[รีวิว] ‘Star Wars: Visions’ – สตาร์วอร์สแกล้มวาซาบิ ณ กาแล็กซีอันไกลแสนไกล
Our score
9.0

Release Date

22/09/2021

แนว

แอนิเมชัน / แอ็กชัน

ความยาว

9 ตอน (1 ซีซัน)

เรตผู้ชม

PG (ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำ)

โปรดิวเซอร์

Kanako Shirasaki

[รีวิว] ‘Star Wars: Visions’ – สตาร์วอร์สแกล้มวาซาบิ ณ กาแล็กซีอันไกลแสนไกล
Our score
9.0

Star Wars: Visions

จุดเด่น

  1. หยิบเอาแก่นของความเป็นสตาร์วอร์ส ผสมผสานกับความเป็นญี่ปุ่นได้ดี
  2. ชอบการตีความให้กับความเป็นเจไดในหลาย ๆ มิติ
  3. หลาย ๆ ตอนเนื้อเรื่องสนุก ลายเส้นสวย และงานภาพถือว่าทำได้ดี

จุดสังเกต

  1. กราฟความสนุกในบางตอนอาจดูซอฟต์ไปหน่อยสำหรับความเป็นสตาร์วอร์ส แต่ก็ถือว่าเป็นมุมมองใหม่ ๆ
  2. สำหรับแฟนบอย อาจรู้สึกเฝือ ๆ บ้าง แต่ก็ยังไม่ถือว่าน่าเกลียด
  • ความสมบูรณ์ของเนื้อหา

    9.0

  • คุณภาพงานสร้าง

    9.5

  • คุณภาพของบท / เนื้อเรื่อง

    8.8

  • การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง

    8.5

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    9.0

หากจะพูดถึง ‘จักรวาลสตาร์วอร์ส’ โดยเฉพาะในฟากฝั่งของแอนิเมชัน ที่ทาง ‘ลูคัสฟิล์ม’ (Lucus film) ได้บรรจงสร้างเรื่องราวเอาไว้มากมายตั้งแต่เรื่องราวของสงครามโคลนใน ‘The Clone Wars’ (2008–2020) เรื่องราวภาคต่อก่อนเหตุการณ์เอพิโสดที่ 4 (A New Hope (1977)) ใน ‘Rebels’ (2014–2018) ภารกิจต่อต้านฝ่ายปฐมภาคีก่อนเอพิโสดที่ 7 (The Force Awakens (2015)) ใน ‘Resistance’ (2018–2020) และล่าสุดที่เพิ่งปล่อยใน Disney+ อย่าง ‘The Bad Batch’ (2021) ที่ว่าด้วยเรื่องของทีมกองทัพโคลนทรงพลังที่เกิดจากความผิดพลาด

star wars visions

หากไม่นับแอนิเมชันสตาร์วอร์สเล็ก ๆ น้อย ๆ (เช่นพวก ‘LEGO Star Wars’) จะเห็นได้ชัดว่า แอนิเมชันเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเนื้อหาที่สปินออฟจากภาคหลัก มีหน้าที่เสริมหรือเล่าเนื้อหาจากเวอร์ชันภาพยนตร์ให้สมบูรณ์ขึ้นทั้งสิั้น แต่น้อยครั้งมากที่เราจะได้เห็น ‘จักรวาลสตาร์วอร์ส’ ในเนื้อเรื่องใหม่ ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเส้นเรื่องหลัก ไม่เกี่ยวกับมหากาพย์สกายวอล์กเกอร์ (Skywalker Saga) ทั้ง 9 ภาค หรือหยิบเอาจักรวาลสตาร์วอร์สมาเล่าในทิศทางใหม่ ๆ สักเท่าไหร่

star wars visions

จนกระทั่งลูคัสฟิล์มได้ปล่อยโปรเจ็กต์สตาร์วอร์สแบบจัดชุดใหญ่ในงาน ‘Investor Day 2020’ ของทาง Disney เมื่อปลายปีที่แล้ว จากซีรีส์และแอนิเมชันหลายสิบเรื่องที่เปิดตัว ก็มีซีรีส์แอนิเมชัน ‘Star Wars: Visions‘ ที่ถือว่าเป็นโปรเจกต์ที่น่าสนใจ เพราะเป็นซีรีส์ที่ไม่ใช่แค่สปินออฟ แต่เป็นซีรีส์ที่เอาจักรวาลสตาร์วอร์สไปตีความใหม่ ด้วยการร่วมมือกับ 7 สตูดิโอแอนิเมชันชั้นนำของญี่ปุ่น กลายเป็นซีรีส์สั้น ความยาว 9 ตอนในซีซันที่ 1

star wars visions

ถ้าจะให้เล่าอย่างรวบรัดสำหรับซีรีส์เรื่องนี้ก็คือ การเอาเรื่องราวในแบบฉบับของ Star Wars มาตีความและเล่าใหม่ในรูปแบบ ขนบ และสไตล์ในแบบฉบับอนิเมะญี่ปุ่น แถมยังเป็นอนิเมะญี่ปุ่นแบบหลายกระบวนท่าเสียด้วยสิครับ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนแนวโชเนน (Shonen) เอาใจผู้ชาย หรือการ์ตูนแนวเด็ก ๆ ซึ่งในบางตอนก็มีการถ่ายเทความเป็นจักรวาลสตาร์วอร์สเข้ามาผสมผสานกับความเป็นญี่ปุ่นในหลากหลายมิติ ทั้งการหยิบมาวางกันแบบโต้ง ๆ เห็นดรอยด์เดินคู่กับซามูไร ดาบไลต์เซเบอร์ที่ทำเป็นรูปดาบคะตะนะแบบซามูไร การแฝงวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมลงไป หรือแม้แต่การเล่าเรื่องสตาร์วอร์สแบบใหม่โดยใช้วิธีการแบบอนิเมะในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลายมาก ๆ

star wars visions

ถ้าจะให้ยกตัวอย่างตอนที่ผู้เขียนชอบก็อย่างเช่น ‘The Duel’ ตอนแรกของซีรีส์ที่เล่าเรื่องการดวลดาบไลต์เซเบอร์ของซามูไรในญี่ปุ่นยุคโบราณด้วยภาพขาวดำ! สำหรับผู้เขียน นี่คือการเปิดหัวที่ดีมากครับ เพราะถือเป็นตอนเดียวที่มีความจัดจ้านของสไตล์และลายเส้น รวมถึงเนื้อเรื่องที่ปูทางให้คนดูได้เห็นภาพรวมของซีรีส์เรื่องนี้ได้ดีมาก ๆ

star wars visions

หรือในตอน ‘The Twins’ ก็เป็นการหยิบเอาพลังด้านมืด / ด้านสว่างมาเล่าใหม่ได้อย่างสนุก ภาพแอ็กชันและลายเส้นเท่มาก รวมทั้งตอน ‘The Ninth Jedi’ ก็สามารถเล่าเรื่อง “ความไม่ไว้วางใจ” ของเหล่าเจได ได้อย่างแตกต่างมาก ๆ มีกลิ่นอายหนังแอ็กชันทริลเลอร์นิด ๆ (เป็นตอนที่ผู้เขียนชอบที่สุด) หรือในตอน ‘Lop and Ocho’ ก็หยิบเอาอุดมการณ์ทางการเมือง “สาธารณรัฐ / จักรวรรดิ์” มาเล่าผ่านครอบครัวที่มีความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่่างกัน (คุ้น ๆ เหมือนกันนะเนี่ย…) และตอนสุดท้ายของซีซัน ‘Akakiri’ ทีี่ดูแล้วแฟนบอยดูแล้วต้องคิดถึง “อนาคิน สกายวอล์กเกอร์” แน่นอนล้านเปอร์เซนต์ (ดูรายชื่อตอนทั้งหมดและสตูดิโอผู้สร้างได้ที่ท้ายบทความครับ)

star wars visions

ส่วนที่ชอบเกี่ยวกับซีรีส์นี้สำหรับผู้เขียนโดยรวมก็คือ การตีความใหม่เกี่ยวกับเจไดครับ แน่นอนว่า การเล่าเรื่องของสตาร์วอร์ส ยังไงก็หนีไม่พ้นเรื่องของเจได แถมในซีรีส์เรื่องนี้ก็เน้นเรื่องของเจได (และดาบไลต์เซเบอร์) ค่อนข้างเยอะเสียด้วย จนเรียกได้ว่าไม่ค่อยมีเรื่องสงครามหรือการเมืองเหมือนในเส้นเรื่องหลัก แต่อย่างน้อยผู้เขียนก็รู้สึกชอบซีรีส์นี้ที่สามารถเล่าเรื่อง “ความเป็นเจได” ได้ในหลากหลายมากกว่าการเป็นแค่ลัทธิ หรือการปกป้องจักรวาลจากพลังมืดอันชั่วร้าย แต่ยังสามารถเล่าเรื่องเจไดได้ในหลาย ๆ มุม ทั้งการเปลี่ยนจากด้านสว่างไปสู่ด้านมืด ด้านมืดไปสู่ด้านสว่าง ความเชื่อเกี่ยวกับพลัง ความไม่ไว้วางใจ ที่ซีรีส์สามารถดึงเอาความเป็๋นเจไดเข้ามาใกล้ความเป็นมนุษย์โลกได้อย่างลึกซึ้งยิ่งกว่าเดิม แถมยิ่งพอได้เห็นเจไดอยู่กับความเป็นญี่ปุ่นนี่ มันก็ดูกลมกลืนดีเหมือนกันนะครับ 555

star wars visions

อีกสิ่งที่ผู้เขียนในฐานะแฟนบอยคิดว่าซีรีส์เรื่องนี้ทำได้อย่างไม่น่าเชื่อก็คือ นอกจากความสนุกแล้ว แฟนเดนตายหลายคนคงรู้ใช่มั้ยครับว่า สตาร์วอร์ส ไม่ใช่เพียงแค่มหากาพย์หนังลิเกอวกาศที่มีแต่แอ็กชันสู้รบ ฟันดาบไลต์เซเบอร์ เจไดปล่อยพลังแค่เพียงเท่านั้น แต่มันยังมีเรื่องราวอื่น ๆ ที่แฝงลึกเอาไว้ในเนื้อเรื่อง เช่น ความเชื่อ ความศรัทธา อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่่างกัน การหักหลัง การใช้อำนาจในทางที่ผิด ฯลฯ ซึ่งสิ่งที่ Visions ได้ทำไว้ก็คือ การเอาแง่มุมเหล่านี้นี่แหละมาขยายให้ชัดขึ้น จนทำให้ต่อให้คนที่ไม่่ใช่แฟนบอย หรือแม้แต่เด็กก็น่าจะดูได้ (แต่บางตอนก็แอบโหดอยู่) กลายเป็นอนิเมะญี่ปุ่นที่ไม่ใช่แค่เล่าด้วยธีมของสตาร์วอร์ส แต่เล่าด้วย “แก่นเรื่อง” ของสตาร์วอร์ส ก่อนจะโปะหน้าด้วยสไตล์และวัฒนธรรมญี่ปุ่นให้ดูน่าจับต้องและเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม

star wars visions

ส่วนข้อสังเกตที่ผู้เขียนรู้สึกได้ชัดเจนก็คือ การหยิบเอาเรื่องราวของจักรวาลสตาร์วอร์สที่ปรากฏในซีรีส์นี้ ก็แอบมีความ Cliche อยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะการหยิบตัวละคร สิ่งของ สถานที่ เหตุการณ์จากในเส้นเรื่องหลักมาใช้กันตรง ๆ ซึ่งในหลาย ๆ ตอนสามารถหยิบเอามาเล่าใหม่ ผสมผสานให้เป็นเนื้อเดียวได้ (ยกตัวอย่างเช่น ยานมิลเลนเนียมฟอลคอน (Millenium Falcon) อาจไม่จำเป็นต้องเป็นยานของฝ่ายต่อต้านเสมอไป) ในขณะที่บางตอนก็หยิบฉากจากในหนังมาใส่ดื้อ ๆ เลย เช่น ฉากบนดาวทาทูอีน ทำให้ขนาดแฟนบอยอย่างผู้เขียนเองก็แอบเอียนเหมือนกันที่ต้องเห็นดาวทาทูอีน, แจ็บบา เดอะ ฮัตต์, โบบา เฟ็ตต์, ยาน X-wing ฯลฯ รวมทั้งในบางตอนที่เนื้อหาซอฟต์ลงจนใกล้ความเป็นการ์ตูนเด็ก ก็แอบทำให้กราฟความสนุกหัวตกอยู่เหมือนกัน ในขณะที่เนื้อหาในบางตอนนี่ก็ดาร์กจนแทบจะเป็นการ์ตูนผู้ใหญ่ไปเลย

star wars visions

โดยสรุปเลยก็คือ แม้ Star Wars: Visions จะไม่ใช่สปินออฟในแบบที่จะทำให้แฟนบอยรู้สึกดูแล้วเติมเต็ม หรือดูแล้วรู้สึกว้าวหรือใจสั่นอะไรถึงขนาดนั้น แต่มันเป็นการหยิบเอาจักรวาลสตาร์วอร์สมาเล่าเรื่องด้วยวิธีการใหม่และหลากหลายมากยิ่งขึ้น สำหรับผู้เขียนเองที่เป็นแฟนบอยสตาร์วอร์ส การดูซีรีส์เรื่องนี้แล้วนั่งหาว่าจะมีอะไรใหม่ ๆ เติมเข้ามาในจักรวาลนั้นอาจไม่ใช่จุดประสงค์ (คือก็ต้องยอมรับว่า ก็แอบมีความเล่นท่าง่ายอยู่นิดนึงนั่นแหละนะ)

Star Wars: Visions

แต่อย่างไรก็ตาม ซีรีส์เรื่องนี้ถือว่าเป็นงานทดลองที่ทำให้เราได้เห็นวิชันใหม่ ๆ ของจักรวาลสตาร์วอร์สอันไกลแสนไกลนี้ได้อย่างท้าทายและไร้ขีดจำกัดมากกว่าเดิม และผู้เขียนก็รู้สึกว่า ไอเดียโดยรวมของซีรีส์เรื่องนี้ก็มีศักยภาพมากพอที่จะเอาไปขยายต่อยอดเป็นภาพยนตร์ หรือซีรีส์ในอนาคตได้อยู่เหมือนกัน ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นได้จริง ผู้เขียนก็คิดว่าน่าสนใจดีไม่ใช่น้อยเลยครับ หรืออย่างน้อย ๆ ซีซันต่อไป ลูคัสฟิล์มอาจจะลองอยากเปลี่ยนฉากเป็นเมืองไทย อะไรแบบนี้ก็ได้นะครับ 55

ส่วนคนที่ไม่ใช่แฟนคลับ ผู้เขียนมองว่า ซีรีส์เรื่องนี้น่าจะทำให้เห็นมุมมองบางอย่างในความเป็นสตาร์วอร์ส และสามารถสนุกกับการผจญภัยไปทั่วจักรวาล ในแบบอนิเมะที่ได้อย่างคุ้นเคยและกลมกลืน ก่อนจะเริ่มไปตามดูเส้นเรื่องหลักทั้งในรูปแบบหนังและแอนิเมชันต่อไป

สำหรับผู้เขียน ถ้าสตาร์วอร์สเปรียบกับอาหาร สตาร์วอร์สสูตรจิ้มวาซาบิตำรับนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นคอร์สโอะมะกะเสะที่รสชาติแปลกใหม่ และมีความน่าท้าทายให้ลองชิมดีครับ


รายชื่อตอนทั้งหมดใน ‘Star Wars: Visions’ ซีซันที่ 1

‘The Duel’ (การประลองฝีมือ) สร้างโดยสตูดิโอ ‘Kamikaze Douga’
Tatooine Rhapsody’ (ทาทูอีนแรปโซดี) สร้างโดยสตูดิโอ ‘Studio Colorido’
‘The Twins’ (คู่แฝด) สร้างโดยสตูดิโอ ‘Trigger’
‘The Village Bride’ (เจ้าสาวจากหมู่บ้าน) สร้างโดยสตูดิโอ ‘Kinema Citrus’
The Ninth Jedi’ (เจไดคนที่เก้า) สร้างโดยสตูดิโอ ‘Production IG’
‘T0-B1’ (ทีโอบีวัน) สร้างโดยสตูดิโอ ‘Science Saru’
‘The Elder’ (ผู้เฒ่า) สร้างโดยสตูดิโอ ‘Trigger’
‘Lop and Ocho’ (ล็อปกับโอโจ) สร้างโดยสตูดิโอ ‘Geno Studio’
Akakiri’ (อากะคิริ) สร้างโดยสตูดิโอ ‘Science Saru’


star wars visions

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส