[รีวิว] The Lost Prince เจ้าชายตกกระป๋อง – นิทานเรื่องเก่า
Our score
8.2

[รีวิว] The Lost Prince เจ้าชายตกกระป๋อง – นิทานเรื่องเก่า

THE LOST PRINCE เจ้าชายตกกระป๋อง

ผู้กำกับ : มิเชล อาซานาวิซิอุส (Michel Hazanavicius)
นักแสดง : โอมาร์ ซี (Omar Sy) ซารา กาเย (Sarah Gaye) เคย์ลา ฟาร์ลา(Kayla Farla) เบเรนีซ เบโช(Bérénice Bejo)

จุดเด่น

  1. เล่าเรื่องราวพ่อลูกได้น่ารักมาก
  2. งานวิช่วลสวยงาม น่าจดจำ
  3. บทภาพยนตร์พูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงได้ดี และซาบซึ้งใจในแง่การเป็นหนังครอบครัว.

จุดสังเกต

  • ตรรกะ และความดีงามของ บทภาพยนตร์

    8.0

  • คุณภาพงานสร้าง

    9.0

  • คุณภาพนักแสดง

    8.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    8.0

  • ความคุ้มค่าตั๋ว

    8.0

https://youtu.be/WhuLbtGdWiM

เลื่อนกำหนดฉายเดิมจากเดือนมีนาคมล่วงมายันเดือนกรกฎาคมจนได้สำหรับ The Lost Prince ผลงานของ มิเชล ฮาซานาวีเชียส ที่เคยส่ง The Artist (2011) หนังที่เป็นเหมือนจดหมายรักต่อยุคหนังเงียบเข้าชิงออสการ์มาแล้ว และคราวนี้ฮาซานาวีเชียสก็เลือกจับเรื่องราวครอบครัวเล็ก ๆ อีกทั้งยังเป็นครอบครัวคนผิวสีในฝรั่งเศสมาพูดถึงความสัมพันธ์แบบพ่อ ๆ ลูก ๆ ชวนซึ้งก็นับว่าเป็นโปรแกรมที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่งเลยทีเดียว

โดยใน The Lost Prince กล่าวถึงครอบครัวเล็ก ๆ ครอบครัวหนึ่งที่มีพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ความสุขที่สุดในชีวิตคือการได้กลับไปเล่านิทานสนุก ๆ ให้โซเฟียลูกสาวตัวน้อยฟัง นิทานเรื่องแล้วเรื่องเล่าในรายทางเติบโตก็มาถึงจุดจบของมันเมื่อโซเฟียในวัย 12 เริ่มเป็นสาวและอยากได้พื้นที่ส่วนตัวจากพ่อ ในขณะเดียวกันคนเป็นพ่อเองก็ตกอยู่ในสถานะไม่ต่างจากเจ้าชายตกกระป๋องที่กำลังจะถูกลืมเลือนไปในโลกของนิทาน เมื่อโซเฟียได้เจอเจ้าชายคนใหม่และความรักครั้งแรกที่ไม่ได้มาจากพ่อของเธอ

WHAT THE FACT รีวิว The Lost Prince
WHAT THE FACT รีวิว The Lost Prince

ดูจากพลอตเรื่องและตัวอย่างหนังแล้วก็พอเดาได้ไม่ยากว่ามันจะมาในแนวทางหนังครอบครัวแฟนตาซี และมันก็มาในทางนั้นจริง ๆ ตั้งแต่การโฟกัสเรื่องราวไปที่พ่อเลี้ยงเดี่ยวกับลูกสาวที่เวลาที่เปลี่ยนผ่านและการเติบโตของลูกกำลังส่งผลต่อความสำคัญของคนเป็นพ่อที่ชัดเจนมากว่าลูกสาวคือสิ่งมีค่าที่สุด ขนาดว่าตัวเองยอมโดนด่าเพราะไปเปิดปิดประตูรถลูกค้าที่อู่เพื่อหาเสียงเอี๊ยดอ๊าดไว้เล่านิทานให้ลูกสาวฟังตอนต้นเรื่องก็บอกได้ชัดเจนไม่แพ้ซีนแฟนตาซีโลกนิทานที่คนเป็นพ่อกลายเป็นเจ้าชายแต่งตัวตลก ๆ และเป็นภาพแทนการไม่พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของคนเป็นพ่อ

แต่ระดับมิเชล ฮาซานาวีเชียสคงไม่ปล่อยให้คนดูเบื่อกับการเล่าเรื่องเล็ก ๆ และคอนฟลิกหรือปมขัดแย้งที่เล็กน้อยโดยไม่หยิบยื่นความตื่นตาตื่นใจให้คนดูหรอกนะครับ ตรงกันข้ามงานวิชวลของหนังทั้งเรื่องมีจุดให้เราได้ตื่นตาตื่นใจตลอดตั้งแต่การใช้ป้ายโฆษณามาบ่งบอกสภาวะของตัวละครหรือกระทั่งคำพูดที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตตัวละครไปจนถึงงานสเปเชียล เอฟเฟกต์ที่จัดเต็มมากกับโลกในนิทานที่เชื่อว่าเด็ก ๆ ดูน่าจะชอบแน่นอน

WHAT THE FACT รีวิว The Lost Prince

จุดเด่นในงานสร้างสรรค์ของมิเชล ฮาซานาวีเชียสสำหรับหนังเรื่องนี้คือการเล่าเรื่องเล็ก ๆ ให้ดูยิ่งใหญ่ด้วยองค์ประกอบทั้งบทภาพยนตร์และเทคนิกทางภาพยนตร์ไปจนถึงองค์ประกอบศิลป์ที่ดูใส่ใจในการจัดวางเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งซีนที่ถือเป็นหัวใจของหนังอย่างการเดินกลับบ้านของพ่อกับลูกสาวที่พูดถึงอดีต ปัจจุบัน อนาคต ที่เรียบง่ายก็ยังเอามาสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับผู้ชมโดยเฉพาะคุณพ่อที่มีลูกสาว เราเตือนคุณแล้วว่าต้องพกผ้าเช็ดหน้าเข้าโรงกันเลยทีเดียว

WHAT THE FACT รีวิว The Lost Prince
คลิกที่รูปเพื่อเช็ครอบฉายและซื้อบัตรชมภาพยนตร์ได้ทันที

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส