ความรัก ความฝัน อุดมการณ์ของพวกเขา ก่อตัวขึ้นในขนำกลางสวนยาง
พงศ์ (เทอดพงศ์ เภอบาล) หนุ่มเลี้ยงวัวผู้ช้ำรักจาก เบียร์ (จรัตนาถ ไชยดวง) สาวใต้ที่หนีไปเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพ จนอาการอกหักทำให้เขากลายเป็นคนไม่เอาถ่านจนได้พบกับ โอ (ทิวากร แก้วบุญส่ง) หนุ่มเปี่ยมอุดมการณ์หวังสร้างชุมชนแห่งเสียงเพลงในสวนยางที่พยายามผลักดันให้ พงศ์ ทำตามความฝันในการเป็นนักร้องของตัวเอง โดยมี มายด์ (ยุวดา โอฬาร์กิจ) สาวบ้านๆจิตใจงดงามคอยเป็นกำลังใจให้เขาอยู่เสมอ แล้วเรื่องราวความรักความฝันของคนตัวเล็กๆจากสวนยางก็ถูกเล่าขานผ่านบทเพลงที่พวกเขาประพันธ์และขับขานมันออกมาจากใจ
สำหรับภาพยนตร์ มหาลัยวัวชน เป็นผลงานของ บุญส่ง นาคภู่ ผู้กำกับหนังอิสระที่ต่อสู้ทำหนังด้วยเงินทุนอันน้อยนิดและเหมาทำแทบทุกอย่างในกองโดยมีผลงานล่าสุดอย่าง ธุดงควัตร ที่ได้ไปฉายที่เทศกาลหนังปูซานประเทศเกาหลีใต้และได้รับรางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยมจากเวทีสุพรรณหงส์ปีล่าสุดมาการันตีฝีมือ โดยหนังบอกเล่าเรื่องราวที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของ โอ พาราฮัท และแรงบันดาลใจจากเพลงมหาลัยวัวชน โดยแทรกวิถีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาวพัทลุงเข้าไปในบทภาพยนตร์ โดยบุญส่ง นาคภู่ เขียนบทร่วมกับ อภิชาติ จันทร์แดง เพื่อให้บทภาพยนตร์ถ่ายทอดความเป็นคนใต้แท้ๆออกมาอย่างที่ทีมผู้สร้างตั้งใจ โดยความท้าทายประการหนึ่งของผู้เขียนบทหนังเรื่องนี้คือการหาเรื่องเล่าที่ต่างไปจากมิวสิควีดิโอและต้องพูดถึงการก่อตั้ง พาราฮัท มิวสิค ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่ว่าจะเล่าเรื่องไอ้หนุ่มวัวชนอกหักหรือนายหัวก่อตั้งค่ายเพลงในสวนยางก็เป็นพล็อตเชยๆที่หนังสมัยนี้ไม่ค่อยทำกันแล้วทั้งนั้น โจทย์ยากเลยตกอยู่กับบุญส่งว่าจะเลือกใช้ลีลาไหนในการบอกเล่าเรื่องราวเชยๆสองส่วนนี้
หนังบอกเล่าเรื่องราวที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของ โอ พาราฮัท
แม้ว่าวัตถุประสงค์แรกของการสร้างหนังเรื่องนี้คือการต่อยอดเรื่องราวจากเพลงดัง แต่ด้วยวิสัยทัศน์ที่ไม่ธรรมดาของบุญส่งก็ทำให้เรื่องราวของมันถูกตีความไปไกลโดยอาศัยแนวคิดการทำหนังแบบสัจนิยมใหม่อิตาเลียน หรือ Italian Neo Realism ที่เน้นคนจริง สถานที่จริง และสะท้อนปัญหาสังคมเป็นสำคัญ ซึ่งมหาลัยวัวชนก็ใช้พื้นที่สวนยางพาราค่ายเพลงพาราฮัทถ่ายทำและใช้นักร้องในค่ายมาเป็นนักแสดงโดยใช้ชื่อจริงเป็นชื่อตัวละครพร้อมบทหนังที่สะท้อนปัญหาสังคมทั้งราคายางตกต่ำและความไม่ไว้ใจกันระหว่างตำรวจกับคนในพื้นที่ แต่ยังไม่ทิ้งหน้าที่สร้างความบันเทิงแบบหนังเพลงไปเสียทีเดียว และทีละน้อยมันกลับมาสะท้อนอุดมการณ์ของคนต้นเรื่องอย่าง โอ พาราฮัท และบอกเล่าประวัติศาสตร์ของพัทลุงไปพร้อมๆกันทำให้เรื่องราวเชยๆถูกบอกเล่าด้วยมุมมองที่แปลกตา โดยเฉพาะการถ่ายทอดเรื่องราวด้วยการใช้ภาพแบบสารคดีและจัดวางคนดูให้กลายเป็นผู้สังเกตการณ์ผ่านเลนส์ของธีรวัฒน์ รุจินธรรม และ วรรธนะ วันชูเพลา ที่เน้นการแฮนเฮลด์กล้อง ใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติและออกแบบจังหวะการเคลื่อนกล้องตามสถานการณ์ก็เป็นการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ที่มีอย่างจำกัดได้อย่างชาญฉลาดและสามารถทำให้คนดูเข้าถึงอารมณ์ของตัวละครได้เป็นอย่างดี
ซึ่งหลากเหตุการณ์ถูกร้อยเรียงเป็นดั่งบทสรรเสริญวิถีชีวิตท้องถิ่นและหันหลังให้ภาครัฐกับนายทุน
แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่า มหาลัยวัวชน ผิดฟอร์มจากหน้าหนังที่ขายความโรแมนติกในความรักหนุ่มสาวเคล้าเสียงเพลงเพื่อชีวิตเพราะๆอย่างที่แฟนเพลงพัทลุงคาดหวัง โดยสิ่งที่มาแทนที่คือการเล่าเรื่องราวแบบเสี้ยวหนึ่งของชีวิต (Slice of life) แสดงถึงความทรนงในศักดิ์ศรีชาวพัทลุงของ โอ ทั้งเรื่องปฏิเสธคำขอของพ่อแม่ให้เข้ารับราชการครูทั้งที่เรียนจบปริญญาแต่กลับสร้างโรงเรียนของตัวเองในสวนยาง การสานสัมพันธ์กับชนเผ่าซาไกด้วยเสียงดนตรี รวมถึงการถ่ายทอดประวัติศาสตร์การเมืองในพัทลุงอย่างกรณีถังแดงที่รัฐกระทำกับชาวบ้านในยุคล่าคอมมิวนิสต์ช่วงสงครามเย็น ควบคู่กับวิถีชีวิตปากกัดตีนถีบของชาวสวนยางที่ต้องแบกรับปัญหาราคายางตกต่ำ ซึ่งหลากเหตุการณ์ถูกร้อยเรียงเป็นดั่งบทสรรเสริญวิถีชีวิตท้องถิ่นและหันหลังให้ภาครัฐกับนายทุน แถมยังมุ่งเชิดชูศิลปินชาวใต้จนมีฉากวงมาลีฮวนน่ามารับเชิญเป็นคาเมโอในฉากหนึ่งเพื่อเซอร์ไพรส์คนดู ในขณะที่พี่ตูน บอดี้สแลม ปรากฏกายเป็นได้เพียงโปสเตอร์ในห้องพงศ์เท่านั้น ซึ่งหนังใช้ประเด็นดังกล่าวมาสนับสนุนเหตุผลที่โอปฏิเสธการทำเพลงในสังกัดค่ายแต่เลือกทำเพลงเองจากค่ายในสวนยางจนเกิดเป็น พาราฮัท มิวสิค ได้อย่างน่าคิด
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลยังบอกเล่าคู่ขนานกับประเด็นความรักระหว่างพงศ์กับมายด์แต่ก็ยังคงประเด็นการเชิดชูค้ำจุนคนในท้องถิ่นโดยเฉพาะกรณีที่เบียร์ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยในกรุงเทพและพงศ์เริ่มเรียนรู้ทั้งความรับผิดชอบในการเลี้ยงวัวชนและความรู้สึกของตัวเองเมื่อมายด์เป็นคนเดียวที่จริงใจและเป็นความรักจากท้องถิ่นที่ใกล้ตัวเขาที่สุด ที่สำคัญหนังยังถ่ายทอดเรื่องราวแต่ละฉากตามธรรมชาติการพูดจาของคนใต้ที่หลายครั้งยอมรับว่าผมปรับอารมณ์ตามไม่ค่อยทัน ยังดีที่จังหวะการตัดต่อของ ลี ชาตะเมธีกุล ได้ทำหน้าที่เชื่อมแต่ละฉากเอาไว้อย่างนุ่มนวล รวมถึงฉากมิวสิคัลที่นอกจากการร้องแบบไม่มีดนตรีเพื่อสื่อสารความรู้สึกคล้ายละครเวทีแล้ว หนังยังเพิ่มลูกเล่นด้วยการใส่สัญญะผ่านนักดนตรีปริศนาในสวนยางที่ทำหน้าที่เปลี่ยนองค์ของเรื่อง โดยแต่ละครั้งจะเล่นเครื่องดนตรีไม่เหมือนกันก็นับเป็นความคิดสร้างสรรค์และเพิ่มสุนทรียะให้กับเรื่องราวได้อย่างมหัศจรรย์
ในภาพรวม…นี่เป็นหนังเพลงที่เล่าเรื่องราวของคนบ้านๆด้วยลีลากึ่งหนังสารคดีได้อย่างน่าสนใจ แม้จะผิดฟอร์มจากหน้าหนังไปหลายช่วงตัวแต่สิ่งที่ได้กลับกลายเป็นหนังเพลงที่คละคลุ้งด้วยประวัติศาสตร์การเมืองที่น่าสนใจและยั่วเย้าให้คนดูได้ศึกษาต่อเป็นอย่างยิ่ง
ปิดท้ายด้วยเพลงเพราะๆจากหนัง
และแถมท้ายกับ มหาลัยวัวชน เวอร์ชั่น ภาษาอังกฤษ