จากนักแสดงอังกฤษที่น้อยคนจะรู้จัก สู่ตำแหน่งนักแสดงฮอลลีวูดที่ค่าตัวสูงที่สุด ในปี 2006 แดเนียล เครก เคยรับบทนำใน Layer Cake หนังแก๊งสเตอร์ฟอร์มเล็กของผู้กำกับ แมทธิว วอห์น (Matthew Vaughn) และบทสมทบใน Munich ของ สตีเวน สปิลเบิร์ก แล้วจู่ ๆ ทีมผู้สร้างเจมส์ บอนด์ 007 ก็ประกาศต่อโลกว่า เจมส์ บอนด์ คนที่ 6 ก็คือ แดเนียล เครก (Daniel Craig) นักแสดงอังกฤษวัย 38 ปี ผู้นี้ที่คว้าบทที่นักแสดงชายค่อนฮอลลีวูดต่างหมายปอง สร้างเสียงกังขาไปมากพอดู เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์เจมส์ บอนด์ ที่คุ้นตา ว่าต้องเป็นชายผมดำร่างสูงระหง มาเป็นชายผมบลอนด์หุ่นกำยำ
มาจนถึงวันนี้ แดเนียล เครก ก็ลบข้อกังขาจนหมดสิ้น เขากลายเป็นนักแสดงที่อยู่กับบทเจมส์ บอนด์ ยาวนานที่สุดถึง 15 ปี กับหนังบอนด์ถึง 5 เรื่อง และเป็นเขาเองที่ขอประกาศยุติบทบาทบอนด์ไปตั้งแต่ภาค Spectre แล้ว แต่ก็ทนแรงคะยั้นคะยอจากทีมงานไม่ได้ จนต้องกลับมาเป็นครั้งสุดท้ายจริง ๆ ใน No Time to Die ซึ่งในวันนี้แดเนียล เครก ก็อายุ 53 ปีเข้าไปแล้ว ซึ่งเป็นวัยที่เขาเห็นสมควรจะต้องบอกลาบทแอ็กชันสมบุกสมบันแบบนี้เสียที แม้ว่าบท เจมส์ บอนด์ จะสร้างรายได้ให้เขาในระดับที่เกินคาดฝัน เครกรับทรัพย์จากหนังบอนด์ 5 เรื่องไปมากถึง 110 ล้านเหรียญ เฉพาะ No Time to Die เรื่องเดียว เขาก็รับไปก่อนแล้ว 25 ล้านเหรียญ นี่ยังไม่รวมส่วนแบ่งจากกำไรเมื่อหนังออกฉายอีกนะ ซึ่งไม่รู้ว่าเงินจะไหลเข้ากระเป๋าเครกหลังจากนี้อีกเท่าไหร่ แต่นั่นก็ไม่สามารถดึงดูดให้เครกรับบท เจมส์ บอนด์ เรื่องต่อไปได้
ในสารคดี Being James Bond ที่เผยแพร่ทางช่อง ITV เครกได้เผยว่านอกเหนือจากเรื่องอายุอานามที่มากขึ้น และความอิ่มตัวกับบทบาทเจมส์ บอนด์ แล้ว ยังมีอีก 1 เหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจบอกลาบทบาทนี้เสียที
เหตุผลนั้นก็คือเขายังจดจำความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสได้จากอุบัติเหตุระหว่างถ่ายทำ Spectre ในปี 2015 ที่ทำให้เขาขาหัก และเขาต้องถ่ายทำต่อไปทั้งที่ขายังหักอยู่แบบนั้น เพื่อถ่ายทำหนังต่อให้จบแล้วค่อยเข้ารับการผ่าตัด
“ตอนถ่ายทำเรื่องนั้นผมสนุกมากนะ แต่ด้านปัญหาก็มี นั่นก็คือ ขาผมหัก”
“เราจำเป็นต้องถ่ายทำกันต่อไป ไม่งั้นกองถ่ายต้องหยุดชะงักไป 9 เดือนเลยเพื่อรอให้ขาผมหาย ซึ่งผมก็เลือกฝืนถ่ายทำต่อไปทั้งแบบนี้ ผมไม่ต้องการให้กองถ่ายหยุดเพราะผม”
“ผมเลยต้องใส่อุปกรณ์ช่วยดามขาไปตลอดการถ่ายทำที่เหลือทั้งหมด มันไม่ใช่ทางออกที่ดีในการถ่ายทำหนังอย่างบอนด์เลย เพราะมันดึงสมาธิผมไปอย่างมาก”
“มันมีฉากตอนต้นเรื่อง ที่ผมต้องเดินบนไหล่ตึกในเมืองเม็กซิโกซิตี้ ที่สูงจากพื้นตั้ง 30 เมตรเลยนะ ผมก็ต้องปลอบตัวเองตลอด ‘อย่าตก อย่าตกนะ’ ตัวผมก็มีสลิงเกี่ยวไว้อยู่หรอก แต่มันก็หวาดเสียวเกิ๊น ผมพยายามวางท่าให้ดูห้าวหาญสุด แต่ขาผมก็ไม่เป็นใจด้วยเลย”
อีกคนที่รู้เรื่องนี้ดีสุดก็คือ บาร์บารา บร็อกโคลี ผู้อำนวยการสร้างของหนัง ซึ่งเธอก็เข้าใจเครกเป็นอย่างดี
“เขาปวดขาอย่างมาก จนแทบจะเดินไม่ไหวเลย ฉันก็ได้แต่เฝ้ามองเขาแล้วก็สงสัยว่า เขาผ่านพ้นทั้งหมดนี้มาได้อย่างไร”
และความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสนี้ล่ะ ที่ทำให้เครกตัดสินใจ ไม่ขอรับงานหนังบอนด์เรื่องต่อไปแล้ว ซึ่งเครกเคยเผยเหตุผลนี้ตอนให้สัมภาษณ์กับ Entertainment Weekly เมื่อปี 2020
“ผมก็เคยถามตัวเองนะ สภาพร่างกายผมยังไหวไหมถ้าต้องแสดงต่อไปอีกเรื่อง หรือตัวผมเองยังอยากแสดงอีกเรื่องอยู่ไหม ผมต้องถามแบบนี้จริง ๆ เพราะนาทีที่ผมต้องโทรไปบอกภรรยาผมว่า ‘ที่รักผมขาหัก’ มันไม่ใช่นาทีที่รื่นรมย์เอาเสียเลย”
แล้วในที่สุดเมื่อเครกตอบตกลงรับเป็นบอนด์ครั้งสุดท้ายใน No Time to Die ซึ่งเขาก็ทำใจไว้แล้วว่างานนี้ก็คงเจ็บตัวอีก แล้วมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ
“ฉากนั้นผมต้องวิ่งไปบนท่าเรือ พื้นมันเปียกอยู่ แล้วผมก็ลื่นตกลงไปในน้ำ แล้วข้อเท้าผมก็หัก ส่วนที่แย่ที่สุดก็ตรงที่ผมเคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาแล้ว ทำให้ผมจำความรู้สึกนี้ได้ดีเลย อาการนี้คือ เส้นเอ็นฉีก มันทำให้ผมรู้สึกแบบว่า แม่งเอ๊ยยยย”
“ผมได้เจอศัลแพทย์ฝีมือดีในลอนดอน เขาบอกกับผมว่า ‘ผ่านการผ่าตัดนี้ไปแล้ว 10 สัปดาห์ คุณจะวิ่งได้ปร๋อเลย’
“แต่คุณรู้มั้ยว่า ไอ้ 10 สัปดาห์เนี้ยมันนานพอที่จะถ่ายหนังเรื่องนึงได้เลยนะ ไม่ใช่หนังใหญ่แบบบอนด์หรอก หนังเล็ก ๆ สักเรื่องไรแบบนั้นแหละ ผมก็เลยตอบหมอไปว่า โอเค งั้นลงมือเลย”
“แล้วผมก็กลับมาเข้าฉากต่อภายในเวลาแค่ 2 สัปดาห์ แต่พอผ่านไป 10 สัปดาห์ ผมก็กลายเป็นไอ้โง่ตัวเดิมอีกครั้ง”
เห็นได้ชัดเลยว่า แดเนียล เครก เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของนักแสดงที่ทุ่มเทจริง ๆ ให้ความสำคัญกับงานมากกว่าสภาพร่างกายตัวเอง ลองจินตนาการเป็นตัวเรา จะทนทำงานบนความเจ็บปวดแบบนี้ไหวไหม
7 ตุลาคม 2564 ไปร่วมกันสัมผัสประสบการณ์ส่งท้ายบทเจมส์ บอนด์ ของ แดเนียล เครก ใน No Time to Die ทุกโรงภาพยนตร์พร้อมกันครับ