และแล้วรายการ ‘ดิสนีย์ คลับ’ รายการที่เป็นคลับรวมการ์ตูนของดิสนีย์ ที่ออกอากาศยามเช้าทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 มาอย่างยาวนานกว่าสามทศวรรษ ก็ได้ประกาศลาจอช่อง 7 อย่างเป็นทางการ โดยจะออกอากาศเป็นครั้งสุดท้ายในวันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายนนี้ และจะเป็นเทปพิเศษที่รวมพิธีกรของทุกยุคไว้ด้วย
ซึ่งการลาจอของรายการการ์ตูนในตำนานที่อยู่คู่ทีวีไทยมาอย่างยาวนานในครั้งนี้ คาดว่าน่าจะเป็นผลกระทบจากการที่ Disney+ Hotstar ระบบสตรีมมิงของดิสนีย์ที่เข้ามาทำการตลาดในเมืองไทยอย่างเป็นทางการ และคาดว่าลิขสิทธิ์การ์ตูนทีวีของดิสนีย์บางเรื่อง (ที่เคยฉายในรายการดิสนีย์คลับ) ก็มีแนวโน้มว่าจะเอามาลงใน Disney+ ด้วย ส่วนทางช่อง 7HD เองก็เตรียมทดแทนสล็อตรายการที่ว่างด้วยการนำเอาการ์ตูนญี่ปุ่นมาฉายแทนต่อเนื่องในวันที่ 3 กรกฏาคม
รายการ ‘ดิสนีย์ คลับ’ ออกอากาศครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นรายการที่ได้รับลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องในการผลิตรายการ และฉายการ์ตูนจากดิสนีย์ในประเทศไทย โดยในยุคแรกจะเน้นฉายการ์ตูนคาแร็ํกเตอร์ใน ‘จักรวาลมิกกีเมาส์’ (Mickey Mouse Universe) เป็นหลัก เช่น มิกกีเมาส์, มินนีเมาส์, กูฟฟี, โดนัลด์ ดัก, พลูโต, ชิปแอนด์เดล ฯลฯ
จนกระทั่งดิสนีย์ได้ก่อตั้ง ‘ดิสนีย์ เทเลวิชัน แอนิเมชัน’ (Disney Television Animation) ซึ่งเป็นสตูดิโอที่รับหน้าที่ผลิตการ์ตูน ซีรีส์ รายการสำหรับฉายทางทีวีโดยเฉพาะ รวมทั้งการเปิดสถานีโทรทัศน์สำหรับฉายแอนิเมชันเฉพาะของดิสนีย์เองโดยเฉพาะ ทั้ง Disney Channel, Disney XD และ Disney Junior ทำให้ดิสนีย์ไม่ได้มีแค่การ์ตูนในจักรวาลมิกกีเมาส์ หรือการ์ตูนที่ Spin-Off จากภาพยนตร์การ์ตูนเท่านั้น แต่ยังมีการ์ตูน Originals หลากแนวหลายรส ซึ่งคนไทยที่ไม่ได้ติดเคเบิลหรือจานดาวเทียมที่มีช่องดิสนีย์ (อย่างเช่นผู้เขัียน) ก็ได้มีโอกาสดูการ์ตูนเหล่านั้นตอนที่เอามาฉายในรายการดิสนีย์คลับนี่แหละ
และที่ไม่พูดถึงก็ไม่ได้ก็คือตัวรายการเอง โดยทั้งรายการจะมีพิธีกรที่จะมาแนะนำการ์ตูนในแต่ละวัน รวมถึงคอยให้สาระความรู้เรื่องต่าง ๆ แก่น้อง ๆ และช่วงท้ายก็จะมีช่วงตอบจดหมาย ที่น้อง ๆ ทางบ้านที่เขียนเข้ามาทักทาย และวาดภาพตัวการ์ตูนดิสนีย์เข้ามาร่วมสนุกด้วย โดยพิธีกรรุ่นบุกเบิกที่เราคุ้นชื่อกันก็คือ ‘พี่นัท’ (ศักวัต ด่านบรรพต) และ ‘พี่แนน’ (อรรัตน์ ฉัตรวลี) ก่อนที่จะมีการผลัดเปลี่ยนพิธีกรอีกหลายยุค เช่น ‘พี่ส้ม’ (ณัฐวรา หงษ์สุวรรณ) ‘พี่เป๊ก’ (ผลิตโชค อายนบุตร) ‘พี่เก่ง’ (อธิป เจริญชัยสกุลสุข – นักร้องวง ‘ลูกหิน’) ‘มิวนิค’ (นันท์นภัส เลิศนามเชิดสกุล – อดีตสมาชิก BNK48 ‘โบกัส’ (ธีระธันญ์ ขจรชัยเดชาวัฒน์) ‘พีพี’ (พีรพล เพิ่มเพ็ชร) เป็นต้น
ก่อนที่รายการ ‘ดิสนีย์คลับ’ จะลาจอ ลาจากช่อง 7HD ไป และเหลือไว้เพียงความทรงจำดี ๆ ในเช้าวันหยุดของของเด็ก ๆ และอดีตเด็ก (โดยเฉพาะผู้เขียน) #beartai จึงขอรวบรวม 10 สุดยอดการ์ตูนดิสนีย์สุดสนุกในความทรงจำ ที่เคยฉายในรายการ ‘ดิสนีย์คลับ’ มาแล้วทั้งสิ้น ซึ่ง ณ ตอนนี้คงได้แต่ภาวนาว่า ดิสนีย์น่าจะเอาการ์ตูนเด็ด ๆ ในความทรงจำเหล่านี้ใส่ใน Disney+ Hotstar ให้ครบทุกเรื่องเลยก็จะดีมาก ๆ
DuckTales (1987 – 1990)
การ์ตูนสายเป็ดของดิสนีย์ที่ต่อยอดจากคอมิก ‘Uncle Scrooge’ มาเป็นการ์ตูนทางทีวี เนื้อหาเกี่ยวกับลุง ‘สกรูจ แม็กดัก’ (Scrooge McDuck) เศรษฐีขี้งกที่ต้องเปิดคฤหาสน์รับเลี้ยงหลาน ๆ ตัวน้อยทั้ง ‘ฮิวอี’ (Huey), ‘ดิววี’ (Dewey) และ ‘หลุย’ (Louie) ในระหว่างที่ ‘โดนัลด์ ดัก’ ขอลาไปเป็นทหารเรือ ซึ่งเจ้าเป็ดน้อยทั้งสามได้บังเอิญไปพบว่าเรือจำลองของลุงสกรูจลำหนึ่งมีแผนที่ลายแทงสมบัติทองคำที่อยู่ในเรืออัปปางใต้ทะเลได้ ก็เลยเกิดเป็นการผจญภัยครอบครัวล่าสมบัติทีี่สนุกเกินคำบรรยาย
ในเวอร์ชันต้นฉบับนั้นได้รับความนิยมมาก ๆ ถึงขั้นที่มีการต่อยอดออกมาในหลาย ๆ รูปแบบ ทั้งวิดีโอเกม หนังสือการ์ตูน สินค้าลิขสิทธิ์ และภาพยนตร์สปินออฟ (จากทีวีไปสู่ภาพยนตร์) ในชื่อ ‘DuckTales the Movie: Treasure of the Lost Lamp’ ที่ฉายในปีั 1990 อีกด้วย แถมยังมีการรีบูตการ์ตูนเรื่องนี้อีกครั้ง ฉายทางช่อง Disney XD ในปี 2017 ซึ่งก็ยังได้รับความประสบความสำเร็จเหมือนเดิม และข่าวดีสำหรับคนที่อยากชมก็คือ ใน Disney+ ก็จะมีการ์ตูนเรื่องนี้ ทั้งเวอร์ชันต้นฉบับปี 1987 และเวอร์ชันภาพยนตร์ให้ชมกันด้วย
Timon & Pumbaa (1995 – 1999)
การ์ตูนทีวีเรื่องแรกที่สปินออฟมาจากภาพยนตร์แอนิเมชันคลาสสิก ‘The Lion King’ (1994) ความยาว 3 ซีซันที่หยิบเอาคาแร็กเตอร์ตัวเมียร์แคต ‘ทีโมน’ และเจ้าหมูป่า ‘พุมบา’ คู่ซื้เพื่อนสนิทของซิมบาที่มาพร้อมกับปรัชญาแห่งความสุข ‘ฮาคูนา มาทาทา’ (Hakuna Matata) มาเป็นพระเอกแบบเต็มตัว คราวนี้ไม่ได้แค่ออกไปผจญภัยแค่ในป่าแอฟริกาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังออกไปสร้างเรื่องป่วนฮาต่าง ๆ นานา แถมยังเข้าเมืองไปป่วนถึงต่างประเทศในรูปแบบซิตคอมแบบจบในตอนอีกต่่างหาก และที่สำคัญคือ ยังมีตัวละครจากในหนังทั้งซิมบา ราฟิกิ และอีกหลายตัว พร้อมกับตัวละครใหม่ ๆ ที่ทั้งเกี่ยวและไม่เกี่ยวกับธีม เดอะ ไลออนคิง มาร่วมแจมอีกเพียบ
สำหรับผู้เขียน แม้ว่านี่จะเป็นการ์ตูนที่นำคาแร็กเตอร์จาก Lion King มาสปินออฟ แต่ก็ต้องเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม ด้วยเนื้อเรื่องที่สนุกเฮฮา และได้โชว์มุกตลกโบ๊ะบ๊ะเข้าขากันได้แบบเต็ม ๆ ชนิดที่ว่าดูแล้วก็หายเครียดได้เลยแหละ
“ฮาคูนา มาทาทา เป็นคำพูดที่ชูใจ ฮาคูนา มาทาทา สนุกกันให้สะใจ
ไม่เห็นต้องกังวล ปล่อยมันไปน่ะสุขแท้
เรื่องร้ายไม่เคยมี ท่องไว้ดีดี ฮาคูนา มาทาทา”
The Proud Family (2001 – 2005)
การ์ตูนแนวครอบครัวป่วนฮาที่แม้ว่าอาจจะไม่ได้อยู่ในกระแสมาก แต่โดยส่วนตัวผู้เขียนรู้สึกชอบเรื่องนี้ เนื้อเรื่องว่าด้วยครอบครัวตระกูล ‘Proud’ ตระกูลของคนผิวหลากสีที่ประกอบไปด้วยสาวน้อยตัวเอก ‘เพนนี’ ‘บีบี’ และ ‘ซีซี’ น้องฝาแฝดวัยทารกจอมป่วน ‘ออสการ์’ และ ‘ทรูดี’ พ่อและแม่ของเพนนี ‘ชูการ์มามา’ คุณย่าประจำบ้าน และเจ้าพัพ หมาพูเดิลตัวโปรดของคุณย่าชูการ์มามา ที่ต้องเผชิญกับเรื่องป่วนฮาแบบคาดไม่ถึงในทุก ๆ ตอน
จริง ๆ ถ้าจะให้นึกภาพว่าการ์ตูนเรื่องนี้โทนประมาณไหน ให้นึกถึงการ์ตูนเรื่อง ‘จิบิมารุโกะจัง’ หรือการ์ตูน ‘มารูโกะ’ ที่คล้ายกันมาก ๆ ทั้งพล็อตเรื่องครอบครัวที่มีเรื่องป่วน ๆ เข้ามาในบ้าน รวมถึงคาแร็กเตอร์กวน ๆ หัวหมอปนต๊อง ๆ ของสมาชิกในครอบครัว แต่สิ่งที่แตกต่างที่ชัดเจนที่สุดของการ์ตูนเรื่องนี้นั่นก็คือ เรื่องราวที่มีความป่วนแบบซิตคอม และเรื่องราวความหลากหลายที่แฝงไว้อย่างแนบเนียน ซึ่งใน Disney+ ก็จะมีให้ชมกันด้วย และจะมีการสร้างซีซันที่ 3 ที่มีเนื้อหาต่อจากสองซีซันแรกที่ฉายเมื่อ 15 ปีก่อนลงฉายในปี 2022 ที่จะถึงนี้ด้วย
Kick Buttowski: Suburban Daredevil (2010 – 2012)
การ์ตูนขนาดสองซีซันในชื่อไทยว่า ‘เด็กจี๊ดใจเกินร้อย’ เนื้อเรื่องเกี่ยวกับ ด.ช.คิก บัตทาวสกี หรือชื่อเต็ม ‘แคลร์เรนซ์ ฟรานซิส คิก บัตทาวสกี’ (Clarence Francis Kick Buttowski) เด็กชายตัวเตี้ยวัย 10 ขวบที่ดันไม่ชอบเล่นของเล่นหรือคิดแบบเด็ก ๆ แต่ดันชอบอะไรท้าทาย ๆ สไตล์เด็กแก่แดด ทั้งแต่งตัวเชย ๆ เล่นสเก็ตบอร์ด ขี่จักรยานทรงฮาร์เลย์ เล่นกีฬาเอ็กซ์สตรีม แถมยังชอบเล่นใหญ่ ขี้เก๊ก และมีเป้าหมายอยากเป็นคนที่เจ๋งที่สุดในโลก! (แต่เห็นแบบนี้ก็มีความเป็นเด็กเยอะอยู่นะ)
การ์ตูนเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่เน้นการเล่าแบบจบในตอน ซึ่งสถานการณ์ป่วน ๆ ก็จะเกิดจากเรื่องราวความอยากเท่ อยากแอ็กชันของ ด.ช.คิก และผองเพื่อน (ที่หลายครั้งก็อาศัยเป็นลูกกระจ๊อกทำโน่นทำนี่ให้) ความสนุกของการ์ตูนเรื่องนี้ก็คงเป็นภารกิจป่วน ๆ ที่น้องคิกมักจะชอบทำอะไรห่าม ๆ เล่นใหญ่เกินเด็กสิบขวบ แต่ดันมาอยู่ในโลกของเด็ก และมีเพื่อนเป็นเด็ก ๆ นี่แหละ แถมเด็กแต่ละคนนี่ก็นะ… ผลลัพธ์ก็เลยจบแบบไม่ค่อยสวยสักเท่าไหร่
Kim Possible (2002 – 2007)
การ์ตูนแนววัยรุ่น-ตลกอีกเรืี่องของดิสนีย์ ที่ไม่ใช่แค่การ์ตูนธรรมดา แต่เป็นวัยรุ่นสายลับ! ที่ว่าด้วย ‘คิมเบอร์ลีย์ แอน พอสสิเบิล’ (Kimberly Ann Possible) นักเรียนวัยมัธยมปลายที่มีงานลับ ๆ คือการเป็นสายลับในนาม ‘คิมพอสสิเบิล’ ที่ต้องช่วยปกป้องโลกจากเหล่าร้ายที่มีเยอะมาก กว่าจะจบ 4 ซีซันนี่คือฟาดไปเป็นสิบตัว!
โดยคิมไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง เพราะยังมีเพื่อนสนิทคอยช่วยอยู่เบื้องหลัง ทั้ง ‘รอน’ เนิร์ดจอมเฟอะฟะที่มีสัตว์เลี้ยงคู่ใจเป็นน้องตุ่นไร้ขนชื่อ ‘รูฟัส’ และ ‘เวด’ อัจฉริยะติดห้องที่แม้จะไม่ค่อยออกนอกบ้าน แต่ก็เป็นผู้คอยประดิษฐ์สิ่งของไฮเทคให้คิมไว้ใช้ โดยทั้งสามคนจะติดต่อเหตุด่วนเหตุร้ายผ่านทางโทรศัพท์ ‘Kimmunicator’ เหมือนในเพลงไตเติล “โทรสิ โทรสิ แล้วฉันจะรีบไป…” นั่นแหละ
นอกจากลายเส้นสวย ดูสนุก มุกตลกฮาใช้ได้ และคิมก็สวยและเก่งมาก (อันนี้ผู้เขียนชอบส่วนตัว แฮ่…) จุดหนึ่งที่หลายคนชอบคือเคมีการจิ้นกันระหว่างคิมกับรอนนี่แหละ ด้วยความที่ทั้งคู่ปรากฏพร้อมกันบ่อยมาก เรียกว่่าตัวติดกันเลย เรียกได้ว่าเป็นคู่จิ้นที่มาก่อนกาลก็ว่าได้ จนตอนท้ายเรื่องในซีซัน 3 นี่บอกได้เลยว่า อื้อหือ สปอยล์ไม่ได้จริง ๆ และถ้าอยากจิ้นต่อ อันนี้มีข่าวชัดเลยว่า จะเอาลง Disney+ ด้วยนะ
Recess (1997 – 2001)
6 ซีซัน เวอร์ชันภาพยนตร์อีก 4 เรื่อง และแถมตอนพิเศษ 1 ตอน น่าจะพอยืนยันความสำเร็จและความสนุกของการ์ตูนวัยรุ่นเรื่องนี้ได้ดี เพราะว่าจริง ๆ แล้ว นอกจากตัวละครแก๊งเพื่อน 6 คนที่เป็นตัวเดินเรื่องหลักทั้ง ‘ทีเจ เด็ตไวเลอร์’ (T.J. Detweiler) ‘วินซ์’ (Vince) ‘สปินเนลี’ (Spinelli) ‘เกรตเชน’ (Gretchen) ‘ไมกี’ (Mikey) และ ‘กัซ’ (Gus) แล้ว ตัวละคร โรงเรียนนี้ก็น่าสนใจ ทั้งอาจารย์ ครูใหญ่ แก๊งสาวไฮโซ แก๊งนักกีฬา คู่แฝดนักขุด ห้องอนุบาลที่ทำตัวเหมือนชนเผ่าอะไรบางอย่าง และรุ่นพี่ที่ตั้งตนเป็นศักดินา และตั้งตนเป็นพระราชาปกครองทั้งโรงเรียน ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงพักกลางวันโรงเรียนเท่านั้นเอง
แต่จริง ๆ ความเจ๋งของการ์ตูนเรื่องนี้อยู่ตรงที่ แม้ตัวละครและเรื่องราวในแต่ละตอนจะไม่ได้แฟนตาซีอะไรเลย ทุกอย่างและทุกมุกล้วนเป็นเรื่องธรรมดา ๆ ที่เกิดขึ้นได้ แต่ตัวเนื้อเรื่องกลับแอบหยอดประเด็นเครียด ๆ ซ่อนไว้ในภาพลักษณ์การ์ตูนวัยรุ่นป่วน ๆ ได้แบบแนบเนียน ทั้งเรื่องของความแตกต่างหลากหลาย (ของตัวละคร) การตั้งคำถามกับกฏระเบียบ ข้อบังคับ และบรรทัดฐานทางสังคมบางอย่างที่บางครั้งก็ไม่เมกเซนส์ และทำให้ชีวิตธรรมดา ๆ ดูยุ่งยาก และกลายเป็นปัญหาน่าขบขันจี๊ดใจได้เหมือนกัน บอกเลยว่านี่ก็เป็นการ์ตูนอีกเรื่องที่ต้องรอดูใน Disney+ เลย
The Emperor’s new school (2006 – 2008)
หรือในชื่อไทยว่า ‘จักรพรรดิ์หัวใจสะออน’ ที่มีเนื้อหาต่อจากภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘The Emperor’s New Groove’ (2000) (แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ต่อกันอะไรขนาดนั้น เป็นการเอาตัวละครมาต่อยอดซะมากกว่า) เรื่องว่าด้วยเจ้าชาย ‘คุซโก’ จักรพรรดิ์หนุ่มหล่อผู้หลงตัวเองและขี้โม้สุด ๆ แห่งอาณาจักรคุซโกเนียนต้องรับหน้าที่สืบทอดตำแหน่งองค์จักรพรรดิ์ แต่ตามกฏมนเฑียรบาลระบุว่า คนที่จะสืบบัลลังก์ได้ต้องจบการศึกษาเท่านั้น จึงจะขึ้นนั่งบัลลังก์ได้ เลยต้องทุ่มเทกับการเรียนแบบขัดใจแกมขี้เกียจตามสไตล์ทายาทจักรพรรดิ์นั่นแหละ
แต่ยังดีที่มีเพื่อนสาวชื่อ ‘มาลีนา’ ที่คอยช่่วยเหลือการเรียน แถมยังอาศัยความเป็นจักรพรรดิ์ช่วยเหลือตัวเองให้เรียนได้แบบสะดวกแกมโกงอีกต่างหาก แถมยังต้องระวังภัยจาก ‘อีสมา’ ที่มักจะปลอมตัวมาเป็นอาจารย์เพื่อคอยขัดขวางไม่ให้คุซโกได้เรียนแบบสะดวก เพื่อที่จะต้องการแย่งชิงบัลลังก์จักรพรรดิ์เป็นของตัวเอง อืม…พล็อตนี่มันหนัง ‘สั่งเจ้าพ่อไปเรียนหนังสือ’ นี่นา
กิมมิกของการ์ตูนเรื่องนี้ที่สนุกและแตกต่างมาก ๆ นั่นก็คือ จะมีช่วงขัดจังหวะของคุซโก ที่อยู่ดี ๆ ก็จะตัดจังหวะเรื่องแล้วเข้ามาเลกเชอร์อธิบายเหตุผลต่าง ๆ นานาที่เกิดขึ้นในเรื่องแบบไม่มีจังหวะดูสี่ดูแปดใด ๆ ทั้งสิ้น
ป.ล. มีใน Disney+
Dave the Barbarian (2005 – 2006)
การ์ตูนดิสนีย์ที่โคตรแหวกด้วยแนวคอเมดี แต่ดันเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคกลาง! ว่่าด้วยเรื่องราวของเดฟ เจ้าชายบาบาเรียนสุดแกร่งแต่ดันขี้ขลาด ที่อาศัยอยู่ในเมืองสมมติชื่อว่่า ‘เออโดรกอธ’ Udrogoth เขาอาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่เป็นราชา-ราชินี พร้อมกับ ‘แคนดี’ พี่สาวบ้าแฟชันและเอาแต่ใจ และ ‘แฟง’ น้องสาวจอมวีน (ที่ดูเหมือนหลุดมาจากยุคหิน) เดฟมีดาบพูดได้ขี้เหวี่ยงขี้วีน (เอิ่ม…) ชื่อ ‘ลูลา’ เป็นดาบคู่ใจ ซึ่งเดฟที่ทั้งขี้ขลาดและติงต๊องนี่แหละที่ต้องปกป้องอาณาจักรจากจอมวายร้ายที่ดูน่ากลัว (แต่ทรงคือติงต๊องพอกันนั่นแหละ…)
