- โย ฮิโตโตะ น้องสาวของ ทาเอะ ฮิโตโตะ เป็นผู้แต่งและขับร้องเพลง ‘Sorane’ซาวน์แทร็กประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้เธอเคย ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์อย่าง ‘Hanamizuki’ รวมทั้ง ‘Hana’s Miso Soup’ มาแล้ว
- ในหนังเรื่องนี้มีคำว่า おふくろ (โอะฟุคุโระ) ที่แปลตรงๆ ว่า ‘ถุงหรือกระเป๋า’ ซึ่งเป็นคำที่เด็กญี่ปุ่นใช้เรียกคุณแม่ในสมัยก่อน (ทุกวันนี้เรียก お母さん หรือโอะก้าซัง) ซึ่งตามท้องเรื่องในยุค 70 นั้น ภาพจำของผู้หญิงญี่ปุ่นนั้นคือแม่บ้านที่นอกจากทำงานบ้านทุกอย่างและคอยเลี้ยงลูกแล้วยังทำหน้าที่คอยเก็บเงินทองที่สามีหามานั่นเอง แต่หากพูดถึงรสชาติอาหารฝีมือแม่แล้ว เราจะได้ยินตัวละครในหนังพูดว่า おふくろ味 (โอะฟุคุโระ อาจิ) ซึ่งเป็นศัพท์เก่าอยู่ เพราะมันแทนความหมายของอาหารที่คุณแม่ทำด้วยความรัก พิถีพิถันเป็นพิเศษให้ลูก ขณะที่ลูกๆ ก็จะจดจำรสชาติอาหารฝีมือคุณแม่และอยู่ในความทรงจำตลอดไป
ตั้งแต่ต้นปีนี้มานี้สังเกตความเคลื่อนไหวค่ายหนังบ้านเราซื้อลิขสิทธิ์หนังเอเชียมาฉายกันค่อนข้างเยอะ ซึ่งแน่นอนว่ามันมีการขยับตัวของกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ที่พยายามใช้ ‘หนัง’ มาเป็น ‘สื่อกลาง’ ในการโปรโมตสินค้าโอทอปของตัวเองภูมิใจนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น, จีน, เกาหลี หรือสิงคโปร์ ที่ผู้กำกับหน้าใหม่ๆ ถีบตัวเองออกมาเติบโตนอกเกาะเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยการเมืองและกองเซ็นเซอร์ ทีนี้ ในช่วงเวลาของเทศกาลหยุดยาว ก็มีหนังญี่ปุ่นในชื่อภาษาไทยว่า ‘เมนูนี้ยังคิดถึง’ (What’s For Dinner, Mom? / ママ、ごはんまだ?)ออกมาประจวบเหมาะในช่วงสงกรานต์ที่คนไทยส่วนใหญ่กลับบ้านไปเจอหน้าครอบครัวพอดี
What’s For Dinner, Mom? มันถูกดัดแปลงจากนิยายที่แต่งจากเรื่องจริงของนักเขียนที่ชื่อ ทาเอะ ฮิโตโตะ ที่เล่าเรื่องประสบการณ์ชีวิตของตัวเองในฐานะเด็กลูกครึ่งญี่ปุ่น-ไต้หวัน ที่ต้องเติบโตท่ามกลางวัฒนธรรมของสองประเทศ ตัวหนังเลือกเล่าในช่วงเวลาหลังจากที่คุณแม่ (มิชิโกะ คาวาอิ) เสียชีวิตไปแล้วด้วยโรคมะเร็ง ซึ่งหลังจากนั้นสองพี่น้อง ทาเอะ (ฮารุกะ คินามิ) และ โย (อิซุมิ ฟุจิโมโตะ) เดินทางกลับมาบ้านเดิมที่ญี่ปุ่นที่กำลังจะถูกรื้อถอน สิ่งที่เธอค้นเจอในตู้เซฟในบ้านหลังนี้ ไม่ใช่มรดกให้พี่น้องแบ่งกันไปตั้งตัว หากแต่เป็นกล่องเก่าๆ ใบหนึ่ง ซึ่งคุณแม่ได้จดสูตรอาหารมากมายไว้ในสมุด แต่สิ่งที่น่าสนใจจริงๆ คือเมนูต่างๆ เหล่านั้น มันได้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของแม่ในช่วงเวลาต่างๆ เอาไว้ตั้งแต่สมัยเด็กจนถึงช่วงสุดท้ายที่ต่อสู้กับมะเร็ง และจากจุดนั้น การตัดสินใจเดินกลับไปหาคำตอบที่ถูกเก็บซ่อนไว้อดีตของ ทาเอะ ก็เริ่มต้นขึ้น
นับตั้งแต่สมุดบันทึกเล่มนั้นถูกเปิดออก ก็เหมือนโฮโลแกรมที่ฉายภาพช่วงเวลาที่คุณแม่กลับมามีชีวิตอีกครั้ง หนังเล่าในมุมของลูกสาว ทาเอะ ที่พรั่งพรูไปด้วยความทรงจำที่เธอมีกับคุณแม่ อาหารจานโปรดที่แม่ทำ โดยเน้นไปที่อาหารไต้หวันสมัยเด็กๆ ที่แม่ชอบทำให้กิน มีเมนูเรียกน้ำย่อยออกมา 2-3 เมนู โดยเฉพาะ คากิ ที่ทำเอาคนทั้งโรงใจคอไม่ดีท้องร้องโครกครากกันเป็นระยะ (ฮา)
ตัวหนังค่อยๆ สืบเท้าเดินทางไปอย่างนวยนวด การตัดต่อที่หวานเย็นแบบค่อยเป็นค่อยไป จงใจปล่อยโมงยามแต่ละวินาทีให้ไหลไปเรื่อยๆ เอื่อยๆ เน้นแช่ภาพนานๆ ให้คนดูรู้สึกจมจ่อมลงไป ข้อดีคือมันทำให้หนังยิ่งเรียล ดูเป็นไปตามธรรมชาติ แต่ก็อาจทำคนที่ชอบดูหนังเดินเรื่องเร็วๆ ตัดไวๆ พาลอึดอัดได้เหมือนกัน เพราะถ้ามองในมุมนั้น หลายๆ ฉากก็ผ่านเข้ามาและจากไปอย่างไม่มีจุดหมาย เลื่อนลอย แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการเดินภาพแบบนี้นี่แหละที่ส่วนตัวมองว่าเป็นเสน่ห์ของหนังดราม่าแนวชีวิตสไตล์ญี่ปุ่นอยู่แล้ว
หนังเรื่องนี้หากมองในมุมที่คนดูคาดหวังอย่างเรื่องการเจาะไปที่เมนูอาหารที่ทำนั้น หลายคนอาจผิดหวังเล็กน้อย เพราะตัวหนังไม่ได้เน้นไปที่การอวยฝีมือการทำอาหารของแม่ระดับเชฟกระทะเหล็กขนาดนั้น แต่ในทางกลับกันมันเป็นเรื่องการเลือกสื่อในมุมมองที่ว่า อาหารแต่ละมื้อที่คุณแม่ทำ คือการบอกรักลูกๆ แทนการพูดจา แทนการกอดที่หลายๆ บ้าน เมื่อลูกโตขึ้นก็เขินอายที่จะทำแบบนั้นอีก เมสเซจของหนังพยายามใช้ตัวละครนี้ในการพูดไปแตะความหมายของชีวิต ความแตกต่างของแม่และลูก คนเป็นแม่ผู้มองโลกในแง่ดี เป็นที่รักของทุกคนจากบุคลิกความสดใส ความเป็นห่วงเป็นใยคนรอบข้าง และทาเอะ ที่กำลังเรียนรู้ ค้นหาตัวตนและที่ที่ตัวเองจะยืนอยู่ในวันที่เติบโตขึ้น กว่าที่เธอจะเข้าใจว่าสิ่งที่แม่ทำ เมื่อลองย่ำก้าวไปในอดีตของคุณแม่ แท้จริงแล้วคือสิ่งที่เธอค้นพบจุดหมายในวันที่สายเกินไป
จริงอยู่ที่หนังเรื่องนี้อาจมีวิธีการนำเสนอที่ค่อนข้างเนือย ราบเรียบ บางช่วงบางตอนเกือบๆ จะเป็นสารคดีอาหารไต้หวันด้วยซ้ำไป ตัวหนังไม่ได้พยายามบีบคั้นเราให้เสียน้ำตาฟูมฟายอย่างที่หลายคนเคยเจอใน Like Father, Like Son หรือ Tokyo Towers แต่รสชาติของมันออกไปทาง Little Forest : Summer & Autumn หรือพวก Hana’s Miso Soup มากกว่า คือดูจบแล้ว มันเบิกบานอิ่มเอมอยู่ในใจ ไม่ได้รู้สึกเศร้าระทมอย่างที่เราคาดกันไว้ สิ่งที่ชอบในหนังเรื่องนี้ คือการเล่นกับกาลเวลา การเดินทางกลับไปในยุค 70 ของทาเอะ เพื่อทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับสิ่งที่พ่อและแม่ของเธอผ่านมา ที่มาที่ไปของทุกสิ่งที่ทำเพื่อ ทาเอะ และ โย มันคือสิ่งที่เธอหาไม่ได้จากใครอีกแล้วในชีวิตนี้ มันคือเมสเซจที่ซ่อนอยู่ในเมสเซจในหนังอีกทีหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของ ความเข้าใจในสัจธรรมของกาลเวลา การเดินกลับไปในอดีตอีกครั้งสามารถทำให้คนเราไขปริศนาลึกลับมากมายที่ซ่อนอยู่ในกาลเวลาได้
หนังเรื่องนี้ คล้ายจะบอกให้เราหลับตา หวนคืนไปในปฏิทินของวันก่อนนั้น แล้วเราจะเห็นว่าใครคนนั้นที่จากไป แท้จริงแล้วยังคงมีชีวิตโลดแล่นวนเวียนในห้วงเวลาหนึ่ง หากเราอยากจะพบเขาอีกครั้ง ก็เพียงเดินย้อนกลับไปยังมิติของเวลา ที่ชื่อว่า ‘ความทรงจำ’
…เพราะที่นั่นจะมีรสชาติอาหารจานโปรดฝีมือของคุณแม่รอเราอยู่เสมอ…