โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ถือเป็นกำกับหนังมือทอง ที่ผ่านการสร้างสรรค์หนังผีมาหลายต่อหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นหนังผีที่หยิบไอเดียผีในภาพถ่าย อย่าง ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ หรือจะเป็นหนังผีที่ผสมผสานทั้งความโรแมนติกและเสียงหัวเราะใน ‘พี่มาก…พระโขนง’

เป็นเวลากว่า 14 ปี ที่ว่างเว้นจากการทำหนังผีแนวสยองขวัญ วันนี้เขาตั้งใจกลับมาสานต่อความสยองขวัญในแบบของตัวเองอีกครั้ง ผ่านผลงานเรื่องใหม่ภายใต้ชื่อ ‘ร่างทรง’ ซึ่งเป็นหนังที่เขาได้จับมือร่วมกับ นา ฮง จิน (Na Hong Jin) ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ ในการเนรมิตความน่ากลัวของคนเป็นร่างทรง ให้ออกมาน่ากลัวไม่เหมือนใคร จนตัวหนังประสบความสำเร็จถึงขั้นขึ้นแท่นอันดับ 1 บนบ็อกซ์ออฟฟิศเกาหลีใต้ และทำเงินไปกว่า 184 ล้านบาท

beartai BUZZ ได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับผู้ชายคนนี้ในหลากหลายเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ชวนขนหัวลุกในวัยเด็ก รวมถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานเรื่องล่าสุดนี้

เป็นคนกลัวผีไหม?

บรรจง: ถ้าปัจจุบันไม่กลัวผีเลย แต่ว่าตอนเด็ก ๆ ก็กลัว จำได้เลยว่าคอนเทนต์พวกผีตอนเด็กที่ดัง ๆ อย่างเช่นตุ๊กตาผีที่เป็นละคร ตอนนั้นเคยไปดูบ้านเพื่อนจำได้ว่า ทำเป็นดูน่ะ แต่ว่าตาไม่ได้มองจอเลย ก็คือจริง ๆ ตอนเด็กกลัวมาก แต่ว่าพอโตมา เราเริ่ม…ไม่กลัวเลย คือถ้าเจอความมืด หรือมีเสียงแปลก ๆ ที่เราสงสัยว่าผีหรือเปล่า เราก็จะมองเข้าไปหรือเดินไปดูเลย เราก็ยังไม่เคยเจอ ซึ่งดีแล้ว ก็เลยไม่กลัว แล้วก็ไม่เชื่อเท่าไหร่ แต่ว่าถ้าเจอ ก็คงเปลี่ยนความคิด แต่อย่าเจอเลยครับ

ผีมีจริงไหม

บรรจง: คือถ้าผีจะมีจริงก็น่าจะมาในรูปแบบของพลังงานอะไรบางอย่างที่มันยังตกค้างอยู่ ผมคิดในแง่นี้นะ คือเรายังไม่ค่อยได้ยินเรื่องราวว่าผีมาทำร้ายคนได้อะไรขนาดนั้นเหมือนในหนัง มันอาจจะมีนะ ไม่รู้เหมือนกัน ผมยังไม่เคยเจอกับคนใกล้ชิดอะไรขนาดนั้น ก็เลยคิดว่า ถ้ามีคงเป็นในแง่กึ่ง ๆ วิทยาศาสตร์หรือเรื่องพลังงาน

ทำหนังผีมาหลายเรื่อง เคยเจอประสบการณ์เฮี้ยน ๆ ในกองถ่ายไหม

บรรจง: คำถามยอดฮิตคือคำถามนี้แหละ ถ่ายหนังผี เจอผีไหม?  คือถ้าผีโผล่มาผมก็คงไม่รู้ เพราะว่าเรามัวแต่ห่วงว่าหนังเราจะแย่หรือเปล่า คือมัวแต่โฟกัสเรื่องว่าหนังต้องดี ต้องรอด คือคิดแค่นี้ ผีมาอยู่ตรงนี้เราอาจจะไม่มองด้วยซ้ำ เพราะมันมีเรื่องให้ห่วงเยอะมาก ทุกอย่างในเฟรมเราต้องตัดสินใจ คงต้องถามคนในกอง แต่ว่าคิดว่าไม่น่ามี เพราะว่าทุกคนก็คงเครียดกับงานอยู่

แต่มีเรื่องหนึ่งตลกดี พอ ‘ร่างทรง’ ถ่ายเสร็จแล้ว เริ่มมีน้องในทีมไปเจอทวิตเตอร์ครับบอกว่า “เนี่ยเรื่องนี้มาถ่ายที่จังหวัดหนูนะ แล้วแม่บอกว่าตอนที่ถ่ายเนี่ยผีขึ้นมาดูเต็มเลย”

จุดเริ่มต้นของความหลงใหลในหนังผี ของ โต้ง-บรรจง เริ่มขึ้นตอนไหน

บรรจง: คือเราเป็นคนชอบดูหนังผีตั้งแต่เด็ก อย่างที่บอกว่าชอบเช่าหนังผีมาดูกับญาติ ๆ รวมกลุ่ม แล้วรู้สึกมันบันเทิงมาก ๆ แต่พอโตมาจริง ๆ ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นผู้กำกับหนังสยองขวัญเลย แต่พอดีโปรเจกต์แรก เรื่องราวที่คิดได้แล้วบทมันแข็งแรงและลงตัวที่สุดก็คือเป็นเรื่อง ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ แต่ก่อนหน้านั้นเราก็ดูมาหนังทำนองนี้มาตลอดอยู่แล้ว เราหลงใหลในวิธีการและศาสตร์ในการบิวท์ของมัน อย่าง The Sixth Senses ของผู้กำกับ เอ็ม.ไนท์ ชยามาลาน (M. Night Shyamalan) เราก็รู้สึกว่าหนังเท่มาก แล้วก็มีศาสตร์การเขียนบทที่เหนือชั้นมาก ๆ คือทั้งน่ากลัว ทั้งสะเทือนใจ แล้วก็มีความแปลกใหม่มาก ๆ โดยเฉพาะตอนจบของเขา ซึ่งเรารู้สึกว่างานของคนนี้เท่เหลือเกิน

แล้วในขณะเดียวกันหนังผีสายเอเชียก็บันดาลใจเรามาก ๆ เพราะเราไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อนเลย อย่างวินาทีที่เราดู The Ring เวอร์ชันญี่ปุ่น เราขนหัวลุกเลยฮะ แล้วภาพที่มันปรากฏในวิดีโออาถรรพ์ในเรื่องนี้ มันคิดได้ยังไง มันอาร์ตมาก มันนามธรรมมาก ๆ และมันก็น่ากลัวมาก ๆ เราก็เลยหลงใหลในศาสตร์ของมัน เหมือนว่ามันท้าทายเรา

นิยามหนังผีของ โต้ง-บรรจง เป็นอย่างไร ผีต้องกระโดดเข้ามาหา ถึงเรียกว่าน่ากลัวหรือเปล่า

บรรจง: คือผมรู้สึกว่าหนังผีส่วนใหญ่ที่น่ากลัว มันต้องน่ากลัวที่เรื่องของมันด้วย คือผมไม่ค่อยเชื่อในแง่ว่า หนังผีที่แค่เดินเข้าไปแล้วเจอผีสิงอยู่ในบ้านนั้นแล้วมาหลอก โดยเรื่องราวเบื้องหลังมันไม่น่าสนใจ หรือไม่ลึกลับเพียงพอ ดราม่าของมันไม่แข็งแรง หรืออะไรอย่างนี้ แล้วมันจะเอาอยู่ คือผมดูหนังที่ แค่ผีโผล่มาแค่นี้ส่วนมากผมจะหลับเละเทะเลย คือดูไม่ได้เลย แล้วก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ได้ง่ายเลย ศาสตร์ที่มันจะทำให้น่ากลัวได้ แต่ในขณะเดียวกันมันมีหนังผีบางเรื่อง อย่างของลาตินอเมริกา ที่เรื่องไม่ได้มากมาย แต่เขาทำฉากผีเก่งมาก ๆ แล้วก็ทำให้กลัวได้ อันนั้นคือน่าจะเป็นสิ่งที่หายาก คือประมาณว่า แค่ลำพังฉากผีโผล่มาก็ทำให้เรากลัวสุดขีดได้ แต่ว่ามันก็เป็นจำนวนที่น้อยมาก ส่วนมากมันจะต้องพึ่งพิงเรื่องราวมากกว่าถ้าถามผม

จาก ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ เมื่อ 17 ปีที่แล้วสู่ ‘ร่างทรง’ ในวันนี้ มุมมองการสร้างสรรค์หนังผีเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

บรรจง: ทั้งสองเรื่องมันคิดกันคนละแบบนะ ความรู้สึกผมเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะว่าถ้าให้กลับไปทำหนังแบบ ‘ชัตเตอร์’ กับ ‘แฝด’ เราคงไม่ทำแล้ว เพราะเราเบื่อมาก คือมันเป็นเรื่องยุคสมัยด้วย คือ ‘ชัตเตอร์’ กับ ‘แฝด’ จะเป็นยุคสมัยที่ทุกคนแข่งกันทำหนังผีที่มีวิธีคิดซับซ้อน พยายามจะยิงแต่คอนเซปต์ที่แปลกใหม่ เช่น ตอน ‘ชัตเตอร์’ เราได้การถ่ายรูปมา ซึ่งตอนนั้นยังไม่เคยมีหนังผีเกี่ยวกับภาพถ่ายวิญญาณในโลกภาพยนตร์ มันก็เลยใหม่มาก

แต่หลังจากนั้นคอนเซ็ปต์ทุกอย่างในโลก แทบจะกลายเป็นหนังผีหมดแล้ว มีแบบจับเสียงผี เป็นคลื่นเสียงเป็นอะไร มันพลิกแพลงกันเยอะมาก แล้วก็การปรากฏตัวจะลีลายังไง ก็ทำมาหมดแล้ว สุดท้ายยุคหลัง ๆ ก็เลยจะกลายเป็นเน้นที่เรื่องราว

‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’

แรงบันดาลใจของ ‘ร่างทรง’

บรรจง: จริง ๆ ผมเจอคุณนา ฮง จิน เมื่อ 6 ปีก่อนตอนที่หอศิลป์ไทยให้เลือกหนังเรื่องหนึ่งมาฉาย และผมเลือกหนังเขามาฉาย ซึ่งอีเวนต์นั้นคุณนา ฮง จิน ดันมาจริง ๆ ผมก็ตื่นเต้นมาก ไม่คิดว่าเขาจะมา ก็ได้มีการพูดคุย แล้วก็เอาดีวีดีหนังของตัวเองมอบให้เขาไป ยัดเยียดให้เขาไปตอนนั้น แล้วก็ 3-4 ปีต่อมาเขาก็ติดต่อมา พอดีจังหวะผมบินไปเกาหลีพอดี ก็เลยได้เจอกัน คุยแลกเปลี่ยนกันไปมา แล้วผมก็บอกเขาว่า ขอเวลาหน่อยนะ เรื่องที่เขาส่งมาเนี่ย ผมขออ่านและตีความเป็นแบบของผม ซึ่งมันก็เลยต้องใช้เวลาในการหาข้อมูลเยอะ เพราะว่าสิ่งที่เขาส่งมามันเป็นบทเวอร์ชันเกาหลี เป็นแบบเขียนเป็นหนังแล้วประมาณ 30 หน้า

สุดท้ายแล้วพอเราหาข้อมูลเรื่องร่างทรงเกาหลี และร่างทรงไทย เราค้นพบว่ามันมีหลาย ๆ อย่างที่เชื่อมโยงกันเยอะมาก ข้อแรกคือคนเกาหลีก็เชื่อเรื่องร่างทรงมาก ๆ เผลอ ๆ มากกว่าไทยอีกด้วยซ้ำ แล้วก็ลักษณะหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะอาการของคนที่กำลังจะเป็นร่างทรง หรือกำลังจะมีวิญญาณเทพหรืออะไรบางอย่างมาเข้า เหมือนกันเลย ก็คือมีอาการป่วย รักษายังไงก็ไม่หาย ถ้าเขาไม่ยอมเป็นร่างทรงเขาก็จะป่วยอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ มันมีความเชื่อนี้ในไทยเหมือนกัน และที่เกาหลีก็เหมือนกัน และการสืบทอดร่างทรงในตระกูล โดยเฉพาะการส่งผ่านสู่เพศหญิงเท่านั้น ก็ดันเหมือนกันอีก เพราะว่าไทยผมไปเจอหลายตระกูลก็เป็นแบบนี้ ผมก็เลยรู้สึก เข้าใจแล้ว ทำไมเขาถึงเลือกเรา แล้วก็รากเหง้าความผูกพันกับร่างทรงของสองชาติมันมีอะไรคล้ายกันด้วย การศึกษาวัฒนธรรมร่างทรงของชาติต่าง ๆ มันเกิดแรงบันดาลใจให้เราหยิบบางสิ่งบางอย่างมาผสมกัน ให้เป็นโลกของร่างทรงในงานของเรา ที่เราอยากจะให้มันเข้มข้น แล้วก็ขลังที่สุดในแต่ละซีน

‘ร่างทรง’

วงการภาพยนตร์อยู่ในยุคสมัยที่ผู้คนต่างชื่นชอบในการดูสตรีมมิง ส่วนตัวคุณมองเรื่องการนำภาพยนตร์มาปล่อยในสตรีมมิงอย่างไร

บรรจง: มันแล้วแต่เป้าหมาย อย่างหนังเรื่องนี้มันถูกสร้างมาเพื่อรู้สึกว่าอรรถรสในการชมจอใหญ่น่าจะสมบูรณ์ที่สุด เพราะว่าข้อแรกคือหนังผี การดูในโรงก็คือควบคุมสมาธิได้มากกว่า หนังสยองขวัญเนี่ย แน่นอนว่าทุกคนเป้าหมายคืออยากจะให้ดูในโรงเสียส่วนใหญ่อยู่แล้ว และเรื่องนี้มันยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเราอยากให้บรรยากาศมันแทบจะเป็นตัวละครตัวหนึ่งในหนังเรื่องนี้ ภาคอีสาน จังหวัดเลย บรรยากาศ พิธีกรรมทุกสิ่ง เราอยากจะให้พลังของมันต้องรุนแรงไม่แพ้กับไดอะล็อกหรือตัวละครเลยด้วยซ้ำ คือฉากหลังมันเป็นส่วนที่สำคัญมาก ๆ ของหนังเรื่องนี้ เหมือนเป้าหมายเราถูกสร้างมาเพื่อจอใหญ่เลย ซึ่งเราก็โชคดีมากที่ทาง GDH เป็นสตูดิโอที่เข้าใจในส่วนนี้ เหมือนผู้บริหารเขาก็พูดเองว่า ถ้าไม่ฉายในจอใหญ่หนังเรื่องนี้มันก็เหมือนเสียของหรือเปล่า คือเราโชคไม่ดี อย่างที่บอกว่าโรงหนังมันไม่ได้เปิดสักที เราเลื่อนไปเรื่อย ๆ คนก็ถามว่าทำไมไม่ลงสตรีมมิงสักที คือสตรีมมิงมันลงอยู่แล้ว ณ ปลายทาง แต่ผมรู้สึกว่าเราไม่อยากให้คนพลาดโอกาสได้ดื่มด่ำกับความเป็นหนังเรื่องนี้จริง ๆ

‘ร่างทรง’

สิ่งที่ซ่อนอยู่ใน ‘ร่างทรง’

บรรจง: คือมันเป็นหนังผีที่ผมไม่ได้ทำมา 14 ปีแล้ว คือหนังผีแบบจริงจังที่ผมก้าวกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ผมก็อยากจะลองอะไรใหม่ ๆ ข้อแรกคือ เป้าหมายมันก็คือหนังผีที่น่ากลัวเรื่องหนึ่งแหละ แต่มันอาจจะเป็นความน่ากลัวที่มีรสชาติใหม่ ๆ ผสมอยู่ในนั้นด้วย แล้วก็มีวิธีการที่อาจจะไม่ได้คุ้นชินกับหนังไทยเท่าไหร่นัก ผมรู้สึกว่า ในนาทีที่หนังผีไทยมันขาดช่วงเหมือนกัน ไม่ได้มีกันบ่อยเท่าสมัยก่อนแล้ว ผมรู้สึกว่าคนดูน่าจะโหยหารสชาติที่แปลกใหม่จากหนังผี แล้วก็ยิ่งไปกว่านั้น หนังเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อ ที่อยู่กับคนไทยมา แต่ไหนแต่ไร และอยู่ในทุกพื้นที่ ถ้าใครได้เห็นตัวอย่าง ก็น่าจะพอรู้ว่าหนังเรื่องนี้มันพูดเรื่องความเชื่อที่อยู่กับเรามาตลอดจริง ๆ ซึ่งขนาดผมเป็นคนทำเอง ผมก็ได้ทบทวนตัวเองไปด้วยตลอดเวลาเลยว่า สิ่งที่เราเชื่อ ที่เราโตมาจนยุคนี้คืออะไร คำว่าความดี คำว่าเวรกรรม ความดี ความชั่วปะทะกัน เรื่องนี้จะเต็มที่เลย จะใส่สิ่งที่กระตุ้นความคิดเรื่องนั้นเยอะมาก ซึ่งผมรู้สึกว่านอกจากความน่ากลัวที่หวังว่าทุกคนจะได้กันแล้ว ก็อยากให้ทุกคนได้กลับไปคิด สำรวจความเชื่อตัวเองก็ยังดีครับ ว่าสิ่งที่ได้ดูมันคืออะไร และคุณคิดกับมันอย่างไร

อ่านต่อ: [รีวิว] ร่างทรง: สยองเครียดมวนท้องท้าทายจารีต และเนื้อร้ายที่ทำลายหนัง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส