- นี่คือภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่ 10 ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้
- นี่คือครั้งแรกที่โนแลนใช้เหตุการณ์จริงมาทำหนัง
- นี่คือหนังเรื่องที่ 3 ที่โนแลนเขียนบทเองคนเดียว (ก่อนนั้นคือ Following และ Inception ซึ่งเจ๋งมากทั้งสองเรื่อง)
- นี่คือหนังที่โนแลนบอกว่า เป็นหนังทดลองมากที่สุดในชีวิตเขาแล้ว (ขนาด Memento กับ Inception ก็ล้ำเหลือแล้วนะ)
จำต้องเอาชื่อ คริสโตเฟอร์ โนแลน ขึ้นมาก่อนสิ่งอื่นใดครับ เพราะเทียบหน้าหนังกันแล้วถ้าเอาเป็นหนังดราม่าสงครามที่มีฉากชายหาด เป็นโลเกชั่นยังไงก็ต้องให้ Saving Private Ryan (1998) ของสปีลเบิร์กมาเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าจะเอาว่าดาราใหญ่มาเล่นดังสุดก็มีแค่ ทอม ฮาร์ดี้ และ เคนเน็ธ บรานาจ์ กับเจ้าของรางวัลออสการ์สมทบชายอย่าง มาร์ก ไรแลนส์ เท่านั้นเอง แถมที่เหลือซึ่งกุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในหนังก็เป็นเพียงดาราวัยรุ่นหน้าใหม่เสียแทบทั้งนั้นด้วย อ่อ อาจขายได้ว่าเป็นการเล่นหนังใหญ่ครั้งแรกของนักร้องไอดอลระดับโลกจากวงวันไดเร็กชั่น อย่าง แฮร์รี่ สไตล์ส แต่เอาจริง ๆ ว่าคอหนังใครจะมาสนล่ะ? พูดกันตามตรงหนังเรื่องนี้ส่วนที่น่าสนใจมากที่สุดคือ เป็นหนังของโนแลน ผู้สร้างปรากฏการณ์ทางภาพยนตร์แบบสะเทือนไปทั้งโลกได้หลายต่อหลายครั้งนี่ล่ะครับ
และขอบอกตรงนี้เลยว่านี่คือหนังชั้นมาสเตอร์พีซของโนแลน และจะกลายเป็นตำนานหนังสงครามที่เยี่ยมที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลกไปอีกหลายสิบปีเลยด้วยครับ
หนังเรื่องนี้จับเหตุการณ์จริงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณเมืองดันเคิร์กชายฝั่งของประเทศฝรั่งเศส กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในขณะนั้นเสียทีให้ฝ่ายอักษะของนาซีจนล่าถอยมาติดค้างอยู่ที่เมืองนี้จำนวนมาก ในครั้งนั้นกองทัพอังกฤษของฝ่ายสัมพันธมิตรจนปัญญาในการอพยพเหล่าทหารของตนที่เมืองนี้ร่วมหลายแสนชีวิตให้ออกจากสมรภูมินรก ทั้งยังการถูกปิดล้อมก็ทำให้เหล่าทหารกลายเป็นเป้านิ่งให้เครื่องบินศัตรูยิงทิ้งเล่น เรียกว่ารอวันที่ฝ่ายอักษะไล่บี้มาถึงเพื่อสังหารทิ้งไม่เร็วก็ช้าเท่านั้นเอง และหากเป็นเช่นนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรก็จะสูญเสียกำลังพลครั้งใหญ่ ยังส่งผลให้ฝ่ายอักษะได้รุกคืบสู่เกาะอังกฤษซึ่งเป็นจุดยุทธการสำคัญในสงครามครั้งนี้ของฝ่ายสัมพันธมิตรด้วย เพราะหากเสียอังกฤษเป้าหมายต่อไปย่อมต้องเป็นอเมริกาและแน่นอนหน้าประวัติศาสตร์โลกคงไม่เหมือนอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนี้แน่ ๆ
ในตอนนั้นชาวบ้านและชาวประมงจากอังกฤษต่างถูกเกณฑ์ให้นำเรือบ้าน ๆ ของตน ที่ไม่ได้รับการติดอาวุธใด ๆ ออกสู่ทะเล เข้าสู่สมรภูมิเลือดที่ดุเดือดถึงขีดสุดทั้งบนฟ้าและผืนน้ำ เพื่อนำชีวิตของกำลังพลที่ดันเคิร์กกลับสู่บ้าน ซึ่งตรงนี้กลายเป็นอีกหนึ่งในจุดเปลี่ยนของสงครามที่เกิดขึ้นด้วยพลังของชาวบ้านธรรมดา ๆ ล้วน ๆ เลยครับ
วีรกรรมของชาวบ้านตาดำ ๆ นี้ก็คงโดนใจโนแลนผู้กำกับที่เติบโตมาบนเกาะอังกฤษอย่างจัง เปรียบไปก็คงไม่ต่างจากคนไทยที่ภูมิใจในชาวบ้านบางระจันนั่นล่ะครับ แต่นี่คงแบบยิ่งใหญ่กว่าเยอะ เพราะเป็นสงครามระดับตัดสินหน้าตาของโลกได้เลย
หนังใช้วิธีเล่า 3 ส่วนไปพร้อมกันโดยการดีไซน์ที่ฉลาดมาก ๆ ตั้งแต่ชื่อหนัง ที่มีการใช้ 3 เฉดสีแทนท้องฟ้า ผืนน้ำ และแผ่นดิน ซึ่งแทนถึงสมรภูมิห้ำหั่นของสงครามโลกที่มีทั้งทางอากาศ ทางน้ำ และทางบก นอกจากนี้หนังยังใช้การเล่าไม่ลำดับเหตุการณ์ที่ทำให้เราคาดเดาและลุ้นไปกับทุกวินาทีของหนังอย่างชาญฉลาดมากจนบางคนน่าจะเอาไปเทียบกับงานเก่าอย่าง Memento และ Inception แต่ขอบอกเลยว่าเข้าใจง่ายกว่าและยังใช้ประโยชน์ของการเหลื่อมเวลาได้อย่างระทึกใจกว่าด้วย
โดยได้แบ่งการเล่าเรื่องเป็นสถานการณ์ 3 ช่วงต่างสถานที่คือ ช่วง 1 สัปดาห์บนบริเวณชายหาดดันเคิร์กที่ ทอมมี่ ทหารเด็กหนุ่มชาวอังกฤษ (ฟิออนน์ ไวท์เฮด) กำลังหาหนทางหลบหนีขึ้นเรือขนผู้บาดเจ็บเพื่อกลับบ้าน ทำให้ระหว่างทางเขาได้พบเพื่อนร่วมหนีทหารอย่าง กิ๊บสัน ผู้เงียบงัน (แอนไนริน บาร์นาร์ด) และทหารไฮแลนด์นาม อเล็กซ์ (แฮร์รี่ สไตล์ส) เหตุการณ์ต่อมาคือช่วง 1 วันของ ดอว์สัน และปีเตอร์ลูกชาย (มาร์ก ไรแลนส์ และ ทอม กลินน์-คาร์นี่ย์) กับเพื่อนของปีเตอร์นาม จอร์จ (แบร์รี่ คีโอกาน) ที่กำลังเอาเรือมูนสโตนออกไปช่วยเหล่าทหารกลับมาอังกฤษ และเหตุการณ์สุดท้ายคือช่วงเวลา 1 ชั่วโมงของทหารเครื่องบินขับไล่นาม ฟาร์ริเออร์ (ทอม ฮาร์ดี้) กับเพื่อนคือ คอลลินส์ (แจ็ก โลว์เดน) ออกปฏิบัติการปราบเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ทำลายเรือขนส่งทหารตลอดจนฆ่าทหารที่อยู่บนชายฝั่ง
เห็นแบบนี้นึกว่าจะไม่มีอะไร ขอบอกว่าโนแลนใส่สถานการณ์ชวนให้ต้องลุ้นตลอดเวลาได้ แบบเราต้องทึ่งครับ
และหนังฉลาดดีมากครับที่เลือกดาราหน้าใหม่ และเด็กหนุ่มมาสะท้อนภาพสงคราม เพราะเราได้เห็นความไม่เจนโลก ความหวาดกลัวต่อสงคราม บาดแผลในจิตใจ ตลอดจนการเติบโตเชิงปรัชญาของเด็กหนุ่มผู้ผ่านช่วงเวลาเป็นตายทั้งต่อชีวิตของเขาและต่อศีลธรรมในใจ ฉากที่น่าจะได้รับการพูดถึงมากฉากหนึ่งคือ ฉากที่เหล่าเด็กหนุ่มต้องเลือกผู้เสียสละที่ชวนให้นึกถึงฉากโจ๊กเกอร์วางระเบิดเรือใน The Dark Knight เลยทีเดียว กับอีกฉากก็คือช่วงที่ปีเตอร์เลือกจะตอบคำถามของนายทหารหนีทัพ (ซิลเลี่ยน เมอร์ฟี่) ที่แสดงนัยเชิงปรัชญาได้อย่างเรียบง่ายแต่สะเทือนใจมาก ๆ ครับ
มันยากที่จะเรียกว่าหนังสงครามแบบที่เราคุ้นเคยครับ เพราะตัวละครส่วนใหญ่ไม่ได้มุ่งหมายห้ำหั่นศัตรูแบบตายเป็นตาย หากแต่แสดงภาวะของการดิ้นรนมีชีวิตอยู่ เหมาะกับคำโปรยของหนังที่ว่า “การรอดชีวิตกลับไปได้ถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่”
การเขียนบทของโนแลนนี่มันอัจฉริยะจริง ๆ ล่ะครับ ไอ้ที่เราเห็นว่าเหตุการณ์นี้มันคลี่คลายไปแล้ว การเอามาฉายซ้ำเปลี่ยนมุมมองดันทำให้เราไม่ได้สบายใจขึ้นเลย กลับต้องลุ้นเข้าไปอีกทั้ง ๆ ที่เห็นการคลี่คลายของมันในอีกมุมมองหนึ่งไปแล้ว นั่นทำให้ระหว่างที่เราดูมันเต็มไปด้วยการขบคิดคาดเดา แต่ก็คาดอะไรไม่ได้จริง ๆ ครับ ทุกชีวิตพร้อมตายได้ทุกเมื่อ อีกอย่างที่ต้องกราบเลยคือหนังสงครามถูกสร้างมาไม่หวาดไม่ไหวจนเราก็คิดว่ามันไม่เหลือมุมอะไรให้เล่นทำให้เรากลัวได้อีกแล้วล่ะ แต่โนแลนก็หามันพบครับ ดันเคิร์กทำให้เรากลัวเรือดำน้ำเยอรมันอย่างที่ไม่เคยกลัวมาก่อน เรากลัวมากเวลาเสียงเครื่องบินวิ่งผ่านหัว หรือแม้แต่เห็นบินจากระยะไกล เสียงปืนในเรื่องนี้ไม่ต้องกราดรัวใด ๆ แต่ใช้แต่ละนัดแบบเน้น ๆ ทำให้เราหวาดกลัวได้มากจนหายใจแทบไม่ออก ผมเชื่อว่าคอสงครามจะรักหนังเรื่องนี้มาก ๆ เลยล่ะครับ
อีกหนึ่งที่ต้องชมคือการที่ ฮานส์ ซิมเมอร์ ได้ประพันธ์ดนตรีประกอบหนังได้อย่างเด็ดดวง คลุมบรรยากาศอันไม่น่าไว้วางใจ ความหวาดผวาและความเป็นตาย โดยใช้นาฬิกาพกของโนแลนทำเสียงจังหวะขมวดเกร็งที่บีบคั้นเข้ามาเรื่อย ๆ โดยแทบไม่ต้องพึ่งดนตรีอึกทึกครึกโครมใด ๆ กลับทรงพลังและกดดันผู้ชมกับตัวละครได้ระทึกขวัญยิ่งกว่าหนังผีหนังเครียด ๆ เสียอีกครับ ซึ่งความไร้ปราณีของซิมเมอร์นั้นก็ต้องเรียกว่าเลวเลยล่ะ เพราะแม้สถานการณ์หลายอย่างจะคลี่คลายลงบ้างแล้ว แต่ดนตรีพี่แกไม่หย่อนความกดดันลงให้เราได้พักเลย จนช่วง 10 นาทีสุดท้ายของหนังนู่นล่ะครับ เราถึงค่อยได้หายใจคล่องขึ้นหน่อย
ด้านงานภาพต้องกราบ ฮอยต์ ฟาน ฮอยเตมา ผู้กำกับภาพคู่บุญคนใหม่ของโนแลนเช่นกัน ที่ถ่ายทอดวิสัยทัศน์อันไม่ธรรมดาในการเล่าเรื่องโดยไม่ต้องใช้คำพูดมากมาย เพียงภาพและสถานการณ์ก็มากพอในการบีบคั้นหัวใจเราให้รู้สึกอินในทุกห้วงเวลาของตัวละครจนนี่อาจเป็นหนึ่งในการทดลองสำคัญทางภาพยนตร์ที่เทียบชั้นการไร้ดนตรีใน No Country for Old Man ของพี่น้องโคเอนเลยทีเดียว นอกจากนี้ฮอยเตมายังสรรค์สร้างการจัดวางที่ใช้ประโยชน์ของสเกลฟิล์ม 70 มม. ที่กว้างกว่าจอปกติได้อย่างคุ้มค่ามาก ๆ นั่นจึงทำให้ประสบการณ์ดูหนังเรื่องนี้ในระบบที่เอื้ออำนวยสูงสุดอย่างไอแม็กซ์ ฟิล์ม 70 มม. ซึ่งปัจจุบันในไทยมีฉายที่เดียวคือที่พารากอนจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยสำหรับคอหนังขนานแท้ครับ เพราะหลังจากหนังเรื่องนี้เราก็ไม่รู้ว่าจะได้ดูหนังที่ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 70 มม. นี้อีกเมื่อไรด้วยในโลกที่ดิจิตอลครองทุกผืนทวีปโรงหนังแล้ว
สุดท้ายผมค้นพบว่า หนังเรื่องนี้คือการบรรลุการทดลองนู่นนี่นั่นของโนแลนในผลงานต่าง ๆ ที่ผ่านมา โดยดึงสูตรดี ๆ ในหนังเรื่องที่ผ่านทุกเรื่อง เพียงเพื่อได้เอามาใช้สร้างหนังเรื่องนี้เรื่องเดียว ประหนึ่งว่าหนังทุกเรื่องของโนแลนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้หนังสงครามเรื่องนี้เท่านั้นเลยครับ
และความรู้สึกสุดท้ายคือ อิ่ม ดีใจสุด ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ในวันที่หนังเรื่องนี้เข้าโรง ให้ดูซ้ำกี่รอบก็ถือเป็นกำไรชีวิตแบบไม่ต้องคิดมากเลยครับ