Our score
5.2[รีวิว] มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ – ปักษ์ใต้พอปคัลเจอร์ตามเส้นประของพชร์ อานนท์
จุดเด่น
- มีเพลง เลิกคุยทั้งอำเภอเพื่อเธอคนเดียว ให้ฟังอีกเวอร์ชัน
จุดสังเกต
- เรื่องราวซ้ำซาก ไม่ได้ให้แง่มุมของเรื่องราวความรักใหม่ ๆ เท่าที่ควร
- จุดที่พูดถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นยังไปไม่ถึง เหมือนงานเก่า ๆ ของนายหัวเอกชัย ทั้ง เทริด และ โนราห์
- การแสดงของนักร้องและเน็ตไอดอลยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก
-
ตรรกะ ความสมเหตุสมผลของบทภาพยนตร์
5.0
-
คุณภาพงานสร้าง
6.0
-
คุณภาพนักแสดง
5.0
-
ความสนุกตามแนวหนัง
5.0
-
ความคุ้มค่าตั๋ว
5.0
เอกชัย ศรีวิชัย ชื่อนี้สำหรับวงการหนังมักมาพร้อมคำว่า “นายหัว” ถึงแม้จะไม่ได้โด่งดังในฐานะเจ้าของสวนยาง แต่ด้านวัฒนธรรมแล้วคงปฏิเสธได้ยากว่าชื่อชั้น นายหัวเอกชัย ขวัญใจคนใต้ยากจะหาใครเทียบจริง ๆ และสิ่งที่ถือว่าหักศอกความคาดหวังไม่น้อยคือการดอดมาทำหนังตลกเป็นผลงานกำกับเรื่องที่ 3 หลังทำหนังอนุรักษ์วัฒนธรรมปักษ์ใต้อย่าง โนราห์ ทั้ง เทริด (2559) และ โนราห์ (2561) แต่ก็ยังไม่วายพูดถึงวัฒนธรรมวงการเพลงปักษ์ใต้อยู่ดี
มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ แค่ชื่อสร้อยที่ตามหลังยืดยาวก็บอกแล้วว่าจะต้องชู เจนนี่ และ ลิลลี ได้หมดถ้าสดชื่น ศิลปินปักษ์ใต้วัยรุ่นรุ่นใหม่มารับบทนำ โดยเล่าเรื่องของ ดอกผักบุ้ง (เจนนี) ลูกสาวของพ่อบุญล้อม (เอกชัย ศรีวิชัย) เจ้าของวงดนตรี รำวงเวียนครกแม่เรียงที่กำลังซบเซา แม้พ่อจะอยากให้เธอสานต่อเจตนารมณ์และรักษาวัฒนธรรมรำวงเวียนครกไว้แต่ความฝันของเธอกลับต้องการเจิดจรัสในฐานะนักร้องอินดีเพลงรุ่นใหม่
และแค่เรื่องความฝันยังวุ่นวายไม่พอ เรื่องหัวใจของเธอกับ พี่หัวไข่ (ไพศาล ขุนหนู) ฮีโรคนเดียวในชีวิตเธอก็ถูกพ่อกีดกันด้วยความลับบางอย่างที่เกี่ยวพันกับการจากไปของแม่ แม้พี่หัวไข่จะดีกับเธอแค่ไหนแต่พ่อก็มักจะต้อนรับเขาด้วยปลายกระบอกปืนทุกครั้งที่มาเหยียบบ้าน ในขณะที่พี่หัวไข่เองก็ยังไม่อาจหาความจริงเกี่ยวกับพ่อตัวเองจากแม่ที่ป่วยทางจิตได้ทั้งที่มันอาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะได้รู้ว่าทำไมพ่อบุญล้อมถึงเกลียดเขาเข้ากระดูกดำ
โดยเนื้อหาและปมประเด็นของหนังดูจะพูดถึงอย่าง 2 เรื่องนั่นคือการยอมรับและให้อภัย โดยเห็นได้ชัดเจนจากเรื่องความรักของดอกผักบุ้งกับพี่หัวไข่ตามที่กล่าวไป แต่อีกแง่หนึ่งเรื่องการยอมรับแม้ไม่ได้เป็นประเด็นหลักในส่วนของพลอตเรื่อง แต่เราก็แอบเห็นการนำเสนอการรุกล้ำของดนตรีลูกทุ่งสมัยใหม่ที่เริ่มกลืนความพอปเน้นให้วัยรุ่นดิ้นกันมัน ๆ มาแทนที่เพลงลูกทุ่งรำวงเวียนครกของชาวปักษ์ใต้ผ่านฉากเปิดเรื่องที่พ่อบุญล้อมพบว่าผู้ชมของเขาเทไปดูคอนเสิร์ตของลูกทุ่งไอดอลไปหมดแล้ว
และจากฉากดังกล่าว มันก็ค่อย ๆ ขยายผลเป็นซีนแฟลชแบ็กแทรกมาในเรื่องเป็นระยะถึงความพยายามฝึกให้ลูกสาวร้องเพลงรำวงอย่าง มนต์รักดอกผักบุ้ง อันเป็นที่มาของชื่อเรื่อง ซึ่งมันก็ไม่น่าแปลกใจอะไรเพราะการหยิบวัฒนธรรมปักษ์ใต้มาทำหนังก็ดูจะเป็นลายเซ็นชัดเจนของนายหัวเอกชัยอยู่แล้ว แต่ก็เหมือนนายหัวเองก็คงต้องยอมรับเช่นกันว่า ถ้าทำหนังเกี่ยวกับรำวงเวียนครกเลยก็อาจหาคนดูยาก เลยต้องพยายามหานักแสดงหรือนักร้องแม่เหล็กมาดึงดูดคนดูให้ได้
ดังนั้นการหยิบเจนนี และ ลิลลี ได้หมดถ้าสดชื่น มาชูโรงทำการตลาดก็ย่อมการันตีคนดูมากกว่า และพอแถ ๆ ไปได้ว่านี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดนตรีภาคใต้ได้เหมือนกัน แต่ความผิดพลาดอย่างหนึ่งที่ดูย้อนแย้งมาก ๆ คือในขณะที่เรื่องจริงเพลง เลิกคุยทั้งอำเภอเพื่อเธอคนเดียว ดังในโซเชียลและยูทูบ แต่ในหนังยังคงมีตัวละครแมวมองหานักร้องและเจ้าของค่ายจอมหื่นเหมือนฉากที่พูดถึงความโสมมของวงการเพลงไทย ไม่ต่างจากหนังไทยเมื่อร่วม 30-40 ปีก่อนอยู่เลย
แสดงให้เห็นแนวคิดอนุรักษ์ของนายหัวเอกชัยที่ยอมโป๊ะแตกกับรายละเอียดต่าง ๆ ในหนังเพื่อยืนตามประสบการณ์และความเชื่อของตัวเองมากไปหน่อย เราเลยได้เห็นตัวละครคลีเช ๆ ในหนังไทยทั้งพ่อตาสุดโหด (ที่ไว้หนวดจิ๋มแบบฮิตเลอร์) ลูกเขยที่พ่อตาชิงชัง ลูกสาวที่มีความฝันสวนทางกับพ่อตัวเองที่แทบจะลอกจาก เทริด ผลงานเก่าตัวเองของนายหัวมาเลย ความผิดบาปในอดีตที่สูญเสียคนรัก ไปจนถึงการอัดเพลงลูกทุ่งยุคใหม่ดัง ๆ และมุกรีไซเคิลพร้อมพี่หม่ำ จ๊กมกมาเรียกแขก แบบยัดอะไรที่ขายได้แกยัดหมด จนสูญเสียความออเตอร์ (Author) ของนายหัวในฐานะคนทำหนังวัฒนธรรมสุดคราฟต์ไปอย่างน่าเสียดาย
กระนั้นหากเรามองข้ามความโป๊ะแตกต่าง ๆ นานาของบทภาพยนตร์แล้ว เรายังได้เห็นการ “บูชาครู” ผ่านงานกำกับฉากตลกที่ต้องบอกว่าหากไม่มีชื่อ เอกชัย ศรีวิชัย เป็นผู้กำกับอาจเข้าใจได้ว่า พี่พชร์ อานนท์ ทำหนังเรื่องนี้ต่อจาก พจมานสว่างคาตา ได้เลย เพราะลักษณะการเล่าเรื่องแต่ละซีนจะไม่ได้สนความต่อเนื่องทั้งเรื่องราวและอารมณ์ของหนัง และการกำกับฉากดราม่าแบบทีเล่นทีจริง โดยฉากจะซึ้งก็ดันอดเล่นมุกไม่ได้อีก
ยิ่งทั้งเจนนี ลิลลี หรือบรรดานักแสดงรับเชิญที่โด่งดังมาจากกระแสในโซเชียลไม่อาจแสดงได้ถึงบทบาทแล้ว ผลลัพธ์กลับกลายเป็นว่าคนดูต้องมาดูนักแสดงสมัครเล่นที่เหมือนมาท่องบทมากกว่าฝึกการแสดงมาดีแล้ว ยิ่งเจนนีที่มีบทบาทและบทพูดมากกว่าเพื่อนคือเสน่ห์หายไปแล้วเมื่อเธอเริ่มเปิดปากพูดและลุ้นทุกครั้งให้เธอพูดให้จบประโยคโดยไม่พูดยานคางแบบที่เห็นในหนัง ต่างกับ ลิลลี บทที่เอาจริง ๆ คือไม่มีในเรื่องก็ได้ แต่เธอก็ช่วยเพิ่มไดนามิกให้หนังไม่เอื่อยจนเกินไปและทำให้ฉากที่เหมือนจะดรอปมีชีวิตขึ้นมาได้
แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ถือเป็นทางเลือกที่นายหัวเอกชัย เดินตามสไตล์กำกับของพี่พชร์ อานนท์ มาก็ได้ ซึ่งหากใครชอบหนังพี่พชร์ อานนท์ เป็นทุนเดิมก็อาจคลิกกับมุกสัปดน ๆ ในหนังได้ไม่ยากครับ และแม้จะพึ่งพาการแสดงและการดำเนินเรื่องให้สนุกไม่ได้ แต่บรรดานักแสดงหน้าตาดีก็อาจจะพอทำให้ดูหนังเรื่องนี้ได้เพลิน ๆ อยู่ครับ รวมถึงนักแสดงรับเชิญอย่าง พี่ฮาย อาภาพร นครสวรรค์ ที่เหมือน MVP ของหนังมาปล่อยให้ฮาก๊ากได้ 1 ฉากท่ามกลางมุกฝืด ๆ ที่หนังปล่อยเรี่ยราดทั้งเรื่อง.
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส