Release Date
01/12/2022
Rate : TV-14
1h 41m
Director : Roar Uthaug
Writers : Espen Aukan, Roar Uthaug
Stars : Ine Marie Wilmann, Kim Falck, Mads Sjøgård Pettersen
Our score
6.3[รีวิว] Troll : เมื่อยักษ์ไม่ร้าย หนังก็ไร้ความระทึก
จุดเด่น
- ออกแบบตัวโทรลล์ได้ดี ดูเป็นอสุรกายโบราณ ที่พรางตัวมาได้ยาวนานนับพันปี
- โปรดักชันดูเป็นสเกลใหญ่ มีภาพมุมกว้างมาโชว์บ่อย ๆ
- งานซีจีจัดว่าโอเค เนียน ไม่หลอกตา
จุดสังเกต
- บทภาพยนตร์ยังหลีกหนีจากสูตรสำเร็จของหนังอสุรกายยักษ์ไม่พ้น
- พอกำหนดให้โทรลล์เป็นอสุรกายใจดี มีคุณธรรม ไร้ความน่ากลัว หนังจึงไร้อารมณ์ลุ้นระทึก
- เห็นได้ว่าพยายามใส่อารมณ์ดราม่าระหว้าง ดร.โนรา กับพ่อ แต่บิลต์ไม่ขึ้น
- กำหนดบทลงเอยให้กับโทรลล์ได้แบบว่า..............................................
-
คุณภาพงานสร้าง
7.5
-
คุณภาพนักแสดง
7.0
-
บทภาพยนตร์
5.0
-
ความบันเทิงตามแนวหนัง
6.0
-
คุ้มค่า เวลารับชม
6.0
เป็นความพยายามอีกครั้งของผู้กำกับ รอร์ อาทัก (Roar Uthuag) ผู้กำกับดาวรุ่งจากนอร์เวย์ หลังจากมี The Wave (2015) หนังคลื่นยักษ์ถล่มโลกเป็นผลงานสร้างชื่อ ได้เป็นตัวแทนหนังจากนอร์เวย์ไปเข้าชิงออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ แล้วก็เป็นใบเบิกทางให้เขาได้เข้าสู่ฮอลลีวูด ได้รับหน้าที่กุมบังเหียน Tombraider (2018) ที่กลายเป็นทั้งภาครีบูต และภาคดับฝันที่จะได้คืนชีพ ลารา ครอฟต์ ขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้ผู้กำกับอาทักต้องหวนกลับคืนนอร์เวย์บ้านเกิด แต่ก็ยังคงเล่นใหญ่สไตล์เดิม คราวนี้ไม่เล่นกับอุบัติภัยธรรมชาติล่ะ แต่เล่นกับยักษ์จริง ๆ เลย ด้วยการหยิบเรื่องราวของ โทรลล์ ยักษ์ในตำนานฝรั่ง ให้มีตัวตนจริง ๆ มาบุกเมืองกันไปเลย ไม่มีการเปิดเผยว่ารอบนี้ใช้ทุนสร้างไปเท่าไหร่ แต่จากหน้าหนังที่เห็นทั้งงานซีจี และโปรดักชันที่เป็นสเกลใหญ่ก็น่าจะไม่น้อยละ
ก็ถือว่าทีมงานพยายามเฟ้นหาไอเดียที่แปลกใหม่มาเล่น ในขณะที่ฮอลลีวูดพากันสร้างหนังตัวประหลาดยักษ์ออกมาเต็มไปหมดแล้ว ทั้ง ไดโนเสาร์ คิงคอง และก็อดซิลลา ด้วยความที่เป็นหนังจากยุโรป ก็เลยเลือกหยิบ โทรลล์ ยักษ์โบราณในตำนานที่ชนชาติตะวันตกรู้จักกันดี ให้มีชีวิตขึ้นมา แล้วออกมาเพ่นพ่านป่วนเมืองเสียเลย
การเลือกเอาโทรลล์มาเป็นจุดขายนั้นยังไม่ช้ำนัก เพราะคอหนังฮอลลีวูดก็เคยเห็นแค่โทรลล์ โผล่มาหน่อย ๆ ใน Harry Potter and the Sorcerer’s Stone (2001) แค่นั้น แล้วก็มาในภาพยักษ์ตัวเขียวเหมือน Shrek เสียมากกว่า หลังจากนั้นก็มี Trollhunter (2010) หนังสัญชาตินอร์เวย์เช่นเดียวกัน ที่มาในโทนจริงจัง แต่ออกไปแนวสยองขวัญ เล่นกับภาพจากกล้องแฮนด์เฮลด์ ฉะนั้นโทรลล์ในอุตสาหกรรมหนังก็ยังถือว่าแปลกใหม่ แล้วยังรู้จักกันทั่วโลก แต่สิ่งที่อาทักยังหลีกหนีไม่ได้ก็คือรูปแบบการเล่าเรื่องที่ยังคงยึดถือขนบเดิม ๆ ในหนังตัวประหลาดยักษ์ทั้งตัวเอกที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ และตัวร้ายที่เป็นนักการเมืองผู้มีอิทธิพล
เปิดเรื่องแบบสูตรสำเร็จ ด้วยการให้โทรลล์ออกมาอาละวาด มีชาวบ้านใช้กล้องมือถือบันทึกวิดีโอไว้ได้แบบลาง ๆ ร้อนไปถึงรัฐบาลต้องตามตัว ดร.โนรา ทีเดอร์มัน นักบรรพชีวิน แปลไทยเป็นไทยก็คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านซากสัตว์ดึกดำบรรพ์นั่นล่ะ ก็พอดีกันตรงที่ว่า โนรานั้นมีความสนใจในเรื่องโทรลล์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเธอตั้งข้อสงสัยว่าอสุรกายยักษ์ที่ออกมาอาละวาดนี้น่าจะเป็นโทรลล์ เธอจึงไปตามพ่อที่ศึกษาเรื่องโทรลล์มาตลอดชีวิต มาช่วยกันไขปริศนาและแกะรอยโทรลล์กัน
หนังใช้เวลาไม่ถึง 30 นาที ก็เปิดเผยโทรลล์แบบให้เห็นกันจะ ๆ ไปเลย ในเรื่องการออกแบบภาพลักษณ์ของโทรลล์นั้น ถือว่าเป็นข้อดีของหนังเลย สอดคล้องกับทฤษฎีที่ว่า โทรลล์อยู่รอดมาได้นับพันปี ด้วยการออกแบบให้ผิวร่างภายนอกของโทรลล์นั้นดูเหมือนหิน มีทั้งดินและซากไม้ปกคลุม ทำให้เชื่อได้ว่าโทรลล์สามารถแอบซ่อนตัวมาได้ยาวนานจริง ทำให้ฉากเปิดตัวโทรลล์นั้น น่าประทับใจ แต่ก็น่าเสียดายที่เราได้เห็นกันไปแล้วในตัวอย่างหนัง เพราะนอกนั้นก็ยังไม่เห็นมีฉากไหนที่น่าตื่นตาอีกต่อไปแล้ว
บทหนังเหมือนสร้างข้อจำกัดให้กับตัวเอง แบบหาทางออกสวย ๆ ไม่ได้ เมื่อเขียนออกมาว่า มนุษย์พาความเจริญมารุกพื้นที่ของโทรลล์ ทำให้โทรลล์เหมือนเป็นตัวแทนของธรรมชาติออกมาร้องทุกข์ เป็นการวางตำแหน่งให้โทรลล์ไม่ใช่อสุรกายที่โหดร้าย แล้วก็เป็นอีกเรื่องที่มนุษย์อยู่ในสถานะตัวร้ายอีกแล้ว พอปูทางมาแบบนี้ โทรลล์ก็เลยดูมีความบริสุทธิ์น่าสงสาร โดนมนุษย์ย่ำยี ซ้ำยังมีฉากกองทัพใช้อาวุธหนักโจมตีโทรลล์ ที่แสดงท่าทางกรีดร้อง เจ็บปวด เอาล่ะสิ เลือกมาทางนี้แล้วจะไปยังไงต่อดี จะให้คนดูเอาใจช่วยฝ่ายไหนดี
พอกำหนดภาพลักษณ์ให้โทรลล์เป็นลุงแก่ ๆ ดูน่าสงสาร ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม ตั้งแต่นั้น หนังก็ไม่เหลือความระทึกอีกต่อไป เพราะเราไม่เห็นความน่ากลัวในตัวโทรลล์ แม้กระทั่งฉากที่โทรลล์ไล่ล่ารถของโนราที่ขับหนีนั้น ก็เหมือนตัวละครฝ่ายดีไล่ตามตัวละครฝ่ายดี มั่นใจได้แน่ว่าไม่มีใครเป็นอะไร อารมณ์มันต่างกับฉากทีเร็กซ์วิ่งไล่รถลิบลับ อันนั้นลุ้นกันตีนจิกพื้นเลย หรือฉากที่เด็กน้อยในสวนสนุก ที่ภาพและดนตรีก็พยายามบิลต์อารมณ์ให้ดูระทึก แต่คนดูก็เดาทางได้แล้วล่ะ ว่าชะตากรรมหนูน้อยจะเป็นอย่างไร
บทหนังก็พยายามสอดแทรกดราม่า แต่ก็ไม่ได้ผล ทั้งในเรื่องความกินแหนงแคลงใจระหว่างโนรากับพ่อ ที่มีการเผยให้คนดูรู้ว่าโนราห่างจากพ่อไปเป็นสิบปี มีการพูดคุยถึงประเด็นนี้และปรับความเข้าใจกันได้ภายในไม่กี่นาที มาเร็วเคลมเร็วมาก ส่วนการสอดแทรกปริศนาถึงจุดประสงค์ของโทรลล์ว่าทำไมถึงจะเข้าเมืองหลวง แล้วโนราก็เจอเบาะแส และหาคำตอบได้ภายใน 5 นาที มาเร็วเคลมเร็วอีกแล้ว ยังไม่ทันได้คิดตามเลย ก็ยังดีนะ ที่หนังไม่พยายามยัดเยียดความโรแมนติกพระนางเข้ามาในหนังที่ยาวแค่ 100 นาทีนี้อีก แต่ก็พยายามสอดแทรกอารมณ์ขันผ่านตัว แอนเดรีย อิซากเซน เลขานายกรัฐมนตรี ที่กลายมาเป็นลูกคู่กับ ดร.โนรา ที่ก็พอทำให้ยิ้ม ๆ ได้บ้าง
พอถึงช่วงท้าย ทีมเขียนบทซึ่งรวมไปถึง ผู้กำกับอาทักด้วยก็คงขบคิดกันหัวแตกว่าจะให้หนังจบยังไงดีล่ะ เพราะวางภาพลักษณ์ให้โทรลล์ไม่ได้ดุร้ายไปเสียแล้ว จะใช้อาวุธหนักมาสังหารก็ดูจะเป็นภาพรุนแรงทำร้ายจิตใจคนดูเกินไป เอาแบบนี้ล่ะกัน ตามที่เห็นในหนังนั่นล่ะครับ อยู่รอดมาได้เป็นพันปี แต่ดันพลาดท่าได้แบบ………….เฮ้อ
หนังยังอุตส่าห์จบแบบให้ความหวังว่าจะมีภาคต่อด้วยนะ ดูท่าแล้วน่าจะจอดแค่ภาคแรกนี่ล่ะ ถ้าดูจอใหญ่ ๆ ในโรง อาจจะเพิ่มอรรถรสได้ขึ้นมาอีกหน่อย แต่การดูบนจอเล็ก ๆ ที่บ้านแบบนี้ กับหนังไร้ซึ่งความแปลกใหม่ บทเดินตามวิถีเดิม ๆ ลองหา Troll Hunter ดูครับ สนุกกว่าเยอะ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส