เครื่อง AED (Automated External Defibrillator) หรือเออีดี คือ เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ คุณอาจพบเห็นเครื่องนี้ตามห้างสรรพสินค้า ตึกสำนักงาน โรงพยาบาล สนามบิน หรือคอนโดมิเนียม โดยเครื่อง AED เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถใช้เพื่อช่วยฟื้นคืนชีพผู้ป่วยหัวใจหยุดต้นฉับพลัน เรียกง่าย ๆ คือการกระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้นอย่างปกติอีกครั้ง ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญของการกู้ชีพพื้นฐาน
หมายเหตุ: เครื่อง AED ไม่ได้ช่วยให้หัวใจกลับมาเต้น แต่เป็นการรีเซตคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ช่วยให้ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะกลับมาเป็นปกติ
การทำความรู้จักกับเครื่อง AED และวิธีใช้อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตเมื่อมีคนหัวใจหยุดเต้นในยามฉุกเฉินได้
ทำไมทุกคนควรใช้เครื่อง AED ให้เป็น?
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นภาวะร้ายแรงที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่นาที เนื่องจากหัวใจหยุดเต้น เลือดจึงไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญ โดยเฉพาะสมอง ส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด สาเหตุที่พบได้บ่อยคือคลื่นไฟฟ้าหัวใจเกิดความผิดปกติจนทำให้หัวใจหยุดเต้น ซึ่งไม่ได้เกิดแค่กับคนที่มีโรคหัวใจ แต่คนที่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างอาจเกิดภาวะนี้ได้ด้วยเหมือนกัน
ซึ่งต้องอาศัยการกู้ชีพเบื้องต้นอย่างการ CPR (Cardiopulmonary Resuscitation) ที่รู้จักกันในชื่อการปั๊มหัวใจและผายปอดเพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนและเพิ่มออกซิเจนให้กับร่างกาย แต่ลำพังการ CPR ไม่สามารถทำให้หัวใจกลับมาเต้นในจังหวะปกติได้ เครื่อง AED จึงเป็นขั้นตอนถัดมาเพื่อกระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้นได้อีกครั้ง
จากสถิติคนไทยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นราว 54,000 คนต่อปี การรู้จักวิธีใช้งานเครื่อง AED และวิธี CPR จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยลดการเสียชีวิตจากสาเหตุนี้ได้ เพราะผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการปฐมพยาบาลภายใน 3–5 นาทีหลังหัวใจหยุดเต้นถึงจะมีโอกาสกลับมามีชีวิตและเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด
วิธีใช้เครื่อง AED เพื่อกู้ชีพ
เครื่อง AED ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่ายเหมาะกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อเปิดใช้จะมีเสียงที่แนะนำการใช้ดังออกมาอัตโนมัติ แต่ในการใช้งานจริงยังมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่คุณจำเป็นต้องรู้ก่อนใช้เครื่องนี้เพื่อความปลอดภัยของคนที่ช่วยเหลือและเพิ่มโอกาสรอดของคนที่หัวใจหยุดเต้น
1. ตั้งสติและประเมินสถานการณ์
เชื่อว่าหากพบเห็นคนหมดสติ คนส่วนใหญ่มักตกใจและตัวไม่ถูก บ้างอาจเข้าไปช่วยเหลือทันทีโดยไม่ได้ประเมินสถานการณ์ เช่น คนหมดสติจากการถูกไฟดูด การเข้าไปช่วยโดยไม่ได้สังเกตรอบ ๆ อาจทำให้โดนไฟดูดไปด้วย การตั้งสติและประเมินสถานการณ์จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญ
หรือในเคสที่คนป่วยหมดสติจากอุบัติเหตุอย่างการพลัดตกจากที่สูงหรืออุบัติเหตุทางรถยนต์ การเข้าไปจับหรือขยับตัวคนที่ประสบเหตุอาจทำให้อวัยวะภายในฉีกขาดหรือมีเลือดออกรุนแรงมากขึ้น
การตั้งสติและประเมินสถานการณ์จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับตัวผู้ช่วยเหลือและเพิ่มโอกาสรอดของผู้ประสบเหตุ
2. ปลุกเรียกคนที่หมดสติ
หากแน่ใจว่าสามารถเข้าไปช่วยได้อย่างปลอดภัย ให้คุณเข้าไปปลุกคนที่หมดสติด้วยการเรียกชื่อและตบบ่าแรง ๆ 3 ครั้ง หากไม่ตอบสนอง ชีพจรเต้นแผ่ว ไม่หายใจให้โทรเรียก 1669 (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ) ทันที พร้อมตะโกนขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างและขอเครื่อง AED
Tips: ในสถานการณ์ฉุกเฉิน คนที่มุงดูมักสับสนและทำอะไรไม่ถูก แนะนำให้ผู้ช่วยเหลือชี้เพื่อระบุตัวคนยืนดูให้ช่วยโทร 1669 และนำเครื่อง AED มา เช่น พี่เสื้อแดงโทร 1669 ให้ทีครับ หรือ พี่ผู้หญิงคนนั้นช่วยไปหา AED ในตึกให้ที
3. ใช้งานเครื่อง AED
ในกรณีที่ไม่มีเครื่อง AED ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ควรกู้ชีพด้วยวิธี CPR จนกว่าเครื่อง AED และเจ้าหน้าที่กู้ชีพจะมา แต่คนที่ปั๊มหัวใจ ควรศึกษาหรือผ่านการฝึกฝนมาในเบื้องต้น เพราะการปั๊มหัวใจแบบผิดวิธีอาจทำให้อวัยวะภายในบาดเจ็บได้ หากกู้ชีพด้วยวิธีปกติแล้วผู้ป่วยฟื้นให้นอนตะแคงข้าง
อย่างไรก็ตาม แม้ไม่เคยใช้เครื่องมาก่อน แต่เครื่อง AED เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ออกแบบมาให้ใช้ได้ง่าย โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อเปิดใช้งาน เครื่อง AED จะมีคำแนะนำในรูปแบบเสียงแนะนำตลอดการใช้งาน โดยวิธีการใช้งานเครื่อง AED ในการกู้ชีพมีวิธีดังนี้
- เปิดเครื่อง AED และทำตามคำแนะนำรูปแบบเสียง
- ถอดเครื่องประดับทั้งหมด โดยเฉพาะที่เป็นโลหะ และเช็ดผิวหนังให้แห้ง หากชื้นหรือมีเหงื่อ
- แปะแผ่นอิเล็กโทรดไว้ใต้ไหปลาร้าเหนือหน้าอกด้านขวาและแปะแผ่นอิเล็กโทรดอีกแผ่นไว้ที่ชายโครงด้านซ้าย ที่กล่อง AED จะมีภาพตำแหน่งที่ถูกต้องไว้
- หากติดแผ่นอิเล็กโทรดตามคำแนะนำของเครื่องแล้ว ให้หยุดปั๊มหัวใจ และห้ามสัมผัสผู้ป่วย เครื่อง AED จะปล่อยสัญญาณไฟฟ้าเพื่อประมวลผลคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- เมื่อวิเคราะห์เสร็จจะมีคำแนะนำ 2 แบบ
- 1) กดปุ่มเพื่อช็อกไฟฟ้าเพื่อรีเซตการเต้นหัวใจ โดยจะมีคำเตือนให้ทุกคนออกห่างจากผู้ป่วยก่อนกด เมื่อช็อกไฟฟ้าเสร็จแล้ว เครื่องจะแนะนำให้ CPR ต่อทันที
- 2) ผู้ป่วยไม่ต้องการการช็อกไฟฟ้า เครื่องจะแนะนำให้ CPR ต่อทันที
- หากผู้ป่วยฟื้นให้พลิกหรือตะแคงตัว และเฝ้าดูอาการจนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง
โดยการจะช่วยเหลือคนที่หมดสติเนื่องจากหัวใจหยุดเต้นจำเป็นต้องช่วยเหลือภายใน 4–5 นาทีให้หัวใจกลับมาเป็น เพราะหากใช้เวลานานกว่านี้อาจเกิดภาวะสมองตาย ทำให้เป็นอัมพาตเมื่อฟื้นขึ้นมาหรืออาจเสียชีวิตได้เลย
การฝึกใช้เครื่อง AED หรืออย่างน้อยการรู้จักกับวิธีการทำงานของเครื่องนี้จะช่วยให้คุณรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีชีวิตเป็นเดิมพันที่อยู่ตรงหน้าคุณได้มากขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของคนที่ประสบเหตุด้วย
การปฐมพยาบาลกู้ชีพด้วยการ CPR จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องใช้แรงในการทำมหาศาลเพื่อปั๊มหัวใจจนกว่าเครื่อง AED หรือเจ้าหน้าที่จะมา ในหลายเคสที่มีคนปั๊มหัวใจเพียงคนเดียวโดยไม่มีคนมาสลับกันปั๊มจนทำให้ผู้ช่วยเหลือเหนื่อยและไม่มีแรงปั๊มต่อจนคนประสบเหตุเสียชีวิต การ CPR และการใช้ AED จึงเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมากสำหรับทุกคน
ที่มา: โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรคพยาบาลจุฬาลงกรณ์
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส