- ผู้สร้าง : Peter Morgan (เขียนบท The Queen, Frost/Nixon, RUSH ฯลฯ)
- เหมาะสำหรับ: คนชอบประวัติศาสตร์, ขาเผือกเรื่องในวัง(บัคกิ้งแฮม)
- หนังที่เกี่ยวข้อง : The King’s Speech (2010), W.E. (2011) และ The Queen (2006)
- รางวัล : ลูกโลกทองคำซีรี่ย์ดราม่ายอดเยี่ยมและนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม โดย Claire Foy
- SAG Award นักแสดงนำหญิงและนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม โดย Claire Foy และ John Lithgow
สิ้นเสียงประกาศให้ The Crown ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำประเภทซีรี่ส์ดราม่ายอดเยี่ยมปีล่าสุด ทำให้ผมต้องยอมสมัคร Netflix เพื่อพิสูจน์ความยอดเยี่ยมทันที โดย The Crown เป็นซีรี่ส์ 10 ตอน ที่ออกอากาศในระบบสตรีมมิ่งทาง Netflix ซึ่งเป็นผู้สร้างซีรี่ส์ชุดนี้เอง โดยบอกเล่าเรื่องราวของ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ที่ขึ้นครองราชย์หลังพระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงเสด็จสวรรคต และต้องฝ่าบททดสอบทางการเมืองโดยเฉพาะการพิสูจน์พระองค์ต่อ วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีเก๋าเกมส์ที่กลับมาดำรงค์ตำแหน่งในสมัยที่2 ขณะบ้านเมืองกำลังเผชิญวิกฤตรอบด้าน และยังต้องตัดสินใจครั้งสำคัญเมื่อเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต พระขนิษฐภคินี (น้องสาว) ประสงค์จะแต่งงานกับพลอากาศเอก ปีเตอร์ ทาวน์เซนด์ อดีตผู้ดูแลพระบิดา ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากรัฐบาลและคริสตจักร ซึ่งถือเป็นบททดสอบอันหนักหนาสาหัสสำหรับพระราชินีองค์ใหม่แห่ง สหราชอาณาจักร
หากใครอ่านเรื่องย่อแล้วเข้าใจว่า The Crown คือซีรี่ส์ที่เครียดหัวแตก เข้าใจยากแล้วล่ะก็ ขอให้คิดเสียใหม่ เพราะด้วยชั้นเชิงการเขียนบทของ Peter Morgan ผู้เป็นเอตทัคคะด้านบทหนังชีวประวัติ ที่เหมาตำแหน่ง Executive Producer และเขียนบททั้ง 10 ตอน ได้รังสรรค์ให้ The Crown บอกเล่า เรื่องราวของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะ มนุษย์ปุถุชนธรรมดาที่ต้องเผชิญปัญหารุมเร้าทั้งครอบครัวและหน้าที่การงาน ผ่านสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ Morgan เลือกเข้ามาสร้างความขัดแย้งและเป็นปมปัญหาให้ พระราชินีเอลิซาเบธ ต้องฟันฝ่าด้วยปัญญาและความสามารถในการเจรจา ผ่านบทสนทนาคมคายที่มีแทรกมาทุกตอน จนทำให้ The Crown กลายเป็นซีรี่ส์ดูสนุกและได้เกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์
โดยเฉพาะฉากการเผชิญหน้าระหว่าง พระราชินีเอลิซาเบธที่2 กับ นาย วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีที่ผลัดกันเป็นฝ่ายรุกและฝ่ายรับ เชือดเฉือนกันด้วยบทสนทนาและการแสดงอันคมคายโดย Claire Foy ที่ได้ลูกโลกทองคำสาขานักแสดงนำหญิงในประเภทซีรี่ส์ดราม่าปีล่าสุดที่มาสวมวิญญาณราชินีมือใหม่ได้อย่างน่าเกรงขามและชวนนำพาในทุกความรู้สึกของตัวละคร
ไม่เพียงบทภาพยนตร์และการแสดงเท่านั้น สำหรับอาหารตาของซีรี่ส์ชุดนี้ยังเสริมด้วยงานสร้างระดับหนังบล็อคบัสเตอร์ฟอร์มยักษ์ที่รังสรรค์ฉากต่างๆ ออกมาได้อย่างสมจริงน่าเชื่อถือ ทั้งฉากพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่าง เจ้าหญิงเอลิซาเบธ กับ เจ้าชายฟิลลิป ในตอน Wolferton Splash และฉากพระราชพิธีราชาภิเษกขึ้นครองราชย์ในตอน Smoke and Mirror ที่ทำออกมาได้ยิ่งใหญ่อลังการ รวมถึง สเปเชี่ยลเอฟเฟกต์หมอกกินเมืองตระการตาในตอน Act of God ก็ทำออกได้อย่างไร้ที่ติจนผู้ชมได้เป็นสักขีพยานในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญ และไม่อาจละสายตาจากจอได้เลยแม้วินาทีเดียว
จากความยอดเยี่ยมทั้ง 10 ตอน ในซีซั่นแรก ผมจะขอยก 3 ตอนที่ประทับใจเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของแฟนๆทุกท่าน
Ep.4 Act of God
ใน The Crown ตอนนี้ เริ่มเรื่องจากพยากรณ์สภาพอากาศเลวร้ายปกคลุมลอนดอนในปี 1952 ซึ่งประชาชนกล่าวโทษโรงงานถ่านหินที่พรรคแรงงานของนายวินสตัน เชอร์ชิล สนับสนุนทำให้เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของเขากำลังสั่นคลอน ร้อนถึงองค์พระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ที่ทรงอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างนายกรัฐมนตรีชราผู้อื้อฉาวกับวิปรัฐบาลที่ต้องการอปเปหิ เซอร์ชิลออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ไฮไลต์สำคัญ ฉากโศกนาฏกรรมกลางหมอกปกคลุมถนนและการพลิกเกมของ วินสตัน เชอร์ชิล
ในตอนนี้จุดเด่นสำคัญคงหนีไม่พ้น สเปเชี่ยล เอฟเฟกต์หมอกปกคลุมเมืองที่ทำได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้หนังใหญ่ ซึ่งหมอกที่ว่านี้จะถูกนำไปใช้ทั้งเป็นปมปัญหาเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลและการอุปมาอุปมัยต่ออนาคตของประเทศอังกฤษซึ่งพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ต้องทรงตัดสินใจครั้งสำคัญท่ามกลางวิกฤติครั้งนี้
Ep.7 Scientia Potentia Est
ในตอนที่ใช้ชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่า “ความรู้คืออำนาจ” เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติสงครามเย็นเมื่อรัสเซียทดลองขีปนาวุธรุ่นล่าสุด แต่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศในขณะนั้นเกิดล้มป่วยพร้อมกันจนไม่สามารถเดินทางไปพบ ดไวท์ ดี ไอเซนฮาวด์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อเจรจาแก้ปัญหาได้ ร้อนถึงพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ที่ทรงต้องจัดพิธีเชิญผู้นำสหรัฐมาร่วมงานเลี้ยง ซึ่งพระองค์เริ่มตระหนักว่าทรงด้อยความรู้ในศาสตร์ทั่วไปจนเกรงว่าจะทรงกลายเป็นตัวตลกจึงเชิญครูสอนพิเศษมาถวายการสอนเป็นการส่วนพระองค์
ไฮไลต์สำคัญฉากเชือดเฉือนระหว่างการถวายรายงานของวินสตัน เชอร์ชิลต่อพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2
สำหรับตอนนี้คงต้องยกความดีให้กับบทภาพยนตร์ที่คมคายและให้แง่คิด แม้แต่กับคนดูถึงความสำคัญของความรู้ซึ่งถือเป็นอาวุธที่ทรงอานุภาพที่สุดในโลก โดยเริ่มเรื่องด้วยแฟลชแบ็คสมัยเจ้าหญิงเอลิซาเบธยังทรงพระเยาว์ที่ขาดสมาธิขณะทรงพระอักษร แล้วตัดมาที่เหตุการณ์ปัจจุบันที่ทรงต้องการครูเพื่อถวายการสอนก่อนการมาเยือนของประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งทรงต้องต่อสู้กับคำครหาของครอบครัวและความขัดแย้งภายในจิตใจของพระองค์
Ep.9 Assassins
ใน The Crown ตอนนี้ บอกเล่าสองเหตุการณ์สลับกันคือความขัดแย้งระหว่างพระราชินีเอลิซาเบธที่2 กับพระเจ้าฟิลลิป พระสวามี และวินสตัน เชอร์ชิล ที่ต้องจำใจยอมให้จิตรกรหน้าใหม่มาวาดรูปเหมือนของตนเพื่อใช้เป็นของขวัญจากรัฐสภาในวันเกิดครบ 80 ปีของเขา
ไฮไลต์สำคัญ ฉากงานเลี้ยงที่พระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ทรงจัดพระราชทานให้แก่วินสตัน เชอร์ชิล
ชื่อตอนอาจดูเหมือนหนังแอ็คชั่น แต่ความจริงแล้ว “มือสังหาร” ที่ว่ากลับเป็นสิ่งนามธรรมที่ จิตรกรวาดภาพเหมือนของ วินสตัน เชอร์ชิล ชื่อ เกรแฮม ซุทเธอร์แลนด์ ยกมาเปรียบเปรยถึงกาลเวลา และความเสื่อมถอยได้อย่างคมคาย
ฉากงานเลี้ยงที่พระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ทรงจัดพระราชทานให้แก่ นายวินสตัน เชอร์ชิล ทำให้ John Lithgow ได้โชว์ฝีมือระดับสุดยอดในบทนายกรัฐมนตรีและบิดาของประเทศอังกฤษที่กำลังจะต้องปล่อยวางจากอำนาจและหน้าที่ซึ่งตนได้แบกรับมานาน
โดยสรุปแล้ว The Crown คือซีรี่ส์ที่ผมภูมิใจนำเสนอที่สุดเรื่องหนึ่งในเวลานี้ไม่เพียงความดีงามในด้านบทภาพยนตร์และงานสร้างเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคำพูดดีๆ และแง่คิดคมๆ ซึ่งเราสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้อีกด้วย