สำหรับบทความตอนที่ 1 (กดอ่านได้ที่นี่เลยครับ)

เราเล่าถึงต้นกำเนิดต่างๆ จนมาเป็นหนังกึ่งยาวเรื่องแรกของเขา เราจะมาดูกันต่อว่านอกจากชินไคจะเป็นคนที่กล้าหาญท้าทายสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำแล้ว เขายังเป็นนักทดลองและมองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมออย่างไรจนมาประสบความสำเร็จกันครับ

ความทะเยอทะยานครั้งใหญ่ หรือการตัดสินใจที่ผิดพลาด?

ในปี 2002 ชินไคได้ทำมังงะสีขนาดสั้นในชื่อ Beyond the Tower ลงในนิตยสาร Shin Genjitsu ฉบับเดือนกันยายน โดยเป็นดราฟท์ภาพฉากต่างๆ ที่เขาตั้งจะจำไปใช้ในหนังเรื่องถัดไป

มังงะเพียงไม่กี่ชิ้นของชินไค

Beyond the Tower มังงะเพียงไม่กี่ชิ้นจากปลายปากกาของชินไค

และในช่วงนี้บริษัท CoMix Wave Films Inc. ที่ชินไคย้ายมาพำนักหลักก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาก ชินไคจึงเริ่มมีงานด้านอื่นๆเข้ามามากขึ้นด้วย ในปี 2003 ชินไคก็ได้ทำมิวสิควิดีโอให้กับเพลง Egao (笑顔, Smile) ของนักร้องหญิง อิวาซากิ ฮิโรมิ  ซึ่งเป็นโปรแกรมของช่อง NHK ที่ชื่อว่า Minna no Uta (みんなのうた, Everyone’s Song)

Play video

ทางด้านงานเกมกับค่ายเดิมอย่าง Minori ก็มีทำฉากเปิดเกม Haru no Ashioto (はるのあしおと“Footstep Of Spring”) (2004) ซึ่งในช่วงนี้ชินไคก็ได้ทำอนิเมชั่นเรื่องถัดไปของเขาไปพร้อมๆกันด้วย อย่างว่าล่ะนะจะรอโปรเจคใหญ่ที่หลายๆ ปีออกทีก็ไม่มีกินกันพอดี (ฮา)

Play video

 และแล้วในปี 2004 ชินไคก็ได้ปล่อยงานหนังยาวเรื่องแรกความยาว 90 นาทีออกมาในชื่อ The Place Promised in Our Early Days (雲のむこう、約束の場所 Kumo no Mukō, Yakusoku no Basho เหนือเมฆา…ที่แห่งสัญญาของเรา) ดูจากชื่อเรื่องก็พอรู้เลยว่าเป็นงานที่ทะเยอทะยานอย่างมากสำหรับตัวชินไคเอง อาจด้วยความที่มีผลงานของสตูดิโอใหญ่ๆ เป็นเป้าหมายหรือคู่แข่งในด้านคุณภาพด้วยนั่นเอง

The Place Promised in Our Early Days

เนื้อเรื่องได้แรงบันดาลใจจากบทกลอน Eiketsu no Asa (永訣の朝 Morning of the Last Farewell – อ่านบทกลอนฉบับแปลอังกฤษได้ที่นี่) ของกวีนาม มิยาซาว่า เคนจิ ที่ว่าด้วยการอาลัยรักถึงน้องสาวที่จากไปโดยใช้ท้องฟ้าในเช้าวันนั้นเป็นการเปรียบเปรยถึงความคิดถึงและปวดร้าวของกวี โดยชินไคได้เอามาผสมผสานกับเรื่องราวไซไฟในแง่มิติคู่ขนานและการหลับฝันที่เปรียบเสมือนการเดินทางไปอีกสถานที่หนึ่ง หนังสมมติเหตุการณ์ว่าประเทศญี่ปุ่นถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งโดยฝั่งใต้เป็นของอเมริกา และฝั่งเหนืออย่างฮอกไกโดถูกโซเวียตปกครอง โดยเล่าถึงเพื่อนรักสองคนคือ ฮิโรกิ และทาคุยะ ที่วันหนึ่งได้รู้จักกับ ซายูริ และทั้งสามคนได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะเดินทางไปยังหอคอยประหลาดที่ฝั่งฮอกไกโดให้ได้สักวันหนึ่ง แต่แล้วในฤดูร้อนหนึ่งซายูริก็หายตัวไป ทำให้เพื่อนรักทั้งสองคนเสียใจมาก สามปีต่อมาซายูริถูกพบว่านอนหลับอยู่ในโรงพยาบาลมาตลอดเพราะผลข้างเคียงจากการทดลองข้ามมิติของหอคอยประหลาดของโซเวียต เพื่อนรักทั้งสองคนจึงจะทำทุกทางเพื่อช่วยซายูริให้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง

ด้วยเนื้อหาและตัวละครมากมายที่ซับซ้อนขึ้นมากกว่าเดิมๆ ทำให้ชินไคต้องใช้ทีมงานที่มากขึ้นในการผลิตทั้งด้านงานภาพและเสียง ซึ่งเนื้อเรื่องก็ยังใส่เครื่องบินเป็นองค์ประกอบสำคัญราวกับเป็นความตั้งใจจะคารวะไปยังหนังของจิบลิที่เขาชื่นชอบ ทั้งแง่เนื้อเรื่องและการผลิตด้วย นอกจากนั้นชินไคยังลองทำหน้าที่ใหม่ที่เขายังไม่เคยทำมาก่อนอีกหนึ่งตำแหน่งด้วย นั่นก็คือ เขียนเนื้อร้องของเพลงประกอบหนัง ในเพลง Your voice (きみのこえ Kimi no koe) ด้วย โดยได้ คาวาชิมะ ไอ ขับร้องและ Tenmon ทำดนตรีเช่นเดิม (ชมเอ็มวีและเปิดอ่านแคปชั่นสำหรับเนื้อเพลงแปลอังกฤษได้ในตัวคลิปด้านล่างครับ)

Play video

แม้จะเป็นงานที่ดีขึ้นในแง่คุณภาพ ซึ่งการได้คนมาช่วยมากขึ้นก็ทำให้องค์ประกอบต่างสมบูรณ์ขึ้นโดยเฉพาะตัวละครต่างๆดูดีขึ้น ซึ่งนับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่ให้ อูชิโอะ ทาซาวะ ช่วยออกแบบตัวละครแม้จะไม่ได้สวยเลิศแต่ก็ดีกว่าตัวชินไควาดเองพอสมควร และหลังจากเรื่องนี้ชินไคก็เลิกวาดตัวละครเองแล้วให้คนที่เขาถนัดทำจริงๆได้เสียที (ฮา)

ส่วนตัวแล้วพูดตรงๆ ว่าเป็นหนังที่ชวนง่วงพอสมควรเลยล่ะครับ

แต่โดยรวมหนังก็ออกจะเกินตัวไปนิด จนทำให้จุดเด่นหลายๆอย่างหายไปโดยเฉพาะบรรยากาศแบบชินไคที่ถูกกลบไปด้วยความใหญ่โตของเรื่องและบรรยากาศแบบเมโลดราม่าอย่างหนังฮอลลีวู้ด อาจจะกล่าวว่าเป็นการคลำทางเพื่อหาจุดบรรจบระหว่างสไตล์ของตนเองกับการทำงานแบบสตูดิโอก็ว่าได้ครับ ส่วนตัวแล้วพูดตรงๆ ว่าเป็นหนังที่ชวนง่วงพอสมควรเลยล่ะครับ

หลังจากหนังยาวเรื่องแรก ชินไคก็เตรียมตัวสำหรับโปรเจคต่อไป แต่ระหว่างนั้นก็มีงานฉากเปิดเกมให้ค่ายขาประจำอย่าง Minori ออกมาในเกม Ef: A Fairy Tale of the Two ที่ประกอบด้วย ef – the first tale (2006) และ ef – the latter tale (2008) ซึ่งนับเป็นงานชิ้นสุดท้ายที่ชินไคทำกับค่ายเกมนี้แล้วด้วยครับ

Play video

Play video

ข่าวคราวเงียบหายไปสองสามปี กลับมาอย่างกับจอมยุทธเจ้าอินทรี

5 Centimeters Per Second

ข่าวคราวแทบจะหายไปเลยกว่าสองปี การกลับมาด้วยหนังเรื่องใหม่ของชินไคกลายเป็นผลงานมาสเตอร์พีซของเขาทีเดียวครับ กับ 5 Centimeters Per Second (秒速5センチメートル Byōsoku Go Senchimētoru ยามซากุระร่วงโรย) ที่มีความยาว 63 นาที และมีการแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ตอนด้วยกัน ประกอบด้วย 

Cherry Blossom (桜花抄 Ōkashō) เล่าเรื่องของ ทาคากิ ที่ได้พบกับ อาคาริ ในช่วงเรียนประถมทั้งคู่สนิทกันมาก แต่แล้ววันหนึ่งเมื่ออาคาริต้องย้ายบ้านไปตามงานของพ่อ ทั้งสองจึงสัญญาจะเขียนจดหมายถึงกัน จนวันหนึ่งเมื่อทาคากิเองก็ต้องย้ายบ้านไปต่างจังหวัดบ้าง ซึ่งจะทำให้พวกเขาติดต่อกันยากขึ้น เขาจึงตัดสินใจนั่งรถไฟไปหาอาคาริเพียงลำพังเพื่อบอกความในใจเป็นครั้งสุดท้าย โดยตอนแรกนี้มีการนำไปฉายพิเศษให้สมาชิกพรีเมี่ยมของ Yahoo! Japan ได้ชมผ่านสตรีมมิ่งกันก่อนหนังจะเข้าในอีกเดือนถัดไปด้วย ที่จริงชินไคก็คิดเรื่องช่องทางการฉายที่นอกเหนือจากโรงหนังมาตลอด ซึ่งจะเห็นชัดในหนังเรื่องถัดไปจากเรื่องนี้ ในครั้งนี่ก็เป็นเหมือนการทดลองของเขาเหมือนกันว่าอนาคตของอนิเมชั่นจะมีทางไปทางไหนได้อีกบ้าง

Cosmonaut (コスモナウト Kosumonauto) เล่าเรื่องของ คานาเอะ เด็กสาวมัธยมปลายในโรงเรียนต่างจังหวัด ที่แอบหลงรักเพื่อนชายคนหนึ่งที่มักจะเขียนเมลถึงใครสักคนและชอบจ้องมองไกลออกไปด้วยสายตาว่างเปล่าเหมือนตามหาบางสิ่ง ซึ่งชายคนนั้นก็คือ ทาคากิ ที่ยังคงไม่อาจลืมอาคาริได้นั่นเอง ก่อนทำหนังเรื่องนี้ชินไคได้เขียนเรื่องสั้นจำนวน 10 เรื่องไว้เพื่อสำหรับเป็นไอเดียของหนังเรื่องนี้ โดยมีเรื่องหนึ่งคือ The Sky Outside the Window (窓の外の空、Mado no Soto no Sora)  ที่เล่าเรื่องของเด็กสาวมัธยมชื่อ มิยูกิ ในเช้าวันที่พายุเข้าก่อนเธอจะครุ่นคิดถึงอนาคตของตนเองและได้พบกับช่องว่างฟ้าเปิดที่เป็นตาพายุสุดตระการตา แม้ตัวละครและเรื่องราวจะต่างไป แต่ก็เป็นไอเดียที่ถูกนำมาใช้ในตอนนี้ของหนังในแง่บรรยากาศได้อย่างลงตัว ในแง่ความคิดของตัวละคร มิยูกิ ก็คือ คานาเอะ นั่นเอง

ตัวอย่างเรื่องสั้น

ตัวอย่างเรื่องสั้น

5 Centimeters per Second (秒速5センチメートル Byōsoku Go Senchimētoru) ชื่อตอนที่ตรงกับชื่อหนัง อันหมายถึงความเร็วของกลีบซากุระที่ร่วงหล่นสู่พื้น โดยชินไคใช้เปรียบเปรยถึงชีวิตคนรวมถึงโชคชะตาในการพบและพลัพพรากจากกัน ตอนนี้เป็นเรื่องราวในวัยทำงานของ ทาคากิ ที่ได้กลับมายังโตเกียวอีกครั้ง และยังคงเฝ้านึกถึงคำสัญญาเมื่อ 13 ปีก่อนที่เคยมีกับอาคาริว่าจะมาดูซากุระด้วยกันอีกครั้ง ในบทสุดท้ายนี้ชินไคใช้การเล่าบทสรุปผ่านมิวสิควิดีโอเพลง One More Time, One More Chance เพลงเก่าเมื่อปี 1997 ของศิลปิน ยามาซากิ มาซาโยชิ ได้อย่างบาดหัวจิตหัวใจมากๆ ครับ นับเป็นอนิเมะที่เล่าเรื่องความรักแบบสมจริงและเข้าถึงจิตใจของคนในยุคสมัยนี้ได้อย่างตราตรึงมากๆ ครับ

Play video

หลังจากพยายามสานต่อไอเดียพวกงานไซไฟมาในงานสองชิ้นก่อนหน้า ในที่สุดชินไคก็กลับมาตรึกครองถึงรากแห่งการเล่าเรื่องราวที่พื้นฐานที่สุดในการถ่ายทอดอารมณ์และความสัมพันธ์ต่างๆอย่างตรงไปตรงมา เรื่องนี้จึงไม่มีองค์ประกอบที่แฟนตาซีอย่างเรื่องเก่าๆเลย แต่ก็แปลกตาด้วยการแหวกขนบการเล่าเรื่องที่แบ่งเป็นสามตอนที่สัมพันธ์ผ่านตัวละครอย่าง ทาคากิ แบบหลวมๆ แต่ก็สร้างสารที่สำคัญในการพูดถึงความสัมพันธ์ออกมาได้อย่างหลากหลายแง่มุมทีเดียว

ผนวกด้วยการทำงานแบบใกล้ชิดกับทีมสต๊าฟที่จัดแน่นกว่าเรื่องที่ผ่านๆ มา และได้ นิชิมูระ ทาคาโยะ ที่ร่วมงานมาตั้งแต่เรื่องก่อนหน้ามาช่วยในการออกแบบตัวละครให้ จะเห็นว่าหลังจากเรื่องก่อนมาจนเรื่องนี้ ชินไคชดเชยความไม่ถนัดเรื่องออกแบบตัวละครของตัวเองให้คนอื่นทำ ทำให้หนังแต่ละเรื่องของเขามีตัวละครที่ลายเส้นแตกต่างกันไป สิ่งที่บ่งบอกและจดจำอนิเมะของชินไคจึงไม่ใช่ตัวละครแต่มักจะเป็นอย่างอื่นเช่นวิว ท้องฟ้า และบทมากกว่า และผลลัพธ์คือองค์ประกอบลายเซ็นต่างๆ ทั้งหมดทำให้งานชิ้นนี้น่าจะเรียกว่าสมบูรณ์ที่สุด และเป็นหนังที่ทำให้หลายๆ คนกลายเป็นแฟนชินไคด้วยครับ

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของปี 2007 นี้ ชินไคยังลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่เขายังไม่เคยทำด้วย
นั่นก็คือ เขียนฉบับนิยายของเรื่อง 5 Centimeters per Second ออกมากับค่าย Media Factory บริษัทลูกในเครือยักษ์ใหญ่ด้านสื่ออย่าง Kadokawa Corporation ด้วย หลังจากปล่อยให้ คาโนอุ ชินตะ เขียนนิยายจากหนังทั้งสองเรื่องก่อนหน้านั้น ทั้ง Voices of a Distant Star และ The Place Promised in Our Early Days ซึ่งตัวนิยายก็ลงรายละเอียด ที่มาที่ไปความคิดและการกระทำของตัวละครที่มากขึ้น ที่ทำให้เราเข้าใจบทสรุปของหนังต่างไปจากเดิม นอกจากนั้นรูปภาพในนิยายยังเป็นฝีมือการถ่ายภาพของชินไคเองด้วย และแม้ชินตะจะไม่ได้เขียนนิยายเรื่องนี้แต่เขาก็ได้เขียนเรื่องราวจากอีกมุมหนึ่งออกมาในปี 2011 ชื่อเรื่องว่า One more side ด้วยเช่นกัน

ยามซากุระร่วงโรยฉบับแปลไทย
ยามซากุระร่วงโรยปกแรก ที่ขายเมื่อหลายปีก่อน

ยามซากุระร่วงโรยปกแรก ที่ขายเมื่อหลายปีก่อน

5cm-2

ปกปัจจุบันที่ขายอยู่ตอนนี้

ยามซากุระร่วงโรย ฉบับการ์ตูน

มีฉบับการ์ตูนด้วย ได้ซึม อึน กันไปอีก

พักเบรคหลังความสำเร็จ

และหลังความสำเร็จท่วมท้นจากตัวหนังยาว ก็ทำให้ชินไคได้รับงานโฆษณาทางโทรทัศน์ (テレビCM) เป็นครั้งแรกกับโฆษณาหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของเมืองนางาโนะ บ้านเกิดของชินไค ที่ชื่อ Shinano Mainichi Shimbun (信濃毎日新聞) โดยยังได้นักร้องสาวจากเมืองเดียวกันอย่าง ทาเทะ คากาโกะ มาร้องเพลงชื่อ Tooi Hi ประกอบโฆษณาด้วย นี่มันคือโปรเจคสำนึกรักบ้านเกิดสินะ (ฮา)

Play video

และในปีเดียวกันนี้ ชินไคก็พักเบรคอารมณ์จากหนังยาวด้วยการทำอนิเมะขนาดสั้น 1 นาที ชื่อเรื่อง A Gathering of Cats (猫の集会 Neko no Shūkai) เพื่อฉายทางรายการ Ani-Kuri 15 (アニ*クリ15) ทางช่อง NHK ซึ่งนำอนิเมเตอร์จากค่ายดังหลายต่อหลายคนมาผลัดเปลี่ยนกันทำผลงานขนาดสั้นๆ ด้วย โดยตอนของชินไคนั้นเป็นตอนที่ 1 ในซีซั่นที่ 3 ของรายการ

เนื้อหาก็สนุกชวนหัวเกี่ยวกับเจ้าแมว โชบิ ที่อาศัยกับครอบครัวหนึ่ง ทุกวันไม่ว่ามันจะนอนหลบตรงไหนก็มักโดนคนเหยียบหางด้วยความไม่ตั้งใจทุกทีไป ทำให้มันออกไปรวมกลุ่มกับแมวที่มีความแค้นต่อคนในยามค่ำคืนเพื่อวางแผนทำลายล้างมนุษย์ให้หมดไป ก็เป็นการนำคาแรกเตอร์ของแมวมาถ่ายทอดได้อย่างน่ารักมากๆทีเดียวครับ ถ้าสังเกตชินไคนับเป็นคนที่รักแมวมากคนหนึ่งเลยทีเดียว และเจ้าโชบินี่ก็เคยไปปรากฏตัวในงานเรื่องอื่นของเขาเสียด้วย ข้อสังเกตอีกอย่างคืออนิเมชั่นเรื่องนี้มีกลิ่นอายของจิบลิอยู่ไม่น้อยเลยล่ะครับ เหมือนเป็นสัญญาณบางอย่างในงานชิ้นต่อไปของชินไคด้วย

Play video

ในตอนนี้ชินไคเป็นผู้กำกับอนิเมชั่นที่ถือว่าเป็นที่กล่าวขวัญสุดและมีฐานแฟนเหนียวแน่นมากๆครับ เรามาดูกันต่อว่าเมื่อเขามาถึงจุดสูงสุดแล้ว ชินไคจะขึ้นสูงกว่าเดิมได้อย่างไร กดอ่านบทสรุปตอนจบได้ที่นี่ เลยครับ