เราทุกคนรู้จัก สตีฟ จ็อบส์ กันดีในฐานะผู้บุกเบิก, ผู้ที่ถูกไล่ออก และผู้ที่กลับมากู้แอปเปิลอีกครั้ง จนกลายเป็นบริษัทระดับแนวหน้าของโลก จนกระทั่งจ็อบส์ ได้จากโลกนี้ไปแล้ว โดยมี ทิม คุก ขึ้นเป็นซีอีโอแทนในปี 2011

หลาย ๆ คนบอกว่าคุกไม่ได้มีลักษณะการบริหารงานที่เหมือนจ็อบส์ เรียกว่าเป็นคนละสไตล์กันเลยดีกว่า ซึ่งตามรายงานนั้น ก่อนที่จ็อบส์จะตาย เขาได้บอกกับทิม ว่า “อย่าถามผมว่า ‘สตีฟ จ็อบส์ จะทำอะไรต่อไป'” นี่เป็นการตอกย้ำว่าจ็อบส์รู้จักคนที่เขาเลือกมาเป็นซีอีโอคนใหม่ดีมาก ๆ ซึ่ง ทิม คุก ก็ประสบความสำเร็จในฐานะซีอีโอของแอปเปิลไปแล้ว แต่ทั้งสองคนนี้มีสไตล์การบริหารที่แตกต่างกันอย่างไรล่ะ

ความแตกต่างระหว่าง 2 ซีอีโอ

ความแตกต่างของทั้งสองคนที่เห็นได้ชัดมากที่สุดคือเรื่อง “แนวทางการจัดการ” ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เรารู้กันดีว่าจ็อบส์เป็นซีอีโอที่เน้นเรื่องความสมบูรณ์แบบ (Perfection) และต้องการความเป็นเลิศจากพนักงานของเขาเอง แต่ไม่ใช่ว่าคุกไม่ได้หาความเป็นเลิศหรือความก้าวหน้าให้แอปเปิล แต่คุกทำในสไตล์ที่แตกต่างกันออกไป

การบริหารงานสไตล์คุกคือ “การลดความตึงเครียด” และการทำงานกันเป็นทีม รวมถึงตัวคุกเองก็มีความใจเย็น และเข้าถึงได้ง่ายกว่าจ็อบส์ คุกเน้นสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานของเขาผ่านนโยบายแบบเปิดกว้างและส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานร่วมกันที่แอปเปิล

ด้วยพฤติกรรมส่วนใหญ่ของคุกคือจะเฉย ๆ มากกว่าจ็อบส์ ซึ่งเรารู้กันดีว่าด้วยอารมณ์ศิลป์ จ็อบส์มักจะใช้อารมณ์กับพนักงานอยู่บ่อย ๆ อย่างไรก็ตาม คุกมีการบริหารงานบางอย่างที่คล้ายกับจ็อบส์อยู่คือเรื่องความคาดหวังจากพนักงานที่เหมือนกัน ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะมีการบริหารงานที่แตกต่างกันบ้าง แต่สิ่งที่ทั้งคู่ต้องการเหมือนกันคือความสำเร็จของแอปเปิล

การสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์

แอปเปิลภายใต้การนำทัพโดยจ็อบส์นั้นได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ระดับสูงอย่าง Mac, iPod, iTunes, iPhone, App store และ iPad ซึ่งส่วนใหญ่ชุดผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังคงเป็นธุรกิจหลักของ Apple จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในยุคของคุกนั้นมีฮาร์ดแวร์ใหม่ ๆ ออกมาไม่เยอะมากนัก เช่น iPad mini, iPad Retina และ Apple Watch สามผลิตภัณฑ์หลัก แต่ต้องให้เวลากันมากกว่านี้หน่อย เราอาจจะได้เห็นฮาร์ดแวร์ล้ำ ๆ จากคุกก็ได้

ทัศนคติของจ็อบส์และคุกดูแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจนอยู่ สำหรับจ็อบส์นั้นเน้นพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ เสมอ ในขณะที่คุกเน้นการพัฒนาและต่อยอดของเดิมที่มีอยู่แล้ว Apple Watch ถือว่าเป็นสินค้าที่แสดงทัศนคติของคุกอย่างชัดเจน ที่มาขยายขีดความสามารถของ iPhone ให้มากกว่าเดิม แทนที่จะเป็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งหมด

ปันผลให้นักลงทุน

ในช่วงที่จ็อบส์ดำรงตำแหน่งซีอีโอของแอปเปิล บริษัทไม่เคยจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนเลย แต่เมื่อเป็นแอปเปิลภายใต้ทิม คุก ได้มีการปรับโครงสร้างใหม่ เริ่มจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดครั้งแรกในรอบ 17 ปี โดยบริษัทจ่ายเงินปันผลครั้งแรกในปี 2012 ซึ่งการเปลี่ยนมาจ่ายเงินปันผลนี้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอีกประการหนึ่งในการปฏิบัติของคุก เกี่ยวกับการสำรองเงินสดจำนวนมหาศาลของแอปเปิลและมุมมองด้านความสัมพันธ์ของบริษัทกับนักลงทุนที่แตกต่างกันชัดเจนครับ

อ้างอิง Investopedia

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส