[รีวิว] The Tinder Swindler : อย่าให้คำว่า “สารคดี” มาเป็นกำแพงทำให้พลาดหนังสนุก

Release date 2 February 022

1h 54m

Genre : Documentary, Crime

Director Felicity Morris

Stars Kristoffer KumarPernilla SjöholmErlend Ofte Arntsen

[รีวิว] The Tinder Swindler : อย่าให้คำว่า “สารคดี” มาเป็นกำแพงทำให้พลาดหนังสนุก
Our score
7.9

[รีวิว] The Tinder Swindler : อย่าให้คำว่า “สารคดี” มาเป็นกำแพงทำให้พลาดหนังสนุก

จุดเด่น

  1. เล่าเรื่องราวเก่ง น่าติดตาม
  2. ผู้กำกับเยี่ยม ดึงอารมณ์ของบุคคลจริงในการเล่าเรื่องออกมาได้ดี

จุดสังเกต

  1. มีบางจุดบางตอนที่ยังดูเคลือบแคลง ไม่คลี่คลาย
  • คุณภาพงานสร้าง

    7.0

  • บทและการตัดต่อ

    8.0

  • สาระและความบันเทิง

    8.5

  • คุ้มค่าแก่เวลารับชม

    8.0

“ความรัก” ความต้องการคู่ชีวิต คือความรู้สึกพื้นฐานที่ธรรมชาติสร้างมาให้มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง หรือเพศที่ 3 และมนุษย์จอมฉ้อฉลอีกมากก็รู้ถึงความปรารถนาหาคู่อันรุนแรงของเหล่าเพื่อนร่วมโลก จึงฉวยโอกาสตรงนี้มาเป็นช่องทางในการหลอกลวง ทำเงินจากสาวโสด ชายโสด มาได้นักต่อนัก แม้กระทั่งในทุกวันนี้ก็ยังมีข่าวให้ได้ยินอยู่เนือง ๆ ในบ้านเราผู้โชคร้ายมักจะตกเป็นเหยื่อผ่านทางอีเมล หรือ เฟซบุ๊ก แต่ในต่างประเทศนั้น มิจฉาชีพเหล่านี้จะใช้ Tinder แอปหาคู่เป็นเครื่องมือหากิน

หน้าตาของแอป Tinder ไมชอบใจปัดซ้าย ถูกใจปัดขวา

สำหรับคนที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยใช้ Tinder ขออธิบายข้อมูลพื้นฐานสักเล็กน้อย Tinder เป็นแอปสำหรับหาคู่ เมื่อเราเข้าใช้งาน ระบุเพศที่ต้องการหา ระยะทางในรัศมีกี่กิโลเมตร แอปก็จะส่งภาพโปรไฟล์ของบุคคลที่เข้าข่ายความต้องการเรามาให้เลือก ถ้าคนไหนไม่ถูกใจก็ปัดซ้าย ถ้าถูกใจคนไหนก็ปัดไปทางขวา ทางคนที่เราถูกใจก็ปัดขวาภาพของเราเหมือนกัน แอปก็จะขึ้นคำเตือนว่า “Matched” แปลว่าเราและเขาถูกใจซึ่งกันและกัน จะมีสิทธิ์ในการส่งข้อความหากันได้ แล้วก็พูดคุยนัดหมายสานต่อไปกันเอง Tinder เป็นแอปสัญชาติอเมริกัน ถือกำเนิดมาได้ 10 ปีแล้ว ด้วยเหตุที่ใช้ง่ายจึงมีผู้คนนิยมใช้จำนวนมาก ปัจจุบันมีผู้ใช้ทั่วโลกมากกว่า 75 ล้านคน

The Tinder Swindler เล่าเรื่องราวของ 18 มงกุฏนายหนึ่งที่ใช้ Tinder เป็นช่องทางหลักในการหลอกลวงหญิงสาวยุโรปจำนวนมาก ได้เงินไปนับสิบล้านเหรียญ อ่านพล็อตแล้วชวนให้นึกถึงหนังต้มตุ๋นที่ฮอลลีวูดสร้างกันออกมาหลายเรื่อง อย่างเช่น Dirty Rotten Scoundrel (1988), The Hustle (2019), Focus (2015) และอีกหลายเรื่อง ที่ตัวเอกของเรื่องเป็น 18 มงกุฏมืออาชีพ สร้างภาพลักษณ์จอมปลอมของตัวเองขึ้นมาว่าเป็นมหาเศรษฐี จนเหยื่อตายใจแล้วค่อยสร้างสถานการณ์คับขันมีความเดือดร้อนต้องใช้เงิน แล้วขอความช่วยเหลือจากเหยื่อเป็นเงินทีละนิดทีละหน่อย จนเป็นตัวเลขรวมจำนวนหลายล้าน จนเราไม่คิดว่าในโลกจริง ๆ ก็มีคนที่ใช้วิธีแบบนี้หากินแล้วก็ใช้วิธีเดิม ๆ นี่แหละหลอกเหยื่อได้มากมายนับสิบราย

เพอร์นิลลา คนซ้าย และ ซีซิล คนขวา 2 สาวที่มาเล่าเรื่องราวประสบการณ์เลวร้ายของเธอ

หนังเดินเรื่องด้วยวิธีการสัมภาษณ์หญิงสาวผู้โชคร้าย ซีซิล (Cecilie Fjellhøy) และ เพอร์นิลลา (Pernilla Sjöholm) 2 รายสลับกันไปมา ตั้งแต่เริ่มสนใจใน Tinder จนกระทั่งมาเจอตัวร้ายของเรื่อง ไซมอน เลอไวฟ์ (Simon Leviev) ที่แนะนำตัวเองว่าเป็นทายาทมหาเศรษฐี เจ้าของธุรกิจค้าเพชรชาวอิสราเอล เขาสนใจในตัวเธอ นัดเธอไปพบ พาพวกเธอนั่งรถโรลสรอยซ์ พาทานอาหารแพง ๆ ที่ชีวิตพวกเธอไม่เคยได้สัมผัส พาไปขึ้นเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว จนพวกเธอตายใจว่านี่ฉันโชคดีได้มาพบกับเจ้าชายในฝัน แต่หารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้ววิกฤตเลวร้ายที่สุดในชีวิตกำลังจะมาเยือนพวกเธอ

ซีซิลกับไซมอน

แม้ว่า The Tinder Swindler จะถูกจัดว่าเป็น ‘หนังสารคดี’ แต่ไม่ใด้เป็นสารคดีที่ว่าด้วยเนื้อหาสาระด้านวิชาการ แต่เล่าเรื่องราวของ 18 มงกุฎกับเหล่าสาวผู้เคราะห์ร้าย ก็มีความน่าสนใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอดูไปได้ 15 นาที หนังก็เอาคนดูอยู่หมัด ถึงแม้ว่าเรารู้แล้วว่า 2 สาวนี้จะต้องตกเป็นเหยื่อ แต่ก็ยังชวนติดตามว่า ไซมอนจะใช้ไม้ไหนมาหลอกพวกเธอ แล้วเมื่อไหร่พวกเธอถึงจะรู้ตัว ไปจนถึงองก์สุดท้ายของเรื่อง ว่าในที่สุด ซีซิลกับเพอร์นิลลาจะมาเจอกันได้อย่างไร แล้วจะแก้แค้นเอาคืนไซมอนด้วยวิธีไหน

ไซมอน เลอไวฟ์ หล่อ รวย สะอาด ดูเนี้ยบ สาวไหนก็หลงรัก

ต้องบอกว่าจุดสำคัญที่ทำให้การเล่าเรื่องราวของ The Tinder Swindler เดินหน้าไปอย่างมีสีสัน ก็ด้วย ซีซิล กับ เพอร์นิลลา เจ้าของเรื่องตัวจริงนี่แหละ ที่มานั่งเล่าเรื่องราวด้วยตัวของเธอเอง ด้วยอากัปกิริยาแบบสบาย ๆ เหมือนเราเป็นคู่สนทนาได้มาฟังเธอเล่าประสบการณ์สุดระทึกของเธอเอง แม้จะเป็นคนเดินดินธรรมดาหาใช่นักแสดงไม่ แต่สีหน้าและน้ำเสียงของ 2 คนนี้ ก็สามารถดึงให้เรามีอารมณ์ร่วมไปกับเธอได้ ยิ้ม หัวเราะมีความสุขในตอนที่เธอเล่าถึงช่วงเวลามีความสุขกับไซมอน ร้องไห้เสียใจเมื่อรู้ว่าโดนหลอกแล้ว และยิ้มเยาะสะใจตอนที่คิดแผนเอาคืน

เฟลิซิตี้ มอร์ริส (Felicity Morris)

และคนสำคัญที่จะไม่เอ่ยถึงไม่ได้เลยก็คือ เฟลิซิตี้ มอร์ริส (Felicity Morris) ผู้กำกับหญิง ที่ผ่านการเป็นผู้อำนวยการสร้างทีวีซีรีส์มาแล้ว 6 เรื่อง และ The Tinder Swindler คือผลงานกำกับเรื่องแรกของเธอ ซึ่งเธอก็สอบผ่านและทำได้ดีมากด้วย ต้องยอมรับนะครับว่า การทำสารคดีให้สนุก น่าติดตามนั้น ยากกกว่าการสร้างหนังมาก เพราะมันต้องยึดอยู่กับความเป็นจริง ไม่มีสเปเชียลเอฟเฟกต์ ไม่มีบทสนทนาของตัวละคร แต่มอร์ริสเธอก็เอาอยู่ ถ้าคนดูจะต้องเห็นแต่หน้าของซีซิลกับเพอร์นิลลาที่มานั่งเล่าเรื่องของเธอตลอด 2 ชั่วโมง คงไม่มีใครดูจบเป็นแน่ จึงต้องมีภาพฟุตเทจสั้น ๆ แทรกมาประกอบการเล่าเรื่องแบบถี่ ๆ สลับกับคลิปสั้น ๆ และคลิปเสียงที่ไซมอนและ 2 สาวส่งให้กัน ทำให้หนังเดินหน้าไปอย่างราบรื่นไปจนถึงองก์สุดท้ายของหนัง กับการปรากฏตัวของบุคคลสำคัญที่มีผลอย่างมากต่อเรื่องราว ที่พาไปสู่บทลงเอยของ ไซมอน เลวีฟ และเปลี่ยนโทนเรื่องไปเป็นการสืบสวนไล่ล่าไซมอน

หนังจบในสูตรสำเร็จของหนังที่สร้างจากเรื่องจริง ด้วยภาพนิ่งของบุคคลจริง แล้วคำบรรยายถึงสถานะล่าสุดของบุคคลเหล่านี้ ซึ่งต้องบอกเลยว่า เฮ้อ โลกเรานี้ช่างไร้ความยุติธรรมจริงจริ๊ง ไม่ว่าจะประเทศไหน ชาติไหน

เป็นสารคดีที่ให้ครบถ้วนทั้งสาระและบันเทิงครับ ดูเอาสนุกได้ แถมยังฝากข้อคิดไว้เตือนทุกคนด้วยว่า โลกเรานี้อยู่ยากนะ มีอันตรายแฝงอยู่ทุกที่ แม้กระทั่งในแอปหาคู่ ที่พึ่งพิงของคนใจเปลี่ยว ก็ยังน่ากลัวเสียจริง