จะว่าไป ผมรู้จักเรื่องราวของ รักไร้เสียง (A Silent Voice) หรือ Koe no Katachi ครั้งแรก ก็จากที่มีกระแสพูดถึงผลงานมังงะของโยชิโทกิ โออิมะ ซึ่งลงเป็นเรื่องสั้นจบในตอน หรือ วัน-ช็อต ในนิตยสาร Bessatsu Shounen ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2011 ซึ่งต่อมาก็ได้รับแรงสนับสนุนจนได้เขียนเป็นเรื่องยาวลงต่อเนื่องในนิตยสาร Weekly Shounen Magazine จนเกือบ ๆ 1 ปีจึงจบลง โดยสามารถนำมารวมเล่มได้ถึง 7 เล่มจบ (อันนี้ฉบับภาษาไทยได้สำนักพิมพ์รักพิมพ์ทำออกมาจนจบแล้วเช่นกันครับ)

มังงะเรื่องนี้ยังทำให้โออิมะคว้ารางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยมแห่งปี 2015 ของงานด้านมังงะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดรางวัลหนึ่งของญี่ปุ่นอย่าง Tezuka Osamu Cultural Award ครั้งที่ 19 ด้วย

ความรู้สึกตอนที่ได้อ่านวัน-ช็อตนั้นก็คือ “แม้จะเป็นมังงะความยาวแค่ 61 หน้า..

แต่มีพลานุภาพทำให้จุกและสั่นสะเทือนจุดอ่อนไหวในใจได้อย่างมาก”

ใครที่อยากซึมซับบรรยากาศของเรื่องนี้ได้เต็มที่แนะนำให้อ่านฉบับเรื่องสั้นวัน-ช็อตนี้ก่อนเลยครับ โดยก็พอหาได้ไม่ยากจากการกูเกิ้ลเอา

รักไร้เสียง เล่าเรื่องราวของตัวละครนำในวัยประถมศึกษาอย่าง อิชิดะ โชยะ เด็กหนุ่มที่เป็นเหมือนหัวโจกของเพื่อน ๆ ผู้ชาย ซึ่งบังเอิญให้ได้ต้องมารู้จักกับ นิชิมิยะ โชโกะ เด็กสาวที่เพิ่งย้ายมาใหม่ ที่สำคัญเธอพิการทางการได้ยินต้องใช้เครื่องช่วยฟังและภาษามือ ตลอดจนสมุดโน้ตในการสื่อสารกับคนรอบข้าง

แรกเริ่มทุกอย่างดูราบรื่นจนกระทั่งเมื่อความพิการของโชโกะทำให้คนอื่นรู้สึกเป็นภาระ ทั้งเพื่อนร่วมชั้นหรือแม้แต่อาจารย์เองก็ตาม ทุกคนจึงเริ่มเย้นชาตีตัวออกห่าง จนกระทั่งถึงกับลงมือกลั่นแกล้ง ตรงนี้เองที่โชยะเริ่มเข้ามาแกล้งโชโกะมากขึ้นด้วยความคึกคะนองในฐานะที่ตัวเองเป็นหัวโจก แม้โชโกะจะพยายามอย่างมากในการมีเพื่อน แต่ก็ดูเหมือนอุปสรรคในการสื่อไปถึงใจใครสักคนแสนยากเย็น เมื่อการกลั่นแกล้งหนักข้อเข้า แม่ของโชโกะจึงให้โชโกะย้ายโรงเรียน ในขณะที่ทุกคนต้องการหาแพะมารับความรู้สึกผิดต่อโชโกะ โชยะจึงถูกตราหน้าว่าเป็นอันธพาลและเริ่มกลายเป็นฝ่ายที่ถูกเพื่อน ๆ เย็นชาใส่จนสุดท้ายก็ถูกกลั่นแกล้งไม่ต่างจากโชโกะเลย

จนเวลาล่วงเลยไปจากประถมสู่มัธยมปลาย ที่แม้จะผ่านไปหลายปีแต่โชยะก็ยังแปลกแยกและไม่กล้าจะคบค้าสมาคมสนิทใจกับใครอีกเลย โชยะที่เข้าใจความรู้สึกเจ็บปวดของโชโกะที่ไม่มีเพื่อนสักคน เขาจึงพยายามเรียนภาษามือ และตามหาโชโกะเพื่อขอโทษ เพื่อขอเธอเป็นเพื่อนอีกครั้ง..

สัญลักษณ์การปิดใจของโชยะ เขามักเห้นผู้คนรอบตัวมีเครื่องหมายกากบาทอยู่เสมอ บ่อยครั้งเขาได้แต่มองเท้าของคู่สนทนา

ในเรื่องสั้นเรื่องราวจบเพียงเท่านี้แต่ในมังงะเรื่องยาวนั้นก็ได้ขยายความรู้สึกและเรื่องราวหลังจากนั้นไปอีกค่อนข้างมาก ทั้งยังมีตัวละครออกมาอีกมากมายทั้งเพื่อนเก่าที่ไม่อาจมองหน้าติด และเพื่อนใหม่ที่พระเอกไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ จากเรื่องราวของการกลั่นแกล้งกันในฌรงเรียน เรื่องของคนพิการในสังคมคนปกติ ก็เริ่มหวานขึ้นด้วยเรื่องราวความรักที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นช้า ๆ และเหนืออื่นใดทั้งเรื่องนี้คือเรื่องที่ว่าด้วยคำว่า เพื่อน และความสัมพันธ์ ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าทุกคนเคยผ่านช่วงเวลาที่ทะเลาะกับเพื่อนหรือเข้าใจผิดกันยาวนานเช่นนี้แน่ๆ เรื่องราวเหล่านี้เองที่เป็นเนื้อหาที่ถูกนำมาถ่ายทอดในอนิเมชั่นความยาวสองชั่วโมงที่เราได้ชมกัน

แม้หน้าหนังจะดูเหมือนหนังรัก แต่เนื้อแท้ของมันคือหนังที่พูดถึงเพื่อน และความรู้สึกผิดในอดีตที่ตามหลอกหลอนมาปัจจุบัน

สำหรับฉบับภาพยนตร์อนิเมชั่นนี้ได้มีการประกาศงานสร้าง ตั้งแต่ครั้งที่ลงตีพิมพ์ตอนจบในนิตยสารราว ๆ เดือนพฤศจิกายน 2014 และได้ออกฉายจริงที่ประเทศบ้านเกิดเมื่อเดือนกันยายนปีก่อนนี้เอง ซึ่งประสบความสำเร็จจากโรงฉายที่ไม่ได้มากมายเท่าอนิเมชั่นที่คุมโรงก่อนหน้าอย่าง Your Name (2016) แต่สามารถขายบัตรในสองวันแรกได้ไปถึง 2 แสนใบ และมียอดซื้อตั๋วตลอดโปรแกรมฉายถึง 1.6 ล้านใบทีเดียว อันนี้นับว่าเป็นระดับปรากฏการณ์สำหรับอนิเมชั่นสายดราม่าแบบสมจริงที่ไม่มีเรื่องแฟนตาซีมาช่วยเลยทีเดียว

โดยได้บริษัทอนิเมชั่นชั้นนำอย่าง เกียวโตอนิเมชั่น หรือที่คออนิเมะจะเรียกสั้น ๆ ว่า เกียวอนิ มารับหน้าที่ควบคุมการผลิต ซึ่งหายห่วงเลยเรื่องฝีมือ เพราะผ่านงานชิ้นโบว์แดงยอดนิยมอย่าง The Melancholy of Haruhi Suzumiya และ K-On! มาเป็นอาทิ ยิ่งได้ผู้กำกับ ยามาดะ นาโอโกะ ที่ทำทั้งสองเรื่องที่ว่ามานั้นมากำกับด้วยตนเอง ทั้งยังได้ โยชิดะ เรโกะ ที่มีผลงานเขียนบทอนิเมชั่นมากมายซึ่งรวมถึง The Cat Returns (2002) มาดัดแปลงบทให้ด้วยแล้ว ยิ่งยืนยันถึงความตั้งใจของผู้มีส่วนร่วมที่อยากปั้นให้เรื่องราวแสนละเมียดละไมของรักไร้เสียงนั้นถูกถ่ายทอดออกมาให้ดีที่สุดของที่สุดเลยทีเดียว

หากพูดในฐานะคนที่เคยอ่านมังงะมา ทั้งวัน-ช็อต และเรื่องยาว ก็ขอบอกว่าหนังเก็บบรรยากาศมาได้อย่างยอดเยี่ยมทีเดียว ทั้งเพลงประกอบ ทั้งลายเส้น ทั้งมุมกล้อง และการตัดต่อเรื่องราวให้อยู่ใน 2 ชั่วโมงนั้น เรียกว่าอิ่มมาก ๆ เป็นข้อได้เปรียบสำคัญเลยที่จะทำให้หลงรักอนิเมชั่นเรื่องนี้ได้สุดลิ่มยิ่งกว่าคนที่ไม่เคยดูเคยอ่านมาก่อนครับ

Play video

แต่หากพูดในมุมของคนที่ไม่เคยอ่านมังงะมาก่อนเลย ก็ค่อนข้างปะติดปะต่อเรื่องราวช้ากว่านิดหนึ่งเพราะฉบับหนังโรง เลือกเปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่องในช่วงต้นพอประมาณมีการตัดสลับเวลา ทั้งการอธิบายความรู้สึกหรือเหตุผลใด ๆ ที่เป็นประเด็นดราม่าของตัวละครก็ไม่ได้พูดออกมาชัดนัก หรือถึงพูดออกมาก็ยากจะเข้าใจในทีแรกทันที ตรงนี้อาจทำให้บางคนหลุดไม่อินไปได้เหมือนกัน แต่หนังก็ทดแทนด้วยฉากตลกที่ทำให้หนังไม่น่าเบื่อและน่าติดตามมากขึ้น และน่าจะเข้าใจสาระเรื่องของอุปสรรคการสื่อสารระหว่างคนที่ไม่ใช่เพียงเรื่องของความพิการเท่านั้นที่ขวางกั้นอยู่ได้ไม่ยาก

สีสันของเรื่องที่ทำให้หลุดขำออกมาได้หลายฉากเลยครับ

จนบางทีเราจะพบเลยว่าการฟังไม่ได้ หรือพูดไม่ได้ อาจจะไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญเท่า การปิดใจ

และแม้จะมีช่องโหว่มากมาย กระนั้นก็ยังพูดได้ครับว่ามันเป็นอนิเมชั่นน้ำดีที่คอหนังทั่วไปไม่ควรพลาดเลย

และต้องบอกว่านี่ไม่ใช่อนิเมชั่นที่จะเอาไปเปรียบเทียบกับอนิเมชั่นที่เรา ๆ เคยดูมาอย่างพวกจิบลิ หรืออย่าง Your Name ได้เลย คือถ้าชอบแนวนั้นอาจจะไม่โอเคเท่าไรด้วย หนังเรื่องนี้ออกไปแนวหนังดราม่าวัยรุ่น การข้ามพ้นวัย มิตรภาพและความสัมพันธ์ที่สมจริงมากกว่า ทั้งเรื่องรักก็ดูจะสำคัญรอง ๆ ลงไปเสียด้วยซ้ำครับ ถ้านึกอารมณ์น่าจะชวนให้นึกถึงอนิเมชั่นอย่างพวก 5 cm per second (2007) ของ มาโกโตะ ชินไค ในแบบที่ไม่ฟูมฟายเรื่องรัก หรือ Ano Hana ในแบบที่ไม่มีเรื่องเหนือธรรมชาติเสียมากกว่า

สรุป

คือถ้าชอบแบบดราม่าสมจริงและฟีลกู้ดนี่สมควรโดนมาก ๆ ครับ จะประทับใจสุด ๆ แต่ถ้าไม่ชอบก็คงเหลือลายเส้นกับเพลงที่งดงามมาก ๆ กับคาแรกเตอร์ที่ออกแบบมาได้อย่างมีเสน่ห์และมีอารมณ์ขันหลายฉากให้จับต้องอยู่ดี ซึ่งอยากเชียร์ให้ไปชมกันนะโดยเฉพาะประเด็นเรื่องความพิการ และการกลั่นแกล้งที่เป็นดราม่าของเรื่องนี่ประทับใจและสอนใจได้ดีมาก ๆ ครับ และถ้ามีเวลาอยากให้ลองไปหาอ่านมังงะตัวฉบับวัน-ช็อตด้วยจริง ๆ จะอิ่มเอมสุด ๆ

Play video