Release Date
28/10/2021
ความยาว
130 นาที
Our score
7.0ร่างทรง
จุดเด่น
- งานศิลป์ โทนภาพ ฉาก เสียงดนตรี การแสดง สุดยอด บทมีไอเดียที่น่าสนใจ ท้าทายจารึตสังคมไทยได้สนุก ครึ่งหลังสยองมันสาแก่ใจคอสยองขวัญ
จุดสังเกต
- ไม่สามารถอินกับเรื่องได้เลย เพราะเลือกวิธีการนำเสนอผิดพลาดที่ส่งผลกับหนังทั้งเรื่อง
-
บท
8.0
-
โปรดักชัน
8.5
-
การแสดง
9.5
-
วิธีการนำเสนอ
0.0
-
ความสนุกตามแนวหนัง
7.0
-
ความคุ้มค่าการรับชม
8.5
เรื่องย่อ: เรื่องราวการสืบทอดทายาทร่างทรง ย่าบาหยัน ของครอบครัวหนึ่งในภาคอีสานของไทย เมื่อทายาทรุ่นปัจจุบันไม่อยากรับช่วงต่อแต่ก็ไม่อาจฝืนชะตาได้ นำมาสู่เรื่องราวเขย่าขวัญคนทั้งโลก!
เรื่องเกริ่นขึ้นใน ปี 2018 ทีมงานสารคดีทำข้อมูลเรื่องราวเกี่ยวร่างทรงในไทย และไปพบเจ้าของเรื่องอย่าง ป้านิ่ม (เอี้ยง-สวนีย์ อุทุมมา) ที่เป็นร่างทรง ‘ย่าบาหยัน’ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำท้องถิ่นในจังหวัดเลย ที่น่าสนใจคือย่าบาหยันจะสืบทอดกันต่อเฉพาะลูกหลานที่เป็นผู้หญิงในตระกูลของป้านิ่มเท่านั้น โดยคนที่มีแนวโน้มรับต่อในปัจจุบันมากที่สุดคือ มิ้งค์ (ญดา-นริลญา กุลมงคลเพชร) ลูกของพี่สาวป้านิ่มนั่นเอง ทำให้ทีมสารคดีขออนุญาตมาถ่ายทำป้านิ่มและครอบครัวในปี 2019 จนได้มาเจอเรื่องราวต่าง ๆ และตัดสินใจเปลี่ยนหัวข้อของสารคดีจากเรื่องว่าร่างทรงคืออะไร มาเป็นเรื่องของการสืบทอดร่างทรงแทน
เรื่องราวที่เราจะได้รับชมทั้งหมดในหนังเรื่อง “ร่างทรง” จึงมาจากสายตาของทีมงานสารคดีนี้ทั้งสิ้น
นี่คือการกลับมารับงานหนังสยองขวัญครั้งล่าสุดของ โต้ง – บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับชั้นแนวหน้าในปัจจุบันของไทยจากทั้งผลงานปลุกกระแสผีไทยจาก “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” (2547) จนมาถึงสร้างประวัติศาสตร์หนังไทยพันล้านจากหนังสยองปนขำเรื่อง “พี่มากพระโขนง” (2556) ทำให้ทุกสายตาจับจ้องมาที่ตัวเขาในทุกย่างก้าว
และการก้าวรอบนี้ก็เรียกว่าเป็นบันไดก้าวแรกสู่ระดับนานาชาติของบรรจงอย่างแท้จริง เพราะเขาได้รับการทาบทามให้ร่วมงานกับผู้กำกับเกาหลีชื่อดังระดับเวทีนานาชาติอย่าง นาฮงจิน ที่เคยมีผลงานแนวสยองขวัญเรื่อง “The Wailing” (2016) ที่ได้รสชาติสยองชวนคิดที่น่าสนใจ และหนังเรื่อง “ร่างทรง” ก็ไปคว้าอันดับ 1 ในบ็อกซ์ออฟฟิศของเกาหลีมาได้ด้วยอย่างงดงามเมื่อกลางปีที่ผ่านมา พร้อมคำชื่นชมในดีกรีความโหดขนหัวลุกของหนัง แน่นอนว่านี่คือความภูมิใจของคนไทยอย่างแท้จริงแล้ว โดยไม่ต้องสนใจว่าหนังจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร
ถ้าจะนับว่าอะไรที่ นาฮงจิน ส่งผลด้านดีต่อหนังนอกไปจากโครงเรื่องตั้งต้นที่เดิมเขาตั้งใจไว้ทำ “The Wailing” ภาค 2 นั่นก็คือ แนวทางการสร้างฉากและบรรยากาศของหนัง ที่กลิ่นฝนชื้นในชนบทดูเยือกเย็น ชวนเร้นลับ และภาพแปลกตาของพิธีกรรมความเชื่อที่แฝงอยู่ในชีวิตของคนได้อย่างน่าทึ่ง ฉากหลังเป็นตัวละครสำคัญอีกตัวหนึ่งที่ขาดไปรับรองหนังมีกร่อยลงแน่ ๆ
และต้องบอกว่าดีไซน์ของทีมงานคนไทยไม่ใช่ย่อย ๆ เลย ไม่ว่าจะฉากหุบผาที่สถิตของรูปปั้นย่าบาหยัน รวมถึงตึกร้างที่รากไม้ชอนไชเป็นทรวดทรงน่าขนลุก นี่คือ 2 ฉากเด่น ที่แค่เห็นไม่ต้องเอาดนตรีหรืออะไรเข้าช่วยก็ชวนขนลุกแล้ว พอประกอบกับดนตรีที่สร้างอารมณ์ร่วมมาก ๆ และการแสดงแบบเหมือนประทับร่างของนักแสดงสายฝีมือล้วน ๆ ทั้งตัวหลัก ตัวรอง ตัวประกอบ (เนี้ยบยันตัวประกอบนี่สำหรับหนังไทยคือคุณภาพสูงมาก) และบทหนังที่ปั่นหัวคนดูไปมา มันจึงเป็นหนังที่มีพลังสูงมาก ต้องปรบมือในการเลือกใช้นักแสดงที่เอาชื่อชั้นฝีมือเข้าว่าจริง ๆ
ครึ่งหลังของหนังเพียว ๆ จัดได้ว่า ตึงเครียด ปั่นประสาท ขนหัวลุก น่ากลัวมาก ๆ บางช่วงทำเอาคลื่นไส้มวนท้อง อาจเพราะความมืดของโรง การเคลื่อนภาพที่สมจริงสั่นไหวเหมือนอยู่ในสถานการณ์ ดนตรีที่โหมกระหน่ำ การตัดต่อที่ฉับไว ต้องยกความดีครึ่งหนึ่งให้กับการชมในโรงภาพยนตร์จริง ๆ ถ้าจอเล็กกว่านี้ มืดน้อยกว่านี้ ดนตรีไม่ดังอย่างนี้ มันคงไม่ได้ผลตามที่คนทำหนังต้องการนัก แล้วเรื่องไล่ระดับอารมณ์ได้ดีไม่มีหย่อนแบบอัดแล้วอัดเล่าใส่หัวใจคนดูตลอดครึ่งเรื่องหลัง จนอยากปรบมือให้ดัง ๆ
อีกความน่าชื่นชมของหนังคือความรุนแรงของเรื่องที่กล้าท้าทายข้อห้ามจารีตสังคมไทยซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้อย่างน่าชื่นชมในความฉลาดไม่โฉ่งฉ่าง คงเล่าไม่ได้ว่าทาบูที่โดนขยี้ย่ำนั่นเป็นอะไรบ้าง แต่เห็นความจงใจลองของตรงนี้ชัดเจน ถ้าฝีมือการเล่าด้อยกว่านี้ รับรองไม่ผ่านหน่วยงานหั่น-แบนของไทยแน่นอน (และชื่อ GDH ก็อาจเป็นเกราะช่วยประมาณหนึ่ง) และที่สำคัญอาจกลายเป็นหนังไร้รสนิยมไปได้ง่าย ๆ ทีเดียวกับการเล่นของโสมมทั้งทางสายตาและทางจิตใจแบบนี้ ขอปรบมือดัง ๆ ให้อีกรอบ
อีกส่วนที่ก้ำกึ่งว่าจะดีหรือไม่ดี แต่ส่วนตัวชอบกว่าครึ่งหลังเพียว ๆ เสียอีก คือการหย่อนรายละเอียดในชีวิตของตัวละครได้อย่างน่าสนใจ ทั้งเรื่องที่พี่น้องไม่เต็มใจเป็นร่างทรง จนถึงขั้นมีความพยายามหนีปัญหาด้วยวิธีที่ผิด ๆ หรือการหนีไปพึ่งพระเจ้าอีกศาสนา อะไรพวกนี้น่าสนใจมาก ๆ ถ้าเป็นหนังสารคดีจริง ๆ เราคงเห็นแง่มุมพวกนี้ประเทืองปัญญาเราได้อีกมาก แต่เมื่อมันอยู่ในหนังสยองมันเลยมีที่ทางได้จำกัด และทำให้ครึ่งแรกของหนังคาบลูกคาบดอกระหว่างความน่าสนใจกับความน่าเบื่อ เพราะมันประดิษฐ์เล่าผ่านการให้สัมภาษณ์ตัวละครต่าง ๆ อยู่มาก บทสนทนาเองก็ค่อนข้างเยอะเพื่อปูภูมิหลังและอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังในช่วงที่ภาพยังเล่าเรื่องลึกซึ้งด้วยตนเองลำบาก
และการตัดต่อ อาจรวมถึงการเล่าเรื่อง แม้จะทำได้ดีมาตลอดทั้งเรื่อง แต่ก็เห็นความแปลกอยู่บ้างเหมือนกันเช่น ความพยายามหลอกให้หลงทางแต่หลงไม่สุด เพราะแอบหยอดอยู่ว่าไม่ใช่นะ ทำให้พอเฉลยก็ไม่ได้รู้สึกว้าวนัก ซึ่งมีการตัดต่อที่ดูลำดับแปลก ๆ อยู่เช่นกัน จากที่ปกติควรให้คนดูตะลึงว่าเข้าใจผิด แล้วค่อยไปดูผลอีกด้าน กลับเลือกไปให้ดูผลอีกด้านที่ทำให้คนเดาออกทันทีก่อนที่จะไปตกใจกับการเฉลย
อย่างที่กล่าวไปว่าหนังมีจุดแข็งดี ๆ มากเลยทีเดียว แต่โชคร้ายที่หนังมีเนื้องอกของมันเองอยู่
ไม่แน่ใจว่าวิธีการนำเสนอที่มาลงปลงใจกับแนวทางสารคดีนี้ใครเป็นคนต้นคิดหรือชี้ขาด ข้อดีของมันแน่ ๆ คือการสร้างสภาวะสมจริงด้วยรูปแบบที่คนคุ้นชินว่ากำลังดูความจริง ทั้งเคลื่อนกล้องถือถ่าย มีเสียงทีมงานถามคำถาม การเข้าไปปรากฏกายของทีมงานเป็นระยะ เพื่อให้ดูเรียล แต่กระนั้นก็ยังมีคำถามว่าด้วยตัวเนื้อหาและสิ่งดี ๆ มากมายที่หนังมีอยู่แล้วจำเป็นหรือไม่ที่ต้องใช้แนวทางสารคดีปลอมมานำเสนอ เพราะสิ่งที่ถูกทำลายแน่ ๆ คือการจดจ้องแช่ภาพหรือเน้นความสวยงามความขลังของฉากที่ถูกคิดมาอย่างดี และคนดูเองก็มีสิทธิ์ที่จะรู้สึกถูกถีบออกมาระหว่างเคลิบเคลิ้มใหลลงในหนังทันที เมื่อตระหนักได้ว่านี่มีทีมงานปลอม ๆ อยู่และทั้งหมดคือหนังสารคดีปลอม
ในช่วงแรกยังคงรู้สึกแค่ว่าวิธีการสารคดีนี้มันเป็นเนื้องอกของหนัง คือเกินจำเป็น แต่ก็ยังประคองตัวอยู่ไปได้เรื่อย ๆ จนสถานการณ์มันเดินหน้ารุนแรงขึ้น ตัวละครเริ่มอาละวาดมากขึ้น เนื้องอกนี้ก็เริ่มกลายพันธุ์เป็นเนื้อร้ายไปในที่สุด
ในช่วงแรกสารคดีปลอมทำหน้าที่แค่ตามถ่ายมีคำถามบ้างแต่ก็ยังเห็นความพยายามไม่เข้าร่วมกับตัวเจ้าเรื่อง ใช้การสื่อสารกับคนดูผ่านทางข้อความบนพื้นสีดำเป็นระยะ ที่ว่ามันก็เป็นเพียงเนื้องอก จนกระทั่งเมื่อทีมงานถ่ายติดยายตาบอดในงานศพแล้วไม่มีคำถามใด ๆ ว่านั่นคนหรือผี ไม่มีแม้ความตกใจกับฟุตล้ำค่าที่ตนเพิ่งถ่ายได้ เราจึงเริ่มตั้งคำถามกับทีมงานสารคดีในเรื่องว่า ตรงนั้นเป็นคนจริง ๆ อยู่ไหม? และเมื่อตัวละครมิ้งค์เริ่มอาละวาดใส่คนรอบข้าง ตากล้องที่ตามถ่ายใกล้มิ้งค์ที่สุดกลับกลายเป็นสุญญากาศที่มิ้งค์ข้ามผ่านไปเฉย ๆ ทั้งที่ถ้าเราเป็นมิ้งค์อยากอาละวาดใส่อะไรใส่อย่าง ตากล้องที่มาตามถ่ายตลอดเวลานี่ล่ะน่าจะโดนก่อนเพื่อน
ตอนนี้เนื้องอกเริ่มไปดันอวัยวะรอบ ๆ ให้ทำงานผิดปกติให้เห็นแล้ว และเริ่มชัดขึ้นไปอีกเมื่อมิ้งค์มีอาการป่วยในที่ทำงาน แต่นอกจากกล้องกลับไม่มีใครเลยทั้งเพื่อนร่วมงาน พี่น้อง เจ้านาย ที่จะตามไปดู สำหรับคนที่ทำงานอยู่ในชีวิตจริงคงรู้สึกประหลาดกับจักรวาลในหนัง ยิ่งการที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐเอาหลักฐานฉาวโฉ่ในที่ทำงานตัวเองมาให้คนนอกอย่างทีมงานสารคดีดูหมดเปลือกให้เสี่ยงต่อความเสื่อมเสียออกไปอีก เรายิ่งรู้สึกว่า เมืองเลยในหนัง น่าจะเป็นจังหวัดอีกมิติคู่ขนานกับเมืองเลยในไทยที่เรารู้จักแล้วล่ะ
พอเบียดบังอวัยวะอื่นจนทำงานผิดเพี้ยน ในที่สุดเนื้องอกก็เผยตัวว่า ตูนี่ล่ะคือเนื้อร้ายในที่สุด เมื่อสถานการณ์ในหนังตึงเครียดถึงขีดสุด เรารู้สึกชัดเจนแล้วว่ากล้องสารคดีไม่มีคนอยู่ข้างหลัง ทีมงานที่เราเห็นถูกถ่ายติดเข้ามาบ้างนั่นก็ไม่ใช่คนที่มีชีวิตจิตใจ ไอ้เรื่องความไม่เมตตา ไม่เข้าช่วยเหลือคนตรงหน้า อันนี้พอแถได้ว่าพวกเขายึดถือหลักการของสารคดีแบบไม่มีส่วนร่วมอย่างเหนียวแน่น แต่ถึงขนาดไม่มีสัญชาตญาณการเอาตัวรอดนั้นไม่น่าจะใช่แล้ว หลายครั้งที่สถานการณ์จวนเจียนเป็นหรือตายที่ถ้าเป็นคนปกติต้องตัดสินใจหนีทั้งกล้องไปแล้ว แต่พวกทีมงานสารคดีในหนังกลับยังอยู่แบบงง ๆ และหลายครั้งที่มันจวนตัวถ้าเป็นเราคงเลือกหยิบอาวุธใกล้มือมาปัดป้องภัยตรงหน้า แต่พวกเขาเลือกหยิบกล้องมาถ่ายตัวเองที่กำลังมีอันตรายเสียแทน นั่นดูไม่น่าใช่คนในชีวิตจริงที่เราจะเชื่อได้
และหนักสุดก็คือเมื่อเรื่องราวมันไปสู่บทสรุป มันจะเกิดคำถามว่า เมื่อมันไม่ใช่หนังแนว Found Footage ที่มักมีคำอธิบายมาก่อนในต้นเรื่อง แล้วหนังเรื่องนี้ใครเป็นคนทำ? ไอ้ข้อความที่สื่อสารกับผู้ชมบนพื้นดำมาตลอดเรื่องคืออะไร?
นี่เป็นบาดแผลใหญ่ที่ผู้สร้าง “ร่างทรง” ละเลยไปแบบไม่น่าเชื่อ ทั้งที่คิดใส่รายละเอียดในตัวละครไว้อย่างดิบดีน่าสนใจ เลือกนักแสดงมาถ่ายทอดอารมณ์ได้ถึงพริกถึงขิง แต่ตัวละครที่อยู่กับผู้ชมตลอดเรื่องอย่างทีมงานสารคดี ผู้สร้างกลับลืมใส่ความเป็นมนุษย์ลงไป ที่เจ็บปวดที่สุดคือตัวละครหลังกล้องสารคดีพวกนี้นี่ล่ะที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องแทนสายตาผู้ชมตลอดเรื่อง หนังที่ออกแบบคิดงานมาอย่างดีเสียเวลาสร้างไปหลายปีเพื่อให้คนอินให้คนดำดิ่งแยกความจริงกับเรื่องสมมติออกได้ยาก จึงพังลงด้วยความไม่น่าเชื่อของตัวแทนการเล่าเรื่องที่ว่ามานี้เอง
น่าเสียดายนะครับ
อ่านต่อ: สัมภาษณ์ ‘โต้ง-บรรจง’ ผู้กำกับ ‘ร่างทรง’ คนไม่กลัวผี ที่หลงรักในศาสตร์แห่งความกลัว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส