วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม ศาลสูงเดลาแวร์ได้เปิดเผยคำร้องที่ Chase Gharrity ผู้ถือหุ้นของบริษัทเทสลา (Tesla) ที่ยื่นฟ้อง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอของบริษัทเทสลาด้วยเหตุที่ทวีตคำว่า “erratic” หรือ “เอาแน่เอานอนไม่ได้” และคณะกรรมการของบริษัทเทสลาที่ล้มเหลวไม่ดูแลให้มัสก์ปฏิบัติตามข้อตกลงของ ก.ล.ต. สหรัฐฯ เมื่อปี 2018 ว่าให้โพสต์ทวิตเตอร์ด้วยความระมัดระวังจนทำให้ผู้ถือหุ้นขาดทุนหลายพันล้านเหรียญ
ในคำร้องยังตอกย้ำถึงพฤติกรรม (แก้ไม่หาย) ของมัสก์ที่โพสต์บนทวิตเตอร์เมื่อ 1 พฤษภาคมว่าราคาหุ้นของเทสลาสูงเกินไป ซึ่งส่งผลให้มูลค่าตลาดของเทสลาตกลงกว่า 13,000 ล้านเหรียญ (399,152 ล้านบาท)
1 พฤษภาคมหุ้นของเทสลาตกลงมาเกือบ 12% แต่วันถัดมาราคาหุ้นก็กลับดีดตัวขึ้นมา ซึ่ง ก.ล.ต. สหรัฐฯ ก็ยังไม่ได้จัดการอะไรกับเรื่องนี้ เพราะจนถึงตอนนี้ราคาหุ้นเทสลาพุ่งสูงมาเกือบห้าเท่ามีมูลค่าสูงกว่า 600,000 ล้านเหรียญ (18 ล้านล้านบาท) แต่ในที่สุดก็มีคนออกมาฟ้องหรืออ้างถึงทวีตในวันนั้น ก็ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าจะผิดหรือถูกอย่างไร
7 สิงหาคม 2018 มัสก์ได้ทวีตว่าต้องการให้เทสลากลับมาเป็นของตัวเองอีกครั้งในราคา 420 เหรียญต่อหุ้นโดยอ้างว่าเขามีแหล่งเงินทุนจาก Funding secured หมายถึงกองทุนการลงทุนสาธารณะของซาอุดิอาระเบีย ซึ่งส่งผลให้ราคาปิดของหุ้นเพิ่มขึ้น 11%
ต่อมา 27 กันยายน 2018 ก.ล.ต. สหรัฐฯ ได้ยื่นฟ้องมัสก์ในข้อหาฉ้อโกงหลักทรัพย์โดยข้อความที่เขาทวีตเป็นข้อมูลเท็จและทำให้นักลงทุนเข้าใจผิดอาจเข้าข่ายปั่นหุ้น จนต้องลาออกจากตำแหน่งประธานบริษัทและจ่ายค่าปรับอีก 20 ล้านเหรียญ (614 ล้านบาท) อีกทั้งทนายความของเทสลาก็ตกลงที่จะตรวจสอบบางทวีตของมัสก์ล่วงหน้า
เรื่องทวีตของมัสก์เกือบสร้างปัญหาให้ปวดหัวอีกครั้ง เมื่อ 19 กุมภาพันธ์ มัสก์ได้ทวีตว่าเทสลาจะผลิตรถยนต์ราว ๆ 500,000 คันในปีนี้ ซึ่งต่อมาไม่กี่ชั่วโมงก็ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าเทสลาจะผลิตรถยนต์ในอัตราปีละ 500,000 คันภายในสิ้นปีนี้ และสิ่งที่เขากล่าวก็เป็นจริงด้วยอัตราการผลิตที่มัสก์หมายถึงทำให้เทสลาสามารถผลิตรถยนต์ได้ที่ 509,737 คันเมื่อสิ้นปี 2020
เดือนเมษายน 2019 Edward Chen ผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางซานฟรานซิสโกได้ตัดสินว่าคดีความของผู้ถือหุ้นที่อ้างว่าทวีตของมัสก์เมื่อเดือนสิงหาคม 2018 เป็นการหลอกลวงโดยเจตนาปั่นราคาหุ้นของบริษัทสามารถดำเนินฟ้องร้องต่อไปได้
สรุปง่าย ๆ ว่าทวีตของมัสก์มักสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ติดตามเสมอ แต่บางครั้งก็อาจผิดพลาดสร้างความปวดหัวให้มัสก์ได้ด้วยเช่น ส่วนคดีฟ้องร้องครั้งนี้จะจบลงอย่างไรก็ขอให้ติดตามความคืบหน้ากันต่อไป
ที่มา : reuters และ techcrunch ภาพปกจาก : wikimedia
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส