Release Date
27/07/2023
ความยาว
120 นาที
ผลงานก่อนหน้าของวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
'ฟ้าทะลายโจร' (2543) 'เปนชู้กับผี' (2549) 'อินทรีแดง' (2553) 'ปริศนารูหลอน' (2564)
Our score
7.5The Murderer เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ
จุดเด่น
- งานภาพที่โดดเด่น เนื้อเรื่องที่ซับซ้อนหลากอารมณ์ชวนติดตาม การแสดงที่ดี มีสาระคม ๆ ทิ้งให้ขบคิด
จุดสังเกต
- ฉากซีจีหลายฉากไม่เนียนตา บทเฉลยกลางเรื่องยังมีความเดาง่ายแต่ก็อาจเพื่อตั้งใจเป็นตัวหลอกก็ได้
-
บท
7.5
-
โปรดักชัน
5.5
-
การแสดง
8.0
-
ความสนุกตามแนวหนัง
7.5
-
ความคุ้มค่าการรับชม
7.5
เรื่องย่อ: คดีฆาตกรรม 7 ศพแห่งบ้านดอนกระโทก ที่ผู้ต้องสงสัยเป็นเขยฝรั่งอังกฤษ แต่ยิ่งสารวัตรหน้าโหดได้ซักพยานที่รอดชีวิต ก็ยิ่งพบแต่ความอิหยังวะ
แม้บางคนจะคิดว่าผู้กำกับสายรางวัลอย่าง วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดของผลงานไปแล้ว ไม่ว่าจะมองว่ายอดของกราฟที่ว่านั้นอยู่ที่ ‘เปนชู้กับผี’ (2549) หรือ ‘อินทรีแดง’ (2553) ก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่าหลังโปรเจกต์หนังฮีโรไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั้น ผลงานของวิศิษฏ์ก็ดูจะห่างหายจากโรงหนังไปพอสมควร จนเริ่มกลับมาเห็นชื่อผ่านงานบนเน็ตฟลิกซ์แบบถี่ ๆ อีกครั้งตั้งแต่เขียนบทให้ ‘DEEP โปรเจกต์ลับ หลับ เป็น ตาย’ (2564) และกำกับ ‘ปริศนารูหลอน’ (2564) ก่อนที่จะมีผลงานกำกับอีกครั้งในปีนี้กับ ‘The Murderer เมอร์เด้อเหรอ ฆาตกรรมอิหยังวะ’ นี่เอง
โดยตัวหนังนั้นเป็นผลงานเขียนบทของ อภิเษก จิรธเนศวงศ์ มือเขียนบทหน้าฝรั่งที่ร่วมงานกับวิศิษฏ์มาตั้งแต่ ‘ปริศนารูหนอน’ แต่เปลี่ยนแนวจากเขย่าขวัญมากปริศนา มาสู่แนวสืบสวนสอบสวนสุดซับซ้อนพลิกไปมาที่มีกลิ่นตลกร้ายและเน้นใช้สำเนียงอีสานเล่าผสมภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง
ตัวหนังเล่าผ่านสายตาของสารวัตรณวัฒน์แห่งสถานีตำรวจภูธรดอนกระโทก ที่ต้องลงมาสอบพยานเพื่อหาความจริงของคดีฆาตกรรมดังในพื้นที่ ซึ่งต้นเรื่องแสดงให้เห็นถึงภาพการตายที่ดูรุนแรงมากถึง 7 ศพ มันดูจริงจังมากขัดกับโทนเรื่องที่แย้มว่าน่าจะมีความตลก จนเกิดปมสงสัยในใจผู้ชมว่าหนังจะจบลงอย่างไร เป็นกลยุทธ์ที่ดึงความสนใจผู้ชมได้ตั้งแต่ต้นจนจบ และคอยกระตุ้นความสงสัยเราผ่านความผลิกผันไปตามคำให้การของพยาน 3 คนที่ต่างมุมมองกันมากจนเกือบจะเป็นหนัง ‘ราโชมอน’ อยู่กลาย ๆ
ซึ่งพอมีคนมาช่วยวางพลอตกับเส้นเรื่องให้แล้ว ทำให้วิศิษฏ์มุ่งไปที่การนำเสนอด้านภาพที่เขาถนัดได้อย่างหวือหวาอีกครั้ง หนังมีการเล่นสีสันสไตล์จัดจ้านใช้สีขั้วตรงข้ามตัดกันแรง ๆ ดึงสายตาผู้ชมอย่างที่เคยทำใน ‘ฟ้าทะลายโจร’ (2543) แต่ดูประนีประนอมความดิบน้อยลงคล้ายกับงานอย่าง ‘หมานคร’ (2547) มากกว่า แน่นอนว่าล้วนแต่เป็นผลงานช่วงสร้างชื่อระดับโลกของวิศิษฏ์ทั้งสิ้น และพอมีใบหน้าสุดยอดตลกไทยอย่าง หม่ำ เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา มาประกบก็ชวนให้นึกถึงผลงานการกำกับของหม่ำที่เล่นสีสันอีสานเด่น ๆ อย่าง ‘แหยม ยโสธร’ (2548) ด้วยเช่นกัน ซึ่งหม่ำกับสีจัดจ้านนี้สร้างกลยุทธ์ที่คนดูจะรู้สึกว่าหนังมันต้องมีความขบขันอยู่แน่ ๆ แต่พอดูแล้วหนังก็ยังคงเล่าอย่างจริงจังในครึ่งเรื่องแรก มันก็เป็นความขัดแย้งที่กวนใจผู้ชมให้รีบเร่งอยากรู้จุดจบเข้าไปอีก
ทั้งนี้เมื่อเรื่องมีความซับซ้อน วิศิษฏ์จึงพยายามใช้การเรียบเรียงที่ไม่ชวนสับสนเกินไป กล่าวคือแม้จะมีคำให้การที่ต่างกันโดยผลัดกันเล่า แต่เนื้อหามันจะเดินไปตามลำดับ จนจะเริ่มมีการทวนเหตุการณ์อีกทีในช่วงการเฉลยท้ายเรื่องเท่านั้น ก็เป็นการลำดับเรื่องที่ถือว่าน่าสนใจซับซ้อนแต่ไม่ยากเกินไป ยังมีความง่ายในการเข้าใจเรื่องอยู่
และอาจเพราะมุกที่เป็นสารตั้งต้นของเรื่องราวอิหยังวะมันอาจจะไม่ได้ซ่อนไว้มิดชิดจนเราเหวอเมื่อเฉลย แต่ถูกขับเน้นทางภาพจนเราพอเดาต้นสายปลายเหตุได้ เพียงแต่เราก็รู้แค่จุดเริ่มและผลลัพธ์แต่ก็ยังอยากติดตามอยู่ดีว่าระหว่างทางนั้นมันเกิดอะไรขึ้น และหนังก็ทำในจุดระหว่างทางนี้ได้ค่อนข้างดี ใช้คำว่าค่อนข้างเพราะมันเก็บหมดทุกเม็ดได้ดี แต่ก็ไม่อาจว่าดีสุดได้เพราะมันยังมีความเอ๊ะเรื่องของความขัดแย้งด้านเวลา และมุกตั้งต้นที่เอามาอธิบายมันตอบโจทย์เป็นห้วง ๆ ไปหน่อยว่าถ้าสิ่งนี้คือต้นเหตุ ทำไมบางช่วงเวลามันถึงมีผล ทำไมหลายช่วงเวลามันไม่มีผล ก็เป็นปัญหาเรื่องความละเอียดที่อาจต้องมองข้ามเพื่อรักษาความขบขันที่เป็นจุดประสงค์หลักเอาไว้ด้วย
แต่ที่ชอบมาก ๆ ในท่าทีของหนังที่ออกตลกขัดกับจริงจังนี้ คือมันมีความแหวกแปลกใหม่ในการนำเสนอพอสมควร เราจะได้เห็นความเป็นฟิล์มนัวร์ที่สีสันจัดจ้านในหนังไทย ฉากหลังของเรื่องเป็นห้วงเวลาที่มีข่าวว่าพายุจะเข้า ความกลัวคืบคลานและเผยจิตใจด้านมืดของตัวละครออกมา น่าตกใจมากที่หนังกล้าพูดอย่างมั่นใจเป้นครั้งแรก ๆ ในหนังไทยเลยว่า ตัวละครคนไทยอีสานที่ดูซื่อไม่ทันคน แท้จริงแล้วฉลาดและน่ากลัวยิ่งกว่าพวกฝรั่งเสียอีก
แถมยังทิ้งสาระคม ๆ เรื่องของความเชื่อ ทั้งเชื่อคำทำนาย เชื่อผู้ใหญ่หมาไม่กัด เชื่อพยากรณ์อากาศของราชการ เชื่อสิ่งที่ตาเห็น เชื่อสิ่งที่หูได้ยิน เชื่อว่าความซื่อนั้นบริสุทธิ์ เชื่อว่าสิ่งที่เคยรู้นั้นจริงเสมอ ความเชื่อทั้งหมดก่อเป็นอคติที่ก่อเกิดเรื่องราวบานปลายตามมาแบบอิหยังวะ เป็นรสชาติที่สะแด่วสมองดีไม่น้อย โดยเฉพาะช่วงหลังคลี่คลายปมของเรื่องไปแล้ว แต่ยังมีขยักสองขยักสามได้แบบคม ๆ อีก
ความดีงามนี้ คงต้องขอชื่นชมการแสดงที่กระตุ้นเร้าอารมณ์ผู้ชมได้อย่างสนุกสนานเหมาะกับแนวหนัง ทั้งการเล่นแบบดราม่าน่าเชื่อถือของ อุ้ม อิษยา ฮอสุวรรณ ในบท ทราย พยานที่เป็นเมียฝรั่ง, เอี้ยง สวนีย์ อุทุมมา ในบทพยานคนที่ 2 แม่ของทรายที่มาแบบไม่เด่นมากแต่ประคองทุกคนให้เข้าร่อง, ชนันทิชา ชัยภา ในบท จูน พยานเด็กคนสุดท้ายที่เล่นหน้าเล่นตาได้น่ารักน่าชัง โดยมีนักแสดงสายละครเวทีอย่าง เจมส์ เลเวอร์ ในบท เอิร์ล เขยฝรั่งสามีของทรายและผู้ต้องสงสัยหลักที่ทำให้เรารู้สึกสับสนว่าเขาน่าสงสารหรือน่ากลัวกันแน่
โดยที่หม่ำก็เป็นตัวแทนในการหาความจริงแทนผู้ชม เรางุนงงและสวมเข้ากับตัวของสารวัตรณวัฒน์ได้ก็เพราะความเข้าถึงง่ายและความสนิทใจคุ้นเคยดีกับหม่ำนี่เอง จะเห็นได้ว่าหนังเรื่องนี้มีกลยุทธ์ที่ออกแบบจัดวางมาให้เกิดผลกับผู้ชมในหลายวิธีเลยทีเดียว
จุดที่จะบ่นได้ของหนัง นอกจากเรื่องที่มุกหลักมันเดาง่ายไปหน่อยแล้ว ก็ยังเป็นความลวกของงานถ่ายกรีนสกรีน และการเล่นสีที่ไม่ค่อยเนี้ยบในบางฉาก จะว่านั่นเป็นความจงใจให้ดูดิบเหมือนหนังโบราณหรือไม่นั้นก็พูดยาก แต่ถ้าทำให้เนี้ยบสมยุคสมัยก็น่าจะดีไม่น้อย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส