บทเพลงคือสิ่งที่ศิลปินสื่อสารไปถึงผู้คน ถ่ายทอดเรื่องราว สร้างแรงบันดาลใจ ขับเคลื่อนประเด็นอะไรบางอย่าง หลายครั้งถ้อยคำจากบทเพลงนั้นก็เข้าไปอยู่ในใจคนฟังเป็นแรงพลังสำคัญในชีวิต หลายครั้งมันกลับเป็นสิ่งที่ทิ่มแทงและสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีจากเนื้อร้องที่อาจมีถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม การเขียนเนื้อร้องนั้นจึงเป็นสิ่งที่อ่อนไหวและศิลปินควรให้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
ในเดือนแห่งการเปิดกว้างโอบรับความหลากหลายของผู้คนบนโลก เราจะมาสำรวจบทเพลงจากศิลปินที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย ที่เคยเขียนเนื้อร้องที่มีคำบางคำที่อาจทำให้คิดไปว่าศิลปินนั้นเป็นคนเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ หรือล้อเลียนผู้มีความบกพร่องในด้านต่าง ๆ เราจะมาดูกันว่ามีศิลปินคนไหนเคยเจอประเด็นนี้บ้างและพวกเขาได้ปรับเปลี่ยนถ้อยคำในบทเพลงหรือใช้วิธีไหนในการแก้ปัญหาที่อ่อนไหวเหล่านี้
Lizzo – “Grrrls”
เนื้อเพลงเดิม : “Hold my bag/ Do you see this s–t? I’ma spaz”
เนื้อเพลงใหม่ : “Hold my bag/ Do you see this s–? Hold me back”
นักร้องสาวผิวสีเจ้าของ 3 รางวัลแกรมมี่ ‘ลิซโซ’ (Lizzo) ได้ปล่อยซิงเกิลล่าสุด “Grrls” ออกมาได้ไม่นานก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเนื้อเพลงของเธอมีการใช้คำที่ไม่เหมาะสม
เนื้อเพลงเดิมร้องว่า “Hold my bag, bitch, hold my bag / Do you see this shit? I’ma spaz.” ซึ่งคำว่า ‘spaz’ นั้นเป็นคำที่ใช้ดูถูกหรือเสียดสีผู้พิการทางสมอง หลังจากมีกระแสวิจารณ์ไม่นาน ลิซโซก็ออกมาแก้ปัญหานี้ด้วยการเปลี่ยนเนื้อร้องในทันที พร้อมทั้งกล่าวว่าเธอเองก็เคยโดนเหยียดมามากในชีวิต ดังนั้นเธอจึงเข้าใจบาดแผลที่เกิดจากถ้อยคำอันทิ่มแทงเหล่านี้ ดังนั้นเธอจึงไม่มีเจตนาที่จะสร้างบาดแผลเหล่านี้อีกในบทเพลงของเธอ “ฉันเองก็เป็นผู้หญิงอ้วนดำที่อยู่ในอเมริกา เคยได้ยินคำพูดที่ทิ่มแทงจิตใจมามากมาย ฉันจึงเข้าใจดีถึงพลังของถ้อยคำเหล่านี้ … ดังนั้น ฉันจึงภูมิใจที่จะบอกทุกคนว่า ฉันจะปล่อยเพลง ‘Grrrls’ เวอร์ชั่นใหม่ที่เปลี่ยนเนื้อเพลงให้เรียบร้อยด้วยตัวของฉันเอง ในฐานะที่ฉันเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีอิทธิพลต่อคนอื่น ฉันอยากอุทิศตนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ฉันเองก็รอคอยที่จะให้เกิดขึ้นกับโลกใบนี้อยู่เช่นกัน”
“Picture to Burn” – Taylor Swift
เนื้อเพลงเดิม : “So go and tell your friends that I’m obsessive and crazy/ That’s fine, I’ll tell mine you’re gay, by the way”
เนื้อเพลงใหม่ : “That’s fine, you won’t mind if I say, by the way”
“Picture to Burn” หนึ่งในบทเพลงอันเป็นที่รักของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) จากอัลบั้มแรกของเธอในปี 2006 ซึ่งเป็นบทเพลงที่สวิฟต์เขียนถึงแฟนเก่าสมัยเรียนของเธอ โดยมีคำว่า ‘เกย์’ ปรากฏอยู่ในเนื้อร้องด้วยทำให้เธอโดยวิจารณ์ว่าเพลงของเธอมีความเป็นโฮโมโฟเบีย
จริง ๆ สวิฟต์ไม่ได้มีความตั้งใจจะสื่ออะไรถึงประเด็นนี้เลย เพราะเพลงนี้เธอตั้งใจแต่งถึง จอร์แดน อัลฟอร์ด (Jordan Alford) คนรักในสมัยเรียนไฮสคูลที่หลังจากคบกับเธอก็ไปคบกับเชลซี (Chelsea) เพื่อนร่วมชั้นของทั้งคู่และแต่งงานกันในที่สุด สวิฟต์อยากถ่ายทอดความเจ็บปวดจากการถูกหมางเมินและไม่ใส่ใจจากคนรัก ในเนื้อร้องของสวิฟต์เลยแสดงออกถึงความหงุดหงิดใจต่อของรักของหวงของเขาอย่างรถบรรทุก ที่เธอรู้สึกว่ามัน ‘งี่เง่า’ จริง ๆ
เมื่อมีกระแสวิจารณ์สวิฟต์ไม่ได้ออกมาพูดอะไรมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ เธอรีบแก้ปัญหาด้วยตัวเองทันทีเนื้อร้องที่มีปัญหานี้เลยถูกแก้ไขทั้งในเพลงต้นฉบับที่ปล่อยทางสตรีมมิงและในมิวสิกวิดีโอ
“Misery Business” – Paramore
เนื้อเพลงเดิม : “Once a whore, you’re nothing more”
เนื้อเพลงใหม่ : “Once a — you’re nothing more”
เป็นเวลาหลายปีที่ เฮย์ลีย์ วิลเลียมส์ (Hayley Williams) ฟรอนต์แมนสาวแห่งวง Paramore ปฏิเสธที่จะเล่นเพลงฮิตจากปี 2007 ที่ชื่อว่า “Misery Business” ด้วยเหตุผลว่าเนื้อเพลงที่เธอเขียนขึ้นตอนอายุ 17 ปีนั้นมีถ้อยคำที่แสดงออกถึงการเหยียดเพศและดูถูกผู้หญิง เมื่อเธอเติบโตขึ้นและมองย้อนกลับไปเธอจึงรู้สึกว่า “มันไม่ใช่เรื่องที่เจ๋งเลยกับการเรียกใครสักคนว่า ‘กระ-หรี่’”
แม้ว่าเธอจะไม่ได้แก้ไขเนื้อเพลงแต่อย่างใด แต่เธอก็เลือกที่จะไม่แสดงมันในที่สาธารณะ จนล่าสุดที่เธอมาเป็นเกสต์ให้กับบิลลี อายลิช (Billie Eilish) ในงาน Coachella ทั้งคู่ต้องแสดงเพลงนี้ร่วมกัน อายลิชซึ่งร้องในท่อนเวิร์สที่ 2 เลยเลือกที่จะร้องข้ามคำที่มีปัญหานี้ไป
“Let’s Get It Started” – Black Eyed Peas
เนื้อเพลงเดิม : “Let’s get retarded”
เนื้อเพลงใหม่ : “Let’s get it started”
ไม่เพียงแต่ท่อน “Let’s get retarded” ซึ่งมีปัญหากับคำว่า ‘retarded’ ซึ่งหมายถึงผู้พิการทางสมองแล้ว วลีนี้ยังเป็นชื่อเพลงอีกด้วย ทำให้มันโดดเด่นเป็นเรื่องใหญ่เลย หลังจากเพลงนี้ปล่อยออกมาได้หนึ่งปี ในปี 2004 ก็ได้มีการบันทึกเสียงเพลงนี้ใหม่และมีการเปลี่ยนเนื้อร้องและชื่อเพลงจาก “Let’s get retarded” เป็น “Let’s get it started” เพื่อใช้ในโฆษณาการแข่งขันบาสเก็ตบอล NBA Playoff หลังการเปลี่ยนแปลงกระแสตอบรับในเวอร์ชันใหม่นี้ดีขึ้นมากกว่าเดิมจากเวอร์ชันซิงเกิลที่ปล่อยออกมาในคราวแรก
Born This Way (The Country Road Version)” – Orville Peck
เนื้อเพลงเดิม : “No matter Black, white or beige, chola, or Orient’ made/ I’m on the right track, baby, I was born to be brave”
เนื้อเพลงใหม่ : “No matter Black, white or beige, Asian or Latinx made/ I’m on the right track, baby, I was born to be brave”
เมื่อปีที่แล้วบทเพลง “Born This Way” ของนักร้องสาว เลดีกากา (Lady Gaga) ได้มีอายุครบหนึ่งทศวรรษบทเพลงนี้เป็นบทเพลงป๊อปที่ทรงคุณค่าและมีพลังต่อชุมชน LGBTQIA+ เป็นอย่างมาก ทำให้ต่อมามีศิลปินมากมายได้นำเอาบทเพลงนี้มาทำใหม่ในเวอร์ชันของตัวเอง ศิลปินแนวคันทรี่ ออร์วิลล์ เพ็ก (Orville Peck) เองก็เช่นกัน เขาได้นำบทเพลงนี้มาตีความใหม่และใส่สไตล์ของตัวเองลงไป พร้อมทั้งเปลี่ยนคำร้องในบางจุดที่อาจมีการเรียกเชื้อชาติของผู้คนในทิศทางที่อาจดูไม่งามนัก ถือเป็นการอัปเดตบทเพลงให้มีความสวยงามและยังคงทรงพลังต่อไป
“Money for Nothing” – Dire Straits
เนื้อเพลงเดิม : “See the little faggot with the earring and the makeup?/ Yeah buddy, that’s his own hair/ That little faggot got his own jet airplane/ That little faggot, he’s a millionaire”
เนื้อเพลงใหม่ : “See that little queenie with the earring and the makeup … That little boy got his own jet airplane/ That little boy, he’s a millionaire”
25 ปีให้หลังในปี 2010 บทเพลง “Money for Nothing” ที่ปล่อยออกมาตั้งแต่ปี 1985 ได้มีคนออกมาวิจารณ์ว่ามีการใช้ถ้อยคำที่เหยียดกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน นั่นคือคำว่า ‘faggot’ ที่แปลว่า ‘ตุ๊ด’ ‘กะเทย’ หรือ ‘ชายรักร่วมเพศ’ ทำให้มันถูกแบนจากสถานีวิทยุของแคนาดา ทำให้ทางวงต้องออกมาแก้ไขปัญหานี้ด้วยการเขียนเนื้อร้องใหม่โดยใช้คำว่า ‘queenie’ และ ‘boy’ เข้ามาแทน จนปี 2011 ก็ได้มีการปลดแบนจาก สภามาตรฐานการออกอากาศของแคนาดา และให้สถานีวิทยุตัดสินใจกันเองว่าจะออกอากาศเพลงนี้หรือไม่
สำหรับเนื้อร้องของเพลงนี้ผู้เขียนคือ สติง (Sting) ซึ่งมาเที่ยวที่มอนต์เซอร์รัต ตอนที่วง Dire Straits กำลังทำงานเพลงอยู่พอดี และในงานคอนเสิร์ต Live Aid ในปี 1985 สติงก็มาเป็นเกสต์ในงานนี้ และวง Dire Straits เล่นเพลงนี้ด้วยแต่เลือกที่จะเว้นเสียงตรงคำที่มีปัญหา
“They Don’t Care About Us” – Michael Jackson
เนื้อเพลงเดิม : “Jew me, sue me/ Everybody, do me/ Kick me, kike me/ Don’t you black or white me”
เนื้อเพลงใหม่ : “Do me, sue me/ Everybody, do me/ Kick me, [censored] me/ Don’t you black or white me”
ราชาเพลงป๊อป ไมเคิล แจ็กสัน (Michael Jackson) ก็มีกรณีปัญหาจากการใช้เนื้อร้องที่ไม่เหมาะสมเหมือนกัน ในตอนแรกแจ็กสันไม่เข้าใจเลยว่าทำไม “They Don’t Care About Us” ซิงเกิลจากปี 1996 ของเขาจึงโดนโจมตีว่ามีถ้อยคำที่เหยียดเชื้อชาติ ซึ่งเขาก็ออกมาตอบโต้ผ่านสื่อถึงกรณีนี้ว่า “มันไม่ได้เป็นการเหยียดเชื้อชาติอย่างแน่นอน เพราะผมไม่ใช่คนเหยียดเชื้อชาติ”
แต่ต่อมาแจ็กสันก็ต้องเปลี่ยนใจ และทำการบันทึกเสียงใหม่พร้อมเปลี่ยนเนื้อร้องตรงจุดที่มีปัญหา แต่ว่าในมิวสิกวิดีโอก็ยังคงใช้เวอร์ชันต้นฉบับอยู่เพียงแต่ใสเอฟเฟกต์เข้าไปให้เนื้อร้องตรงนั้นฟังไม่ได้ยิน
“Ultraviolence” – Lana Del Rey
เนื้อเพลงเดิม : “He hit me and it felt like a kiss”
เนื้อเพลงใหม่ : ไม่ได้เปลี่ยนเนื้อร้องแต่ข้ามไปตอนแสดงสด
ในบทเพลงจากปี 2014 “Ultraviolence” นักร้องสาว ลานา เดล เรย์ (Lana Del Rey) ได้ใช้เนื้อเพลงจากเพลง “He Hit Me” ในปี 1963 ของวง The Crystals มาใช้เพื่อเสียดเย้ยถึงความสัมพันธ์ที่ใช้ความรุนแรงแทนความรัก เนื้อเพลงให้อาจชวนให้คิดถึงการจำทนหรือการเคยชินกับความรุนแรงและบาดแผลจนเสมือนเป็นรอยจูบแห่งรักแทน เดล เรย์ ต้องการเขียนเพลงนี้ขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์จริงในชีวิตของเธอที่ต้องผ่านความสัมพันธ์ที่ไม่โอเค ต่อมาเดล เรย์รู้สึกว่าเนื้อร้องในท่อนนี้นั้นมีปัญหาและเธอไม่อยากร้องมันอีกแล้ว แต่เธอก็ยังอยากร้องบทเพลง “Ultraviolence” ในโชว์ของเธออยู่ เธอก็เลยตัดสินใจที่จะร้องข้ามมันไปในตอนที่มาถึงท่อนที่เป็นปัญหานี้
“Karate Chop (Remix)” – Future & Lil Wayne
เนื้อเพลงเดิม : “’Bout to put rims on my skateboard wheels/ Beat the p—y up like Emmett Till/ Two cell phones ringin’ at the same time”
เนื้อเพลงใหม่ : “’Bout to put rims on my skateboard wheels/ Beat the p—y up like –/ Two cell phones ringin’ at the same time”
ลิล เวย์น (Lil Wayne) ได้ออกมาขอโทษทันทีในตอนที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เนื้อร้องของเพลง Karate Chop” ที่มีการกล่าวถึงการเสียชีวิตของ เอมเมทท์ ทิลล์ (Emmett Till) เด็กชายแอฟริกันอเมริกันอายุ 14 ปี ผู้ซึ่งถูกลักพาตัว ทรมาน และลงประชามติในมิสซิสซิปปี้ในปี 1955 หลังจากถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดผู้หญิงผิวขาวในร้านขายของชำของครอบครัว ซึ่งต่อมาได้มีการตัดสินว่าทิลไม่มีความผิด ทำให้กรณีนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการกดขี่คนผิวสีในสหรัฐอเมริกาและทำให้ทิลกลายเป็นไอค่อนของการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของคนผิวสี
ลิล เวย์น ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนการตัดสินใจของ Epic Records ในการจัดการกับเพลงเวอร์ชันดั้งเดิมและให้คำมั่นที่จะไม่กล่าวถึงทิลในบทเพลงทุกครั้งที่มีการแสดงสด “ผมมีความเคารพอย่างสูงต่อบรรดาผู้ที่ปูทางสู่เสรีภาพและโอกาสที่ชาวแอฟริกัน-อเมริกันมีอยู่ในปัจจุบัน”
“พักก่อน” – MILLI
เห็นเธอบอกอย่าพักผ่อนแต่ใส่เสื้อเสียสำส่อน
จวนจะเห็นนมย้อนหย่อนแต่มึงควรกลับไปสักก่อน
ศิลปินไทยที่เคยมีกรณีถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเนื้อเพลงก็มีอยู่เช่นกัน อย่างกรณีของแรปเปอร์สาวสุดปัง ! มิลลิ (MILLI) ที่เปิดตัวในฐานะศิลปินด้วยซิงเกิล “พักก่อน” เพลงฮิปฮอปบนบีตแทร็ปที่ผสมกลิ่นอายในสไตล์ของการแรปสุดมั่นแบบ นิกกี้ มินาจ (Nicki Minaj) เพลงนี้มิลลิได้แรงบันดาลใจมาจากเพื่อนที่โรงเรียน มีการใช้ภาษาลูซึ่งเป็นภาษายอดฮิตของเพศที่สาม รวมถึงมีการนำภาษาอังกฤษและภาษาไทยถิ่นอีสานมาใช้กับเพลงด้วย ส่งผลให้เพลงนี้ทำให้เธอดังแบบสุดปังในทันที กลายเป็นเพลงฮิตในเวลาอันรวดเร็ว และสร้างชื่อให้มิลลิขึ้นแท่นแรปเปอร์หน้าใหม่มาแรง แถมปัจจุบันเพลงนี้ยังกวาดยอดวิวไปกว่า 90 ล้านวิว ถือว่าประสบความสำเร็จตั้งแต่จุดสตาร์ตเลย
แต่บนความแรงนี้ก็มีกระแสต่อต้านด้วยเช่นกันเมื่อเนื้อร้องของเพลงนี้ที่เธอแต่งด้วยความตั้งใจที่จะสื่อสารกับเพื่อนสาวในวัยเดียวกัน กลับกลายเป็นสิ่งที่สังคมเข้าใจไปว่าเธอเหยียดผู้หญิงด้วยกันเอง ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้มีการเปลี่ยนเนื้อร้องแต่มิลลิก็ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่ามิได้มีเจตนาเหยียดแต่อย่างใด
“หนูต้องขอโทษทุก ๆ คนด้วยนะคะ เพราะเจตนาจริง ๆ แล้วไม่ได้ต้องการเหยียดอะไรเลย ความตั้งใจเดิมที่ต้องการก็คือด่าเพื่อน ๆ และแซะคนที่ไม่ได้ชอบ แต่ถ้าคำพูดหนูมันดูไม่ดี อันนี้ก็เป็นความคิดน้อยของหนูค่ะ ส่วนแรงบันดาลใจก็มาจากเพื่อน ๆ ซึ่งคำว่า ‘พักก่อน’ ก็เป็นคำที่หนูใช้เป็นประจำอยู่แล้ว จากนี้คงต้องสกรีนคำมากขึ้น แต่ยืนยันคงไม่ทิ้งความเป็นตัวเอง อยากให้คนฟังเข้าใจในวิถีแรปเปอร์ค่ะ”
ที่มา
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส