Edge of Tomorrow เป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากมังงะ หรือหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง All You Need is Kill ตีพิมพ์เมื่อปี 2004 ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดโดย วอร์เนอร์ บราเธอร์ ได้นักแสดงระดับแม่เหล็กอย่าง ทอม ครูซ (Tom Cruise) มารับบทนำ ประกบคู่กับ เอมิลี่ บลันต์ (Emily Blunt) นักแสดงหญิงที่แจ้งเกิดจาก The Devil Wears Prada (2006) และ Edge of Tomorrow เป็นหนังฟอร์มใหญ่เรื่องแรกที่เธอได้รับบทนำอย่างเต็มภาคภูมิ ความสำเร็จของหนังส่งให้เธอเป็นที่จดจำ ขึ้นแท่นนางเอกแถวหน้าของฮอลลีวูดทันที หนังยังได้ ดั๊ก ไลแมน (Doug Liman) มารับหน้าที่กำกับ นับว่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมมาก เพราะไลแมนถนัดกับงานแอ็กชันอย่างมาก ผลงานก่อนหน้าของเขาอย่าง The Bourne Identity และ Mr. and Mrs. Smith ก็ล้วนประสบความสำเร็จ
เมื่อได้ทีมงานพร้อมสรรพเช่นนี้ วอร์เนอร์จึงกล้าควักทุนสร้างให้ที่ 178 ล้านเหรียญ หลังออกฉายหนังก็ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และเสียงตอบรับทั้งจากผู้ชมและนักวิจารณ์ หนังทำรายได้ทั่วโลกไปที่ 370.5 ล้านเหรียญ ถ้าหักต้นทุนในการโปรโมตแล้ว ยังได้กำไรไม่น่าพอใจนัก แต่ก็นับว่ายังไม่เจ็บตัวนัก ด้านเสียงตอบรับ หนังได้คะแนนมะเขือสดจาก rottentomatoes ไปที่ 91% จากนักวิจารณ์ 335 คน
นับถึงวันนี้ Edge of Tomorrow (2014) ก็มีอายุ 8 ปีเข้าไปแล้ว แต่ก็ยังได้รับการพูดถึงและชื่นชมจากแฟนหนังในฐานะหนังไซไฟ-แอ็กชัน ที่สนุกและเยี่ยมยอดเรื่องหนึ่ง แต่ถึงบัดนี้ หนังก็ยังไม่มี่วี่แววว่าจะได้มีภาคต่อแต่อย่างใด ทั้งที่มีเสียงเรียกร้องและรอชมมากมาย และยังคงได้รับการตอบรับที่ดีทุกครั้งที่หนังลงช่องสตรีมมิงต่าง ๆ และในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ Edge of Tomorrow ก็จะกลับมาให้แฟน ๆ ได้รับชมอีกครั้งผ่านทาง HBO MAX เพื่อเป็นการเพิ่มอรรถรสในการรับชมอีกครั้ง ผู้เขียนจึงขอนำเกร็ดเบื้องหลังน่าสนใจมาเล่าต่อกันฟังครับ
1.ทอม ครูซ ทุ่มเทกับเรื่องนี้มาก เขาถ่ายทำ 7 วันต่อสัปดาห์ไม่มีพัก
สำหรับคอหนังฮอลลีวูด การได้เห็น ทอม ครูซ ในหนังแอ็กชัน นั้นก็ถือว่าไม่ใช่บทบาทแปลกใหม่สำหรับครูซ เมื่อเขามารับบท พันตรีวิลเลียม เคจ นายทหารในโลกอนาคต ที่สวมเกราะถือปืนกระบอกโต ก็นับว่าไม่ใช่ภาพลักษณ์ที่แปลกตาสำหรับคนดู แต่แท้จริงแล้ว บทบาทพันตรีวิลเลียม เคจ นี้ค่อนข้างจะแตกต่างจากทุกเรื่องที่ผานมาของครูซ เพราะหลายเรื่องก่อนหน้านั้น บทบาทของครูซมักจะเป็นทหาร สายลับ หรือนักรบระดับพระกาฬ มากประสบการณ์ แต่กับบทพันตรีวิลเลียมนี้ กลับเป็นทหารมือใหม่อ่อนหัด ด้อยประสบการณ์ที่โดนจับมาลงสนามรบต่อสู้กับเอเลียนในขณะที่ยังไม่พร้อมเลย
จึงพูดได้ว่า บทบาทพันตรีวิลเลียมนี้ไม่ใช่ พระเอกนักบู๊ธรรมดาอย่างที่เราเคยผ่านตากันมา แต่ครูซต้องใช้ทักษะความสามารถในการแสดงพอดู เพื่อให้เห็นพัฒนาการของพันตรีวิลเลียม จากทหารตื่นสนามรบ ที่ต้องโดนเอเลียนฆ่าซ้ำแล้วซ้ำเล่ากลับมาเกิดใหม่ จนเป็นการสะสมทักษะให้เขาเป็นทหารกร้านสนามรบที่มีทั้งประสบการณ์และความแกร่ง ทั้งนี้ ก็เป็นเพราะความตั้งใจทุ่มเทของครูซที่มีต่อบทนี้ ถึงขนาดที่ว่า ผู้กำกับดัก ไลแมน ยังชื่นชมในความอุตสาหะของครูซ
“ผมเคยร่วมงานกับนักแสดงมาหลายคนแล้ว ซึ่งแต่ละคนก็ไม่ค่อยรู้สึกรู้สาอะไรกับชื่อเสียงที่เขาได้มา ต่างจากทอมที่เขาตระหนักดีว่า แฟน ๆ ยอมจ่ายค่าตั๋วมาดูหนังของเขาก็เพราะว่าคุณภาพของหนัง และที่หนังแต่ละเรื่องของทอมออกมามีคุณภาพ นั่นก็เพราะเขาทุ่มเทอย่างหนักกับหนังแต่ละเรื่อง ทอมบอกกับผมก่อนเริ่มงานเรื่องนี้ว่า ถ้าคุณอยากจะถ่ายต่อเนื่อง 7 วันต่อสัปดาห์ ผมก็เอาด้วยนะ ผมก็เลยตอบไปว่า โอเคงั้นเรามายิงยาว 7 วันต่อสัปดาห์กัน”
2.ชุดเกราะที่ ทอม ครูซ และ เอมิลี่ บลันต์ สวมนั้น หนักถึง 38 กก.
หนังฮอลลีวูดหลากหลายเรื่อง ที่ตัวเอกของเรื่องต้องสวมชุดเกราะนั้น ทางผู้สร้างนั้นมักจะใช้เทคนิค CGI สร้างชุดเกราะขึ้นมาภายหลัง เพื่อความคล่องตัวของนักแสดง แต่สำหรับ Edge of Tomorrow กลับไม่เลือกใช้วิธีนั้น ชุดเกราะที่เราเห็นในหนัง ไม่ว่าจะเป็นชุดของ วิลเลียม เคจ, ริตา วราทาสกี และทหารคนอื่น ๆ ในเรื่องนั้น ล้วนเป็นชุดเกราะที่สร้างขึ้นมาเพื่อการถ่ายทำจริง ๆ เหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะเป็นความต้องการของ ดั๊ก ไลแมน ผู้กำกับ ที่ต้องการให้ภาพออกมาสมจริงที่สุด
แม้ Edge of Tomorrow จะเป็นหนังไซไฟ แต่หนังได้ ดั๊ก ไลแมน ผู้กำกับที่ไม่สนใจเรื่องราวไซไฟเอาเสียเลย ไลแมนสนแค่ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ดั้งนั้นไลแมนจึงเจาะจงว่าจะต้องให้ภาพออกมาสมจริงเท่าที่ชุดเกราะจะทำได้จริง อาวุธจะทำได้จริงเท่าที่เทคโนโลยีของมนุษย์โลกจะพัฒนาไปได้จริง ไลแมนยึดหลักการทุกอย่างตามความเป็นจริงหมด ฉะนั้นเมื่อพูดถึงเรื่องชุดเกราะ ไลแมนจึงออกคำสั่งเด็ดขาดว่าจะต้องสร้างชุดเกราะขึ้นมาจริง ๆ เท่านั้น
และเมื่อทีมงานบรรจงสร้างขึ้นมาตามบัญชาของผู้กำกับแล้ว กลายเป็นว่าชุดเกราะที่เราเห็นนั้น ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนต่าง ๆ ถึง 170 ชิ้น พอประกอบกันแล้วก็หนักราว ๆ 38 – 40 กก. นี่ยังไม่รวมอาวุธที่นักแสดงต้องถือไว้ด้วย ทอม ครูซ น่ะเป็นผู้ชายบึกบึนพอจะรับน้ำหนักของชุดเกราะนี้ไหว แต่สำหรับ เอมิลี่ บลันต์ เมื่อเธอได้ลองชุดเกราะครั้งแรก ถึงกับปล่อยโฮออกมา เพราะนึกภาพตัวเองที่ต้องใส่ชุดเกราะนี้ตลอดทั้งเรื่อง
“พวกเขาสวมชุดเกราะให้ฉันและทอม ตอนที่ได้ลองสวมครั้งแรก ฉันก็เริ่มร้องไห้แล้ว เพราะว่าชุดมันหนักมากจริง ๆ ทอมก็หันมาถามฉันว่า ‘คุณโอเคไหม คุณโอเคนะ ?’ ฉันก็ตอบ ‘ค่ะ’ แต่ฉันไม่รู้ว่าชุดมันหนักมาก ฉันไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าชุดมันจะหนักถึงขนาดนี้ แต่ทอมก็พยายมช่วยให้ฉันหัวเราะ เขาก็พยายามปลอบฉันว่า ‘เอาน่า หยุดใจเสาะได้แล้ว’ ฉันก็ตอบทอมไปว่า ‘มากอดให้กำลังใจฉันหน่อยเหอะ ฉันจะตายอยู่แล้ว’ “
3.ฉากเฮลิคอปเตอร์ลงจอดนั้น ไปถ่ายทำกันที่จัตุรัสทราฟัลการ์จริง ๆ
ฉากเฮลิคอปเตอร์ลงจอด เป็นฉากสั้น ๆ ตอนต้นเรื่องนั้น ซึ่งเรา ๆ ก็ดูกันผ่าน ๆ ไปเพราะไม่ได้เห็นว่าฉากนี้จะมีความสำคัญอะไร แต่สำหรับทีมงานแล้ว ฉากนี้กลับเป็นฉากที่ยาก เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลาอย่างมาก นั่นก็เพราะเป็นความประสงค์ของผู้กำกับ ดั๊ก ไลแมน อีกแล้ว ที่อยากถ่ายทำฉากนี้บนสถานที่จริง แทนที่จะใช้เทคนิค Green Screen อย่างที่เรื่องอื่นเขาทำกัน
ต้องอธิบายกันก่อนว่า จัตุรัสทราฟัลการ์นั้น เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นพื้นที่สาธารณะและเป็นจุดศูนย์กลางของสถานที่สำคัญในกรุงลอนดอน เช่น หอศิลป์แห่งชาติ, เซนท์มาร์ตินอินเดอะฟีลดส์, แคนาดาเฮาส์ และ เซาธ์แอฟริกาเฮาส์ และตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของจัตุรัสทราฟัลการ์ ไม่เคยมีเฮลิคอปเตอร์มาลงจอดที่นี่ แต่สำหรับ ดั๊ก ไลแมน แล้ว ถ้ายังไม่เคยมีใครทำ ยิ่งเป็นการท้าทายสำหรับเขา แล้วเขาก็ยืนยันที่จะถ่ายทำฉากนี้บนจัตุรัสทราฟัลการ์จริง ๆ เนื่องจากเป็นสถานที่สาธารณะ ทีมงานจึงได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จัตุรัสทราฟัลการ์เพียงแค่ 3 ชั่วโมงเท่านั้น
“เรามีเวลาแค่ช่วงเช้าวันนั้นเท่านั้น แล้วเรามีเวลาแค่นั้น ก็คือแค่นั้นจริง ๆ ถ้าจะไปต่อรองขอเวลาเพิ่มอีกสัก 1 นาที อาจจะไม่ได้ใช้พื้นที่นี้เลยก็ได้ ผมจึงเตือนตัวเองว่า ‘นี่คือโอกาสเพียงครั้งเดียวในชีวิตของผม ฉะนั้นทำมันให้คุ้มค่าที่สุด”
ขอแถมพูดไปถึงอีกฉากที่ยากลำบากในการถ่ายทำมากก็คือฉากรบบนชายหาด ฉากนี้ถ่ายทำกันในสตูดิโอลีฟส์เด็น ในลอนดอน พอเป็นการถ่ายทำภายในสตูดิโอ ทีมงานก็เลยต้องขนทรายมานับร้อยตันเพื่อสร้างฉากชายหาดให้สมจริง และกลายเป็นว่าฉากนี้ก็กลายเป็นฝันร้ายของทั้ง ทอม ครูซ และ เอมิลี่ บลันต์ เพราะจากที่เราเล่าไปแล้วก่อนหน้าว่าชุดเกราะนั้นหนักมาก พอนักแสดงสวมชุดเกราะและถืออาวุธแล้วก็เหยียบไปบนพื้นทราย ก็แทบจะจมลงไป แล้วแต่ละก้าวที่เยื้องย่างไปก็หนักหนาสาหัสเอามาก ๆ
“ฉันว่าไอ้หาดเนี้ยควรจะได้ฉายาว่า ‘อีด.อ.ก’ สมควรแล้วกับช่วงเวลา 7 สัปดาห์ที่ฉันต้องเผชิญอยู่กับมัน”
เอมิลี่ บลันต์ กล่าวถึงประสบการณ์ของเธอต่อฉากชายหาด
4.ในขั้นตอนเตรียมการสร้าง วอร์เนอร์เสนอแนะว่าให้ตัดเนื้อหาที่ชีวิตพระเอก “หมุนวนอยู่ในวันเดียว” ทิ้งไป
นอกเหนือจากฉากแอ็กชันที่สุดมันส์แล้ว จุดเด่นของ Edge of Tomorrow ก็คือเรื่องราวที่ พันตรีวิลเลียม เคจ ต้องถูกเอลียนตายแล้วฟื้นขึ้นมาใหม่ วนอยู่ในวันเดียวนี้จนกว่าเขาจะเอาชนะฝูงเอเลียนได้ แต่รู้ไหมครับว่า ทั้งที่เรื่องราวส่วนนี้เป็นทั้งเอกลักษณ์และจุดขายของเรื่อง ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ในขั้นตอนเตรียมการสร้างนั้น ทางผู้บริหารสตูดิโอก็ได้ยื่นข้อเสนอกับผู้กำกับดั๊ก ไลแมน ว่าอยากให้ตัดเนื้อหาเรื่องวนลูปอยู่ใน 1 วันทิ้งไปได้ไหม
“ตัวพระเอกนั่นเขาจำเป็นต้องวนซ้ำอยู่ในวันเดียวด้วยเหรอ ? เราแค่ให้เขาต่อสู้กับเอเลียนอย่างเดียวได้ไหม ? ผมก็ไมได้เถียงอะไรเขานะ แค่ตอบไปว่า ‘ถ้ายังอยากให้ผมกำกับอยู่ ก็ต้องวนในวันเดียวแบบนี้ละครับ’ “
ผู้กำกับ ดั๊ก ไลแมน ย้อนเล่าให้ฟังถึงช่วงที่เจรจากับผู้บริหารสตูดิโอ
ก็ต้องขอชอบคุณผู้กำกับ ดั๊ก ไลแมน ที่ยืนกรานคงเอกลักษณ์ของเรื่องราวไว้ เราถึงได้ดูหนังแอ็กชันสุดมันส์เรื่องนี้กัน
5.การออกแบบตัวเอเลียนในเรื่องนี้ อิงจากการเคลื่อนไหวของตัวมันแล้วค่อยคิดว่าตัวมันจะหน้าตาอย่างไร
อย่างที่กล่าวไปว่า จุดเด่นของหนัง Edge of Tomorrow ก็คือเรื่องราวของพันตรีวิลเลียม เคจ ที่ตายแล้วฟื้นคืนมาใหม่วนอยู่ในวันเดียว และที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือจุดเด่นอีกอย่างของเรื่องนี้ก็คือการออกแบบภาพลักษณ์ของสัตว์ต่างดาว ที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนที่เห็นจากเรื่องอื่น ๆ เจ้าอสูรต่างดาวในเรื่องนี้มีชื่อด้วยว่า “The Mimics” และการออกแบบรูปร่างหน้าตาของเอเลียนในเรื่องนี้ ก็นับเป็นงานที่ท้าทายทีมงานอย่างมาก และกลายเป็นว่าทีมงานเริ่มจากการกำหนดท่าทางเคลื่อนไหวของมันก่อน แล้วค่อยคิดว่าสุดท้ายแล้ว รูปร่างหน้าตาของมันควรจะเป็นเช่นใด เพราะอยากจะให้มันดูเหมือนเชื้อไวรัสแนว ๆ นั้น และขั้นตอนการออกแบบนั้น ทีมงานได้คิดหน้าตาของพวกมันออกมาถึง 4,700 รูปแบบ ออกมาเป็นภาพร่าง 276 ภาพ และสุดท้ายก็ลองขึ้นเป็นโมเดลต้นแบบ
หน้าที่ออกแบบ The Mimics นี้อยู่ในความรับผิดชอบของ นิค เดวิส หัวหน้าฝ่ายวิชวลเอฟเฟกต์ ซึ่งเดวิสเริ่มจากการทำภาพจำลองการเคลื่อนไหว แล้วค่อยต่อยอดงานออกแบบไปจากจุดนั้น โอลิเวอร์ โชลล์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายออกแบบโครงสร้างเล่าเบื้องหลังงานออกแบบให้ฟังว่า
“นิค เดวิส เขาทำให้งานคืบหน้าไปได้ เขาบอกผมว่า ‘เรามาลองแอนิเมชันกันแล้วศึกษาการเคลื่อนไหวของมัน แล้วจากการเคลื่อนไหวเราค่อยมาดูกันอีกทีว่าเรามีดีไซน์อะไรในมือแล้วบ้างแล้วจะสามารถต่อยอดเป็นอะไรได้บ้าง’ จากจุดนี้ก็จะค่อย ๆ ต่อยอดไปถึงขั้นตอนต่อไป”
หลังจากทดลองทำแอนิเมชันกันแล้ว ก็สามารถทำให้ทีมงานสามารถทำงานขั้นตอนต่อไปได้ นั่นก็คือการออกแบบฉากต่อสู้บนชายหาด ซึ่งเอฟเฟกต์ต่าง ๆ บนฉากชายหาดนั้นเป็นเอฟเฟกต์ที่สร้างขึ้นจริง แล้วค่อยให้ CGI ใส่ The Mimics ลงไปภายหลัง เอมิลี่ บลันต์ เล่าว่าฉากนี้ค่อนข้างยุ่งเหยิงมาก นักแสดงต้องแสดงปฏิกิริยาตอบโต้กับบรรดาตัวประกอบที่ต้องใส่ชุดเขียวหลายคนที่วิ่งไปมาเต็มไปหมด ซึ่งตรงนี้ก็จะกลายเป็นสัตว์ต่างดาวที่เราเห็นกันบนจอ
6.หนังออกฉายไปแล้ว ก็ยังถูกเปลี่ยนชื่ออีก
ในขั้นตอนเตรียมการสร้างนั้น หนังใช้ชื่อว่า ‘All You Need is Kill’ตามชื่อมังงะต้นฉบับ พอมาถึงช่วงงาน Comic-Con ปี 2013 วอร์เนอร์ บราเธอร์ ก็นำเรื่องนี้ไปโปรโมตด้วยการทำโปสเตอร์ไปโชว์ในงาน แต่บนโปสเตอร์นั้นกลับเขียนชื่อเรื่องว่า ‘Edge of Tomorrow’ หนังก็เลยได้ใช้ชื่อนี้ตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งหนังออกฉาย แต่นั่นก็ยังไม่จบกระบวนการตั้งชื่อเรื่อง
ปี 2014 มีการโปรโมต ดีวีดีบลูเรย์ ของเรื่องนี้ผ่าทางสื่อโซเชียล แต่กลับใช้ชื่อตอนโปรโมตว่า ‘Live Die Repeat’ แต่ทาง Amazon ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายใหญ่ก็ไม่เล่นตามเสียทีเดียว แต่กลับใช้ชื่อในการทำตลาดว่า ‘Live Die Repeat: Edge of Tomorrow’ ไอเดียในการเปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘Live Die Repeat’นั้น ก็น่าจะเป็นไอเดียมาจากผู้กำกับ ดั๊ก ไลแมน อีกนั่นแหละ ซึ่งเขาอธิบายเหตุผลไว้ว่าเขาอยากจะเก็บคำว่า Live Die Repeat ไว้เป็นชื่อหลัก เผื่อหนังจะสานต่อออกไปเป็นแฟรนไชส์
“ผมอยากจะเปลี่ยนชื่อหนังเป็น Live Die Repeat เพื่อว่าภาคต่อจะได้สานต่อจากชื่อนี้ ไม่ว่ามันจะออกมาเป็น Live Die Repeat and Repeat หรือจะเป็นคำอื่นก็ตาม ทอมกับผมหวังว่าจะได้สานต่อมันไปในระยะยาว ผมก็เลยอยากจะตั้งชื่อมันเผื่อไว้ถึงภาคต่อ ๆ ไปที่จะตามมา”
7.แบรด พิตต์ เคยเป็นตัวเลือกในบท พันตรีวิลเลียม เคจ
มาถึงตอนนี้ เราแทบจะนึกภาพไม่ออกเลยว่า ถ้าไม่ใช่ ทอม ครูซ ในบทนำใน Edge of Tomorrow แล้วจะมีใครอื่นที่เหมาะสมไปกว่านี้ แต่ที่จริงแล้ว นักแสดงดั้งเดิมที่ทางค่ายเลือกไว้ก็คือ แบรด พิตต์ (Brad Pitt) ซึ่งเหตุผลนี้ก็มีที่มาที่ไปนะ ต้องย้อนไปในปี 2011 ในช่วงที่โปรเจกต์นี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมการสร้างนั้น หนังยังใช้ชื่อว่า ‘All You Need Is Kill’ ทางวอร์เนอร์ได้ทาบทาม แบรด พิตต์ ให้มารับบทนำไว้แล้ว ส่วน ดั๊ก ไลแมน ก็กำลังง่วนอยู่กับโปรเจกต์ ‘Luna’ หนังจารกรรมในอวกาศ ซึ่งมี แบรด พิตต์ รับบทนำ แต่ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลกลใด พาราเมาท์ สตูดิโอ เจ้าของโปรเจกต์ก็ตัดสินใจพับโปรเจกต์เรื่องนี้ซะ ทางวอร์เนอร์เห็นดังนั้นก็เลยขอรับช่วงต่อ ให้ทั้ง ดั๊ก ไลแมน และ แบรด พิตต์ มาทำหนังไซไฟมนุษย์ทำสงครามกับเอเลียนเรื่องนี้ แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือน วอร์เนอร์ก็แถลงข่าวโปรเจกต์นี้ว่าเป็น ทอม ครูซ ที่มารับบทนำ
8.ผู้เขียนบทยืนยัน อย่างไรก็อยากให้หนังวนมาจบที่ฉากเริ่มต้น
เหมือนเป็นพิมพ์นิยมไปแล้ว ถ้าหนังที่ว่าด้วยเรื่องวนลูปเวลานั้นมักจะจบลงมาวนด้วยฉากเริ่มต้นหนัง แล้ว Edge of Tomorrow ก็เช่นเดียกวัน ในฉากจบของเรื่องเราเห็น พันตรี วิลเลียม เคจ ฟื้นขึ้นมาบนเฮลิคอปเตอร์ เหมือนกับฉากเปิดเรื่อง เพียงแต่ว่ารอบนี้เขาฟื้นขึ้นมาแล้วพบสภาพความเป็นจริงที่ดีขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นว่าเขาและริต้าสามารถบุกไปทำลายโอเมก้าได้สำเร็จ ซึ่งก็เป็นการจบแบบแฮปปี้ แต่กลายเป็นว่าเสียงตอบรับจากผู้ชมจำนวนมาก ไม่ชอบตอนจบที่ลงเอยสวยงามแบบนี้
คริสโตเฟอร์ แม็กควารี (Christopher Mcquarie) ผู้เขียนบทเรื่องนี้ ที่วันนี้กลายเป็นผู้กำกับคู่บุญของครูซไปแล้ว เล่าว่า ตัวเขาเองต้องการให้หนังจบแค่ฉากบนเฮลิคอปเตอร์แค่นั้น แล้วก็ปล่อยให้คนดูจินตนาการเอาเองว่ารอบนี้ เคจฟื้นขึ้นมาแล้วจะเจอกับอะไร ในฐานะผู้เขียนบทเรื่องนี้ แม็กควารีบอกว่าเขาตระหนักดีว่าต้องมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบกับตอนจบแบบนี้
“เราพยายามกันมากที่จะให้หนังออกมามีอารมณ์ท่วมท้น ผมก็รู้แหละว่าตอนจบของหนังกลายเป็นที่โต้เถียงกัน เพราะมีผู้ชมจำนวนหนึ่งที่ไม่ชอบฉากจบแบบนี้ แต่ผมก็รู้อีกละนะว่าถ้าจะให้คนดูส่วนใหญ่ชอบ ก็คือต้องเขียนให้หนังจบแบบไม่แฮปปี้ แต่ผมก็ไม่สนใจที่จะไปทางนั้นเลยนะ หนังมันต้องจบแบบที่ไม่ทำร้ายจิตใจกันเกินไปสิ”
แม้ในบทความนี้จะมีการเอ่ยถึง ภาคต่อของหนังอยู่เนือง ๆ และฟังดูเหมือนว่า ผู้กำกับ ดั๊ก ไลแมน และ ทอม ครูซ มองการณ์ไกล ถึงขั้นจะสานต่อหนังเป็นแฟรนไชส์ยาว ๆ ไปเลย แต่ถึงจุดนี้เราก็ยังไม่เห็นวี่แววใด ๆ ข่าวล่าสุดก็มีเพียงถ้อยคำจาก เอมิลี่ บลันต์ ที่เล่าว่าบทภาพยนตร์เสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่หนังจะต้องใช้ทุนมหาศาลมาก และ ดั๊ก ไลแมน, ทอม ครูซ และ เอมิลี่ บลันต์ 3 บุคคลหลักของหนังก็ยังว่างไม่ตรงกันเสียที คอยติดตามความคืบหน้ากันต่อไปครับ