ความเจ๋งของการ์ตูนเรื่องนี้นอกจากความบ๊องแล้ว ยังเป็นการ์ตูนที่มีผู้บรรยายด้วย! คนบรรยายคือ Jeff Bennett ที่พากษ์เสียง ‘จอห์นนี บราโว’ (Johnny Bravo) นั่นแหละ ซึ่งอีตาผู้บรรยาย นอกจากจะบรรยายเรื่องแล้ว บางทีก็ได้รับบทบาทร่วมแสดงแจมด้วย! แต่เห็นดูทรงฮา ๆ แบบนี้ แต่ก็ค่อนข้างน่าเศร้าเหมือนกันที่อายุของการ์ตูนเรื่องนี้นั้นมีแค่ 22 ตอน หรือ 1 ซีซันถ้วน นับว่าเป็นซีรีส์การ์ตูนดิสนีย์เรื่องหนึ่งที่อายุขัยสั้นที่สุด แถมยังไม่มีวี่แววจะเอามาลง Disney+ อีกต่างหาก
Mickey Mouse Clubhouse (2006 – 2016)
จริง ๆ แล้วถ้าลองนึกกันดี ๆ เราจะพบว่า เด็กรุ่นใหม่ ๆ ไม่ได้คุ้นเคยกับมิกกีเมาส์ และตัวการ์ตูนใน ‘จักรวาลมิกกีเมาส์’ (Mickey Mouse Universe) เท่ากับรุ่นผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ เท่าไหร่แล้ว อาจจะเพราะว่าดิสนีย์เองก็พยายามสร้างการ์ตูนหลากหลายแนวมากขึ้นจนการ์ตูนในจักรวาลมิกกี เมาส์กลายเป็นเรื่องเชยไป
จนกระทั่งมีเรื่องนี้แหละที่นำเอาตัวการ์ตูนในจักรวาลมิกกี เมาส์กลับมาแบบครบถ้วนใน 4 ซีซัน ทั้ง ‘มิกกีเมาส์’, ‘มินนีเมาส์’, ‘กูฟฟี’, ‘โดนัลด์ ดัก’, ‘เดซี ดัก’, และ ‘พลูโต’ ซึ่งพอเอากลับมาในยุคนี้ ก็เลยกลายมาเป็นการ์ตูนสำหรับเด็กปฐมวัยที่ดูน่ารักและทันสมัยขึ้น แถมยังเป็นแนว ‘Interactive’ หรือแนวปฏิสัมพันธ์ ที่ชวนคนดูเล่นไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเด็กเล็ก ๆ อาจจะดูเพราะว่ามันเป็นการ์ตูนแนวที่สามารถเล่นไปด้วยได้ ส่วนผู้ใหญ่หลายคนรวมถึงผู้เขียนดูเพราะว่าคิดถึงมิกกีเมาส์และผองเพื่อนนี่แหละ ซึ่งถ้าอยากดู สามารถรอดูได้ที่ Disney+
อีกเกร็ดที่อยากเล่าเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องนี้คือ นี่คือผลงานสุดท้ายของ ‘เวย์น อัลไวน์’ (Wayne Allwine) เจ้าของเสียงพากษ์มิกกีเมาส์สุดคลาสสิกที่ให้เสียงมาเนิ่นนานกว่า 32 ปี ซึ่งก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี 2009 เขาได้ให้เสียงพากษ์เสียงมิกกีเมาส์ไว้ล่วงหน้าก่อนออกอากาศนานหลายปีมาก ๆ แต่กว่าที่ตอน “The Golden Boo-Boo” ซึ่งเป็นผลงานตอนสุดท้ายจริง ๆ ของเขาจะได้ออกอากาศ ก็ปาเข้าไปวันที่ 28 กันยายน ปี 2012 โน่นเลย
“MISKA!, MUSKA!, MICKEY MOUSE!”
‘มิกกีเมาส์’
“มิสกา! มุสกา! มิกกีเมาส์!”
Phineas & Ferb (2007 – 2015)
คอนเซปต์ของแอนิเมชันนี้เริ่มต้นจากคำถามง่าย ๆ ว่า “ถ้าโรงเรียนปิดเทอมจะทำอะไรกันดี?” ซึ่งคำตอบก็คือ “งั้นก็ทำทุกอย่างยังไงล่ะ!” แล้วก็กลายเป็นการ์ตูนแบบ 1 หรือ 2 ตอนจบทีี่มีสองเส้นเรื่อง ทั้งเรื่องของ ‘ฟีเนียส’ (หน้าสามเหลี่ยม) ‘เฟิร์บ’ (หน้ายาว) คู่แฝดอัจฉริยะที่พยายามจะหาอะไรสนุก ๆ ทำกับแก๊งเพื่อน ๆ ตอนปิดเทอม แต่จะให้มาเล่นกิงก่องแก้ว ปั่นแปะ งูกินหาง ทอยเส้นก็ดูจะธรรมดาไป เพราะดันเล่นใหญ่แบบล้ำ ๆ เกินความเป็นเด็กประถมไปไกลโข เดือดร้อนพี่สาวอย่าง ‘แคนเดซ’ ที่คอยหาจังหวะจับผิดน้อง ๆ และหาทางฟ้องแม่ให้ได้
ยัง ยังไม่พอ เพราะแต่ละตอนยังมีอีกเส้นเรื่องคือ ‘แพรี’ ตุ่นปากเป็ดสัตว์เลี้ยงของฟีเนียสและเฟิร์บที่มีงานลับ ๆ คือการเป็นสายลับในนาม ‘สายลับพี’ (Agent P.) โดยที่สายลับพีต้องคอยแอบฟีเนียส ไปปฏิบัติหน้าที่สายลับเพื่อปกป้องโลกจากนักวิทยาศาสตร์วายร้ายสติเฟื่องนาม ‘ด็อกเตอร์ดูเฟนชเมิร์ซ’ (Dr. Doofenshmirtz) ที่มาพร้อมกับอุปกรณ์ครองโลกสุดบ๊อง พร้อมกับคำลงท้ายในทุก ๆ ตอนว่า “ไปตายซะเจ้าตุ่นปากเป็ดแพรี่ !!!!!”
ส่วนตัวผู้เขียนเองชอบการ์ตูนเรื่องนี้มากที่สุด เพราะไม่ใช่แค่ความครีเอตที่จัดเต็มในทุกตอน แต่ยังเล่นกับทุกรายละเอียดแบบที่แม้ว่าแก่นเรื่องจะเหมือน ๆ กันทุกตอน แต่มีรายละเอียดยิบย่อยที่แตกต่างกันไปและไม่เหมือนกันเลย และพร้อมจะเปลี่ยนทุกอย่าง รื้อใหม่ทุกตอน ทำเพลงประกอบเจ๋ง ๆ และแถมยังหยิกแกมหยอกทุกพอปคัลเจอร์ทั้งที่เรารู้จักและไม่รู้จัก กลายเป็นการ์ตูนที่นอกจากจะเซอร์ไพรส์ในทุก ๆ ตอนแล้ว แต่ยังได้ฮาจี๊ด ๆ เบื้องล่างในแบบที่ไม่เชื่อเลยว่านี่มันการ์ตูนดิสนีย์นะเนี่ย!!! อ้อ และที่สำคัญคือ มีให้ดูใน Disney+ ด้วยนะ สุดยอด!!!!