ก่อนหน้านี้โลกได้รู้จักเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาจากวัสดุที่หลากหลาย รวมถึงการจำลองอวัยวะต่างๆ ที่ใช้วัสดุชีวภาพเพื่อการรักษาทางการแพทย์อีกด้วย แต่ในวันนี้เทคโนโลยีดังกล่าวจะไม่หยุดอยู๋แค่บนโลกอีกต่อไปเมื่อเครื่องพิมพ์สามมิตินั้นกำลังจะกลายเป็นสิ่งสำคัญในการให้การรักษาบนทริปสำรวจดาวอังคาร

การเดินทางไปยังดาวอังคารเป็นระยะทางไกล และ กินระยะเวลานานมาก ดังนั้นหากเกิดอุบัติเหตุกระดูกหัก หรือน้ำร้อนลวก คงไม่คุ้มที่จะตีลำกลับมายังโลกแน่ๆ (นอกจากไม่คุ้มแล้ว เวลาก็ยังนานอีกต่างหาก) นักวิทยาศาสตร์จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Dresden Technical  ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ พวกเขาจึงผลิตตัวอย่างกระดูก และ เนื้อเยื่อขึ้นมาจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติเป็นครั้งแรกของโลก ถึงแม้เทคนิคนี้จะยังเป็นแนวคิดริเริ่มบนโลก แต่สำหรับการดำรงชีพในอวกาศแล้วมันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือนักบินผู้โชคร้ายจากการรักษาตัวของบาดแผลที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถรักษาได้รวดเร็วเท่าไหร่นัก

Tommaso Ghidini หัวหน้าองค์การอวกาศยุโรปผู้ดูแลโครงการกล่าวว่า เทคโนโลยีดังกล่าวมีความสำคัญมากสำหรับนักบินอวกาศที่ประสบอุบัติเหตุ ด้วยสภาพแวดล้อมบนวงโคจรอาจทำให้แผลหายช้ากว่าปกติและ Bioprinted จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงต้องเผชิญกับความท้าทายในการสร้างเทคโนโลยีที่ยังคงทำงานได้ดีในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง เครื่องพิมพ์สามมิติที่พวกเขาต้องผลิตออกมาจึงจำเป็นต้องทำงานได้ดีแม้จะพลิกคว่ำ หรือตีลังกาอยู่ในอวกาศก็ตาม

ในส่วนของเทคโนโลยีการพิมพ์นักวิทยาศาสตร์เลือกที่จะใช้ Calcium Phosphate เพิ่มเข้าไปในเซลล์พิมพ์ต้นกำเนิด Calcium Phosphate จะทำหน้าที่เป็นวัสดุรองรับโครงสร้าง และ ถูกดูดซึมโดยร่างกายเมื่อกระดูกเจริญขึ้นมา

แต่นี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างงานเท่านั้น แนวคิดที่จะใช้เครื่องพิมพ์สามมิติบนอวกาศยังเป็นเรื่องที่เราต้องพัฒนากันอีกมากแต่มันก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะนั่นอาจหมายถึงชีวิตหนึ่งชีวิตของลูกเรือหนึ่งคนเลยก็ได้

Play video

Play video

 

อ้างอิง

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส