ยังคงแรงอย่างต่อเนื่องสำหรับ ‘Squid Game เล่นลุ้นตาย’ ซีรีส์ Netflix สัญชาติเกาหลี ว่าด้วยการเสียดสีระบบทุนนิยมผ่านการเอาตัวรอดจากเกมการละเล่นของเด็ก โดยหลังจากเข้าฉายมาได้ 28 วัน Netflix ก็ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า ‘Squid Game’ กลายเป็นซีรีส์ที่มียอดผู้ชมสูงสุดตลอดกาลคือ 111 ล้านครัวเรือน แซงหน้าแชมป์เก่าอย่าง ‘Bridgerton’ ที่มียอดผู้ชม 82 ล้านครัวเรือนไปแล้วเรียบร้อย
จากความสำเร็จที่กลายเป็นไวรัลของซีรีส์เรื่องนี้ ทำให้ คิมมินยอง (Kim Minyoung) รองประธานฝ่ายเนื้อหาของ Netflix ประจำเกาหลี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า ” เมื่อเราลงทุนในการสร้างซีรีส์และหนังเกาหลีในปี 2015 เรารู้ว่าเราต้องการสร้างเรื่องราวคุณภาพระดับโลกสำหรับแฟน ๆ ที่ชื่นชอบเนื้อหาแบบเกาหลี วันนี้ ‘Squid Game’ ทำให้มันเกิดขึ้นจริงและเป็นยิ่งกว่าที่เราเคยฝันเอาไว้ซะอีก”
‘Squid Game’ เป็นซีรีส์ที่เล่าเรื่องการแข่งขันเอาตัวรอดของผู้เล่น 456 คน เพื่อเงินรางวัล 45,600 ล้านวอน โดยพวกเขาต้องเอาชนะเกมการละเล่นพื้นบ้านของเด็กเกาหลีใต้ และมีชีวิตรอดเป็นคนสุดท้ายให้ได้ หากทำผิดกฎหรือแพ้ในเกมนั้น ๆ จะต้องจบชีวิตลงทันที
พล็อตเรื่องไม่ซับซ้อนชวนปวดหัว มีความลุ้นระทึกแบบเดียวกับซีรีส์แนวเกมลุ้นตายเรื่องอื่น ๆ อย่าง Saw หรือ Alice in Borderland แต่สิ่งที่ซีรีส์เรื่องนี้ทำได้กลับเกินความคาดหมาย เพราะมันกลายเป็นกระแสไปทั่วโลก นักแสดงหลักในเรื่องมียอดผู้ติดตามในอินสตาแกรมพุ่งทะยาน อย่าง จองโฮยอน (Jung Ho-yeon) ผู้รับบทแซบยอกก็มียอดผู้ติดตามเกือบแตะ 20 ล้านคนจากเดิม 400,000 คนก่อนซีรีส์ออกฉาย หรืออย่างอีจองแจ (Lee Jung Jae) ผู้รับบทซงกีฮุน ที่เมื่อก่อนไม่เล่นอินสตาแกรม แต่เมื่อซีรีส์ฟีเวอร์ขนาดนี้จึงทนเสียงแฟน ๆ เรียกร้องไม่ไหว พอเปิดอินสตาแกรมปุ๊บยอดผู้ติดตามก็พุ่งไปถึง 3.5 ล้านคนในเวลาไม่กี่วัน
ทำไม ‘Squid Game’ ถึงฮิตระดับโลก
คำเตือน อาจมีสปอยล์เนื้อหาของซีรีส์เล็กน้อย หากยังไม่ดูสามารถข้ามส่วนนี้หรือปิดบทความก่อนได้
ความจริงแล้วซีรีส์เรื่องนี้มีส่วนที่เหมือนกับหนังหรือซีรีส์แนวแข่งขันเอาตัวรอดเรื่องอื่น ๆ อย่าง ‘The Hunger Game’ หรือ ‘Battle Royale’ ตอนแรกพวกเขาถูกหลอกให้มาเล่นเกม แต่แล้วก็ถูกบังคับด้วยสถานการณ์ให้อาสาหรือเต็มใจกลับมาเล่นอีกครั้งเพื่อความอยู่รอด
โคลอี้ เฮนรี (Chloe Henry) หนึ่งในแฟนตัวยงของซีรีส์เกาหลีออกมาบอกว่า ‘Squid Game’ มีบางอย่างที่แตกต่างจากหนังและซีรีส์เรื่องอื่น เธอกล่าวกับรายการ Newsbeat ของ BBC Radio 1 ว่า “ไม่เคยมีใครทำแบบนี้มาก่อน สำหรับหนังหรือซีรีส์เรื่องอื่นเราจะเดาได้ตลอด แต่กับเรื่องนี้เรารู้สึกว้าวมากที่มันคาดเดาไม่ได้เลย”
นอกจากนี้เธอยังรู้สึกว่าตัวละครแต่ละตัวและการแสดงของพวกเขายังทำให้เรามีอารมณ์ร่วมไปกับซีรีส์ด้วย “นักแสดงที่เล่นเป็นซงกีฮุนแสดงอารมณ์ออกมาได้สมจริงมาก มันดึงดูดความสนใจให้เราอยากดูต่อไป” และเธอยังกล่าวว่า ‘Squid Game’ ทำให้มุมมองที่มีต่อเกาหลีใต้เปลี่ยนไปด้วย “คนทั่วไปคิดว่าเกาหลีใต้นั้นเต็มไปด้วยคนรวย มันก็ดีนะที่เราได้เห็นอีกมุมมองหนึ่งบ้าง มุมที่มีคนจนและคนที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน”
อิทธิพลของเกาหลีเติบโตขึ้นอย่างมากในอังกฤษ ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ Google Trends เผยว่ามีคนอังกฤษใช้ Google ค้นหาหัวข้อเกี่ยวกับเกาหลีใต้มากกว่าที่เคยเป็นมา และเดือนก่อน Oxford English Dictionary ยังเพิ่มศัพท์ใหม่ ๆ ที่มีต้นกำเนิดจากเกาหลีถึง 26 คำในพจนานุกรมฉบับล่าสุดของพวกเขา เป็นการตกย้ำให้เห็นถึง “จุดสูงสุดของคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีในอังกฤษ”
ด็อกเตอร์อีเฮคยอง (Lee Hye-Kyung) ผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของหนังและซีรีส์เกาหลี ประจำมหาวิทยาลัย King’s Collage ในลอนดอน กล่าวว่า “ซีรีส์ ‘Squid Game’ มีองค์ประกอบบางอย่างคล้ายกับหนังออสการ์อย่าง ‘Parasite’ นั่นคือความยากลำบาก และสิ่งนั้นดึงดูดผู้ชมที่เป็นชาวต่างชาติ ซีรีส์เหล่านี้มอบความบันเทิงให้เราแต่ในขณะเดียวกันก็มีความแตกต่างซึ่งนั่นจับใจผู้ชมได้ทั่วโลก พวกเขานำเสนอการวิพากย์วิจารณ์สังคมและสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ชมอย่างเราสามารถเชื่อมโยงความรู้สึกเหล่านั้นผ่านตัวละครแต่ละตัวได้”
ด็อกเตอร์ลียังกล่าวว่าละครและหนังเรื่องอื่นของเกาหลีก็มีประเด็นเกี่ยวกับสังคม เศรษฐกิจ การเมือง แต่ ‘Squid Game’ กลับเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า “มันจริงจัง ข้อความที่พวกเขาสื่อออกมานั้นสุดโต่ง และยังสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ขณะที่ซีรีส์เรื่องอื่นของเกาหลีนั้นเบากว่า ไม่โชว์เลือด ไม่โป๊ หรือเบลอภาพอาวุธ มันเป็นเรื่องน่ายินดีนะที่ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เราไม่คาดคิด”
สามารถรับชม ‘Squid Game’ ได้ทั้ง 9 ตอนทาง Netflix ส่วนใครอยากอ่านรีวิวก่อน ตามไปอ่านได้เลยที่ รีวิว ‘Squid Game’
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส