ยุค 90s มีนักแสดง 2 คนที่หันมาลองงานผู้กำกับ แล้วก็กลายเป็นการสร้างเกียรติประวัติบนเวทีออสการ์ คนแรกคือ เควิน คอสต์เนอร์ พระเอกตลอดกาลที่หันมาประเดิมงานผู้กำกับครั้งแรกใน Dances with Wolves ปี 1990 หนังเข้าชิงออสการ์ถึง 12 รางวัล แล้วคว้าไปได้ 7 รางวัล รวมไปถึงรางวัลใหญ่อย่าง ผู้กำกับยอดเยี่ยม และ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นับเป็นการประเดิมงานกำกับครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก

เมล กิบสัน ในมาดผู้กำกับ

ผ่านพ้นมา 5 ปี พระเอกฮอลลีวูดอีกคนก็ไปสร้างเกียรติประวัติบนเวทีออสการ์อีกครั้ง และครั้งนี้เป็นทีของ เมล กิบสัน พระเอกหนังแอ็กชันที่สร้างชื่อมาจาก Mad Max และ Lethal Weapon เมล กิบสัน เคยประเดิมงานกำกับมาแล้วในหนังเล็ก ๆ อย่าง The Man Without a Face เว้นช่วงไป 2 ปี เขาก็อาจหาญกับงานสเกลใหญ่อย่าง BraveHeart หนังเอปิกย้อนยุคที่ใช้ทุนสร้างถึง 70 ล้านเหรียญ ซึ่งก็นับว่าสูงมากแล้วในยุคนั้น และเขาก็ไม่ทำให้นายทุนผิดหวัง เมื่อหนังกวาดรายได้ทั่วโลกไปมากถึง 213 ล้านเหรียญ และที่สำคัญหนังสร้างชื่อด้วยการเข้าชิงออสการ์มากถึง 10 รางวัล และคว้ามาสำเร็จได้ 5 รางวัล ซึ่งก็รวมถึง 2 รางวัลใหญ่อย่าง ผู้กำกับยอดเยี่ยม ตกเป็นของ เมล กิบสัน และ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ผ่านมา 25 ปี เมล กิบสัน ก็ยังพยายามรักษาคุณภาพในผลงานกำกับของเขาตลอดมา เขามีผลงานกำกับหลังจาก BraveHeart อีกแค่ 3 เรื่องเท่านั้น แล้วทุกเรื่องก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์

  • The Passion of the Christ (2004) เข้าชิง 3 รางวัล
  • Apocalypto (2006) เข้าชิง 3 รางวัล
  • Hacksaw Ridge (2016) เข้าชิง 6 รางวัล คว้ามาได้ 2 รางวัล

ผลงานกำกับของ เมล กิบสัน ยังคงได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากบรรดานักวิจารณ์ แต่ก็ยังไม่มีผลงานเรื่องไหนที่มีคุณภาพเทียบเคียงได้กับ BraveHeart ที่ภาพและเนื้อหายังคงอยู่ในใจผู้ชมตลอดมา หลาย ๆ ช็อตจากหนังก็ยังคงพบเห็นได้บนโลกออนไลน์ ทั้งการเอามาล้อเป็น Meme หรือการหยิบถ้อยคำปลุกใจของ วิลเลียม วอลเลซ มาทำเป็น Quote ที่น่าจดจำจากหนัง

ผลงานกำกับเรื่องต่อไปของเขาคือ The Wild Bunch เป็นการรีเมกหนังคาวบอยคลาสสิกเมื่อปี 1969 รอบนี้เขาจะได้กำกับ เจมี่ ฟอกซ์, ปีเตอร์ ดิงค์เลก และ ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ หนังมีกำหนดฉายปี 2022 เชื่อว่าจะต้องเป็นหนังคาวบอยที่เลือดกระฉูด อันเป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนในทุกเรื่องที่ เมล กิบสัน กำกับ

จากนี้เรามาอ่าน 20 เกร็ดน่าสนใจจาก BraveHeart กันครับ

แรนดัล วอลเลซ ผู้เขียนบทภาพยนตร์

1.นอกจากหนังจะสร้างชื่อให้ เมล กิบสัน ในฐานะผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จ คว้าออสการ์มาได้ หนังยังสร้างชื่อให้กับ แรนดัลล์ วอลเลซ มือเขียนบทโนเนม ที่เคยมีแต่ผลงานเขียนบททีวีซีรีส์ พอได้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องแรก ก็ได้เข้าชิงออสการ์เลย ที่มาของบทภาพยนตร์ก็น่าสนใจครับ แรนดัลล์ ไปเที่ยวสก็อตแลนด์ แล้วได้ไปเยี่ยมปราสาทเอดินบะระ ที่หน้าปราสาททีอนุสาวรีย์ของ วิลเลียม วอลเลซ และ โรเบิร์ต เดอะ บรู๊ซ ด้วยความสนใจใคร่รู้ แรนดัลล์ เลยถามมัคคุเทศน์ว่า 2 ท่านนี้คือใคร มัคคุเทศน์ก็เลยเล่าประวัติโดยย่อให้เขาฟัง กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้แรนดัลล์สนใจเรื่องราวของวิลเลียม วอลเลซ เมื่อกลับมาก็ลงมือเขียนเรื่องราวของเขาออกมาเป็นบทภาพยนตร์


เมล กิบสัน กับ แรนดัลล์ วอลเลซ

2.แรนดัลล์ วอลเลซ มีวิธีการเขียนที่แปลก เขาเขียนเรื่องของวิลเลียม วอลเลซ โดยไม่ได้ค้นคว้าศึกษาประวัติศาสตร์อย่างละเอียดแต่อย่างใด เพราะเขาต้องการเน้นไปที่อารมณ์ดราม่าของเรื่องราว พอเขียนเสร็จแล้วเขาค่อยมาศึกษาประวัติศาสตร์โดยละเอียด แล้วค่อยเพิ่มเติมหรือแก้ไขบทภาพยนตร์อีกครั้ง นั่นจึงเป็นเหตุให้หนังโดนตำหนิในเรื่องที่ว่าเรื่องราวของเขาไม่ตรงตามประวัติศาสตร์ที่แท้จริง ซึ่งแรนดัลล์ก็ไม่ได้ปฏิเสธในข้อนี้ เพราะเขาให้ความสำคัญกับเรื่องราวดราม่าของตัวละครเป็นหลัก


3.เดิมทีหนังมีฉากเครดิตต้นเรื่อง ที่เป็นผลงานของ ไคล์ คูเปอร์ นักออกแบบเครดิตต้นเรื่องชื่อดัง ผลงานของไคล์ก็ตัวอย่างเช่น Se7en, Spider-Man, Iron Man และ American Horror Story แต่สุดท้ายก็ถูกตัดออกไป เพราะ เมล กิบสัน อยากให้หนังเปิดเรื่องมาแล้วเข้าสู่เนื้อหาเลย


4.เมล กิบสัน ถ่ายหนังตามลำดับเนื้อหาเรื่องราว ฉากแรกที่หนังถ่ายทำก็เป็นฉากแรกตามบทภาพยนตร์


โดนัล กิบสัน มาเล่นเป็นตัวประกอบ

5.โดนัล กิบสัน พี่ชายของ เมล กิบสัน โผล่มาเล่นเป็นตัวประกอบในหนังด้วย บทของเขาคือหัวหน้าชนเผ่าหนึ่งที่มาร่วมทัพกับ วิลเลียม วอลเลซ ในศึกใหญ่ช่วงกลางเรื่อง


เร่งสปีดเพื่อเพิ่มความรุนแรงในฉากรบ

6.เมล กิบสัน ยอมรับว่าเอาประสบการณ์จากการร่วมงานกับผู้กำกับเก่ง ๆ มาใช้ใน BraveHeart อย่างเช่นในฉากรบสุดโหด เขาก็จะถ่ายทำด้วยความเร็วที่แตกต่างกัน แล้วก็มาเร่งในบางจังหวะเพื่อเพิ่มความรุนแรงในฉากรบ ซึ่งเป็นไอเดียที่เขาได้มาจาก จอร์จ มิลเลอร์ ผู้กำกับ Mad Max และเอาเทคนิคในการบันทึกภาพบรรยากาศมุมกว้างมาจาก ปีเตอร์ เวียร์ ที่เขาเคยร่วมงานด้วยใน Gallipoli และ The Year of Living Dangerously


ผู้กำกับจำเป็น ที่ลงเอยด้วยการคว้าออสการ์

7.เดิมทีแล้ว เมล กิบสัน ต้องการกำกับอย่างเดียว ไม่ได้ต้องการแสดงนำเพราะว่าขณะนั้นเขาอายุ 38 ปีแล้ว ตัววิลเลียม วอลเลซ ตามบทแล้วนั้นอยู่ในช่วงอายุ 20 กว่าปี แต่พาราเมาท์พิจารณาแล้วว่าสตูดิโอค่อนข้างเสี่ยงที่จะให้เมล กิบสัน กำกับอย่างเดียว เพราะเมลเคยกำกับ The Man Without a Face หนังดราม่าเรื่องเล็ก ๆ มาแค่เรื่องเดียว แต่ในวันนั้นชื่อเสียงของ เมล กิบสัน ในฐานะนักแสดงยังมีพาวเวอร์สามารถดึงคนมาดูหนังได้อยู่ พาราเมาท์ก็เลยยื่นคำขาดว่าจะให้ทุนสร้างก็ต่อเมื่อ เมล กิบสัน ยอมรับบทนำเองด้วย


8.ในฐานะผู้กำกับ เมล กิบสัน เลยรับหน้าที่ออดิชันนักแสดงในแต่ละบทบาทด้วยตัวเอง แล้วเขาก็มีวิธีเฉพาะตัว เมลไม่ได้ให้นักแสดงแต่ละคนมาอ่านบทในขั้นตอนออดิชัน แต่เขาเลือกใช้วิธีนั่งโต๊ะจิบชาแล้วสนทนากัน


9.ผู้สืบเชื้อสายของ วิลเลียม วอลเลซ จริง ๆ มาร่วมแสดงเป็นตัวประกอบด้วย พวกเขาจะมายืนล้อมรอบวิลเลียม วอลเลซ ในฉากเปิดก่อนเข้าสู่การรบ ส่วนแรนดัลล์ วอลเลซ ผู้เขียนบทภาพยนตร์นั้น แค่บังเอิญมีนามสกุลเหมือนกัน แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องทางสายเลือด


Woad หรือการเพนต์หน้าเพื่อออกรอบที่กลายเป็นภาพจำจากหนัง

10.อีกหนึ่งภาพจำจาก BraveHeart ก็คือใบหน้าของ วิลเลียม วอลเลซ และเหล่านักรบที่ทาหน้าด้วยสีฟ้า เรียกได้ว่าเป็นเอกลัษณ์ของหนังเลยก็ว่าได้ แต่จุดนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่หนังโดนตำหนิว่า “ผิดยุคสมัย” เพราะการทาหน้าในการรบนั้นมีชื่อจำเพาะว่า “Woad” แล้วก็เคยมีการทาหน้าแบบนี้เมื่อประมาณพันปีที่แล้ว ก่อนเหตุการณ์ในหนัง

ยังมีอีก 10 เกร็ดน่าสนใจในหน้า 2

โลอิส เบอร์เวล กับ เมล กิบสัน

11.ยังอยู่ที่เรื่อง “Woad” หรือการระบายสีหน้าก่อนออกรบ เดิมทีนั้น เมล กิบสัน ต้องการให้เขียนสัญลักษณ์แทนไม้กางเขนบนหน้าเขา แต่ โลอิส เบอร์เวล ผู้รับผิดชอบด้านแต่งหน้าแย้งว่า เธอออกแบบให้ทาครึ่งหน้าเมลเป็นสีฟ้าจะดูดีกว่า ซึ่งเมลก็ยอมให้ในที่สุด แล้วการตัดสินใจของโลอิสก็ไม่ผิดจริง ๆ คนดูจำหน้าของเมล กิบสัน ทาสีฟ้าครึ่งหน้ากันได้จนทุกวันนี้ แล้ว โลอิส เบอร์เวล ก็คว้ารางวัลออสการ์ สาขาแต่งหน้ายอดเยี่ยม จากเรื่องนี้


ทหารจริงมาเล่นเป็นตัวประกอบในหนัง

12.นักรบในเรื่องคือทหารจริง ๆ เป็นทหารมาจากกองทัพบกไอร์แลนด์ที่ถูกยืมตัวมาให้แสดงเป็นเหล่าทหารในเรื่อง แม้ว่าจะได้ทหารมาร่วมแสดงมากถึง 1,600 – 2,000 นายแต่ก็ยังดูไม่มากพอ เหล่านักแสดงประกอบจำเป็นก็เลยต้องแสดง 2 รอบ ครั้งแรกใส่ชุดเป็นทหารสก็อต แล้วอีกครั้งก็เปลี่ยนชุดเป็นทหารอังกฤษ ฉากรบนี้ใช้เวลาถ่ายทำยาวนานถึง 6 สัปดาห์


โรเบิร์ต เดอะ บรู๊ซ

13.ถ้าอ้างอิงตามประวัติศาสตร์จริงแล้ว ฉายา BraveHeart นั้นไม่ได้เป็นของ วิลเลียม วอลเลซ แต่เป็นของ โรเบิร์ต เดอะ บรู๊ซ ในหนังรับบทโดย แอนกัส แม็กฟาดเย็น


เอ็ดเวิร์ด ที่ 2

14.จุดที่บิดเบือนประวัติศาสตร์ก็คือ การสร้างบุคลิกของ เอ็ดเวิร์ดที่ 2 (รับบทโดย ปีเตอร์ แฮนลี) ว่าเป็นเกย์ แต่ในประวัติศาสตร์จริงนั้น เอ็ดเวิร์ดที่ 2 มีลูก 5 คน จากชายา 2 คน แล้วบุคลิกจริงของเขานั้นเป็นชายที่แข็งแรง บึกบิน เหมือนพระบิดา ตรงกันข้ามกับในหนังถูกสร้างภาพลักษณ์ให้ผอม แล้วก็ดูขลาด รวมไปถึงฉากที่พ่อโยนชู้รักของเขาออกทางหน้าต่าง นั่นก็ถูกเขียนเสริมเติมแต่งขึ้นทั้งหมด


ฉากโยนออกนอกหน้าต่าง ชนวนดราม่า

15.แล้วฉากที่กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดโยนชู้รักของลูกชายออกนอกหน้าต่างนี่ล่ะ ที่กลายเป็นประเด็นดราม่านอกจอ เมื่อกลุ่มรักร่วมเพศไม่ชอบใจฉากนี้ แล้วยกขบวนประท้วงเมล กิบสัน กันในหลายประเทศ กล่าวหาว่าเมล กิบสัน ใส่ฉากนี้เข้ามาในหนังเพราะว่า เมล กิบสัน เป็นพวก homophobic (ต่อต้านกลุ่มคนรักร่วมเพศ) ทำให้เมลต้องออกมาอธิบายถึงฉากนี้ว่า
“การที่กษัตริย์โยนตัวละครนั้นออกนอกหน้าต่างไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นเกย์ แต่ที่ทำเพราะว่าเขามีอาการทางโรคประสาท”


สัมพันธ์สวาทระหว่างเจ้าหญิงอิซาเบลลา กับ วิลเลียม วอลเลซ

16.อีกจุดที่เป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์อย่างมากก็คือ การเขียนให้ วิลเลียม วอลเลซ ได้หลับนอนกับเจ้าหญิงอิซาเบลลา ส่งผลให้เธอตั้งครรภ์ เพราะว่าตามประวัติศาสตร์จริงแล้ว ในปีนั้นเจ้าหญิงอิซาเบลลายังอยู่ในฝรั่งเศส และเพิ่งมีพระชนมายุแค่ 3 ขวบเท่านั้น เธอได้อภิเษกกับเอ็ดเวิร์ดที่ 2 จริง แต่เป็นตอนที่เอ็ดเวิร์ดที่ 2 ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แล้ว ทั้งคู่ยังมีพระโอรสด้วยกันนามว่า เอ็ดเวิร์ดที่ 3 ซึ่งประสูติหลังจากที่วิลเลียม วอลเลซ ตายไปแล้ว 7 ปี BraveHeart นี่ดูเอาบันเทิงได้อย่างเดียวจริง ๆ ห้ามยึดถืออ้างอิงเหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์จริงเลย


ตามประวัติศาสตร์จริง ทหารสก็อตไม่ได้ใส่กระโปรง

17.ทหารสก็อตในยุคนั้นยังไม่ได้ใส่กระโปรง (Kilt)กัน เพิ่งจะมีการใส่กระโปรงกันในอีก 400 ปี หลังจากเหตุการณ์ในหนัง


โซฟี มาร์โซว์ และ เมล กิบสัน

18.เรื่องนี้ร้อง “ห๊ะ” ได้เลย เมล กิบสัน ได้ชื่อว่า “จอมแกล้ง” ในกองถ่าย โซฟี มาร์โซว์ นักแสดงผู้รับบท เจ้าหญิงอิซาเบลลา เผยเรื่องนี้กับนิตยสาร Entertainment Weekly ว่าเธอก็เคยโดน เมล กิบสัน แกล้งมาแล้ว ในช่วงที่กำลังพักกองอยู่นั้น เมล ก็เปิดจุ๊ดจู๋ให้เธอดูแวบนึง เขาให้เหตุผลว่าเพื่อทำให้กองถ่ายครึกครื้น


หนังของเมล กิบสัน ขึ้นชื่ออยู่แล้วในเรื่องความโหด

19.แม้ว่าหนังจะเต็มไปด้วยความรุนแรงในฉากรบ แต่ในเวอร์ชันตัดต่อแรกนั้น มีฉากรุนแรงกว่านี้มาก แต่เมล กิบสัน ต้องตัดออกไป เพราะไม่เช่นนั้นหนังจะได้เรต NC-17 พอตัดออกไปแล้วหนังก็เลยได้เรต R เพราะภาพความรุนแรงในสนามรบ


20.ใน Wikileaks เผยเนื้อหาจากอีเมลที่ขโมยมาจาก Sony ว่าทางสตูดิโอเคยมีแผนจะสร้างภาคต่อของ BraveHeart ในชื่อเรื่องว่า Lion Rampant ซึ่งจะเล่าเรื่องของ โรเบิร์ต เดอะ บรู๊ซ แล้วให้ ทอม ฮิดเดิลสตัน รับบทนำ ส่วน โซฟี มาร์โซว์ กลับมารับบทเดิม แต่ไม่มีการแจ้งเหตุผลว่าทำไมโพรเจกต์ถึงไม่คืบหน้า

อ้างอิง

อ้างอิง