Lion คือผลงานหนังยาวเรื่องแรกของ การ์ธ เดวิส ผู้กำกับโฆษณาเจ้าของรางวัลสิงโตทองคำจากเมืองคานส์ โดยนำเรื่องราวจากหนังสืออัตชีวประวัติของ ซาลู เบรียร์ลีย์ ชื่อเรื่อง A Long Way Home ที่เล่าถึงการพลัดพรากจากครอบครัวในอินเดียของซาลูนานถึง 25 ปี ก่อนที่เขาจะออกตามหาจนได้กลับบ้านตัวเองในปี 2012 อันเป็นเรื่องราวแสนประทับใจที่โด่งดังในสื่อต่างประเทศโดยเฉพาะอินเดีย และออสเตรเลีย ที่เป็นประเทศอันเกิดเรื่องราวต่างๆขึ้น
เช่นเดียวกับหนังจากเรื่องจริงทั้งหลาย ข้อดี คือ ได้ความหนักแน่นน่าเชื่อถือจากเรื่องจริง เนื้อหาหนังน่าสนใจเพราะมาจากเรื่องที่พิสูจน์แล้วว่าคนให้ความสนใจเป็นทุนเดิม ส่วนข้อเสีย ก็เหมือนดาบสองคมคือ เมื่อคนสามารถรู้เรื่องต้นจนจบแล้วจากข่าวจากหนังสือ แล้วหนังยังเหลืออะไรให้ติดตามอีกล่ะ
ตรงนี้ผู้กำกับการ์ธสามารถนำจุดเด่นจากงานโฆษณาที่เขาถนัดมาเสริมตัวหนังได้อย่างดี โดยเฉพาะภาษาภาพที่สวยงามมากๆ ตั้งแต่ต้นเรื่องตอนที่ซาลูอายุ 5 ขวบ (ซันนี่ พาวาร์) และพลัดหลงกับพี่ชายที่สถานีรถไฟ เขาติดอยู่ในโบกี้รถไฟที่กำลังเดินทางห่างจากบ้านเกิดไปกว่า 2,000 กิโลเมตร ผ่านชีวิตอันยากแค้นเจอทั้งการสื่อสารที่ไม่เข้าใจเพราะพูดได้เพียงภาษาฮินดี ในขณะที่คนส่วนใหญ่ใช้ภาษาเบงกาลี เจอทั้งแก๊งค้ามนุษย์ที่ตามจับเด็กๆไปขาย อดมื้อกินมื้อเร่ร่อนหาทางกลับบ้านอย่างไร้ความหวัง ภาษาภาพของการ์ธดึงความระทมทุกข์ผ่านสภาพแวดล้อมของอินเดียออกมาได้อย่างสวยงามและน่าจดจำ ทักษะการสร้างอารมณ์ร่วมด้วยเวลาอันรวดเร็วของเขานั้นน่าประทับใจทีเดียว ทั้งนี้ต้องชื่นชมเสน่ห์ของซันนี่ที่แสดงเป็นซาลูวัยเด็กได้อย่างน่าเอ็นดูด้วย
ภาพของหนังถูกใช้แทนความทรงจำอย่างเด่นชัดอย่างที่มีคนกล่าวว่าความทรงจำแม้โหดร้ายแต่ก็มักสวยงามกว่าความจริงเสมอ เช่นเดียวกับหนังที่ถ่ายทอดเรื่องราวที่จบไปแล้ว ออกมาอย่างบทกวีทีเดียว ทำให้เราเห็นว่าแม้หนังจะเดินเนื้อหาไปตามลำดับเวลา แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการรีรันในหัวของซาลูตัวจริงเท่านั้น
ส่วนนี้นับเป็นพาร์ทที่ดีที่สุดในหนังทีเดียว ทำให้เราเข้าใจความรวดร้าวและเหว่ว้าของตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง ตอนที่เจ้าหน้าที่พยายามช่วยซาลูหาบ้าน เขาถามซาลูว่าแม่ชื่ออะไร ซาลูตอบว่า แม่ เขาเรียกแม่แค่แม่ นั่นปิดเกมโอกาสการได้กลับบ้านอย่างสมบูรณ์ ทั้งตอกย้ำความห่างไกลจากบ้านของเขาไม่ได้เป็นเพียงระยะทางนั่งรถไฟกว่าสองวันซึ่งก็ไกลมากแล้วเท่านั้น แต่มันคือการไร้จุดหมายไร้ความหวังใดๆที่จะพบ บ้าน และ ครอบครัว ของเขา ซึ่งนั่นมันยังไกลกว่าการรู้ว่าบ้านอยู่อีกฟากโลกเสียอีก
ทว่าหนังก็มีปัญหาของมันเอง เพราะเมื่อผ่านช่วงเวลาวัยเด็กที่ชวนลุ้นและชวนสงสารไปแล้ว พอซาลูได้รับการอุปถัมภ์จากครอบครัวเบรียร์ลีย์ชาวออสเตรเลีย เรื่องราวก็จืดลงเพราะหนังติดลูปกับการครุ่นคิดถึงบ้าน ความรู้สึกแปลกแยกไม่ใช่ที่ของตนเองของซาลู วนไปวนมาย่ำอยู่กับที่ ทั้งยังขาดเหตุการณ์ขับเคลื่อนเนื้อหาที่ชักจูงให้เราสนใจมากพอ ตัวละครอย่างลูซี่ (รูนีย์ มารา) แฟนสาวก็ไม่ได้ส่งผลใดนักเพียงเป็นส่วนประกอบให้กลมกล่อมมีเรื่องรักเท่านั้นเอง ไม่เพียงรูรีย์เท่านั้นที่น่าเสียดายในฝีมือ เพราะดาราออสการ์ทั้งหลายในเรื่องต่างได้รับช่วงเวลาในการโชว์ของไม่เต็มศักยภาพเท่าที่ควรทั้ง นิโคล คิดแมน ในบทแม่อุปถัมภ์ที่แสดงได้อย่างดีบทที่ช่วงส่งเธอเก็บงานได้ทุกเม็ด ทว่าหนังให้บทส่งเธออย่างจำกัดเกินที่เราจะอินได้ทัน ส่วน เดฟ พาเทล ในบทซาลูวัยหนุ่มก็แสดงได้ดี เพียงแต่บทค่อนข้างย่ำอยู่อารมณ์เดียวและขาดเหตุการณ์ที่พัฒนาตัวละครได้เด่นชัดพอ ก็นับว่าน่าเสียดายทีเดียว
หนังเดินเรื่องตามเหตุการณ์จริง เสริมเติมแต่งค่อนข้างน้อย ทำให้เราไม่ต้องลุ้นอะไรมากในช่วงการตามหาบ้านเพราะบทสรุปท้ายเราทราบดีอยู่แล้วว่าเขาหาบ้านจนพบ แต่ก็ยังมีอะไรให้อื้อหืออยู่เหมือนกันกับความพยายามตามหาบ้านที่คาในความทรงจำตอน 5 ขวบของซาลู ผ่านโปรแกรมกูเกิ้ลเอิร์ธแบบไล่ดูไปตามทางรถไฟทีละสถานี ตรงนี้คงต้องยกความดีความงามของเนื้อหาให้กับเรื่องจริงที่มีความโรแมนติกสาหัสสากรรจ์อยู่แล้วด้วย
และแม้หนังจะเล่าอะไรที่เราหาอ่านได้ละเอียดพอๆกันจากวิกิพีเดีย แต่เอาเข้าจริงในบทสุดท้ายของเรื่องหนังก็ทำให้เรารู้สึกว้าวไม่น้อยเช่นกัน อันนี้คงไม่อาจสปอยล์ได้ ถือว่าให้เป็นของขวัญพิเศษสำหรับผู้ที่ได้ตีตั๋วไปชมในโรงและไม่อ่านข่าวจริงไปก่อนเท่านั้นแล้วกันครับ
สรุป
หนังซึ้งมาก เรื่องจริงมันโคตรโรแมนติกในตัวเองอยู่แล้ว พอได้ภาพสวยๆการเล่าเรื่องและการแสดงดีๆ หนังมันก็ยิ่งทรงพลังขึ้น น่าเสียดายที่เนื้อหาช่วงโตไม่ค่อยได้รับการขยี้ปมเรื่องครอบครัวแท้จริงกับครอบครัวที่ชุบเลี้ยงมากพอทำให้กลางกลวงไปนิดหนึ่ง แต่โดยรวมก็เป็นหนังที่จบสวยในเวลาที่เพลินพอดีๆไม่นานเกินไปครับ