพราะกลับพบว่า บทเริ่มกลับพาออกไปไกลจากหลักวิทยาศาสตร์หล่อ ๆ ที่สองหมอหนุ่มหล่ออุตส่าห์ปูเรื่องไว้ให้อย่างดี เพราะแม้ว่าตัวละคร โดยเฉพาะต่อ ธนภพ (ที่กำลังจะเข้ามาแบกหนัง) และตัวหนังเองก็มีปมระทึกขวัญในระดับที่ไม่ควรสปอยล์เป็นอย่างยิ่งอยู่ แต่ดูเหมือนว่าหน้าหนังและเนื้อหาในองก์แรก ที่เข้าใจว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นการ “เอาวิทยาศาสตร์ไปหาผี” กลับกลายเป็นว่าในองก์นี้ กลับเริ่มเอา “ผีโน้มกลับมาหาวิทยาศาสตร์” (และความเชื่อในทางพุทธ/ผี) ไปเสียอย่างนั้น

GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี

จนทำให้เราแทบสัมผัสหลักการต่าง ๆ แทบไมไ่ด้เลยว่า ผีจะกลับมาด้วยทฤษฏี วิธีการ หรือปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ให้เราเชื่อได้ว่า “ผีมีจริง” ได้ยังไงกันแน่ นอกจากจะใช้ “บางสิ่งบางอย่าง” เอามาเป็น “เครื่องสังเวย” และ “ร่างทรง” ให้กับวิญญาณที่มีห่วงได้ใช้อาศัยในการสื่อสาร เป็นการนำเอาความเชื่อทางพุทธ/ผี รวมถึงความผูกพันในแง่ของความรัก ความแค้น การมีห่วงผูกพัน รวมถึงประเด็นของวิญญาณที่วนเวียนไม่ไปไหน วิญญาณเข้าฝัน ฯลฯ มาครอบด้วยมุมมองทางวิทยาศาสตร์ที่ดูจะเบาบางลงเรื่อย ๆ ในขณะที่เรื่องดำเนินไปเท่านั้นเอง รวมถึงบางประเด็น และบางเรื่องราวที่ยังอธิบายได้ไม่สุด ไม่เคลียร์ รวมถึงบางประเด็นที่ถูกทิ้งขว้างไปแบบดื้อ ๆ เสียอย่างนั้น ทั้งหมดนี้กลายเป็นความ “เบี้ยว” ที่ต้องใช้การแสดงของ ‘ต่อ ธนภพ’ ออกแรงแบกกันหนักหน่อย

GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี

จนพอเข้าองก์ที่สาม ต้องบอกได้เลยนะครับว่า มันพาไปไกลเกินไปจริง ๆ ครับ ถ้าจะบอกว่าดูแล้วยังเข้าใจในธีมที่เรื่องจะสื่อไหม ผู้เขียนคิดว่าเข้าใจครบถ้วนนะครับ แต่เพียงแต่ว่า บทมันพาไปไกลแบบที่เรียกว่าลืมทุกสิ่งทุกอย่าง ลืมวิทยาศาสตร์เท่ ๆ และหลักการทุกสิ่งทุกอย่างไปอย่างง่ายดายเสียอย่างนั้น กลายเป็นว่าการสรุปจบธีมที่น่าจะจบลงได้แบบว้าว ๆ กลายเป็นการจบแบบลืมทฤษฏีวิทยาศาสตร์ทุกอย่าง แล้วหันมาใช้ทฤษฏี “ฟ้ามีตา” และบทสรุปในแบบ “พุทธ/ผี” (อีกแล้ว) เพื่อสรุปผลการทดลองแบบฉลาดเกมส์โกงเข้าขั้นคุ้มคลั่งคลั่งของหมอวี และจบลงด้วยการเผชิญกับผลการทดลองที่ลุกขึ้นมาจัดการกันแบบโต้ง ๆ ชนิดที่ดูแล้วต้องร้องว่า “อิหยังวะ” เลยแหละ

GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี

อย่างที่เกริ่นไปบ้างแล้วครับว่า การแสดงของทั้งสองหนุ่มถือได้ว่าเคมีเข้ากันเป็นอย่างดี (แม้ว่าบทจะทำให้การปูให้เห็นความสัมพันธ์ของตัวละครแต่ละตัวจะดู “มาช้า-ไปเร็ว” ไปสักหน่อยก็ตาม) แต่การแสดงของทั้ง ‘ไอซ์-พาริส’ และ ‘ต่อ-ธนภพ’ ถือว่าอยู่ในขั้นที่น่าพอใจครับ โดยเฉพาะการแสดงของ ‘ต่อ-ธนภพ’ ที่นอกจากจะแบกหนังทั้งเรื่องได้อย่างน่าประทับใจแล้ว การสร้างคาแรกเตอร์ “หมอวี” หมอเนิร์ดที่ค่อย ๆ หมกมุ่นและคุ้มคลั่งในการทดลองขึ้นทีละนิด ๆ ทั้งการพูด การแสดงท่าทางของต่อนั้น เรียกได้ว่า “สุด” มาก ๆ เลยครับ

GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี

จริง ๆ หนังเรื่องนี้ก็ยังเป็นหนังที่แนะนำให้ดูได้นะครับ ฉากสยอง ๆ หลายฉากยังทำงานได้ดี มี Jump Scare บาง ๆ พอหอมปากหอมคอ และฉากระทึกให้ลุ้นพองาม แต่ถ้าหากจะแนะนำให้ดูหนังเรื่องนี้ ขอแนะนำว่าให้ปิดโหมดการทำงานระบบตรรกะ และขอให้ลืมวิธีวิทยาการวิจัย (Research Methodology) หรืออะไรก็ตามที่เคยเรียนหรือรู้ตอนเรียนวิชาวิทยาศาสตร์เทือก ๆ นี้ไปก่อนนะครับ คือเอาจริง ๆ มันก็เป็นคำแนะนำที่ดูจะขัด ๆ แปร่ง ๆ กับหนังที่ชวนให้เราใช้สมอง ใช้ความคิดหนัก ๆ กับหลักวิทยาศาสตร์ไปหน่อยนั่นแหละ

GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี

แต่ผลจากการทดลองของผู้เขียนในการดูแบบปิดโหมดตรรกะ ผลการทดลองพบว่า น่าจะทำให้สามารถเพลินไปกับตัวหนังได้มากกว่าจะมานั่งตั้งสมมติฐาน คิดหาข้อสงสัย จับผิดโน่นนี่ ต้องการคำตอบกับสมมติฐานที่ว่า “ผีมีจริงไหม?” เพราะหนังเรื่องนี้คงให้คำตอบได้ “ประมาณหนึ่ง” เท่านั้นล่ะนะครับ


GHOST LAB ฉีกกฎทดลองผี

ป.ล. แอบบอกใบ้ว่า ในหนังมี Easter Egg เกี่ยวกับหนังค่าย GDH ด้วยนะครับ ต้องลองไปหาดูเอาเองว่ามันอยู่ตรงไหน แต่เป็นการอ้างถึงที่ผู้เขียนคิดว่ากวงติงดีครับ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส