Release Date
04/12/2020
MANK / Netflix / 134 Minutes
ผู้กำกับ : เดวิด ฟินเเชอร์ / นักแสดงนำ:แกรี่ โอลด์แมน,อแมนด้า ไซย์ฟริด,ชาร์ลส์ แดนซ์
Our score
8.0[รีวิว] Mank – บาปกรรมของนักเล่าเรื่อง
จุดเด่น
- บทหนังพาเราตาม แมงค์ ไปรู้จักกับวงการฮอลลีวูดยุคสตูดิโอรุ่งเรืองได้อย่างมีสีสัน
- แกรี โอลด์แมน รับบทแมงค์ได้อย่างยอดเยี่ยม
- เป็นหนังเดวิด ฟินเชอร์ที่ตัวละครมีด้านอ่อนโยนและน่าเอาใจช่วยที่สุดตัวหนึ่ง
- หนังสนุกอย่างไม่น่าเชื่อแม้จะขับเคลื่อนด้วยบทสนทนาเป็นหลัก
จุดสังเกต
-
ความลงตัวของบทภาพยนตร์
8.0
-
คุณภาพงานสร้าง
8.0
-
คุณภาพนักแสดง
8.0
-
ความสนุกตามแนวหนัง
8.0
-
ความคุ้มค่าเวลาในการติดตามชม
8.0
ในโลกแห่งภาพยนตร์หนังระดับเพชรยอดมงกุฎอย่าง Citizen Kane อาจยืนบนหิ้ง และสำหรับนักเรียนภาพยนตร์ Citizen Kane ยังเป็นทั้งครูของการสอนทำหนังและเป็นยาขมในวิชาวิจารณ์ภาพยนตร์อย่างช่วยไม่ได้ทั้งความเป็นหนังขาว-ดำและเนื้อเรื่องที่เต็มไปด้วยดราม่าและบทสนทนายาวเหยียดชวนง่วงหงาวหาวนอน ทว่าหากมองทะลุความน่าเบื่อต่าง ๆ ได้ก็จะพบว่ามันเต็มไปด้วยความยอดเยี่ยมในเรื่องเล่าและเทคนิคภาพยนตร์
แต่ใครเลยจะรู้ว่าเบื้องหลังเรื่องเล่าอันแสนลุ่มลึกมันถูกกลั่นมาจากประสบการณ์จากการเป็นพยานความฉ้อฉลและเอารัดเอาเปรียบในเกมการเมืองที่เจ้าพ่อฮอลลีวูดลงเล่นเพื่อรักษาฐานอำนาจและแหล่งเงินของตัวเองไว้จนยอมเล่นเกมสกปรกเพื่อการันตีผลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่ตนต้องการท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจอันฝืดเคืองและสงครามโลกครั้งที่ 2 กับฮิตเลอร์
โดยเจ้าของประสบการณ์นั้นชื่อว่า เฮอร์แมน แมนเคียวิซ หรือแมงค์ (แกรี โอลด์แมน)นักเขียนบทภาพยนตร์ที่กำลังปั่นบทหนังเรื่องใหม่ให้กับ ออร์สัน เวลส์ (ทอม เบิร์ค) ผู้กำกับหนังหน้าใหม่ที่เพิ่งเขย่าวงการละครวิทยุไปหมาด ๆ ด้วยบทหนังที่เป็นเหมือนบทบันทึกอำนาจ การฉ้อฉลและเกมการเมืองโดยถอดแบบตัวละครชาร์ล ฟอสเตอร์ เคนมาจาก วิลเลียม รูดอล์ฟ เฮิร์ส (ชาร์ลส แดนซ์) ขาใหญ่เจ้าพ่อสื่อที่เคยชักใยดีลการซื้อกิจการ MGM และบงการผลการเลือกตั้งแคลิฟอร์เนียได้ด้วยสื่อภาพยนตร์
โดยแมงค์ต้องปั่นบทหนังสุดหินร่วม 200 หน้าให้เสร็จภายใน 60 วัน โดยต้องต่อสู้ทั้งอาการติดสุราและอดีตความฉ้อฉลของคนในวงการหนังที่ตามหลอกหลอนเขาทุกเมื่อเชื่อวัน โดยมี ริตา อเล็กซานเดอร์ (ลิลี คอลลินส์) เสมียนที่ถูกจ้างให้มาพิมพ์บทหนังให้เขามาร่วมชะตากรรมในการสร้างบทภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ดีที่สุดในโลกอย่าง Citizen Kane โดยไม่รู้ว่าสุดท้ายจะได้สร้างหรือไม่อันเป็นเหตุมาจากเนื้อหาที่แทบจะแฉวงการหนังอย่างหมดเปลือก !
สิ่งที่ประหลาดใจอย่างยิ่งประการแรกคือผู้กำกับอย่าง เดวิด ฟินเชอร์ ผู้กำกับที่เดิมทีจะเอาเทคนิคภาพและสเปเชียลเอฟเฟกต์มานำเนื้อหากลับ Back to basic จนน่าตกใจตั้งแต่การนำภาพขาวดำมาใช้นำเสนอเรื่องราวและการมิกซ์เสียงเป็น MONO ประหนึ่งอยากให้มันได้ฟีลแบบเดียวกับตอนหนัง Citizen Kane ออกฉายปี 1941 แต่เหนืออื่นใดคือมันให้ภาพของอดีตอันมืดมัวในยุคที่อเมริกาประสบปัญหาเศรษฐกิจซบเซาและผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ได้อย่างเห็นภาพ
แต่นอกจากงานกำกับและความเป๊ะของฟินเชอร์ผู้กำกับแล้วด้านบทภาพยนตร์ของฟินเชอร์ผู้พ่ออย่าง แจ๊ค ฟินเชอร์ แม้จะไม่มีข้อมูลว่าบทหนังเรื่องนี้ที่เขียนไว้ก่อนจะเสียชีวิตปี 2003 ได้ถูกปรับแก้ไปสักกี่มากน้อย แต่ต้องบอกว่ามันสามารถจับอารมณ์ร่วมของยุคสมัยและคงไม่เกินเลยหากมันจะเป็นเหมือนมรดกที่เขาทิ้งให้ลูกได้หยิบมาสานต่อเป็นหนังเรื่องนี้และเป็นการส่งผ่านเรื่องราวของยุครุ่งเรืองของสตูดิโอ The Big 5 (Warner, MGM, RKO, 20Th Century Fox, United Artist) ให้นักดูหนังรุ่นใหม่ได้เรียนรู้อีกด้วย
ว่าถึงความพิเศษของบทหนังโดยแจ๊ค ฟินเชอร์ที่สำคัญที่สุดและสังเกตโดยเทียบกับงานของฟินเชอร์ผู้ลูกคือการสร้างมิติด้านอารมณ์ให้ตัวละครหลักอย่าง แมงค์ ซึ่งแม้ที่ผ่านมาตัวเอกในหนังฟินเชอร์จะน่าจดจำทุกตัวแต่ก็มักถูกมองว่ามันขาดมิติอารมณ์ที่ดูเป็นมนุษย์ แต่สำหรับ MANK มันคือข้อยกเว้นที่สวยงามมากทีเดียวและกล้าพูดได้ว่ายิ่งเราดูหนังเราจะยิ่งอยากรู้จักและโอบกอดเขามากที่สุดในบรรดาหนังของฟินเชอร์ทั้งหมดเลยทีเดียว
ด้วยเหตุผลสำคัญที่สุดคือแม้โครงหลักของมันจะกล่าวถึงการเขียนบทหนัง Citizen Kane แต่เป็นบรรดาฉากแฟลชแบ็กต่างหากที่มันพาเราไปร่วมประสบการณ์ที่ค่อย ๆ บ่อนทำลายความเชื่อมั่นในวงการบันเทิงของแมงค์ได้อย่างเห็นภาพที่สุดทั้งความฟอนเฟะเรื่องชู้สาวระหว่างดารากับบรรดาบิ๊กของสตูดิโอสร้างหนังรวมไปถึงการใช้สื่ออย่างภาพยนตร์ในการบ่อนทำลายคู่แข่งทางการเมืองของนักการเมืองที่เอื้อผลประโยชน์ให้ตนเอง
ซึ่งประเด็นที่มันถูกบอกไว้รายทางนี่เองเลยทำให้ Mank เป็นมากกว่าหนังของคนเขียนบท Citizen Kane แต่ยังเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ฮอลลีวูดย่อม ๆ และทำให้เห็นว่าไม่ว่ายุคสมัยไหนฮอลลีวูดก็หนีการเมืองไม่พ้น ที่สำคัญการเลือกเหตุการณ์ที่เกี่ยวพันกับทั้งผู้บริหารสตูดิโอและดาราดังในยุค Hollywood Classic ยังทำให้เราได้รู้จักระบบและการเมืองในสตูดิโอได้เป็นอย่างดีที่สำคัญมันยังถูกนำเสนอได้อย่างมีสีสันและดูสนุกได้อย่างไม่น่าเชื่ออีกด้วย
ซึ่งนอกจากองค์ประกอบด้านบท งานกำกับและเทคนิคแล้วต้องบอกว่า Mank มีการแสดงระดับที่น่าปรบมือจากแทบทุกคนตั้งแต่ แกรี โอลด์แมนที่สามารถรับบทแมงค์นักเขียนบทที่ต้องสู้กับปัญหาติดสุราและไฟในการเขียนบทที่เริ่มมอดได้อย่างถึงบทบาทรวมไปถึงซีนที่เขาขอร้องให้ผู้บริหารสตูดิโอถอดหนังที่เมกขึ้นเพื่อโจมตีผู้สมัครจากพรรคสังคมนิยมก็ทำให้เห็นว่าชายคนหนึ่งพร้อมจะอยู่ข้างความถูกต้องแม้ตัวเองแทบไม่มีแต้มต่อใด ๆ ก็ตามโอลด์แมนก็ให้การแสดงได้อย่างยอดเยี่ยม
นอกจากนี้หนังยังได้ นักแสดงสมทบทั้งลิลลี คอลลินส์ในบทริตา อเล็กซานเดอร์ เสมียนผู้ช่วยของแมงค์และอแมนดา ไซเฟร็ด ในบทแมเรียน เดวีส์นักแสดงสาวที่เกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพลในวงการภาพยนตร์ซึ่งทั้งคู่ก็ช่วยฉายเสน่ห์ให้หนังที่อุดมด้วยชายหนุ่มมีอะไรสวย ๆ งาม ๆ น่ามองบ้างและช่วยเพิ่มอารมณ์ด้านอ่อนโยนให้ตัวละครแมงค์ได้เป็นอย่างดี
อ้างอิงข้อมูล
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส