นักแสดงที่เคยโด่งดังในยุค 90s อย่าง Keanu Reeves มีหนังดัง ๆ ในยุคนั้นหลายเรื่องอย่าง Speed (1994) และ The Matrix ไตรภาค (1999-2003) เขาได้ฟื้นคืนชีพกลับมาเป็นนักแสดงแถวหน้าอีกครั้งกับแฟรนไชส์ John Wick (2014-2019) ในทศวรรษนี้ เอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใครของหนังไตรภาคที่กำลังจะมีภาคที่ 4 ฉายชนกันกับภาค 4 ของหนัง Keanu อีกเรื่องอย่าง The Matrix 4 ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2021 (หรือจนกว่าจะมีค่ายหนึ่งค่ายใดยอมเปลี่ยนวัน) อยู่ที่คิวบู๊และความดิบเถื่อน สาแก่ใจคอหนังบู๊แอ็กชัน แต่นอกจากคิวบู๊แล้ว เรื่องราวของ “นักฆ่าผู้รักหมา” คนนี้ ก็ยังมีดีและมีอีกหลายเหตุผล ซึ่งทำให้หนังฮิตและประสบความสำเร็จ วันนี้ What The Fact ได้รวบรวมเหตุผลเหล่านั้น มาเล่าให้ฟัง

เหตุผลที่ 1 ป๋า Reeves แสดงคิวบู๊เกือบทั้งหมดด้วยตัวเอง

Keanu Reeves เล่นคิวบู๊ส่วนใหญ่ด้วยตัวเองทั้ง 2 3 ภาค

Keanu Reeves เล่นคิวบู๊ส่วนใหญ่ด้วยตัวเองทั้ง 2 3 ภาค

หากเทียบสัดส่วนของคิวบู๊ในภาคแรก Reeves แสดงเองไปถึง 90% ของทั้งเรื่อง (ที่เหลือเป็นสัดส่วนของสตั๊นท์แมน) แต่ในภาค 2 ยิ่งเหลือเชื่อขึ้นไปอีก เพราะป๋าแสดงไปถึง 95% กลายเป็นงานง่ายของทีมตัดต่อที่จะไม่ต้องเลือกช็อตเปลี่ยนมุมกล้องเพื่อหลบการเห็นหน้าสตั๊นแมนท์ ยิ่งกับในหนังแฟรนไชส์นี้ที่เป็นการต่อสู้ระยะประชิด ทีมตัดต่อคงจะทำงานยาก ถ้าต้องถ่ายสตั๊นท์แมนที่ไม่ใช่ Reeves ในระยะใกล้ คงต้องยกความดีให้กับผู้กำกับ Chad Stahelski ที่กำกับมาทั้ง 3 ภาค (กำกับร่วมในภาคแรก) ผู้เป็นสตั๊นท์แมนประจำตัว Reeves ในหนังไตรภาค The Matrix มาก่อน ทำให้รู้งานเป็นอย่างดี

เหตุผลที่ 2 Reeves เลือกใช้ชื่อหนังว่า John Wick อย่างตรงตัว เพื่อให้คนดูเข้าถึงง่าย

หนังเกือบจะชื่อ Scorn ไม่ใช่ John Wick จนเมื่อ Reeves ก้าวเข้ามาในฐานะนักแสดง

หนังเกือบจะชื่อ Scorn ไม่ใช่ John Wick จนเมื่อ Reeves ก้าวเข้ามาในฐานะนักแสดง

ในบทฉบับร่างแรก ๆ ที่เขียนโดย Derek Kolstad ผู้เขียนบทหลักของเรื่องนี้นั้น เคยใช้ชื่อหนังว่า Scorn (แปลว่า ดูถูก ในทีนี้) ซึ่งจะบอกเล่าถึงชายแก่วัยต้น ๆ 60 ซึ่งจะบ่งบอกถึงสถานะของตัวละคร John Wick ที่ถูกดูถูกจากสมาชิกคนอื่นในสมาคมนักฆ่า แต่สุดท้ายทีมสร้างหนังก็ตัดสินใจเบนเข็มของการตั้งชื่อหนังมาโฟกัสที่นักแสดง ผู้จะมาบอกเล่าเรื่องราวสุดสะเทือนใจอันเป็นเหตุให้เขาต้องออกมาบู๊ มากกว่าการเลือกนักแสดงจากรูปร่างและความแก่ นั่นเป็นตอนที่ Reeves เข้ามารับเล่น และเป็นไอเดียของเขาที่ขอเปลี่ยนชื่อของหนังจาก Scorn เป็นชื่อตัวละครในเรื่องเป็นตรงไปตรงมา เพื่อแสดงความดิบและจริงใจ Kolstad บอกว่า ชื่อ จอห์น และ เฮเลน วิค นั้นเป็นชื่อตาและยายของเขาเอง

เหตุผลที่ 3 เลือกใช้ “หลังคา” เดียวกันกับ Spider-Man ภาคต้นกำเนิด

Ian McShane ในบท "วินสตัน" ผู้ปกครองโรงแรมของ The Continental ทั้ง 3 ภาค

Ian McShane ในบท “วินสตัน” ผู้ปกครองโรงแรมของ The Continental ทั้ง 3 ภาค

ฉากต่อสู้บนหลังคาของสไปเดอร์แมนและกรีนก๊อบลิน ใน Spider-Man ภาคแรก

ฉากต่อสู้บนหลังคาของสไปเดอร์แมนและกรีนก๊อบลิน ใน Spider-Man ภาคแรก

Willem Dafoe แสดงนำไว้ใน Spider-Man ภาคแรกและ John Wick ภาคแรก

Willem Dafoe แสดงนำไว้ใน Spider-Man ภาคแรกและ John Wick ภาคแรก

อาจจะฟังดูเป็นเรื่องของการถือโชคลางไปสักหน่อย แต่ในภาค 2 นั้น ฉากที่จอห์นกำลังคุยกับ “วินสตัน” บนหลังคา นั่นเป็นเป็นหลังคาเดียวกันกับที่ใช้ถ่ายทำ Spider-Man (2002) ภาคแรกซึ่งเป็นภาคที่คะแนนวิจารณ์อยู่ในอันดับต้น ๆ ของแฟรนไชส์ ในฉากที่สไปเดอร์แมนช่วยเหลือแมรี่ เจน ได้สำเร็จจากกรีน กอบลิน (แสดงโดยนักแสดงมากความสามารถ Willem Dafoe ซึ่งเป็นหนึ่งในนักแสดงของ John Wick ภาค 1 ด้วย) สถานที่ที่ถ่ายทำคือ หลังคาของสถาบันศิลปะเมืองนิวยอร์ก (Metropolitan Museum of Art) …จะสื่อว่า หนังที่มาถ่ายที่นี่ ดังมันทุกเรื่องนั่นแหละ

เหตุผลที่ 4 Halle Berry ฝึกหนัก กับการแสดงร่วมกับสุนัขนักสู้ด้วยตัวเอง

Halle Berry ฝึกหนักเพื่อมารับบทนำหญิงในภาค 3

Halle Berry ฝึกหนักเพื่อมารับบทนำหญิงในภาค 3

Halle Berry นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์เป็นแฟนตัวยงของหนัง John Wick อยู่แล้วก่อนตกลงรับเล่นภาค 3 Parabellum เธอจึงไม่ลังเลที่จะตกปากรับคำเพื่อนนักแสดงอย่าง Reeves ที่จะต้องออกกำลังกายและฝึกคิวบู๊อย่างหนักเพื่อรับบทนำหญิงของเรื่อง ซึ่งระดับเธอย่อมปรากฎตัวแบบไม่ธรรมดา เพราะใช้น้องหมาเป็นเพื่อนร่วมต่อสู้ด้วย Berry ฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อควบคุมน้องหมาระหว่างแสดงด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้ครูฝึกระหว่างการถ่ายทำ ซึ่งทำให้ทีมงานโดยเฉพาะทีมกล้องถ่ายทำได้อย่างสะดวกขึ้นเยอะ

เหตุผลที่ 5 ไข้ขึ้นถึง 40 องศาเซลเซียส แต่ป๋ายังถ่ายทำต่อ

ในวันถ่ายทำฉากนี้ใน John Wick 1 Reeves ไข้ขึ้นถึง 40 องศาเซลเซียส

ในวันถ่ายทำฉากนี้ใน John Wick 1 Reeves ไข้ขึ้นถึง 40 องศาเซลเซียส

ตามคำสัมภาษณ์ของผู้กำกับในสารคดีเบื้องหลังการถ่ายทำ John Wick ภาคแรก ในฉากคิวบู๊แบบลองเทคในไนท์คลับนั้น อย่างที่เห็น ๆ ว่า Reeves ถ่ายอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ความจริงแล้วในวันนั้น เขามีไข้สูงถึง 40 องศาเซลเซียสที่ควรไปนอนโรงพยาบาลมากกว่ามาถ่ายทำ แต่ด้วยสปิริตของนักแสดง Reeves ก็ได้ถ่ายทำฉากการต่อสู้ที่ยาวนั้นจนเสร็จสมบูรณ์ ด้วยการเรียนรู้และจดจำคิวกับสตั๊นแมนท์และทีมคิวบู๊ทุกคนได้แบบครบเป๊ะ 100% (ต้องปรบมือดัง ๆ ให้ป๋าแกจริง ๆ)

เหตุผลที่ 6 การต่อสู้ในฉากห้องกระจก…แรงบันดาลใจจากหนังของ Bruce Lee

ฉากในห้องกระจกของ John Wick ภาค 2

ฉากในห้องกระจกของ John Wick ภาค 2

ฉากต่อสู้ในห้องกระจกของ ฺBruce Lee ใน Enter to the Dragon (1973)

ฉากต่อสู้ในห้องกระจกของ ฺBruce Lee ใน Enter to the Dragon (1973)

ฉากดวลปืนของ James Bond ตอน The Man with The Golden Gun (1974

ฉากดวลปืนในห้องกระจกของ James Bond ตอน The Man with The Golden Gun (1974

ในทีแรกที่ผู้กำกับได้ไฟเขียวให้ทำภาคสองต่อนั้น เขานึกถึงฉากการต่อสู้ของตัวละครลี (นำแสดงโดย Bruce Lee) และมิสเตอร์ฮานที่เกิดขึ้นในห้องกระจก ในภาพยนตร์ Enter to the Dragon (1973) ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง มังกรประจัญบาน ซึ่งเป็นหนังเรื่องสุดท้ายในชีวิตของเขา (เสียชีวิตในปีนั้นก่อนหนังออกฉาย) และดังที่สุดของเขาด้วย ซึ่งถึงแม้ว่าในภาคสองจะไม่ได้เหมือนกับฉากบู๊ของบรู๊ซลีในเรื่องนั้นแบบเป๊ะ ๆ แต่หนังก็เต็มไปด้วยสไตล์ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องนั้น (ออกจะเหมือนไปทางหนัง James Bond ตอน The Man with The Golden Gun (1974) ที่มาถ่ายที่ประเทศไทยด้วยมากกว่า)

เหตุผลที่ 7 การให้บทบาทสำคัญกับนักแสดง LGBT เพื่อความเหมาะสมกับบท

Kate Dillon นักแสดงผู้ "ไม่ระบุเพศ" รับบทผู้ตัดสิน (AdjudicatorX

Kate Dillon นักแสดงผู้ “ไม่ระบุเพศ” รับบทผู้ตัดสิน (Adjudicator)

ในภาค 3 บท “ผู้ตัดสิน (Adjudicator)” ผู้ถูกส่งมาสะสางและชำระบัญชีของจอห์นจาก The Continental เดิมทีนั้น นักแสดงบทนี้จะต้องมีบุคลิกเป็นผู้ชายอ้วนและไม่มีคิ้วซึ่งแสดงเอกลักษณ์ของความแมน ๆ สมชายออกมา แต่ Reeves และผู้กำกับก็ได้พบนักแสดงที่จะมาเป็นอีกหนึ่งเพชรเม็ดงามของหนังเรื่องนี้อย่าง Kate Dillon นักแสดงที่มีเพศแบบไม่ระบุชี้ชัด (non-binary) ที่โด่งดังจากบทบาทในรายการทีวีชื่อดังในสหรัฐฯ อย่าง ฺBillion และซีรีส์ Orange is the New Black ซึ่งกับการยอมเขียนบทใหม่นี้เพื่อเธอนับเป็นการตัดสินใจถูก เพราะเธอได้มาสร้างความแปลกใหม่ และทำให้ตัวละครตัวนี้ดูโหดและคาดเดาไม่ได้มากขึ้น ในส่วนของ Kate Dillon นั้น เธอตอบตกลงเล่นหนัง John Wick 3 ทันทีที่ถูกทาบทามไป แม้ว่าเธอจะยังไม่รู้ว่าจะได้เล่นเป็นบทอะไรเลยก็ตาม

เหตุผลที่ 8 การระดมสมองของทีมคิดพล็อตเรื่องภาค 2

ก่อนจะตามล้างแค้น John Wick เกือบต้องไปตามหาลูกสาว (?) แบบในหนัง Taken เสียแล้ว

ก่อนจะตามล้างแค้น John Wick เกือบต้องไปตามหาลูกสาว (?) แบบในหนัง Taken เสียแล้ว

กว่าจะได้มาซึ่งพล็อตและบทของภาค 2 ที่สาแก่ใจแฟน ๆ หนังด้วยสเกลหนังที่ใหญ่ขึ้น โหดขึ้น แต่ก็ยังคงความหนักแน่น จริงจัง ให้คนดูเครียดตามได้ขนาดนี้นั้น แนวคิดของเรื่องก็ได้ผ่านการถกเถียงอย่างหนักของทีมเขียนบทและผู้กำกับที่มี Screen Junkies, Chad Stahelski และ David Leitch ที่จะสานต่อเรื่องราวของจอห์นไปต่าง ๆ นานา ก่อนจะลงเอยที่เวอร์ชันอย่างที่เห็นนั้น จอห์นเคยเกือบจะต้องไปช่วยลูกสาวจากตัวร้าย (ไม่แน่ชัดว่าตัวละครลูกสาวมาจากไหน หรือเป็นลูกสาวของเฮเลน วิค ภรรยาของจอห์นหรือไม่?) ซึ่งก็ดีไปอีกแบบที่หนังไม่ได้ลงเอยด้วยพล็อตแบบนั้นที่หนังจะกลายเป็น Taken ของลุง Liam Neeson ไป

เหตุผลที่ 9 ความกล้าในการตัดฉากที่ดี แต่ไม่จำเป็นทิ้งไปในภาค 1

ผู้กำกับภาค 1 จะเลือกนำเสนอเฉพาะฉากที่จำเป็นเท่านั้น แม้จะมีฟุตเทจดี ๆ ที่ถ่ายทำมามากมายก็ตาม

ผู้กำกับภาค 1 จะเลือกนำเสนอเฉพาะฉากที่จำเป็นเท่านั้น แม้จะมีฟุตเทจดี ๆ ที่ถ่ายทำมามากมายก็ตาม

เดิมทีนั้น หนังภาค 1 จะมีความยาวถึง 140 นาที (เกิน 2 ชั่วโมงที่ถือว่าเป็นหนังที่ยาวเกินปกติ) ก่อนที่เวอร์ชันสุดท้ายที่ฉายทั่วไป จะเหลือความยาวแค่ 101 นาที ผู้กำกับทั้ง 2 คนของภาคแรกให้สัมภาษณ์ไว้ในสารคดีเบื้องหลังของหนังว่า มีฉากป๋า Reeves ที่เดินเท่ ๆ จนแฟน ๆ ต้องกรี๊ดในบรรยากาศต่าง ๆ และการต่อสู้ระหว่างจอห์น วิคและตัวละครวิกโก ซึ่งเป็นฉากที่ดี แต่พวกเขาคิดว่ามันยาวเกินไป และวิกโกก็ไม่ใช่คู่ต่อสู้ที่มีราคาจนจอห์น วิคต้องให้ความสำคัญ นอกจากนี้ Basil Iwanyk ผู้อำนวยการสร้างยังบอกอีกว่า ซีนเปิดนั้นเดิมจะยาวกว่านี้ 3 เท่าเลยทีเดียว ต้องยอมรับในความกล้าตัดต่อให้หนังกระชับ ไม่เยิ่นเย้อของผู้กำกับ แม้จะมีช็อตดี ๆ อีกมากมาย

เหตุผลที่ 10 จำนวนเหยื่อที่ถูกจอห์นฆ่า แม้จะเยอะ…แต่ดูไม่เวอร์

๋John Wick กับเหยื่อกว่า 300 คนของเขาใน 3 ภาค

John Wick กับเหยื่อกว่า 300 ศพของเขาใน 3 ภาค

อย่างที่แฟนหนังหลายคนมานั่งนับว่า “จอห์น แรมโบ” (คนโหด ๆ นี่เขาชอบชื่อจอห์นกันใช่มั้ย?) จากแฟรนไชส์ Rambo the First Blood  ฆ่าคนไปในแต่ละภาคจำนวนมากเท่าไร จอห์น วิคก็ต้องตกในข่ายที่จะถูกนับจำนวนหัวในปริมาณคนที่ตายเพราะถูกเขาสังหารด้วยเหมือนกัน ภาค 1 มีผู้ตายไป 77 ศพ ภาค 3 94 ศพ และมากที่สุดที่ภาค 2 ถึง 124 ศพ แต่ขณะที่ดู คนดูก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการสังหารคนอย่างสะเปะสะปะและดาษดื่น เพราะการฆ่านั้น เป็นไปตามเนื้อเรื่องพาไปอย่างมีเหตุผล และเป็นไปด้วยคิวบู๊ที่เป็นศิลปะมากไปกว่าการเชือดสังหารโหด ซึ่งในทีนี้ ก็ขอส่งป๋าจอห์น วิค ท้าชิงกับจอห์น แรมโบ เตกีลา หยวน (จากหนัง Hard Boiled (1992) ทะลักจุดแตก) หรือเดอะ ไบรด์ จากหนัง Kill Bill (2003-2004) ได้อย่างสมศักดิ์ศรี

อ้างอิง

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส