Our score
7.0The Witcher
จุดเด่น
- เฮนรี คาวิล ทำให้ภาพของ เกรอลด์ แห่ง ริเวีย ดูมีชีวิตจริง ๆ
- อันยา ชาโลตรา คือดีย์... สวย เซ็กซี่ ถอดบ่อย สมกับเป็นตัวละคร เยนนิเฟอร์
- ฉากรบดูยิ่งใหญ่ดี
- บทมีการลำดับเรื่องได้ซับซ้อน ทำให้เห็นความสร้างสรรค์
จุดสังเกต
- การกำกับคือ "พังจริง ๆ" เราแทบแยกคาแรกเตอร์แต่ละคนจากการแอ็กติงไม่ได้เลย
- การแบ่งเนื้อหาแต่ละตอน คือไปเอาแนวคิดจากเกมมา ด้วยการทำเควส แล้วทิศทางของเรื่องเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทำให้ติดตามเรื่องได้ยาก
- มีหลายซีนที่ไม่ส่งผลต่อการเล่าเรื่องนัก โดยเฉพาะฉากเซ็กส์
- งานวิชวล แอบเหมือน Game of Thrones เกินเหตุ
- ติดตามเรื่องได้ยาก เพราะซีรีส์เล่นกับการเล่าเรื่องไม่ลำดับเวลา ต้องสังเกตคำพูดและติดตามทุกตอนแบบเว้นไม่ได้เลย
-
ความสมบูรณ์ของบท
7.0
-
คุณภาพงานสร้าง
7.0
-
คุณภาพนักแสดง
7.0
-
ความสนุก
7.0
-
คุ้มเวลาดู
7.0
เกรอลด์ แห่ง ริเวีย (เฮนรี คาวิล) นักล่าอสูรเผ่าวิทเชอร์ ได้ออกเดินทางเพื่อเติมเต็มชะตากรรมในการปกป้องเด็กสาวที่เขาจะพบในป่าตามคำทำนาย ซึ่งเด็กสาวคนนั้นก็คือ ซิรี (เฟรยา อลลัน) เจ้าหญิงแห่งซินตราที่ต้องลี้ภัยสงครามล่าอาณานิคมโดยกองทัพแห่งนิล์ฟการ์ด โดยเธอยังต้องค้นหาความลับของพลังลึกลับที่ครอบครัวเก็บงำเอาไว้ และอีกด้านของโชคชะตายังมี เยนนิเฟอร์ แห่ง เวงเกอร์เบิร์ก (อันยา ชาโลตรา) จอมเวทย์สาวอาคมแก่กล้าผู้ยอมแลกโอกาสในการมีลูกกับความงามที่เธอไม่ต้องทนทุกข์กับหลังคดงออันอัปลักษณ์ต่อไป งานนี้นอกจากเหล่าปีศาจที่ วิทเชอร์ อย่าง เกรอลด์ ต้องจัดการแล้ว การตามหา ซิรี ยังเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้โลกปลอดภัย
เดิมที The Witcher เคยเป็นทั้งนิยายแฟนตาซีดังระดับปรากฎการณ์ของ อังเดร ซับคาวสกี (Andrzej Sapkowski)นักเขียนชาวโปแลนด์ แต่ก็เป็นฉบับเกมต่างหากที่ช่วยสร้างชื่อให้ The Witcher เป็นที่รับรู้ไปทั่วทุกมุมโลก ด้วยเนื้อหาที่ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน การออกแบบคาแรกเตอร์ เกรอลต์ และตัวละครอื่น ๆ ได้เท่มาก รวมไปถึงความสนุกและความยากของเกมที่ทำให้ผู้เล่นใช้เวลาในการเคลียร์เกมเป็นร้อยชั่วโมง ซึ่งแน่นอนว่า ต้นธารและไอเดียของคาแรกเตอร์ (รวมไปถึงการดำเนินเรื่อง) ก็รับอิทธิพลจากเกมมาไม่น้อยเลยทีเดียว ยิ่งได้ เฮนรี คาวิล แฟนเกมตัวยงของ The Witcher ที่ขอเสนอตัวทันทีเมื่อมีการประกาศสร้างแม้จะยังไม่มีบท ก็ยิ่งชัดเจนถึงแนวทางที่ ลอเรน ชมิตท์ ผู้สร้างวางแนวทางเอาไว้จนผลลัพธ์ของมันก็ออกมาเหมือนเราได้เล่นเกมตะลุยด่านยังไงยังงั้นเลยทีเดียว
โดยในแต่ละตอนโครงสร้างการดำเนินเรื่องก็คล้ายเวลาเปิดเกมมาก เช่นจะมีคนมาบอกภารกิจตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งมาในรูปแบบของป้ายประกาศที่ติดตามสถานที่ หรือเป็นซีนที่ เกรอลด์ เข้าพบคนมอบหมายภารกิจเลย ซึ่งก็ถือเป็นการดึงจุดเด่นของเกมมาใช้ได้ดี แถมบางตอนซีรีส์ยังใช้ประโยชน์จากรูปแบบการเล่าเรื่องนี้ในการย่นย่อเรื่องราวให้กระชับขึ้นผ่านปากตัวละครไปเลย แต่กระนั้นในอีกด้านหนึ่งการที่มันใช้การดำเนินเรื่องเหมือนเกมก็ทำให้คนดูไม่อาจยึดโยงกับเป้าหมายที่แท้จริงของตัวละครได้เหมือนกัน โดยตอน 1-4 ซีรีส์แทบจะดำเนินเรื่องเหมือนมีหนัง 3 เรื่องที่ต้องเล่าควบคู่ไปทั้ง เกรอลด์, ซิรี และ เยนนิเฟอร์ แบบไม่มีเส้นเรื่องใดบรรจบกันเลย ดังนั้นคนดูก็เหมือนต้องร่วมทำเควสต์ไปกับเกรอลด์เรื่อย ๆ และพอซีรีส์เดินเข้าสู่ตอน 5 นั่นแหละที่โครงสร้างเรื่องเริ่มชัดเจนขึ้น(แต่ก็ไม่ลดทอนความซับซ้อนลงเลย) ดังนั้นคนดูอาจต้องอดทนดูและเก็บรายละเอียดให้จบ 4 ตอนเสียก่อนครับจึงจะสามารถเข้าใจโลกใน The Witcher และสามารถติดตามเรื่องราวอีก 4 ตอนที่เหลือได้อย่างสนุกสนานพอควร แม้บทซีรีส์จะยังมีปัญหาในแง่ตรรกะอยู่บ้างเนื่องจากมันใส่รายละเอียดที่เยอะ ซับซ้อน แต่ดันให้เวลาในแต่ละซีนที่จะต้องเล่าเรื่องหรือดึงอารมณ์น้อยเกินไปหน่อย
แต่จะว่าซีรีส์เดินเรื่องแบบเกมไปเรื่อย ๆ เสียทีเดียวก็ไม่ถูก เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว The Witcher กล้าหาญมากที่เล่นกับการเล่าเรื่องแบบไม่ลำดับเวลา โดยตอนแรกเราจะได้เห็นเหตุการณ์ที่เหมือนปลายทางจากมุมมองหนึ่ง ก่อนตอนสุดท้ายซีรีส์จะมาเฉลยว่าเหตุการณ์ในตอนแรกส่งผลต่อตัวละครอย่างไร แล้วตอนที่ 2-7 จะนำเสนอเหตุการณ์แวดล้อมที่ทำให้ชะตากรรมของตัวละครทั้ง เกรอลด์, ซิรี และ เยนนิเฟอร์ ต้องบรรจบกันซึ่งก็ถือว่าเป็นการเล่าเรื่องที่สร้างสรรค์มาก เพียงแต่เราจะต้องคอยดูและจับรายละเอียดให้ดี ด้วยเนื้อหาที่เยอะและซับซ้อนแถมยังเดินเรื่องค่อนข้างเร็วก็อาจทำให้ต้องตามเรื่องกันเหนื่อยหน่อย แต่ก็โชคดีที่คราวนี้ Netflix มีพากย์ไทยที่ใช้ทีมเดียวกับที่พากย์หนังโรงเลย ทำให้การดูพากย์ไทยก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีไม่น้อยเลยสำหรับการดู The Witcher
แต่สิ่งที่คงจะเลี่ยงไม่ติติงไม่ได้คงเป็นในแง่การกำกับการแสดงและงานวิช่วลนี่แหละ โดยภาพรวมแล้วจุดบอดของซีรีส์ชุดนี้นอกจากตรรกะของบทอย่างที่กล่าวไปแล้ว คงหนีไม่พ้นการแสดงที่ทุกตัวละครดูจะ “แข็งทื่อ” ไร้อารมณ์เหมือนกันไปเสียหมด ยิ่งถ้าใครฟังเสียงตัวละครต้นฉบับจะพบว่าทุกตัวละครแทบจะใช้โทนเสียงเดียวกันและไม่มีคาแรกเตอร์ใดที่โดดเด่นหรือเป็นที่จดจำเท่าใดนัก ยังดีที่ในส่วนการแสดงได้ เฮนรี คาวิล ที่แม้จะยังไม่ได้โชว์ฝีมือด้านดราม่าเท่าไหร่ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าการปรากฎตัวพร้อมหุ่นล่ำ ๆ ฉบับซูเปอร์แมนของเขามารับบท เกรอลด์ น่าจะพอทำให้สาว ๆ ติดตามเรื่องราวที่ซับซ้อนและดูบอย ๆ แบบนี้ได้บ้าง รวมถึง อันยา ชาโลตรา นักแสดงสาวชาวอังกฤษในบทเยนนิเฟอร์ที่นอกจากความสวยแล้ว ความใจกล้าของเธอยังน่าจะทำให้หนุ่มได้คอแห้งกันบ้างแหละ แม้หลายครั้งจะไม่เข้าใจว่าทำไมเวลาต่อสู้กับมนตร์ดำแล้วเสื้อต้องหล่นมาโชว์หน้าอกอยู่เรื่อยก็ตาม ซึ่งพอพูดถึงเรื่องแนวแฟนตาซีพีเรียตและฉากโป๊แล้วก็อดนึกถึงซีรีส์ Game of Thrones ไม่ได้ และแน่นอนแหละว่างานวิชวลของ The Witcher เองก็ไม่ได้หนีจากซีรีส์ชิงบัลลังก์เรื่องดังที่เรากล่าวไปแล้วเท่าใดนัก จนเราอดคิดเปรียบเทียบไม่ได้ทั้งงานออกแบบงานสร้างและการต้องมีฉากขายความเซ็กซี่
สรุปแล้ว The Witcher คือซีรีส์ที่ดูให้สนุกได้ก็ต้องอาศัยความอดทนครับเพราะเนื้อหาค่อนข้างซับซ้อนและการเดินเรื่องแบบไม่ลำดับเวลา ซึ่งเราแนะนำให้ดูแบบพากย์ไทย แล้วจะติดตามเรื่องได้ง่ายขึ้นแถมยังมีฉากร้องเพลงเป็นภาษาไทยด้วย ที่ถูกใจผมที่สุดคงหนีไม่พ้นเพลงที่ร้องว่า “จงโยนเหรียญ หั้ย..กาบ..วิชเชอร์…” นี่แหละที่ทำให้การดูซีรีส์เรื่องนี้มีความฮา…แบบคาดไม่ถึงอยู่.
ดูซีรีส์ The Witcher บน Netflix ได้จากลิงก์นี้เลยครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส