เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใดพี่เอย
เสียงย่อมยอชินไค ทั่วหล้า
กระแสหนังมาแรงแซงทุกเพจหนังจริงๆครับ กับอนิเมชั่นสุดร้อนแรงแห่งดินแดนญี่ปุ่นที่ระเบิดระเบ้อทุบสถิติทั้งคำวิจารณ์และรายได้ในบ้านตัวเองเป็นว่าเล่นอย่าง Your Name (君の名は。Kimi no na wa) และ Weathering with You จนบางคนที่เป็นคอหนัง แต่ไม่เคยได้ยินชื่อมันมาก่อนต่างสงสัยว่า อ่าวไหนว่า จิบลิ เลิกทำหนังยาวแล้วไง ซึ่งอันนี้ได้ยินหนาหูมากครับ ต้องบอกก่อนเลยว่าอนิเมชั่นจากญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มีแค่จิบลิ หรือค่ายยักษ์ใหญ่อย่างเดียวเท่านั้นครับ และหนังเรื่องนี้ก็ไม่ใช่มาจากค่ายเหล่านั้นด้วย ดังนั้นวันนี้แบไต๋จะขอแนะนำสุดยอดอนิเมเตอร์คนหนึ่งในยุคปัจจุบัน และเป็นผู้สร้างหนังเรื่องนี้ให้รู้จักกัน ต่อไปจะได้ไม่สับสนกับงานอย่างจิบลิกันล่ะนะ (ฮา) เขาคนนั้นมีนามว่า มาโกโตะ ชินไค (新海 誠 Shinkai Makoto)
ชินไค ตอนที่ยังไม่เป็น ชินไค
มาโกโตะ ชินไค แต่เดิมเลยมีชื่อว่า มาโกโตะ นิอิทสึ เกิดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1973 (ตอนนี้ป๋าแกอายุ 43 ปีเต็มแล้ว) ที่จังหวัดนางาโนะ ซึ่งอยู่ตอนกลางของประเทศท่ามกลางขุนเขาสูงห้อมล้อมทุกทาง จนได้รับสมญาว่า หลังคาของประเทศญี่ปุ่น ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมมุมมองต่อธรรมชาติของแกที่ปรากฏในหนังมันสวยงามขนาดนั้น เพราะมันคือภาพความทรงจำตั้งแต่แกเกิดมาในเมืองที่ทิวทัศน์ตระการตาก็ว่าได้ ในหนังของเขาจึงมีสถานที่สวยๆมากมายที่เอามาจากสถานที่จริงโดยเฉพาะในนางาโนะด้วย อย่างเช่น ทะเลสาบซึวะ ทะเลสาบใจกลางหุบเขาคิโซะ ที่กลายมาเป็นฉากหลักของเมืองอิโตโมริของนางเอกในเรื่อง Your Name ด้วยนั่นเองครับ
ชินไคมีความสนใจในเรื่องมังงะ อนิเมะ และนิยายมาตั้งแต่สมัยมัธยมต้น พอสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็เลยมุ่งตรงไปสายวรรณคดีญี่ปุ่นของมหาวิทยาลัยชูโอทันที การจากบ้านเกิดที่เรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติมาเข้าสู่เมืองหลวงที่วุ่นวายเปี่ยมสีสันและเปลี่ยวเหงาไปพร้อมกัน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ชินไคมักถ่ายทอดออกมาในงานของเขาด้วย ระหว่างที่ศึกษาอยู่นี้เองเขาก็ได้มีโอกาสเข้าชมรมวรรณกรรมเยาวชน ซึ่งตอนนี้เองที่ได้มีโอกาสวาดภาพประกอบหนังสือต่างๆของชมรม และสำหรับอนิเมะเรื่องที่ชินไคชอบมากที่สุดก็คือ Laputa: Castle in the Sky (1986) ของ ฮายาโอะ มิยาซากิ แห่งค่ายจิบลินั่นเอง ชินไคจึงมีความฝันในการได้ทำงานด้านอนิเมะมาเสมอเพราะเหตุนี้ด้วย
จริงๆตรงนี้ประวัติชินไคก็ไม่ได้เรียกว่าแปลกแตกต่างกับใครๆเลย เพราะเด็กญี่ปุ่นเยอะมากๆที่มีความฝันอยากอยู่ในวงการมังงะ อนิเมะ แต่ต่างตรงที่ชินไคเดินตรงมาสู่ความฝันอย่างไม่ลังเล ไม่ได้เบี่ยงเหไปเหมือนเด็กคนอื่นๆเท่านั้นเองครับ
สร้างชื่อด้วยสมญานาม วันแมนโชว์
สิ่งสำคัญที่ชินไคได้จากการทำงานที่ฟาลคอมคือได้พบกับ Tenmon
นอกจากประสบการณ์ต่างๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ชินไคได้จากการทำงานที่ฟาลคอมเลยก็คือ การได้พบเจอกับ Tenmon หรือ ชิราคาวะ อัตทสึชิ นักประพันธ์ดนตรีสำหรับเกมของฟาลคอมหลายต่อหลายเกม ซึ่งต่อมาก็กลายมาเป็นผู้ทำเพลงให้กับอนิเมชั่นของชินไคหลายต่อหลายชิ้นด้วย โดยเฉพาะผลงานชิ้นแรกที่สร้างชื่อให้ชินไคอย่าง She and Her Cat (彼女と彼女の猫 Kanojo to Kanojo no Neko เธอและแมวตัวนั้น) (1999) ที่ว่าด้วยเรื่องราวของแมวจรจัดที่ได้มาอยู่อาศัยกับหญิงสาว โดยผู้ชมจะได้ผ่านวันเวลาทั้งดีร้ายในชีวิตของหญิงสาวผ่านสายตาและความคิดของเจ้าแมวตัวนั้นด้วย หนังมาพร้อมกับชื่อรองที่ว่า Their Standing Points ซึ่งสะท้อนถึงการเล่าเรื่องต่างมุมมองระหว่างคนกับสัตว์ในเรื่องด้วย ชินไคยังคงใช้สีโทนขาวดำเช่นเดียวกับเรื่องก่อนหน้า ต่างแค่เอามาใช้เพื่อสื่อสารเรื่องราวที่อบอุ่นใจขึ้น การอนิเมทเคลื่อนไหวที่มีมากขึ้น แต่ดีไซน์ตัวละครก็ยังนับเป็นจุดด้อยสำคัญของเขาอยู่เช่นเดิม ไม่เชื่อดูเจ้าแมวในเรื่องสิ (ฮา)
และอีกประการที่ถูกสื่อออกมา คือการที่เสียงบรรยายของแมว (ชินไค) ในเรื่องเล่าว่าตัวเองนั้นชอบสาวที่มีอายุมากกว่า ซึ่งประเด็นนี้ก็ยิ่งเด่นชัดขึ้นในหนังยุคหลังๆ ของเขาด้วย โดยเฉพาะในเรื่อง The Garden of Word ที่ชัดมากๆ หรือแม้แต่ใน Your Name เอง ถ้านั่งนึกกันดีๆ แล้วนางเอกน่าจะอายุมากกว่าพระเอกอย่างน้อยปีหรือสองปีด้วย ก็อาจจะเป็นรสนิยมของชินไคที่อาจเป็นอีกหนึ่งลายเซ็นในงานของเขาด้วย
หนังสั้นความยาวเกือบ 5 นาทีนี้เป็นผลงานที่ชินไคทำเองทุกส่วน แม้กระทั่งลงเสียงบรรยายที่แทนตัวของแมวในเรื่องด้วย (ดูฉบับดั้งเดิมที่เป็นเสียงชินไคได้ ตรงนี้ ครับ) เรียกได้ว่าความเชื่อในการทำอนิเมชั่นในยุคนั้นที่ต้องใช้ทรัพยากรระดับสตูดิโอที่มีทีมมากมาย ได้ถูกท้าทายด้วยการทำแทบทั้งหมดจากกำลังของคนเพียงคนเดียวทีเดียว ส่งผลให้ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลมากมาย รวมถึงได้ชนะรางวัลใหญ่สุดของงาน DoGA CG Animation ปี 2000 มาด้วย ตรงนี้ก็ทำให้ชินไคมีชื่อเสียงขึ้นมาในแวดวงอนิเมเตอร์ทันที จนบริษัทด้านมังงะและอนิเมชั่นอย่าง MangaZoo ติดต่อให้ทุนสำหรับหนังเรื่องต่อไปแลกกับสิทธิ์จัดจำหน่าย ชินไคทราบดีว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก ในช่วงมิถุนายนปีนั้น เขาได้เริ่มคิดโปรเจกต่อไปโดยมีภาพวาดที่เขาวาดเอง เป็นภาพเด็กผู้หญิงในห้องนักบินที่กำลังกำโทรศัพท์มือถือไว้แน่นเป็นแรงบันดาลใจต่อยอดเป็นเรื่องราวความรักข้ามจักรวาลที่แฟนๆรู้จักกันดีในเวลาต่อมา ในชื่อ Voices of a Distant Star (ほしのこえ Hoshi no Koe เสียงเพรียกจากดวงดาว) (2002)
ช่วงเวลาก่อนที่เขาจะได้ทำ ว๊อยซ์ฯ ออกมาสำเร็จ เขาก็ได้มีงานกับค่ายเกมอย่าง Minori ที่โดดเด่นในเกมรูปแบบนิยาย (visual novel) โดยมีผลงานออกมาเช่นทำอนิเมะเปิดให้เกม Bittersweet Fools (2001) และทำมูฟวี่ทั้งหมดในเกม Wind: A Breath of Heart (2002) ซึ่งทั้งสองเกมในเวอร์ชั่นพีซีนั้นมีเนื้อหาและฉากแบบผู้ใหญ่ 18+ (H-Game) อยู่ด้วย ก่อนจะถูกเอาออกเพื่อพอร์ทไปสู่เครื่องดรีมคาสท์และเพลย์สเตชั่น2 ในเวลาต่อมา จะนับเป็นการเกี่ยวข้องกับสายมืดครั้งแรกๆ ของชินไคก็ได้นะ (ฮา)
ในปี 2001 นี่เองที่ชินไคได้ลาออกจากฟาลคอม แล้วหมกมุ่นกับการทำ Voices of a Distant Star เป็นเวลากว่า 7 เดือน โดยใช้โปรแกรม LightWave 3D ในการสร้างภาพจากโมเดลสามมิติ Adobe Photoshop 5.0 สำหรับการแต่งภาพ Adobe After Effects 4.1 เพื่อสร้างเอฟเฟกต์ต่างๆให้วิดีโอ และทำการอนิเมทภาพเคลื่อนไหวด้วยโปรแกรม Commotion 3.1 DV ซึ่งทั้งหมดทำงานบนเครื่อง Power Mac G4 ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรุ่นแรกของ Apple ซึ่งกระบวนการด้านภาพและเสียงประกอบทั้งหมดเขาเป็นคนทำเอง คนเดียว! ถึงแม้ความยาวหนังจะแค่ประมาณ 25 นาทีก็เถอะนะ แต่ระดับคุณภาพงานสูงมากในสมัยนั้น จนคนต่างร่ำลือและกลายเป็นงานสร้างชื่อจริงๆให้กับชินไคด้วย
โดยพล็อตเรื่องของว๊อยซ์ฯ นี้นับว่าใช้ความเป็นไซไฟผสานกับอารมณ์เหงาและความโรแมนติกของรักทางไกลได้ดีเว่อมากครับ ว่าด้วยยุคอวกาศที่โลกมนุษย์ต้องส่งเหล่าผู้ได้รับเลือกควบคุมหุ่นยนต์แล้ววาร์ปออกไปต้านการรุกรานของต่างดาว เรื่องจับไปที่สองหนุ่มสาวมัธยมที่ฝ่ายหญิง มิคาโกะ ได้รับเลือกให้ออกไปรบยังอวกาศ ขณะที่ฝ่ายชาย โนโบรุ ก็ต้องใช้ชีวิตต่อบนโลก โดยทั้งสองคนจะสื่อสารถึงกันผ่านเท็กซ์เมล โดยแรกๆ ก็ส่งถึงกันได้ปกติแต่ทุกครั้งที่ มิคาโกะต้องวาร์ปไปรบยังสมรภูมิที่ไกลขึ้นระยะเวลาที่เมลจะมาถึงก็จะยิ่งนานขึ้นกลายเป็นหลักเดือนหรือเป็นปีๆ ก็มี โนโบรุเองหลังเรียนจบก็ได้สมัครเข้าเป็นทหารทำภารกิจสนับสนุนจากบนโลกเพื่อจะได้ใกล้ชิดกับมิคาโกะมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่เวลาในอวกาศเดินไปอย่างเชื่องช้ามิคาโกะที่อายุยังคงเท่ากับเด็กมัธยม แต่โนโบรุกลับอายุมากขึ้นห่างออกไปเรื่องๆ จักรวาลที่กั้นพวกเขาอยู่คือความห่างทั้งระยะทางและเวลา แต่กระนั้นความรักความคิดถึงก็ยังคงล่องลอยเฝ้าถึงกันเสมอ
ชินไค ได้ไอเดียเรื่องนี้มาจากตอนที่เขาเท็กซ์เมลคุยกับแฟนสาวสมัยที่ทำงานที่ฟาลคอม และด้วยความยุ่งของงานบางครั้งเขาก็ตอบช้าไปบ้าง นั่นจึงเป็นที่มาของพล็อตความห่างของระยะเวลาการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน แม้มือถือจะปรากฏอยู่บ่อยครั้งก่อนหน้านี้แล้ว แต่นี่นับเป็นงานของชินไคชิ้นแรกที่มือถือถูกนำมาใช้อย่างชัดเจนถึงภาพสะท้อนความสัมพันธ์ที่ผสานกับความเหงาเดียวดายของคนเมือง จนกลายเป็นลายเซ็นสำคัญหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในงานชิ้นหลังๆอยู่เสมอๆด้วย
แม้ด้านบทและภาพวิวทิวทัศน์จะโดดเด้ง แต่ก็ยังมีอีกหลายส่วนของโปรดักชั่นที่ชินไคไม่ถนัดนักและได้คนรู้จักหลายคนมาช่วย เริ่มตั้งแต่การพากย์เสียง แม้ว่าเสียงพากย์นั้น ทางฝั่งตัวละครผู้ชาย ชินไคจะสามารถลงเสียงพากย์เองได้เช่นงานเก่าๆก็ตาม แต่เสียงนางเอกหรือตัวละครหญิงถ้าชินไคจะพากย์เองอีกก็คงดูประหลาดไม่ใช่น้อย ส่วนนี้จึงได้ชิโนฮาระ มิกะ คู่หมั้นสาวในขณะนั้นของชินไคมาพากย์เสียงให้ (แต่ในฉบับที่ขายทั่วโลกที่เราได้ชมกันทั่วไปนั้น ได้มีการจ้างนักพากย์อาชีพมาลงเสียงใหม่ทั้งเรื่องครับ)
คาแรกเตอร์ดีไซน์ที่ยังไง๊ยังไงชินไคก็ยังวาดคนสวยๆ ไม่ได้เสียที
ส่วนด้านดนตรีประกอบก็ได้คู่ขวัญอย่าง Tenmon มาทำให้เช่นเคย โดยมีเพลงเด่นคือ Through the Years and Far Away (Hello, Little Star) ได้นักร้องแนวร๊อกอย่าง เค. จูโน่ เขียนเนื้อเพลง และได้ มิโยโกะ ไอ ขับร้อง เรียกว่าพอประกอบกับตัวหนังชิ้นนี้เลยเรียกว่าเกือบสมบูรณ์ด้วยคนไม่กี่คนได้จริงๆ ส่วนที่อ่อนด้อยอย่างแรงก็คงเป็นคาแรกเตอร์ดีไซน์ที่ยังไง๊ยังไงชินไคก็ยังวาดคนสวยๆ ไม่ได้เสียทีล่ะนะ (ฮา) อย่างไรก็ตามหนังสั้นเรื่องนี้ก็ไปกวาดรางวัลมามากมายรวมถึงรางวัลใหญ่จาก Tokyo International Anime Fair 21 ด้วย และนี่เป็นครั้งแรกที่เริ่มมีคนยกให้เขาเป็น ฮายาโอะ มิยาซากิ แห่งจิบลิคนต่อไป
บทความยังไม่จบ มีอีก 2 ตอนนะจ๊ะ
หลังจากนี้ชินไคจะสานต่อความสำเร็จแรกอย่างไร ติดตาม กดอ่านตอนหน้า กันเลยครับ