ปัจจุบัน ‘การก่อสร้าง’ (Construction) ระบบสาธารณูปโภค ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ฯลฯ เพื่อให้เพียงพอกับประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้น มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลต่อปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก (Climate change) หรือที่เราเรียกว่า สภาวะโลกร้อน คำถามคือ เราจะทำอย่างไรเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตและการใช้พลังงานให้ไปในทิศทางที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง และกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด คำตอบคือ การก่อสร้างสีเขียว (Green Construction) ที่กำลังเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมมากขึ้น

ไทยเองก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ บวกกับมีจุดยืนต่อประชาคมโลกที่ต้องการยกระดับเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และเพื่อให้บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 การทำความเข้าใจ ให้ความรู้ และร่วมมือกันระหว่างองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นเรื่องสำคัญ ทาง CPAC Green Solution มองเห็นในจุดนี้ จึงจัดงาน​ “Thailand: The New Chapter of Green Construction Forum 2023 Powered by CPAC Green Solution รวมพลัง สร้างการเปลี่ยนแปลง สู่อุตสาหกรรมก่อสร้างสีเขียวอย่างยั่งยืน” ขึ้นมา พร้อมเชิญวิทยากรแถวหน้าของวงการก่อสร้างทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ และแชร์ความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้างที่ยั่งยืน (Sustainability in construction)

ประมาณ 60-70% ของการผลิตซีเมนต์ (Cement) จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ประมาณ 18 ล้านตันต่อปี

คุณชนะ ภูมี Vice President Sustainability SCG

ในช่วงแรกของงาน คุณชนะ ภูมี Vice President Sustainability SCG ได้ขึ้นเวทีมาแชร์เรื่องราวในแง่มุมต่าง ๆ เกี่ยวกับ Green Construction และการนำแผนไปปรับใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ซึ่งแยกออกมาได้เป็น 4 เรื่อง

  1. Net Zero 2050: วางแผนโร้ดแมพ (Road Map) ให้ชัดเจน
  2. Go Green: ผลิตโปรดักต์ บริการ และโซลูชัน ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง เช่น ปูนลดโลกร้อน (Hydraulic Cement)
  3. Reduce Inequality: ทำให้คนทั้งอุตสาหกรรมการก่อสร้างมีความสามารถมากขึ้น และทำงานออกมาได้คุณภาพเดียวกัน
  4. Enhance Collaboration: เพิ่มการร่วมมือกับทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน และเรียนรู้ถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ของแต่ละฝ่าย เพื่อนำมาทำงานร่วมกัน

หวังว่าวันนี้จะเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่เราจะช่วยกันลดโลกร้อน

คุณชนะ ภูมี Vice President Sustainability SCG

Thailand: Change & Chance to Green Society

หัวข้อ Thailand: Change & Chance to Green Society ถูกบอกเล่าโดย ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเนื้อหามีการพูดถึง Green Construction ว่าเป็นเหมือนกระดูกสันหลัง (Backbone) ส่วนสำคัญที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์และการเป็นกลางทางคาร์บอนจะไม่มีทางเกิดขึ้นจริง หากเราไม่สามารถเปลี่ยนผ่านเรื่องนี้

วันนี้โลกร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดภัยพิบัติมากมาย ถ้าแย่กว่านั้น 2 องศา จะเกิดอะไรขึ้น

ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั่วโลกให้ความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทางภาครัฐของไทยเองก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน โดยในงาน COP26 ไทยได้ประกาศเป้าหมายของความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ต่อหน้าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งการจะทำให้เป้าหมายสำเร็จเป็นจริงต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งประเทศ

จากสถิติอุตสาหกรรมก่อสร้างทั่วโลกปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ประมาณ 39% ส่วนประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 105 ล้านตันต่อปี ซึ่งภาครัฐต้องการลดตัวเลขนี้ลง ผ่านการตั้งเป้าหมายระยะสั้นทุก ๆ 5 ปี ร่วมกับการออกกฎหมายให้สอดคล้องกับทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


Sustainability in Design and Construction

หัวข้อ Sustainability in Design and Construction ถูกบอกเล่าผ่าน Dr. Andrew Minson Concrete and Sustainable Construction Director – Global Cement and Concrete Association (GCCA) ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ทำงานด้านวิศวกรโครงสร้างมากกว่า 10 ปี โดยเนื้อหาจะบอกเล่าว่าการสร้างคอนกรีตนั้น มีผลประโยชน์มากกว่าผลกระทบ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา การหันมาใช้ปูนซีเมนต์ลดโลกร้อนจึงเป็นทางที่ดีกว่า รวมถึงการใช้เทคโนโลยี 3D Printing มาใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งจะลดการใช้พลังงาน รวมถึงลดขยะจากเศษวัสดุก่อสร้าง (Material Waste) และคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint)

ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการผลักดันเรื่องนี้เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีการวางแผนโร้ดแมพ (Road Map) พร้อมแนะนำวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตคอนกรีต อีกทั้งผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพเชิงความร้อน (Thermal Efficiency) การใช้พลังงานจากวัสดุเหลือใช้ เลือกวัสดุที่ไม่มีสารคาร์บอเนต และใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง อีกสิ่งที่สำคัญคือการจะลดก๊าซเรือนกระจก เราจะต้องรู้ก่อนว่าสินค้านั้น มีค่าคาร์บอนเท่าไร ทางสมาคมฯ จึงมีการกำหนด Environmental Product Declaration ขึ้นมา เพื่อกำกับการบอกรายละเอียดของสินค้าแต่ละตัว รวมถึงแนะแนวทางการวางโครงสร้าง (Framework) สำหรับการลดการปล่อยคาร์บอนของคอนกรีตและการก่อสร้าง

Might would be a framework that we use to see things—not adopted but adapted to your situation.

Dr. Andrew Minson Concrete and Sustainable Construction Director – GCCA

เสวนาหัวข้อ: How to execute green construction in Thailand

ช่วงนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองของวิทยากร 4 ท่านที่มาจากองค์กรของภาครัฐ​และเอกชน ประกอบด้วย

  • รศ.ดร. สมิตร ส่งพิริยะกิจ ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์,
  • คุณสุเมธ มีนาภา รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง
  • คุณลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • คุณชูโชค ศิวะคุณากร Head of Environment Social Governance & Business Stakeholder Engagement บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด
เราจะกำหนดมาตรฐานการก่อสร้างอย่างไร ในการก้าวสู่การเป็น Green Construction ?

รศ.ดร.สมิตร ส่งพิริยะกิจ ให้คำตอบว่า สิ่งที่จะทำให้เราสามารถก้าวสู่การเป็น Green Construction ได้คือการสร้าง Building Code ที่ทันสมัยขึ้น และกำหนดให้วัสดุหรือขั้นตอนการก่อสร้างปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง อย่างเช่น การหันมาใช้ปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน

ในขณะที่คุณสุเมธ มีนาภา แชร์ว่าในฐานะที่เป็นภาครัฐ เรามีอยู่สองบทบาท หนึ่งคือผู้ออกกฎหมายควบคุม สองคือเจ้าของอาคาร ซึ่งการที่จะเป็น Green Construction ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน

ทางภาคส่วนอสังหาริมทรัพย์ คุณลิซ่า งามตระกูลพานิช แชร์ว่าจะทำ Green Construction ได้ก็ต้องเริ่มจากเจ้าของ (Owner) ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างอาคารที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

สุดท้าย คุณชูโชค ศิวะคุณากร แชร์ว่าจุดเริ่มต้นคือ เป้าหมายขององค์กรที่ต้องเห็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก่อนเรื่องกำไร ถ้าเราทำได้จะเปลี่ยนเป็นจากผู้ทำลาย กลายเป็นผู้ช่วยรักษาธรรมชาติ นอกจากนี้ยังต้องลดวัสดุเหลือทิ้ง (Waste) ที่มาจากการก่อสร้างด้วย เรื่องการเอาเทคโนโลยีมาช่วยก็เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ Green Construction เกิดขึ้นได้จริง

ความท้าทายที่น่ากังวลคืออะไร ถ้าเราจะก้าวไปเป็น Green Construction ?

รศ.ดร.สมิตร ส่งพิริยะกิจ แชร์ว่าสิ่งที่น่ากังวลคือเราตระหนักถึงเรื่องนี้ช้าไป เลยต้องเอา Building Code มาช่วย​ ซึ่งก็เริ่มมีการใช้บ้างแล้ว อีกทางที่จะสามารถช่วยได้และน่าสนใจคือการจัดงานประกวดไอเดียว่าใครจะทำคอนกรีตเสริมเหล็กที่สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้น้อยกว่ากัน

คุณสุเมธ มีนาภา เล่าว่าความท้าทายคือ ระยะเวลาในการออกกฎหมายที่แต่ละฉบับต้องใช้เวลานาน รวมถึงความสมดุลที่ต้องครอบคลุมกับทั้งอุตสาหกรรม เนื่องจากกฎหมายจะถูกบังคับใช้ทั่วประเทศ

คุณลิซ่า งามตระกูลพานิช แชร์ว่าความท้าทายแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน หนึ่งคือต้นทุนทางการเงินที่ต้องใช้ค่อนข้างสูงหากจะเปลี่ยนมาใช้เป็นวัสดุลดโลกร้อนในการก่อสร้าง แน่นอนว่าเราไม่สามารถจะยอมขาดทุนเพื่อลดโลกร้อนได้ การหาจุดตรงกลางที่ Win-Win จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งค้นหา, สองคือสถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถออกมาได้ไม่เพียงพอ จุดนี้รัฐต้องมีการเข้ามาสนับสนุน สามคือภาครัฐอาจต้องให้รางวัลกลับมา ไม่ใช่ในรูปตัวเงิน แต่อาจจะเป็นสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี

สุดท้ายคุณชูโชค ศิวะคุณากร ตอบว่าสิ่งที่น่ากังวลมี 3 ประเด็น หนึ่งคือ การพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจอาจเป็นไปได้ยาก เพราะแต่ละส่วนก็มีข้อจำกัดที่ทำได้ และทำไม่ได้ต่างกัน ซึ่งต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนกันไป สองคือความยากในการสร้างสมดุลระหว่างการลดโลกร้อนและจำนวนเงินที่ต้องจ่าย เนื่องจากปัจจุบันนวัตกรรมที่รักษ์โลกมักมีราคาสูง สุดท้ายคือการร่วมมือกันที่ต้องทำกันทุกภาคส่วนเพื่อให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้จริง


Innovation in Green Construction (Showcase)

ช่วงสุดท้ายของงานเป็นการบอกเล่าถึงมุมมองของ Green Construction และการเอาไปใช้ทั้งในและต่างประเทศ โดยในช่วงแรกจะเป็นของ คุณวลัย เจริญพันธ์ BIM & Digital Advisory Lead บริษัท โอฟ อาหรุบ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ARUP บริษัทที่เป็นแหล่งรวมของวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบที่มีทักษะและความสามารถสูงจากทั่วโลก ที่ขึ้นมาแชร์สถานที่ต่าง ๆ ที่มีการเอาเทคโนโลยีไปปรับใช้ ทำให้การก่อสร้างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะเป็นการยกตัวอย่างของต่างประเทศ ได้แก่ เทคโนโลยี Digital & BIM เข้ามาช่วยคำนวณ Embodied Carbon ของโครงการซึ่งจะให้ข้อมูลเชิงลึกอันจะเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบกระบวนการก่อสร้างและการเลือกใช้วัสดุ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ดร.กฤษฎา ศรีสมพร Green Construction Group Leader บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด เองก็มาแชร์เรื่องที่น่าสนใจ อย่างการนำคอนกรีตสมรรถนะสูง UHPC (Ultra-High Performance Concrete) ร่วมกับนวัตกรรม 3D Printing และ CPAC BIM เพื่อใช้ออกแบบในการสร้าง “สะพานเฉลิมพระเกียรติ” สะพานคอนกรีตบางที่สุดแห่งแรกในเมืองไทย อีกทั้งยังเป็น Green Construction หรือการก่อสร้างสีเขียว ตอบโจทย์ด้าน Low Carbon Construction เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการก่อสร้างเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

และทั้งหมดนี้คือความมุ่งมั่นในการพัฒนา และลงทุนสร้างนวัตกรรม สินค้า บริการ เพื่อยกระดับโซลูชันที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการสร้างโลกที่สมดุลตามกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ESG (Environmental, Social and Governance) ก้าวไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ผ่านแบรนด์ CPAC Green Solution ที่เน้นนวัตกรรมก่อสร้างที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยง รวมถึงผลักดันความร่วมมือในทุกภาคส่วน เพื่อมุ่งสู่ Low Carbon Society

สำหรับใครที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ cpac.co.th