บึก-สุชาล ฉวีวรรณ คือกราฟิกดีไซเนอร์ วัย 37 ปี ที่คว่ำหวอดอยู่ในวงการออกแบบไทยมานาน บึกเล่าให้เราฟังว่า ขณะที่ตนเองกำลังศึกษาอยู่ในรั้วคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชีวิตนักออกแบบของเขาก็ได้เริ่มต้นขึ้น หลังได้มีโอกาสทำงานออกแบบจากสื่อสิ่งพิมพ์ ปกอัลบั้ม จนไปถึงการวาด graphic packaging ให้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผลงานของ ‘บึก สุชาล’ แตกต่างจากผลงานโดยทั่วไป ก็คือความเชี่ยวชาญในด้านวิชาปิดทองบนกระจก หรือ Glass Gilding ของเขา ซึ่งเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม 2022 ที่ผ่านมา เขาได้นำศาสตร์ปิดทองบนกระจกนี้ มาออกแบบเป็นฟอนต์ตัวอักษร ‘Thailand-ไทยแลนด์’ ที่สามารถอ่านได้ 2 ภาษา จนกลายเป็นไวรัลทางโซเชียลที่มีคนแชร์กันนับแสน

วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักนักออกแบบคนนี้ รวมถึงไปตามหาคำตอบของคำถามที่ว่า เขาสามารถเปลี่ยนสภาพ ตัวอักษรไทยธรรมดา ๆ ให้กลายเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างไร และอะไรคือเบื้องหลังและแรงบันดาลใจของผลงานชิ้นนี้

ทำงาน ออกแบบ ตั้งแต่ มหาลัย

สุชาล: จริง ๆ แล้วผมก็ทำงานออกแบบ เป็นฟรีแลนซ์มาตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่ที่มหา’ลัย ตอนนั้นก็จะรับงานออกแบบกราฟิก ออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ ปกอัลบั้ม แล้วก็มีงานโฆษณาบ้าง วาด graphic packaging บ้าง คือเริ่มต้นมาจากพวกนี้

จุดเริ่มต้นของการออกแบบฟอนต์ ‘Thailand-ไทยแลนด์

สุชาล: จริง ๆ งานชิ้นนี้ผมทำเป็นงานกระจกวางขายอยู่ที่ร้าน เป็นงานขายเสริมกับงานกราฟิกหลัก คืออย่างปกติผมจะทำงานออกแบบทั่วไป งานออกแบบ branding อยู่แล้ว ซึ่งงานชิ้นนี้ก็มาจากโปรเจกต์หนึ่งที่ผมทำเกี่ยวกับคำว่า ‘ไทย’ เนี่ยแหละ พอผมดีไซน์เสร็จแล้วมันก็รู้สึกว่าน่าจะสามารถเอามาต่อยอดได้ ผมก็เลยลองดีไซน์ต่อ พัฒนาตัวแบบ จนออกมาเป็นชิ้นงานเสร็จออกมาแบบนี้

ผลงานไวรัลที่เกิดขึ้นจาก เรื่องบังเอิญ

สุชาล: อย่างที่บอกคือจริง ๆ งานชิ้นนี้ มันเป็นความบังเอิญในการออกแบบ แล้วตอนแรกจริง ๆ มันมีหลายแบบที่ผมลองดีไซน์ แล้วก็ไปให้เพื่อนช่วยคอมเมนต์ แล้วผมก็เอาคอมเมนต์นั้นมาปรับแก้ไปเรื่อย ๆ ตอนแรกก็ไม่ได้กะจะเอาไปทำอะไร แต่พอดีผมทำงานกระจกอยู่แล้วที่ร้าน Horse Unit แล้วก็มีงานไปฝากขายที่ร้านนั้นอยู่แล้ว ทางพี่เจ้าของร้านเขาก็เสนอว่า เราน่าจะลองทำงานที่ดูบ่งบอกถึงความเป็นไทยมาแขวนหน่อยไหม เพราะฐานลูกค้าที่ร้านจะเป็นคนต่างชาติเยอะ แล้วผมก็ได้งานตัวนี้มาพอดี แฟนผมเองก็บอกให้ลองเอาตัวแบบที่ทำชิ้นนี้มาทำเป็นงานกระจก ผมก็เลยเอาแบบมาพัฒนาเป็นงานกระจกอีกทีหนึ่ง จากแบบสเก็ตช์มือ ทำในคอม ทำไฟล์เอาไว้แล้ว มาลองใส่เทคนิคที่ผมคิดว่าจะทำได้ พอทำออกมาแล้วมันก็ดูน่าสนใจ

ผลงานชิ้นนี้นอกจากจะสามารถอ่านได้ 2 ภาษาแล้ว ยังเหมือนเป็นการท้าทายจินตนาการของผู้เสพด้วย คิดว่าอะไรคือความพิเศษของผลงานชิ้นนี้

สุชาล: จริง ๆ ไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เลย คือส่วนตัวผมชอบออกแบบพวกฟอนต์อยู่แล้ว งานเก่า ๆ ผมก็จะเน้นเรื่อง Typography เป็นหลักเลย สไตล์งานของผมจะออกแนวมีความผสมผสานถึงยุคเก่าอยู่ด้วย แล้วตัวอักษรแบบนี้ พอผมทำเสร็จแล้ว ก็จะลองส่งแบบให้เพื่อนกับแฟนดูเสมอ ผมมักจะถามพวกเขาว่า “อ่านเป็นภาษาอะไรกัน” เขาก็แบบ “อังกฤษ เฮ้ย ไม่ใช่! ไทย!” แล้วผมก็ลองส่งไปให้เพื่อนชาวต่างชาติดู เขาก็อ่านเป็นอังกฤษ แล้วผมก็บอกเขาว่ามันอ่านเป็นภาษาไทยได้ด้วยนะ เขาก็ตื่นเต้น

คือผลงานชิ้นนี้ มันเหมือนมันเล่นกับจินตนาการของมนุษย์ มันทำให้เราไม่รู้ว่ากำลังอ่านภาษาอะไรอยู่ มันดูมันหลอกเรา ตอนแรกก็คิดว่ามันเจ๋งดี มันดูแล้วลงตัวดี มันเหมือนกับตัว description ที่ผมเขียนประกอบภาพไปว่า อ่านออกเป็นอะไรกันบ้าง? เหมือนแบบเรายังไม่รู้เลยว่ามันจะออกเป็นภาษาอะไร

ความยากล่ะ

สุชาล: ความยากของมันคือความลงตัว ผมว่ามันอ่านแล้วมันลื่นไหล เหมือนว่าเราไม่ติดขัดกับตัวไหน จริง ๆ ผมมีผลงานอื่น ๆ ที่ใช้ไอเดียแบบนี้ เคยออกแบบฟอนต์พิมพ์ไว้ เป็นตัวเรียบ ๆ แต่พอลองอ่านแล้วมันก็ไม่ลื่นไหล อาจจะเพราะว่าด้วยความเป็นฟอนต์พิมพ์ มันเลยไม่ส่งคาแรกเตอร์ของความเป็นไทยหรือเปล่า ผมก็ไม่แน่ใจ เพราะว่าด้วยความเป็นไทย มันก็อาจจะอยู่ที่ความอ่อนช้อย ความที่เป็นแบบ มีติ่งมีจะงอย เหมือนพวกลายไทย แต่เราก็ไม่ได้เอาคาแรกเตอร์ของลายไทยมาใช้ขนาดนั้น เราใช้แค่จุดเด่นของมัน เรื่องจะงอย ความชดช้อย แล้วมาบวกกับภาษาอังกฤษที่เล่นกับตัวเขียนแบบนี้ มันก็เลยรู้สึกแบบ เออ…มันลงตัว

ผลงานของคุณทำให้เห็นถึงการผสมผสานที่ลงตัวของ 2 วัฒนธรรม คุณวางแผนจะทำให้ผลงานเหล่านี้กลายเป็นภาษาใหม่เลยไหม

สุชาล: ไม่ได้คิดถึงขั้นนั้นเลย คือตอนแรกที่ทำออกมา ก็แค่ทำออกมา คือผมทำงานคนเดียว พอทำออกมาก็เลยจะปรึกษาแฟนเสมอว่ามันโอเคไหม คือไอเดียมันมาจากแค่นี้เลย พอเราชอบกันสองคน เราก็เลยลองทำเป็นชิ้นงาน ไม่ได้คิดถึงขั้นว่าแบบจะทำให้สากลอะไรขนาดนั้น แต่ถ้ามันได้ไปอยู่ในที่ ๆ คนเห็นได้เยอะ มันก็ดี

คือจริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องของความลงตัวทางภาษาด้วย ผมแค่เห็นอักขระของมันว่ามันน่าจะไปต่อได้ ผมก็เลยเอาตัวนั้นมาต่อยอดไอเดียเฉย ๆ มันไม่สามารถทำได้ทุกชิ้น อย่างหลังจากที่มีไวรัลไป มีคนมาขอให้ออกแบบ คำ ชื่อ ให้เป็น 2 ภาษา ผมก็บอกว่ามันทำไม่ได้ทุกคำ มันเป็นเพราะความลงตัว ที่เราสังเกตเห็นมันเฉย ๆ

ภาษาของมันเอง จริง ๆ แล้วมันคล้ายกันด้วยคำที่มันเท่ากัน แล้วเราก็เอามาดีไซน์ให้มันลงตัว เหมือนแบบ ทำดีไซน์ให้คนรู้สึกกับมัน ถ้าคนต่างชาติที่รู้ภาษาไทยเขาก็จะรู้สึกดี รู้สึกว่ามันเจ๋ง อาจจะเป็นเพราะคาแรกเตอร์ของภาษาไทยด้วย

บึก สุชาล

คิดจะวางมือจากงานลูกค้า แล้วออกเดินทางไปเป็นศิลปินเต็มตัวไหม

สุชาล: ผมชอบรับงานออกแบบอย่างที่ทำอยู่อยู่แล้ว ส่วนการที่จะมาเป็นศิลปินเต็มตัว ผมไม่ได้คิดไว้ เพราะส่วนตัวชอบทำงานให้ลูกค้า เหมือนเป็นความเคยชิน ทำมานานแล้ว ก็ยังชอบยังรักงานประเภทนี้อยู่ ก็เลยคิดว่าจะยังทำงานดีไซน์ให้ลูกค้าอยู่ แล้วอาจจะดีไซน์เพิ่มคาแรกเตอร์ตัวเองลงไปมากขึ้น เพราะจริง ๆ คาแรกเตอร์ของผมมันก็มีอยู่ในงานบ้างอยู่แล้ว

เริ่มปล่อยผลงานลง NFT บ้างแล้ว

สุชาล: อย่างจริง ๆ NFT ที่ลงไป ผมก็เคยคุยกับเพื่อนมาตั้งแต่ช่วงต้น ๆ โควิด-19 แล้วว่าอยากลองเหมือนกัน แต่ ตัวผมเองไม่ได้มีงานของตัวเองมากนัก มีแต่งานที่ทำให้ลูกค้า แล้วพอมางานชิ้นนี้คนเห็นแล้วคนชอบเยอะ ผมก็เลยคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ผมจะได้ลงงานตัวเองที่เป็น NFT สักที ผมก็เลยลองดู

พอผลงานกลายเป็นไวรัล ชีวิตเปลี่ยนมากขนาดไหน ตั้งรับกับมันอย่างไร

สุชาล: ถ้าตอนแรกผมก็รู้สึกงง ๆ เหมือนกัน แล้วก็ดีใจมากที่มีคนชอบ ตอนที่เห็นว่ามีคนแชร์ครั้งแรกก็ตอนพ่อผมส่งมาในไลน์ แล้วเขาก็ถามว่า “นี่งานบึกหรือเปล่า” ผมก็บอกว่า “เออใช่ ๆ นี่งานบึกเอง พ่อไปได้มาจากไหน” พ่อก็บอกว่าเขาได้มาจากกรุ๊ปไลน์เพื่อน แล้วก็ไม่รู้ว่าต้นตอมาจากไหน เพราะเพื่อนเขาส่งมา แล้วตอนบ่าย ๆ ก็มีเพื่อนแท็กมาให้ดูมีคนไลก์เยอะมากเลย ผมก็แบบ เฮ้ย! ตกใจ

เราจะได้เห็นผลงานฟอนต์ 2 ภาษา จากคุณอีกไหม

สุชาล: ผมจะมีผลงานโพสต์บนอินสตาแกรม (sketchedbuk) อยู่เรื่อย ๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานลูกค้าเนี่ยแหละครับ แต่ก็จะมีแฝงตัวตนของผมอยู่ด้วย ส่วนใหญ่จะโพสต์งานกระจก Glass Gilding กับงานออกแบบที่ตัวเองชอบ ส่วนผลงานแบบนี้ ผมไม่แน่ใจว่ามันจะออกมาอีกไหม เพราะว่ามันก็บังเอิญจริง ๆ คือบางทีไอเดียเรามันอาจจะซ้ำกับคนอื่น มันไม่ใช่ว่าผมเป็นต้นฉบับคิดตัวอักษรนี้ขึ้นมา มันมีคนคิดได้ แต่ว่าอาจจะทำแบบที่ไม่ได้เป็นแบบนี้ อย่างที่บอกว่ามันคือความบังเอิญ แค่นั้นเลย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส