ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรง สิ่งที่ถูกพูดถึงนอกจากเรื่องปริมาณจุดชาร์จ ราคาของรถไฟฟ้า ยังรวมไปถึงระยะทางขับขี่ ที่รถวิ่งได้ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ซึ่งเป็นขุดขายของแต่ละแบรนด์ไว้ใช้แย่งลูกค้ากันอยู่แล้ว แต่เคยสงสัยกันไหมว่าระยะทางเหล่านั้น อ้างอิงมาจากไหน แล้วมาตรฐานที่ใช้เป็นตัวภาษาอังกฤษ 3 – 4 ตัว อย่าง NEDC / WLTP / EPA มันคืออะไร และแต่ละที่ทดสอบต่างกันอย่างไร ลองอ่านกันดูครับ
NEDC (New European Driving Cycle)
NEDC ถือว่าเป็นมาตรฐานโบราณที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี 1970 (มีคำว่า New ในชื่อ แต่ไม่ใหม่แล้วนะ) เริ่มใช้ในยุโรปก่อนที่จะลุลามมายังโซนเอเชีย วิธีการทดสอบของ NEDC นั้นจะเป็นการทดสอบในห้องทดลอง ที่จำลองการวิ่งในเมืองและนอกเมือง ทั้งรถยนต์สันดาปและรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนของรถยนต์ไฟฟ้านั้นจะใช้การวิ่งสลับนอกเมืองและวิ่งในเมืองไปเรื่อย ๆ จนกว่าแบตเตอรี่จะหมด จึงจะได้ตัวเลขออกมาคำนวณเป็นระยะทางสูงสุด
WLTP (Worldwide Harmonized Light Vehicle Test Procedure)
มาตรฐานใหม่ของยุโรปเข้ามาแทนที่มาตรฐาน NEDC เริ่มใช้ในปี 2017 เนื่องจากมีการทดสอบที่ละเอียดกว่าและมีการนำสถานการณ์จริงบนท้องถนนเข้ามาเป็นส่วนประกอบในการทดสอบด้วย เช่น อุณหภูมิห้อง, ความหนาแน่นของอากาศ, เชื้อเพลิง, คุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง, ความเร็วลมและเครื่องวัดความเร็ว เพื่อให้ได้ค่าออกมาตรงกับความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด
นอกจากเรื่องทดสอบมาตรฐานการวิ่งแล้ว ยังทดสอบระดับมลพิษ, คาร์บอนไดออกไซด์และอัตราการประหยัดเชื้อเพลิงของรถยนต์สันดาปและไฮบริดด้วย โดยแบ่งการทดสอบออกตามประเภทของรถ
- Class 1 คือรถที่มีกำลังเครื่องยนต์ต่ำกว่า 22 วัตต์/น้ำหนักรถ 1 กิโลกรัม
- Class 2 คือรถที่มีกำลังเครื่องยนต์ระหว่าง 22 – 34 วัตต์/น้ำหนักรถ 1 กิโลกรัม (รถตู้, รถโดยสารและรถบรรทุก)
- Class 3 คือรถที่มีกำลังเครื่องยนต์มากกว่า 34 วัตต์/น้ำหนักรถ 1 กิโลกรัม (รถยนต์ทั่วไป)
ใน 1 รอบการทดสอบใช้เวลา 30 นาที คิดเป็นระยะทาง 23.266 กิโลเมตร โดยใช้ความเร็วในการทดสอบแตกต่างกันไปตามสภาพการขับขี่ ซึ่งการทดสอบของรถยนต์ไฟฟ้าจะขับขี่ทั้ง 4 รูปแบบนี้เช่นกัน โดยขับสลับวนไปจนกว่าแบตเตอรี่หมด แล้วนำตัวเลขที่ได้มาคำนวนเป็นระยะทางสูงสุดต่อการชาร์จ 1 ครั้งนั่นเอง
- การขับขี่ในเมืองใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 56.5 กิโลเมตร/ชั่วโมง
- การขับขี่ชานเมืองใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 76.6 กิโลเมตร/ชั่วโมง
- การขับขี่ในชนบทใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 97.4 กิโลเมตร/ชั่วโมง
- การขับขี่ในถนนเส้นหลักนอกเมืองใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 131.3 กิโลเมตร/ชั่วโมง
US EPA (United States Environmental Protection Agency)
มาตรฐานการวัดระยะทางของอเมริกา ที่ใช้หาอัตราการเผาผลาญเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้าของรถยนต์ทุกคันก่อนวางจำหน่าย พูดง่าย ๆ รถยนต์ทุกรุ่น ทั้งสันดาป ไฮบริดและไฟฟ้าของอเมริกาล้วนผ่านการทดสอบจาก EPA ทั้งหมด ซึ่งแบ่งการทดสอบออกเป็นการขับขี่ในเมืองและการวิ่งทางไกลภายในห้องทดลองและจำลองการวิ่งรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการวิ่งในความเร็วสูง, ขับแบบเปิดเครื่องปรับอากาศในสภาวะอากาศร้อนและอากาศเย็น เช่นกัน
ในขณะที่การทดสอบระยะทางวิ่งไกลสูงสุดของรถยนต์ไฟฟ้าจะเริ่มจากการชาร์จแบตเตอรี่จนเต็ม แล้วจอดทิ้งไว้ข้ามคืน ก่อนนำมาทดสอบรูปแบบเดียวกับรถสันดาปทั้งจำลองการขับขี่ในเมืองและการวิ่งทางไกล สลับไปจนกว่าแบตเตอรี่จะหมด จึงนำตัวเลขนั้นมาคำนวนระยะทางวิ่งไกลสูงสุด
การทดสอบ | EPA (City) | EPA (Highway) | WLTP | NEDC |
---|---|---|---|---|
ประเทศที่ทดสอบ | USA | USA | EU | EU |
ระยะเวลาในการทดสอบ (นาที) | 31.2 | 12.75 | 30 | 20 |
ระยะทางในการทดสอบ (กิโลเมตร) | 17.71 | 16.58 | 23.26 | 11 |
ความเร็วเฉลี่ย (กิโลเมตร/ชั่วโมง) | 34.13 | 77.76 | 46.5 | 34 |
ความเร็วสูงสุด (กิโลเมตร/ชั่วโมง) | 90.16 | 96.6 | 131.3 | 120 |
อุณหภูมิในการทดสอบ (องศาเซลเซียส) | 20 – 30 | 20 – 30 | 23 | 20 – 30 |
แล้วเราควรเชื่อมาตรฐานไหนมากกว่ากัน? จากผลการทดสอบ ตัวเลขระยะการขับขี่ที่ออกมามากที่สุดจะเป็นของ NEDC > WLTP > EPA เนื่องจาก EPA เน้นการใช้งานวิ่งทางไกลด้วยความเร็วสูงกว่า ทำให้ตัวเลขที่ออกมาน้อย แตกต่างกับการทดสอบของฝั่งยุโรป อย่างไรก็ตามตัวเลขที่ค่ายรถแสดงออกมาก็ไม่ใช่ตัวเลขจริงที่การันตีการขับขี่เสมอไป เพราะว่าการขับขี่ของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน สภาพแวดล้อมก็แตกต่างกัน จึงส่งผลถึงการใช้พลังงานที่แตกต่างกันไป แต่สามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อรถไฟฟ้า ที่เหมาะสมกับการใช้งานของตัวเองได้ จึงจะทำให้การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันสนุกยิ่งขึ้น
อ้างอิง, อ้างอิง, อ้างอิง, อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส