นับตั้งแต่การประกาศไตเติลใหม่ ๆ ภายใต้ชายคาดิสนีย์ (Disney) ในงาน Disney’s Investor Day 2020 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในที่สุด Disney และ ลูคัสฟิล์ม (LucasFilm) ก็ได้ฤกษ์ปล่อยตัวอย่างเต็มของซีรีส์ ‘Andor’ ซีรีส์เรื่องใหม่ล่าสุดภายใต้จักรวาล ‘Star Wars’ หลังจากที่ปล่อยทีเซอร์มาแบบสั้น ๆ ก่อนหน้านี้
‘Andor’ เป็นซีรีส์ Prequel ที่จะเล่าเรื่องราวในช่วงเวลา 5 ปีก่อนเกิดปฏิบัติการโรควัน หรือแผนชิงผังดาวมรณะ (Death Star) อาวุธทรงอานุภาพที่สุดของจักรวรรดิเอ็มไพร์ใน ‘Rogue One: A Star Wars Story’ (2016) โดยตัวเหตุการณ์จะโฟกัสไปที่ กัปตัน แคสเซียน เอนดอร์ (Cassian Andor) (รับบทโดย ดีเอโก ลูนา (Diego Luna)) ที่จะกลายมาเป็นฝ่ายกบฏ และเป็นกัปตันคุมทีมทีมโรค วัน (Rogue One) ในภายหลัง รวมทั้งการก่อกำเนิดพันธมิตรฝ่ายกบฏ (Rebel Alliance) เพื่อต้านจักรวรรดิเอ็มไพร์อีกด้วย
จากความสำเร็จอย่างงดงามของ ‘Rogue One: A Star Wars Story’ ที่นำเสนอเรื่องราวการต่อสู้ในสงครามอวกาศที่มีทิศทางแตกต่างออกไปจากเรื่องราวในภาคหลัก หรือ Skywaker Saga อย่างชัดเจน ทั้งมุมมองของการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับคนภายในสมรภูมิทั้งสองฟากฝั่ง การเน้นภาพการต่อสู้ในสมรภูมิดาวสการิฟ (Scarif)
แผนปฏิบัติการชิงผังดาวมรณะที่จริงจังกว่าเดิม (โดยไม่มีพลังเจไดเข้ามาเกี่ยวข้อง) และการสะท้อนภาพของความน่ากลัวของจักรวรรดิที่กำลังจะเรืองอำนาจต่อไปในภายภาคหน้า ทำให้ Disney และ ลูคัสฟิล์ม (LucasFilm) เลือกที่จะสานต่อเรื่องราวของปฏิบัติการ และความมุ่งมั่นในการโค่นจักรวรรดิ์ของคนกลุ่มเล็ก ๆ อีกครั้งในรูปแบบซีรีส์ทาง Disney+
บทความนี้จะพาไปค้นหา Easter Egg และจุดสังเกตที่เกิดขึ้นภายในตัวอย่างของซีรีส์ ‘Andor’ ก่อนที่จะได้ชม 3 ตอนแรกของซีรีส์ที่จะเริ่มสตรีมในวันที่ 21 กันยายน 2022 ที่จะถึงนี้
ภาพของยาน Star Destroyer ในฉากเปิดตัว
ในช็อตแรก ๆ ของตัวอย่างนี้ เราจะได้เห็นยานพิฆาตดารา หรือยาน Star Destroyer ยานเจ้าประจำของฝ่ายจักรวรรดิที่ปรากฏอยู่เหนือน่านฟ้าของดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง ซึ่งก็สามารถชวนให้นึกถึงฉากแรกของภาพยนตร์ ‘Star Wars: Episode IV – A New Hope’ (1977) ที่มียานลำนี้กำลังลอยอยู่ในอวกาศขณะตามไล่ล่ายานของฝ่ายกบฏได้เหมือนกัน
แม้ทั้งสองซีนจะมีความแตกต่างกันตรงที่ ในตัวอย่างนี้จะเป็นมุมมองที่อยู่เหนือจากพื้นดิน ไม่ใช่การมองจากมุมสูงเหมือนอย่างในหนัง แต่การมาของฉากเหล่านี้ก็เป็นเหมือนภาพที่คอยเตือนและตอกย้ำถึงความน่ากลัวของฝ่ายจักรวรรดิ ในช่วงที่ถือว่ากำลังเรืองอำนาจสูงสุด รวมทั้งความเหลื่อมล้ำของอำนาจของจักรวรรดิที่กำลังมีแต้มต่อเหนือกว่าฝ่ายกบฏได้อย่างชัดเจน
ฉากบ้านเกิดของแอนดอร์
ช็อตต่อมา เราจะได้เห็น แคสเซียน แอนดอร์ ยืนอยู่หน้าเหมืองแร่บนดาวเฟสต์ (Fest) ดวงดาวริมขอบนอกของกาแล็กซี (Outer Rim Territories) อันเป็นบ้านเกิดของเอนดอร์ ที่ถูกจักรวรรดิบุกรุกเข้าไปทำเหมืองผิวดิน ในหนังสือเบื้องหลัง ‘Rogue One: A Star Wars Story’ ได้ระบุว่า เฟสต์จะกลายมาเป็นดวงดาวที่เป็นฐานทัพสำหรับกองกำลังกบฏในเวลาต่อมา (และมีความเป็นไปได้ที่เราอาจจะได้เห็นชีวิตแอนดอร์ในวัยเด็กด้วย)
ในขณะเดียวกันกับที่มีเสียงของเอนดอร์พูดขึ้นในตัวอย่าง ซึ่งสื่อให้เห็นว่า การเข้าไปขโมยผังของดาวมรณะนั้นไม่ยาก เพราะว่า “พวกมันหลงตัวเองจะตาย! มันหลงตัวเองซะจนเต็มตื้น! มันไม่นึกเลยด้วยซ้ำว่าจะมีคนอย่างฉัน เข้าไปถึงบ้านของพวกมัน…” เป็นการชี้ให้เห็นว่า จักรวรรดิมีความมั่นใจในชัยชนะของตนเองมาก จนหลายครั้งก็มากเกินไป เหมือนกับที่ลุค สกายวอล์กเกอร์ (Luke Skywalker) เคยพูดกับพัลพาทีน (Pulpatine) ใน ‘Star Wars: Episode VI – Return of the Jedi’ (1983) ว่า “ความมั่นใจมากเกินไปของเจ้าคือจุดอ่อน” (“Your Overconfidence Is Your Weakness.”)
สภาวุฒิสมาชิกของจักรวรรดิ
ในตัวอย่างของ Andor จะได้เห็นอีกโลเกชันสำคัญจากไตรภาคต้น (Episode 1-2-3) ที่กลับมาอีกครั้ง นั่นก็คือฉากสภาวุฒิสมาชิกของสาธารณรัฐกาแลกติก (Galactic Republic) บนดาวคอรัสซัง (Coruscant) ซึ่งเป็นสถานที่ที่พัลพาทีนได้ออกคำสั่งมาตรา 66 (Order 66) ให้ทหารโคลนสังหารเจไดที่เป็นกบฏ เปลี่ยนการปกครองกลายเป็นจักรวรรดิกาแลกติก และยังเป็นที่ที่พัลพาทีนกับโยดาได้เผชิญหน้า ขว้างเก้าอี้สภาสู้กันใน ‘Star Wars: Episode III – Revenge of the Sith’ (2005)
ตัวอย่างนี้เราจะได้เห็นสภานี้กลับมาอีกครั้งหนึ่งในรูปแบบที่เปลี่ยนไปเล็กน้อย ซึ่งน่าจะเป็นผลที่เกิดขึ้นหลังจากการต่อสู้ของโยดาและพัลพาทีน และแน่นอนว่าตำแหน่งในสภาถูกแทนที่ด้วยนักการเมืองของฝั่งจักรวรรดิที่กำลังเดินหน้าปกครองกาแล็กซี ในแง่ของเนื้อเรื่อง นี่อาจหมายถึงการเชื่อมโยงเรื่องราวของตัวซีรีส์กับไตรภาคต้น ในการนำเอาเรื่องราวและความขัดแย้งในเชิงการเมืองกลับมาสู่จักรวาลสตาร์ วอร์ส อีกครั้ง ในช่วงที่กำลังจะวางแผนสร้างดาวมรณะ อย่างที่ผู้ให้กำเนิดอย่าง จอร์จ ลูคัส (George Lucas) ตั้งใจไว้ และแทบจะไม่ได้รับการพูดถึงอีกเลยในไตรภาคต้น และไตรภาคใหม่ (Episode 7-8-9)
แอนดอร์แทรกซึมเข้าสู่จักรวรรดิ
ในตัวอย่างเราจะได้เห็น แคสเซียน แอนดอร์ เป็นสายลับของฝ่ายกบฏที่กำลังแทรกซึมและแฝงตัวเข้าไปเป็นทหารของจักรวรรดิ และดูเหมือนว่าเขาเองก็ทำสำเร็จด้วย (จากการที่เขาใส่เครื่องแบบทหารของจักรวรรดิ) เท่ากับว่าเขาเองกำลังปฏิบัติภารกิจในนามของกบฏ และยังไม่ชัดเจนว่าเขาเองจะถูกตรวจสอบและจับได้หรือไม่อย่างไร
แอนดอร์เข้าร่วมฝ่ายกบฏ
ในตัวอย่าง แคสเซียน แอนดอร์ ถูกชายลึกลับคนหนึ่งชักชวนเข้าฝ่ายกบฏ ชายลึกลับคนนั้นมีชื่อว่า ‘ลูเธน ราเอล’ (Luthen Rael) (นำแสดงโดย สเตลเลน สการ์สการ์ด (Stellan Skarsgård)) ซึ่งจากตัวอย่าง เขาเองน่าจะเป็นคนที่มีบทบาทในฝ่ายกบฏหรืออาจมีตำแหน่งที่สูง ในช่วงแรก ๆ ที่ฝ่ายกบฏกำลังเริ่มก่อตัว แต่ด้วยความที่ตัวละครนี้เป็นตัวละครใหม่ที่ไม่เคยปรากฏใน Rogue One มาก่อนเลย ก็อาจเป็นไปได้ว่าตัวละครนี้อาจถูกจักรวรรดิกำจัดไปแล้วก็ได้
ภัยคุกคามของแอนดอร์
ศัตรูและภัยคุกคามที่อันตรายที่สุดของแอนดอร์คือหน่วยข่าวกรองที่มีชี่อว่า Imperial Intelligence หรือหน่วยสืบราชการลับ ที่ขึ้นตรงต่อผู้นำของจักรวรรดิ ที่มีหน้าที่สืบข่าว วางแผน และมีตำแหน่งคล้ายตำรวจบัญชาการหน่วยรบพิเศษ เดธทรูปเปอร์ (Death Troopers) เพื่อสืบเสาะ ตามหาเบาะแส และไล่ล่าสังหารผู้ที่ตั้งตนเป็นกบฏ ซึ่งในตัวอย่างเราจะเห็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยที่แต่งด้วยเครื่องแบบสีขาว
ซอว์ เกอร์เรรา ที่กลับมา
อีกตัวละครจาก Rogue One ที่ปรากฏตัวในตัวอย่างนี้ด้วยก็คือ ซอว์ เกอร์เรรา (Saw Gerrera) (นำแสดงโดย ฟอร์เรสต์ วิธเทกเกอร์ (Forest Whitaker)) อดีตนายทหารครึ่งคนครึ่งไซบอร์กมากประสบการณ์ ที่คอยแนะนำแผนการรบให้กับหน่วยโรค วัน และแม้จะเป็นฝ่ายต่อต้านจักรวรรดิเหมือนกัน แต่เขาเองนั้นมีแนวทาง Anti-Hero นั่นก็คือเน้นความสุดโต่งและรุนแรงกว่าฝ่ายกองกำลังกบฏ
ใน Rogue One ซอว์เป็นทหารชราที่อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวบนดาวเจดาห์ (Jedha) แล้ว ซึ่งใน Andor เราจะเห็นเขามีสภาพร่างกายที่ค่อนข้างดูดีกว่าใน Rogue One และยังไม่แน่ใจว่าเขาเองจะเริ่มตั้งรกรากบนดาวเจดาห์แล้วหรือยัง
โลกใต้ดินของ สตาร์ วอร์ส
ในตัวอย่างช็อตหนึ่งเราจะได้เห็นภาพอาคารสูงที่มีลิฟต์เดินทางลงไปยังเมืองที่อยู่ลึกลงไปใต้ผืนดิน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผืนดินบนดาวคอรัสซัง (Coruscant) ซึ่งเหมือนเป็นการบอกเป็นนัยว่า ซีรีส์เรื่องนี้ได้เอาแนวคิด ‘Star Wars: Underworld’ หรือเรื่องราวโลกใต้ดินของสตาร์ วอร์ส ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นแนวคิดของ จอร์จ ลูคัส มาปรับใช้ในซีรีส์เรื่องนี้ด้วย
Star Wars: Underworld เป็นแนวคิดเรื่องราวภายใต้จักรวาลสตาร์ วอร์ส ที่ จอร์จ ลูคัส วางแผนให้อยู่ในช่วงเวลาระหว่าง ‘Star Wars: Episode III – Revenge of the Sith’ (2005) และ ‘Star Wars: Episode IV – A New Hope’ (1977) ซึ่งเป็นเรื่องราวการสำรวจโลกใต้ดิน และโลกของอาชญากรรมบนดาวคอรัสซัง ในช่วงเวลาที่จักรวรรดิเรืองอำนาจและบ้านเมืองไร้ขื่อแป โดยลูคัสฟิล์ม (Lucasfilm) ตั้งใจว่าจะสร้างโปรเจ็กต์นี้ในรูปแบบทีวีซีรีส์ในช่วงปี 2005 มีการพัฒนาบทขึ้นมามากถึง 50 ตอน ก่อนที่โปรเจกต์จะถูกระงับไปในปี 2010 และโปรเจกต์ก็ถูกเก็บเข้าลิ้นชักปิดตายหลังจากที่ Disney เข้าซื้อ Lucasfilm ในปี 2012
ในตัวอย่างนี้เราอาจจะได้เห็นโลกใต้ดิน และบ้านเมืองที่ไร้ระเบียบตามแนวคิดของลูคัสอีกครั้ง ในช่วงเวลาที่ซิธกำลังมีอำนาจ อาชญากรรม คอรัปชันที่เกิดขึ้น สร้างความโกลาหล ไร้ระเบียบ ซึ่งฝ่ายกบฏอาจใช้ประโยชน์จาเงามืดในดินแดนลับแลแห่งนี้ก็เป็นได้
การก่อตัวของฝ่ายกบฏ
อีกจุดสำคัญของซีรีส์เรื่องนี้คือยังเป็นช่วงเวลาของการก่อกำเนิดฝ่ายกบฏ ที่จะพัฒนากลายเป็นพันธมิตรฝ่ายกบฏ (Rebel Alliance) ในเวลาต่อมา ซึ่งบุคคลสำคัญซึ่งถือเป็นผู้นำฝ่ายกบฏคนแรก ๆ ก็คือ วุฒิสมาชิก ‘มอน มอธมา’ (Mon Mothma) ที่นำแสดงโดย เจนิวีฟ โอไรลีย์ (Genevieve O’Reilly) ที่เคยรับบทบาทนี้ใน ‘Star Wars: Episode III – Revenge of the Sith’ (2005) มาแล้ว การกลับมาของวุฒิสมาชิกมอธมา นักการเมืองผู้รักสันติ และใช้การเมืองเป็นอาวุธหลักผู้นี้จะเข้ามามีบทบาทในการก่อตั้งฝ่ายกบฏ ในช่วงที่จักรวรรดิกำลังเร่งจัดระเบียบ และจัดการไล่ฆ่าผู้เห็นต่างได้อย่างไร
“การปฏิวัติมันก็เป็นแบบนี้แหละ…”
ช็อตใกล้จบของตัวอย่าง มีเสียงของตัวละครหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “การปฏิวัติมันก็เป็นแบบนี้แหละ…” (“This Is What Revolution Looks Like…”) ซึ่งตัวละครนี้มีชื่อว่า คลียา (Kleya) นำแสดงโดย เอเดรีย อาโญนา (Adria Arjona) ซึ่ง ณ ตอนนี้ ก็ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าตัวละครนี้เป็นใคร และจะมีบทบาทอย่างไรกับเนื้อเรื่องบ้าง นอกจากข้อมูลเพียงแค่ว่า เธอเองมาพร้อม ๆ กับ ลูเธน ราเอล ถ้าหากสังเกตช็อตเหตุการณ์ในช่วงนี้ต่อเนื่องกัน ก็จะพอเห็นภาพที่น่าจะไปได้ว่า วุฒิสมาชิกมอธมาอาจกำลังใช้บทบาททางการเมืองของเธอในการเบี่ยงเบนความสนใจเหล่าวุฒิสมาชิก และเริ่มต้นแผนการ ‘ปฏิวัติ’ เพื่อล้มล้างจักรวรรดิ
“ฉันเบื่อที่จะแพ้แล้ว”
ไดอะล็อกสุดท้ายที่แอนดอร์ได้พูดขึ้นนี้ เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า ปฏิบัติการการปฏิวัติครั้งนี้อาจเต็มไปด้วยความยากเย็น เนื่องจากในเวลานี้ ฝ่ายกบฏนั้นอาจจะยังก่อตัวได้ไม่เต็มที่ และยังคงต้องแอบ ๆ ซ่อน ๆ จากการตามล่าของกองทัพจักรวรรดิ นอกจากนั้น ประโยคนี้อาจเป็นการบ่งบอกว่า ฝ่ายกบฏนั้นประสบความพ่ายแพ้ให้กับจักรวรรดิที่แข็งแกร่งกว่าหลายต่อหลายครั้ง
หากเทียบเคียงกับ Rogue One นี่ก็อาจจะคล้ายกับภารกิจขโมยแผนผังดาวมรณะที่เต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ และมีโอกาสล้มเหลวได้มากถึง 97.6% อีกทั้งชีวิตของทีมโรค วันยังต้องจบลงอย่างน่าสิ้นหวัง แต่อย่างน้อย ภารกิจและความพ่ายแพ้ของพวกเขา ก็กลายมาเป็นความหวังใหม่ (A New Hope) ให้กับฝ่ายกบฏ จนสามารถโค่นล้มฝ่ายจักรวรรดิ และคืนความสงบให้กับกาแล็กซีได้ในเวลาต่อมา
ที่มา: Screen Rant, Wookiepedia, Screen Rant
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส