Release Date
29/12/2021
แนว
แอ็กชัน/ผจญภัย
ความยาว
7 ตอน (1 ซีซัน)
เรตผู้ชม
PG (เด็กและเยาวชนควรได้รับคำแนะนำ)
Executive Producer
'จอน ฟาฟโรว์' (Jon Favreau), เดฟ ฟิโลนี (Dave Filoni), 'แคทธรีน เคนเนดี' (Kathleen Kennedy) 'โคลิน วิลสัน' (Colin Wilson), 'โรเบิร์ต รอดริเกวซ' (Robert Rodriguez)
Our score
7.9The Book of Boba Fett | คัมภีร์แห่งโบบาเฟตต์
จุดเด่น
- เผยเรื่องราวที่ไม่เคยรู้เกี่ยวกับโบบา เฟตต์ได้แบบเคลียร์ ๆ เติมเต็มความฝันให้แฟน ๆ
- งานวิชวลเอฟเฟกและกราฟิกยังทำได้ดีสมราคาซีรีส์สตาร์ วอร์ส
- กราฟความสนุกค่อย ๆ ไต่ขึ้น บทสุดท้ายสนุกสุด
- ฉากแอ็กชันสนุกเร้าใจ โดยเฉพาะในบทสุดท้าย
- แขกรับเชิญ แขกเซอร์ไพรส์ และ Easter Egg จากจักรวาลสตาร์ วอร์สอย่างเพียบ !
จุดสังเกต
- กราฟความสนุกถือว่าไต่ช้าถ้าเทียบกับซีรีส์ The Mandalorian โดยเฉพาะใน 3 ตอนแรก
- ดรอยด์ในซีรีส์เรื่องนี้ยังเฉย ๆ ไม่ได้มีตัวไหนโดดเด่น
-
ความสมบูรณ์ของเนื้อหา
7.4
-
คุณภาพงานสร้าง
8.7
-
คุณภาพของบท / เนื้อเรื่อง
8.0
-
การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง
6.5
-
ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม
8.7
สำหรับแฟนเดนตายของจักรวาล Star Wars การมาของซีรีส์ ‘The Book of Boba Fett’ ไม่ใช่แค่เพียงซีรีส์สปินออฟเรื่องใหม่ครับ แต่มันยังมีความหมายอย่างมากในฐานะที่เป็นซีรีส์สปินออฟที่หยิบเอาหนึ่งในตัวละครจากจักรวาลหลัก โดยเฉพาะตัวละครหนึ่งที่เรียกได้ว่ามีสีสัน และเป็นตัวละครที่มีกลุ่มแฟน ๆ ชื่นชอบอยู่เยอะพอสมควร (แม้ว่าจะเป็นตัวร้ายน่ะนะ) ตัวละครที่ว่านั่นก็คือ ‘โบบา เฟตต์’ (Boba Fett) บุตรชายร่างโคลนของ ‘จังโก เฟตต์’ (Jango Fett) ใน Skywalker Saga นั่นเอง
ในภาพยนตร์ โบบา เฟตต์ นักล่าค่าหัวของฝั่งจักรวรรดิ์สิ้นชื่อไปแล้ว เพราะว่าพลัดตกลงไปในหลุมสัตว์ประหลาดที่มีชื่อว่า ‘ซาแล็ก’ (Sarlacc) ใน ‘Star Wars: Episode VI – Return of the Jedi’ (1983) แต่ในเชิงของเรื่องราวและทฤษฏีการรอดตายออกมาจากตัวซาแล็กของโบบา เฟตต์นั้นถูกพูดถึงในหมู่แฟน ๆ มานานแล้วว่า ในที่สุด นักล่าค่าหัวยอดฝีมือคนนี้จะต้องรอดออกมาจากตัวซาแล็กได้แน่นอน (ถ้าเอาตามทฤษฏี ก็มีความเป็นไปได้อยู่ เพราะจับบาบอกผ่านซีทรีพีโอ (C-3PO) ไว้ในหนังเองว่า ตัวซาแล็กใช้เวลาเป็นพัน ๆ ปีในย่อยอาหาร)
จุดนี้แหละที่ทำให้แฟน ๆ ต่างสร้างทฤษฏีต่าง ๆ นานาเพื่ออธิบายว่า โบบา เฟตต์จะเอาชีวิตรอดออกมายังไงได้บ้าง รวมทั้งมีการเรียกร้องให้มีการสร้างเรื่องราวที่เป็นทางการขึ้นมาเสียที ตอนแรกมีแผนว่าจะกลายมาเป็นภาพยนตร์ แต่แล้วก็พับแผนไป จนกระทั่งการมาของ Disney+ ที่ทำให้ความฝันของแฟน ๆ กลายเป็นจริงได้ในที่สุดในซีรีส์ ‘The Book of Boba Fett’ หรือ ‘คัมภีร์แห่งโบบาเฟตต์’
โดยรวม ตัวซีรีส์เองก็ยังคงใช้แนวทางเดียวกับที่เคยทำกับซีรีส์ ‘The Mandalorian’ ทั้ง 2 ซีซัน ทั้งในแง่บท โปรดักชัน และวิธีการเล่าเรื่อง ซึ่งก็ต้องเปรย ๆ ไว้ก่อนนะครับว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดู ‘The Mandalorian’ โดยเฉพาะในซีซันที่ 2 มาก่อน เพราะว่าในนั้นมีเรื่องราวของโบบา เฟตต์ที่ถูกเล่าไปแล้วบางส่วน หากใครที่โพล่งมาดูก่อน หรือดูแล้วแต่จำไม่ได้ (แบบผู้เขียน (555) ก็อาจจะมีงง ๆ และอาจจะเผลอคิดไปเองได้ว่า ตัวซีรีส์มี Plot Hole ที่เชื่อมเรื่องราวได้ไม่สมบูรณ์นัก หากจะมองในฐานะของซีรีส์เรื่องนี้แบบเอกเทศ ผู้เขียนเองมองว่า เนื้อเรื่องถือว่าไม่ปราณีปราศรัยสำหรับคนที่ไม่ใช่แฟน Star Wars นะครับ เพราะในซีรีส์จะไม่มี Flashback ให้ดูย้อนเสียด้วยสิ แถมยังมีตัวละครที่มาจากแอนิเมชันในจักรวาลมาโผล่เป็น Life Action เป็นครัั้งแรกอยู่หลายตัวอีกด้วย
ด้วยความที่คอนเซปต์เรื่องราวของ ‘คัมภีร์แห่งโบบาเฟตต์’ นั้น ถูกวางไว้เป็นสองเส้นเรื่อง ทั้งเรื่องการรำลึกการผจญภัยของโบบา เฟตต์ในอดีต ตั้งแต่การเอาตัวรอดออกมาจากตัวซาแล็ก เอาตัวรอดบนดาวทาทูอีน ลบภาพนักล่าค่าหัวทิ้งไป ตัดสลับกับช่วงเวลาปัจจุบัน ที่เล่าด้วยท่าทีและแรงบันดาลใจที่ชัดเจนว่าหยิบยืมมาจากหนังมาเฟียสไตล์ ‘The Godfather’ ที่ตอนนี้ โบบา เฟตต์ ในฐานะไดเมียว หรือผู้ปกครองแห่งเขตมอส เอสปา (Mos Espa) และมือขวาจอมสังหารอย่าง ‘เฟนเนก แชน’ (Ming-Na Wen) ต้องหากลวิธีร่วมมือถ่วงดุลอำนาจ และป้องกันแก๊งไพก์ (Pykes) ที่กำลังจะรุกเข้ามาทำการค้าสไปซ์ หรือผงสารเสพติดบนดาวทาทูอีน นั่นก็เลยทำให้ใน 3 บทแรกนั้นมีอาการเดินเครื่องอืดไปหน่อย และยิ่งเทียบกับ ‘The Mandalorian’ ก็ยิ่งเห็นชัดเลยว่าเรื่องนั้นมีพล็อตและการดำเนินเรื่องที่เรียบง่ายและตรงตัวกว่าเรื่องนี้จริง ๆ
คือในแง่ของการได้ค้นพบชีวิตของโบบา เฟตต์ ที่แฟน ๆ รอคอยมาแสนนานนั้นก็ถือว่าสนุกและตื่นเต้นใช้ได้นะครับ โดยเฉพาะเวลาที่อยู่กับเผ่าทัสเคน ที่จะมีแอ็กชันให้ดูเยอะหน่อย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกแหละว่า มันไปถ่วงให้พาร์ตการเมืองในฐานะเจ้าพ่อ (ไดเมียว) ที่อาจจะมีแอ็กชันอยู่บ้าง แต่ก็เน้นนั่งโต๊ะเจรจาเป็นส่วนใหญ่ ดูดรอปและมีรายละเอียดให้ติดตามน้อยไปสักหน่อย จนกระทั่งในบทที่ 5 และ 6 นี่แหละครับ ที่กราฟความสนุกค่อย ๆ ไต่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะนอกจากจะมีฉากแอ็กชันมากขึ้นกว่าเดิม (เพราะเล่าเรื่องอดีตของเฟตต์จบไปแล้ว)
สิ่งที่เป็นความสนุกสำหรับแฟน ๆ Star Wars ก็เห็นจะเป็น Easter Egg ต่าง ๆ ทั้งคน เหตุการณ์ สถานที่ ที่ล้วนแล้วเคยผ่านตาเรื่องราวทั้งจากในภาพยนตร์ ซีรีส์ แอนิเมชัน คอมิก (หรือแม้แต่แฟนเมด) ในจักรวาลสตาร์ วอร์สอยู่เต็มไปหมด ชนิดที่เรียกว่าน่าจะเป็น Easter Egg และเซอร์ไพรส์ (คน ๆ นั้นแหละ) ที่ทั้งมีเส้นเรื่องเป็นของตัวเอง และเส้นเรื่องก็จะมาบรรจบกับเส้นเรื่องหลักได้ในที่สุด และจะว่าไป มันก็ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้มีฐานะกลายเป็นสปินออฟ (Spin Off) ของซีรีส์ ‘The Mandalorian’ ได้อยู่เหมือนกันนะครับ
โดยส่วนตัวผู้เขียนแล้ว กราฟความสนุกมาสุดตรงที่ตอนสุดท้ายของซีซันในบทที่ 7 (‘In the name of honor’) พอดิบพอดีเลยครับ คือเรียกว่า ถ้าค่อย ๆ เก็บรายละเอียดจากทั้ง 6 บท บทสุดท้ายนี่แหละที่ถือว่าเป็นรางวัลสำหรับรอคอยอย่างแท้จริง เพราะเนื้อเรื่องทุกเส้นจะมาขมวดจบกันในบทนี้พอดี เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เดินเรื่องด้วยการสู้รบระหว่างกองกำลังของโบบา เฟตต์ และเฟนเนก แชน ที่สามาถรวมเอาไพร่พลที่ล้วนแล้วแต่เคยเป็นศัตรูของท่านไดเมียว ทั้งแก๊งวัยรุ่นมอเตอร์ไซค์ เจ้าวูกกีป่าเถื่อนอย่างแบล็ก คาร์ซานทาน (Black Krrsantan) ให้มาร่วมกันต่อสู้กับแก๊งไพก์ได้ในที่สุด
รวมทั้งยังเป็นการเฉลยเซอร์ไพรส์ก้อนใหญ่เกี่ยวกับ (คน ๆ นั้นแหละ) ซึ่งแน่นอนว่า มาทีเดียวฮือฮากว่าเจ้าของเรื่อง แถมยังปูเรื่องส่งให้ซีรีส์ตัวเองที่จะฉายในอนาคตได้อีกต่างหาก (555) แต่ใด ๆ ก็ตาม ตัวซีรีส์ทั้งเรื่องก็พร้อมที่จะส่งต่อซีซันต่อไปได้อย่างแน่นอน และผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะดีขึ้นกว่านี้ได้ด้วย เพราะตัวซีรีส์น่าจะสามารถเดินเรื่องราวใหม่ต่อได้เลยโดยไม่ต้องเสียเวลาดำน้ำรำลึกอดีตในแทงก์หรือโดนแย่งซีนอีกต่อไป (555)
อย่างที่ผู้เขียนกล่าวไปข้างต้นว่า ซีรีส์เรื่องนี้ยังคงใช้แนวทางเดียวกับ ‘The Mandalorian’ ทีมงานก็เลยยังคงเป็นทีมเดิม ทั้งกราฟิกฉากที่ยังคงใช้เทคโนโลยี Unreal Engine สร้างฉากเสมือนจริง วิชวลเอฟเฟกจาก Industrial Light & Magic สกอร์ดนตรีจาก ‘ลุดวิก เยอรันซัน’ (Ludwig Göransson) ที่คราวนี้สอดแทรกความเป็นเวิลด์ มิวสิกเข้าไปได้อย่างลงตัวและมีกลิ่นอายความเป็นชนเผ่ามาก ๆ รวมทั้งการสร้าง “ตัวละครเซอร์ไพรส์” ที่ใช้นักแสดงแทนมาร่วมกับเทคโนโลยีลดอายุ (De-aging) และใช้ AI ประมวลเสียงของนักแสดงท่านนี้ในวัยหนุ่มขึ้นมาโดยที่ไม่ต้องพากษ์ใหม่เลย ซึ่งพอตัวละครตัวนี้ได้มีบทบาทมากขึ้นเต็ม ๆ ในซีรีส์ ก็ยิ่งเห็นได้ชัดเลยว่า แม้จะไม่ได้เหมือนตัวจริงแบบเด๊ะ ๆ แต่ก็ทำออกมาได้อย่างแนบเนียนกว่าเดิมมาก ๆ จนเรียกได้ว่าน่าพอใจเลย
ส่วนในแง่ของนักแสดง ก็ต้องเรียกได้ว่าโชคดีจริง ๆ ครับ ที่ ‘เตมูรา มอร์ริสัน’ (Temuera Morrison) เจ้าของบทพ่อ ‘จังโก เฟตต์’ (Jango Fett) ใน Star Wars ไตรภาคต้น (เอพิโสด 1-2-3) ซึ่งจริง ๆ แล้ว เขาเองถือว่าผูกพันกับบทนี้มายาวนานมากกว่า 20 ปี เพราะเขาเองรับทั้งบทหลัก บทรองเป็นทหารโคลน ให้เสียงพากษ์เป็นทหารโคลนในหนังหนังเวอร์ชันพิเศษและเกม จนในที่สุดก็ได้กลับมารับบทโบบา เฟตต์ผู้เป็นลูกอีกครั้ง
แน่นอนว่าด้วยอายุก็เข้าเลข 6 แล้ว ก็แอบหวั่น ๆ อยู่เหมือนกันว่าลุงแกจะสู้กับบทแอ็กชันหนัก ๆ ไหวหรือเปล่า แต่ก็ต้องเรียกได้ว่าสู้ได้จริง ๆ เพราะยังคงออกแรงแอ็กชัน ทั้งการต่อสู้กับเอเลียน การต่อสู้แบบชนเผ่าทัสเคน หรือการต่อสู้ในฐานะโบบา เฟตต์ที่เป็นไดเมียวแห่งมอส เอสปา ก็ถือว่าทำออกมาได้อย่างไม่น่าห่วง ยิ่งในบทที่ 7 ก็จะยิ่งได้เห็นเขาออกแอ็กชันกันแบบเต็ม ๆ ส่วน ‘มิง-นาเว็น’ (Ming-Na Wen) ที่รับบท ‘เฟนเนก แชน’ ก็จะได้โชว์ฝีมือการไล่ล่าศัตรูแบบ Free running ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ในจักรวาลสตาร์ วอร์ส และเท่มาก ๆ ครับ
โดยสรุปแล้ว ผู้เขียนอยากเรียก ‘The Book of Boba Fett’ ว่าเป็น “สปินออฟในสปินออฟ” เสียจริง ๆ เพราะในระหว่างที่ซีรีส์เรื่องนี้ยังเล่าไปทีละนิด พี่แกดันแทรกเรื่องของ “ตัวละครเซอร์ไพรส์” จนแทบจะไม่ใช่ซีรีส์ของตัวเองแล้ว (555) ถ้านับในแง่ของความเป็นซีรีส์ กราฟความสนุกตื่นเต้นเร้าใจอาจไต่ขึ้นช้าไปสักนิด หากเทียบกับ ‘The Mandalorian’ ที่ดูจะมีเรื่องชัดเจน คงเส้นคงวา และเดินเรื่องกระชับฉับไวกว่ามาก
แต่ ‘คัมภีร์แห่งโบบาเฟตต์’ เองก็ถือว่าเป็นซีรีส์ที่แฟนพันธุ์แท้ Star Wars ไม่ควรพลาดจริง ๆ เพราะนอกจากจะเป็นการหวนรำลึกเรื่องราวที่เกิดขึ้น เปิดเผย ปะติดปะต่อเรื่องราวที่ไม่เคยถูกเล่าที่ไหนมาก่อน ซีรีส์เรื่องนี้ก็ยังถือว่าเป็นการส่งต่อเรื่องราวของโบบา เฟตต์ ในฐานะตัวละครที่หลาย ๆ คนชื่นชอบ ให้ได้มีเรื่องราวในจักรวาลอันไกลโพ้นนี้ต่อไปอีกเรื่อย ๆ (ก็หวังว่าในซีซันต่อไป จะไม่โดนตัวละครเซอร์ไพรส์โผล่มาแย่งซีนไปทีละเกือบ 2 ตอนแบบนี้อีกนะ (555)
รายชื่อตอนใน ‘The Book of Boba Fett’ ซีซันที่ 1
บทที่ 1 : ‘Stranger in a Strange Land’ กำกับโดย ‘โรเบิร์ต รอดริเกวซ’ (Robert Rodriguez)
บทที่ 2 : ‘The Tribes of Tatooine’ กำกับโดย ‘สเตฟ กรีน’ (Steph Green)
บทที่ 3 : ‘The Streets of Mos Espa’ กำกับโดย ‘โรเบิร์ต รอดริเกวซ’ (Robert Rodriguez)
บทที่ 4 : ‘The Gathering Storm’ กำกับโดย ‘เควิน ตันเจริญ’ (Kevin Tancharoen)
บทที่ 5 : ‘Return of the Mandalorian’ กำกับโดย ‘ไบรซ์ ดัลลัส ฮาวเวิร์ด’ (Bryce Dallas Howard)
บทที่ 6 : ‘From the Desert Comes a Stranger’ กำกับโดย ‘เดฟ ฟิโลนี (Dave Filoni)
บทที่ 7 : ‘In the name of honor’ กำกับโดย ‘โรเบิร์ต รอดริเกวซ’ (Robert Rodriguez)
ปล. อย่าลืมดู End Credits ตอนท้ายบทที่ 7 นะครับ
ปล. 2 ใน Star Wars ต้องมีดรอยด์เสมอ แต่เอาเข้าจริงผู้เขียนกลับเฉย ๆ กับดรอยด์ในซีรีส์เรื่องนี้นะครับ เพราะว่าส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เคยปรากฏในภาพยนตร์และแอนิเมชันมาก่อน ถ้าผู้เขียนจะยกให้หุ่นตัวไหนเจ๋งสุด คงต้องยกให้ดรอยด์สุนัข 3 ตัวที่เดินอยู่ในมอส เอสปาในบทที่ 1 ซึ่งดรอยด์เหล่านั้นก็คือหุ่นยนต์สปอต (Spot) ที่ผลิตโดยบริษัทบอสตันไดนามิกส์ (Boston Dynamics) ที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง และนั่นแปลว่า มันคือหุ่นยนต์จริง !