ถ้าพูดถึงซีรีส์ทางการแพทย์ ‘Good Doctor’ ก็เป็นหนึ่งในซีรีส์ที่อยู่ในใจใครหลายคนมาตั้งแต่เวอร์ชันแรกจนถึงเวอร์ชันปัจจุบันที่แตกหน่อออกมาถึง 4 ซีซันเข้าไปแล้วในเวอร์ชันของสหรัฐอเมริกา สำหรับใครที่ชื่นชอบซีรีส์ทางการแพทย์เรื่องนี้ เราขอแนะนำอย่างจริงใจเลยว่า หากคุณได้รับชมจนครบทั้งสามเวอร์ชัน สิ่งแรกที่คุณจะได้รับก็คืออรรถรสที่แตกต่างอย่างตรึงใจ
Good Doctor เวอร์ชันต้นฉบับเป็นของเกาหลี ออกอากาศในปี 2013 และประสบความสำเร็จจนเป็นปรากฏการณ์ของวงการโทรทัศน์เกาหลีในช่วงนั้น คะแนนนิยมท่วมท้นจนกวาดรางวัล KBS Drama Awards ไปถึง 7 รางวัล และแน่นอนว่ารางวัลใหญ่อย่าง Baeksang Arts Awards ก็ไม่พลาดที่จะคว้ามาครอง ความโด่งดังนี้ทำให้ ABC studio และ Sony Picture ได้ลิขสิทธิ์แล้วนำมาสร้างใหม่ในชื่อ ‘The Good Doctor’ ออกอากาศในปี 2017
ต่อมา Fuji TV ของประเทศญี่ปุ่นได้ซื้อลิขสิทธิ์จากเกาหลีอีกครั้งและออกอากาศในปี 2018 Good Doctor จึงกลายเป็นซีรีส์ 3 เวอร์ชันจาก 3 เชื้อชาติอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องบอกว่า อรรถรสในการรับชมนั้นแตกต่างกันไปอย่างน่าประทับใจ พร้อม ๆ กับสาส์นที่ส่งมาถึงคนดูเหมือนกันว่า ซีรีส์เรื่องนี้เป็นซีรีส์สร้างสรรค์สังคมและช่วยทำให้มีมุมมองที่ดีกับโลกใบนี้ ภายใต้คอนเซ็ปต์เดียวกันจากความคิดส่วนลึกในใจของตัวเอกของเรื่องที่ว่า “เด็กทุกคนควรมีโอกาสได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่”
ความเหมือนของทั้ง 3 เวอร์ชัน
หากจะถามว่าเราควรเลือกดูเวอร์ชันไหนก่อนดี จำเป็นไหมที่ควรเริ่มดูตั้งแต่เวอร์ชันต้นฉบับ ก็บอกเลยว่าไม่จำเป็น เพราะทั้ง 3 เวอร์ชันให้อรรถรสที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ถึงแม้โครงเรื่องจะยังยึดธีมเดียวกันคือ ตัวเอกเป็นหมอที่มีอาการของ ออทิสติก ซาวองก์ ซินโดรม ตั้งแต่กำเนิด มีความสามารถพิเศษอย่างอัศจรรย์ สามารถจดจำตำแหน่งของอวัยวะภายในร่างกายมนุษย์ได้อย่างตาเห็น ชนิดที่ฟิล์มเอ็กซ์เรย์ชำรุดไปก็อาจจะใช้ความสามารถของเขามาแทนกันได้ ขนาดนั้นเลยแหละ
คุณหมอที่แสนพิเศษคนนี้มีปมวัยเด็กที่น่าสงสาร เพราะเกิดมาในครอบครัวที่พ่อใช้ความรุนแรง สูญเสียสัตว์เลี้ยงและพี่ชายไปในวัยเด็ก (ในเวอร์ชันอเมริกาเป็นน้องชาย) และได้รับอุปการะจากคุณหมอใจดีท่านหนึ่งที่เห็นแววอัจฉริยะในตัวเขา ส่งเสริมให้เรียนจบแพทย์และรับเข้าทำงานในโรงพยาบาลที่ตัวเองดูแลอยู่ เขาต้องฝ่าฟันกับอคติจากเพื่อนร่วมงาน ที่กีดกันและไม่เชื่อมั่นในความสามารถของเขา เพราะกังขาในความเป็นออทิสติก ต้องฝ่าด่านความไว้ใจจากคนไข้ที่ยินยอมให้เขารักษา จนได้รับการยอมรับในที่สุดเพราะเก่งจริง
ซึ่งธีมนี้คือหัวใจของเรื่องและทั้ง 3 เวอร์ชันยังคงยึดแนวทางเดิม ไม่หนีจากกันไปไหน แต่….ความแตกต่างอยู่ที่เนื้อหาด้านในนี่แหละจ้ะ และเวอร์ชันที่ฉีกออกไปมากที่สุดคือเวอร์ชันของสหรัฐอเมริกา
Good Doctor ต้นฉบับเกาหลี
เล่าเรื่องราวของ ‘ปาร์คชีอน’ (จูวอน) นายแพทย์หนุ่ม ที่เข้าทำงานในแผนกกุมารเวชศาสตร์ ในฐานะกุมารศัลยแพทย์ของโรงพยาบาลชื่อดัง ที่กว่าจะได้ผ่าตัดก็ต้องพิสูจน์ตัวเองมากมาย เพราะถึงเขาจะเป็นอัจฉริยะทางการแพทย์ แต่ด้วยอาการ ‘ออทิสติก ซาวองก์’ ทำให้ขาดทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ เขาต้องพบกับอคติมากมายจากเพื่อนร่วมงานที่ไม่เชื่อว่าเขาจะเป็นหมอที่ดีได้จริง ต้องปรับตัวและต่อสู้กับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง
ตัวละครอื่น ๆ มีหลายมิติ ทั้งการกลั่นแกล้งเพื่อให้เขาพ้นจากความเป็นหมอ ความเย็นชาจากอาจารย์หมอที่เป็นหัวหน้าโดยตรง การเมืองในโรงพยาบาล การเอาใจใส่จากนางเอกจนกลายเป็นความรัก แต่ยังยึดเส้นเรื่องหลักที่การรักษาทางการแพทย์ที่สมจริง ผสมไปกับดราม่าโรแมนติก ที่สร้างความหน่วงใจแต่ก็อบอุ่นได้ตลอดทั้งเรื่อง ถึงแม้ว่าช่วงท้าย ๆ เนื้อเรื่องจะปล่อยไหลไปกับความรู้สึกของพระเอก นางเอกมากไปหน่อยก็ตาม แต่ก็เป็นสไตล์ของซีรีส์เกาหลีในยุคนั้นนั่นแหละ
- ช่องทางรับชม : NETFLIX และ VIU
- กำกับ : คีมินซู , คิมจินอู
- เขียนบท : พัคแจบอม
Good Doctor เวอร์ชันอเมริกา
เมื่อคุณหมอสุดอัจฉริยะเดินทางไปถึงอเมริกา จาก Good Doctor ก็กลายเป็น The Good Doctor เขียนบทโดย เดวิด ชอร์ ผู้เขียน M.D.House ซีรีส์แพทย์ที่สร้างหมอปากเสียแต่เก่งกาจคนหนึ่งมาให้เป็นตำนาน ซึ่งการสร้างเวอร์ชันนี้ก็ได้ความร่วมมือจาก ‘แดเนียล แด คิม’ นักแสดงและโปรดิวเซอร์ชาวเกาหลี-อเมริกัน ที่ได้ลิขสิทธิ์ซีรีส์มาครอง จนได้ร่วมมือกับ Sony และช่อง ABC จนออกมาเป็นเวอร์ชันนี้อย่างที่เราเห็นด้วยผลงานการเขียนบทของ เดวิด ชอร์ ที่ต้องปรบมือให้ เพราะยังอยู่ในโครงร่างเดิมแต่มีรสชาติใหม่ที่เป็นไปได้ในสังคมอเมริกา
เปลี่ยนชื่อคุณหมอจากชีอนเป็น ‘ดร.ฌอน เมอร์ฟี่’ (เฟรดดี ไฮร์มอร์) เปลี่ยนจากกุมารศัลยแพทย์ เป็นแพทย์ประจำบ้านในแผนกศัลยกรรม การเล่าเรื่องในช่วงแรกเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ ตื่นเช้ามาทำงาน เจอเด็กประสบอุบัติเหตุกลางทางและช่วยชีวิต ในระหว่างที่ผู้อำนวยการเอาตำแหน่งตัวเองเป็นเดิมพันเพื่อให้ฌอนได้เข้าทำงาน ข่าวการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในที่เกิดเหตุ และแรงบันดาลใจในการเป็นหมอของฌอนก็ทำให้หัวหน้าทีมของเขายอมรับฌอนเข้าทีมผ่าตัดตั้งแต่ต้น ต่างกับหมอชีอนในต้นฉบับ ถึงแม้ว่าจะได้จับแต่ที่ดูดและทำงานจิปาถะก็ตาม
และจุดใหญ่ที่ซีซันนี้แตกต่างจากต้นฉบับก็คือ ไม่เน้นดราม่าแต่เน้นความเป็นไปได้ในการทำงาน การที่เปลี่ยนบทให้ฌอนเป็นแพทย์ประจำบ้านในแผนกศัลยกรรม แทนที่จะเป็นแผนกกุมารเวชอย่างต้นฉบับ ทำให้เวอร์ชันนี้มีเรื่องให้เล่นอีกพะเรอเกวียน ซีรีส์สามารถต่อยอดไปได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของเคสต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างของอาการเจ็บป่วยและเชื้อชาติ ทำให้ซีรีส์เติบโตไปหลายซีซันอย่างน่าติดตาม และความรักของฌอนก็เปลี่ยนเป้าหมายไปที่สาวข้างบ้านมากกว่ารุ่นพี่ในแผนกอย่างที่ชีอนเป็น
- ช่องทางรับชม : NETFLIX
- เขียนบท : เดวิด ชอร์
Good Doctor เวอร์ชันญี่ปุ่น
เวอร์ชันนี้ยึดโครงเรื่องตามต้นฉบับเกือบทั้งหมดโดยให้ตัวเอกคือ ‘มินาโตะ ชินโด’ (เคนโตะ ยามาซากิ) เป็นกุมารศัลย์แพทย์ที่มีความฝันอยากให้เด็ก ๆ ทุกคนเติบโตมาอย่างสุขภาพดี ดราม่าการเมืองในโรงพยาบาลไม่มี ลดทอนดราม่าของตัวละครฝั่งหมอออกไป แต่เพิ่มเติมรายละเอียดปูมหลัง ความหวังและดราม่าของของคนไข้แต่ละเคสเข้ามาแทน ซึ่งเวอร์ชันนี้เป็นเวอร์ชันที่ทำเอาน้ำตาหมดไปหลายไหเลยจ้ะ เพราะแต่ละเคสที่หมอชินโดต้องเกี่ยวข้อง นอกจากการรักษาอาการป่วยแล้วยังมีเรื่องของชีวิตคนไข้ที่ทำให้เราต้องเสียน้ำตาอีกด้วย
เนื้อหาของเวอร์ชันนี้จะกระชับกว่าของต้นฉบับด้วยความที่มี 10 ตอนจบ แต่การเล่าเรื่องต้องขอยกนิ้วให้ในความเป็นญี่ปุ่นที่จับรายละเอียดดราม่าได้ถูกจุด โดยเลือกจะพูดถึงความเป็นจริงที่ว่า ถึงแม้มินาโตะ ชินโดจะเป็นหมอที่มีความอัจฉริยะขนาดไหน แต่อาการป่วยที่เขาเป็นทำให้เขาใช้ชีวิตในสังคมได้ยากอยู่ดี และการที่คนไข้และหมอที่ดูแล จะไว้ใจให้เขารักษามันไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีอารมณ์หวานแหววของความรักพระ-นางให้เราแอบยิ้มแบบต้นฉบับ มีแต่มุมน่ารักของหมอและคนไข้ให้เราเอาใจช่วย ใครอยากดูเวอร์ชันนี้ตอนนี้ต้องรอไปก่อนเพราะลิขสิทธิ์ที่เคยนำเข้ามาฉายหมดแล้วจ้ะ
- ช่องทางรับชม : ปัจจุบันไม่มีช่องทางรับชมอย่างเป็นทางการ
- กำกับ : ฮิโระ คานาอิ, ฮิเดยูกิ ไอซาวา
- เขียนบท : ยูอิจิ โทคุนากะ, ฮารุกะ โอกิตะ
สรุป
ทั้ง 3 เวอร์ชันมีธีมเดียวกัน แต่รายละเอียดของเนื้อเรื่องแตกต่างกันออกไป อย่างได้อรรถรส
- เวอร์ชันต้นฉบับเกาหลีจะเน้นความอบอุ่น โรแมนติก มีเรื่องราวความรักของพระ-นาง มีดราม่าสังคมของหมอในโรงพยาบาล และมีการรักษาทางการแพทย์ที่สมจริง
- เวอร์ชันญี่ปุ่นคงไว้ซึ่งโครงเรื่องของต้นฉบับมากที่สุด แต่ยังคงมีความแตกต่างอยู่ที่เนื้อหาและไม่ขายความโรแมนติก แต่ขายดราม่าไปที่อาการออทิสติกของตัวเอก ซึ่งตัวเอกเวอร์ชันนี้มีอาการที่ชัดเจนกว่าต้นฉบับมาก ๆ และเน้นปูมหลังของคนไข้ที่ขยี้ให้คนดูคล้อยตามได้อย่างสะเทือนใจ แต่ไม่เน้นไปที่การรักษาทางการแพทย์มากมายนักและร้องไห้แน่ ๆ บอกเลย
- เวอร์ชันอเมริกาเป็นเวอร์ชันที่ฉีกออกไปมากที่สุด เนื้อเรื่องเน้นความสามารถของตัวเอก ความเข้าใจและหัวใจของการเป็นหมอที่เห็นการช่วยคนไข้ที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็มีความสำคัญเท่าเทียมกันหมด มีความหลากหลายในเคสของการรักษา และผ่าเก่งยิ่งกว่าเวอร์ชันไหน ๆ เอะอะผ่า เอะอะเห็นตับไตไส้พุง ทำให้เนื้อเรื่องสมจริงทางการแพทย์และน่าติดตามมาก ๆ
แต่ทั้งหมดล้วนมีจุดประสงค์เดียวกันคือ การนำเสนอซีรีส์พลังบวกที่พร้อมจะบอกทุกคนว่า พลังใจในการดำเนินชีวิต หาได้ง่าย ๆ ด้วยการดูซีรีส์เรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชันไหนก็ตาม ใจจะฟูขึ้นมาอีกเยอะเลย ถึงแม้ว่าจะเสียน้ำตาให้กับหลาย ๆ ฉากในเวอร์ชันญี่ปุ่นก็ตาม
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส