ชื่อของ อัสการ์ ฟาร์ฮาร์ดี ผู้กำกับชาวอิหร่าน จัดได้ว่าเป็นผู้กำกับฝีมือหาตัวจับยากคนหนึ่งของวงการ โดยเฉพาะความสำเร็จระดับปรากฏการณ์ของ A Separation ในปี 2011 ที่คว้าออสการ์ประวัติศาสตร์ของอิหร่านในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ซึ่งประจวบเหมาะที่อีกไม่กี่ปีต่อมา เขานำ The Salesman กลับมาผงาดบนเส้นทางนี้อีกครั้ง และทั้งสองเรื่องนี้มีจุดร่วมที่เหมือนกันคือ ประเด็นที่ตัวหนังพูดถึงความสัมพันธ์ของครอบครัว ความขัดแย้ง ซึ่งสะท้อนปัญหาสังคมและรัฐบาลบ้านเกิดในสไตล์จัดจ้าน ลุ่มลึก และหนักหน่วง
ฟาร์ฮาร์ดี หยิบเอาบทละคร The Death of a Salesman (หากใครที่เคยผ่านหูผ่านตาแวดวงวรรณกรรมมาบ้างคงจะคุ้นกับชื่อ ‘อวสานเซลส์แมน’ ของ อาเธอร์ มิลเลอร์ ในปี 1949) มาถ่ายทอดกับตัวละครชายขอบของ The Salesman ซึ่ง ก็เล่าผ่านเรื่องราวของครอบครัวชนชั้นกลางที่สะท้อน ‘ระบบคิด’ ที่แตกต่างกันของตัวละคร ผลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่องนั้นมันมาจากทัศนคติของแต่ละคน ที่ผ่านโลกมาไม่เหมือนกัน และจะ ‘เลือกทำ’ ในมุมมองที่ต่างกัน และการหยิบจับประเด็นโดยเฉพาะความสัมพันธ์ของคนสองคน แคแร็คเตอร์ของ อีหมัด (ซาฮาบ ฮอสเซบี) และ รานา (ทาเรเนห์ อลิดูสตี) สามีภรรยาในชนชั้นกลางของอิหร่านในยุคใหม่ ถือได้ว่ามันสามารถ ‘เข้าถึง’ คนดูในวงกว้างให้อินกับหนังได้ง่ายมาก
เรื่องราวของ The Salesman เริ่มจาก อามัดและรานา จำเป็นต้องย้ายที่อยู่จากอพาร์ตเมนต์เดิมที่ได่รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวจนตัวตึกมีรอยร้าวและทำท่าจะพังทลายลงมา พวกเขาจึงตัดสินใจย้ายไปหาที่อยู่ใหม่ และบังเอิญได้ห้องเช่าจากการแนะนำของเพื่อนในคณะละครเวที ซึ่งหารู้ไม่ว่าห้องนั้นเคยคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นคาวโลกีย์ของผู้เช่าคนเก่าที่เป็นผู้หญิงมั่วกาม ซึ่งมักหิ้วผู้ชายมาเสพสุขกันไม่ซ้ำหน้า อย่างไรก็ตาม อยู่มาวันหนึ่ง ก็มีผู้ชายแปลกหน้าบุกเข้ามาที่ห้องอย่างอุกอาจ ทิ้งความทรงจำอันเลวร้ายให้ รานา และเบาะแสที่เป็นปริศนาดำมืดให้ อาหมัด เกิดความเคียดแค้นและออกตามล่าชายลึกลับคนนั้นให้พบ
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าหัวใจสำคัญของ The Salesman เลยก็คือ การนำตัวละครหลักของ Death of a Salesman คือ วิลลี โลแมน เซลส์แมนที่ยกหางตัวเองว่าประสบความสำเร็จแม้ชีวิตจริงจะล้มเหลวในชีวิตนักขาย แต่สุดท้ายเขาก็เลือกที่จะรักษา ‘ศักดิ์ศรี’ ด้วยการจบชีวิตตัวเองลง ซึงตัว อีหมัด นั้นได้สวมบทบาทนี้ในละครเวทีที่เขาเล่นด้วย นอกจากเล่นละครเวทีแล้ว อีหมัดยังเป็นอาจารย์สอนวิชาการแสดงอีกด้วย หนังพยายามแสดงให้เห็นความสับสนในจิตใจของตัวละครกับประตูของละครเวทีและชีวิตจริง
การนำเสนอของ The Salesman มีชั้นเชิงแยบยล และทรงพลัง ตัวบทหนังที่แข็งแกร่งแทบไม่มีที่ติ การเปรียบเทียบมุมมองของกรุงเตหะรานในวันนี้ที่มีความเปลี่ยนแปลงไม่ต่างจาก นิวยอร์ค ที่เคยสร้างผลกระทบกับผู้คนในสังคมอเมริกันเฉกเช่นเดียวกับใน Death of a Salesman ท่ามกลางวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ค่อยๆ หายไป แทนที่ด้วยตึกรามบ้านช่องทันสมัย บ้านเมืองเปลี่ยนโฉมหน้าไปไกล เช่นเดียวกับผู้คนที่อยู่ในภาวะปรับตัวได้และปรับตัวไม่ได้ จุดต่างตรงนี้ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของครอบครัวเกิดปมขัดแย้งอย่างรุนแรง หนังทิ้งเครื่องหมายคำถามตัวเบ้อเร่อให้คนดูเลือกตัดสินเอาเอง กับการตัดสินใจของตัวละครแต่ละตัว ที่ล้วนมีผลให้เกิดโศกนาฏกรรมของชีวิตที่ใหญ่หลวงตามมา โดยมาจากปมความคิดเล็กๆ ที่ในชีวิตจริง หลายคนเลือกจะมองข้ามมันไปด้วยซ้ำ
อีกจุดหนึ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ผู้เขียนมองว่าสมราคากับที่เข้าชิงออสการ์ (สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม) ก็คือ performance ของนักแสดงหลักที่เต็มไปด้วยอินเนอร์ส่งอารมณ์มาถึงคนดู สะกดทุกสายตาในโรงอยู่หมัด ความดราม่าที่สอดแรกความระทึกตื่นเต้น สร้างความกดดันต่อเนื่องให้คนดูลุ้นหนักจนหยดสุดท้าย ยิ่งดูก็ยิ่งรู้สึกชื่นชมว่า ฟาร์ฮาดี เขาเก่งจริงๆ ในการหยิบจับประเด็นครอบครัวง่ายๆ ที่ออกจะธรรมดาให้มันซับซ้อนและลุ่มลึกจนเดาทางยากขนาดนี้ สภาวะที่ตัวละครแต่ละตัวผ่านพ้นหรือกำลังแบกความเจ็บปวด จิตใจที่ถูกทำร้ายอย่างบอบช้ำ จากบทบาทชีวิตจริงของการเป็นเซลส์แมน ที่ใครต่อใครล้วนแล้วแต่เก็บงำมันไว้อยู่ในส่วนลึกของจิตใจด้วยกันทั้งนั้น
สำหรับ The Salesman ไม่จำเป็นที่คุณต้องเคยดู A Separation ไม่จำเป็นที่คุณต้องรู้จัก อัสการ์ ฟาร์ฮาร์ดี ต่อให้ชีวิตนี้ไม่เคยดูหนังเลยก็ถือเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่คุณควรเสียตังค์เข้าไปดูด้วยตาตัวเองสักครั้ง