แม้การขับรถที่ขั้วโลกเหนือหรือขั้วโลกใต้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกยานยนต์ แต่การขับรถจากขั้วโลกหนึ่งไปอีกขั้วโลกหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องบ่อยที่จะเกิดขึ้นบ่อยนัก และหากรถที่ใช้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าด้วยแล้วยิ่งยากไปใหญ่ เพราะอาจมีคำถามตามมาว่าแล้วจะชาร์จไฟที่ไหน แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วโดย Nissan ขอท้า! ด้วยรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่อย่าง Nissan Ariya ที่นำมาดัดแปลงให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศ ไปติดตามการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ของ Nissan ที่กำลังจะเกิดกันเลย

ความท้าทายอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ของ Nissan ใช้ชื่อโปรเจกต์ว่า ‘Pole to Pole’ หรือ ‘ขั้วโลกเหนือสู่ขั้วโลกใต้’ เป็นความพยายามทลายข้อจำกัดของรถยนต์ไฟฟ้า ที่หลายคนมักจะกังวลเรื่องสถานีชาร์จหรือระยะทางขับขี่ ปัญหาเหล่านั้นจะหมดไป แถม Nissan พยายามจะอวดให้เห็นว่า Nissan Ariya ทำอะไรได้บ้าง

การเดินทางครั้งนี้นำโดยคริสและจูเลีย แรมซีย์ (Chris and Julie Ramsey) นักเดินทางที่มีประสบการณ์การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าทางไกล เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของพวกเขา ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยใช้ Nissan Leaf เดินทางรอบโซน Great Britain จาก John O’Groats ของประเทศสกอตแลนด์ ไปยัง Land’s End บนเกาะอังกฤษ เป็นระยะทางกว่า 2,700 กิโลเมตร ในปี 2015

Nissan Ariya ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าคู่และระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า e-Force ที่ลุยได้ทุกสภาพพื้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นโคลนหรือน้ำแข็ง มาพร้อมแบตเตอรี่ที่มีความจุ 87 kWh ขับขี่ระยะทางสูงสุด 435 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และได้รับการตกแต่งเพิ่มเติมให้เหมาะกับการลุยพื้นที่หนาวจัดและเต็มไปด้วยหิมะ อาทิ การปรับช่วงล่างให้ยกสูงขึ้นเพื่อใส่ยางออฟโรด BFGoodrich ขนาด 39 นิ้วได้ ซึ่งเป็นยางขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยติดตั้งกับรถยนต์ไฟฟ้า การติดตั้งบังโคลนขนาดใหญ่ให้ครอบคลุมกับขนาดยางที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง รวมถึงการตรวจเช็คสภาพโช้กให้พร้อมทำงานในสภาพภูมิประเทศขั้วโลกเหนือและใต้

ครอบครัวแรมซีย์ไม่ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับการดัดแปลงตัวรถ Nissan Ariya มากนัก แต่พวกเขาพูดถึงสิ่งที่ขาดไม่ได้อย่างสถานีตรวจสภาพอากาศ, โดรนและของชิ้นสำคัญอย่างเครื่องชงกาแฟเอสเปรสโซ่ พร้อมกับกาแฟดี ๆ ติดตัวไปด้วย เพื่อให้คนในทีมได้รับพลังงานพอ ๆ กับตัวรถ

จากขั้วโลกเหนือมาสู่ขั้วโลกใต้คิดเป็นระยะทางประมาณ 27,000 กว่ากิโลเมตร ซึ่งหากตัวรถ Nissan Ariya ขับขี่ระยะทางสูงสุดได้ 435 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง เท่ากับว่าต้องชาร์จมากกว่า 62 ครั้งถึงจะเดินทางไปถึงจุดหมายได้ คำถามสำคัญคือ ท่ามกลางขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้จะไปหาสถานีชาร์จหรือจุดชาร์จไฟจากไหน?

ทีมงาน Pole to Pole มาเฉลยว่า จริง ๆ แล้วพวกเขาเดินทางไปพร้อมรถพ่วงที่ติดตั้งไปกับ Nissan Ariya ซึ่งในรถพ่วงติดตั้งกังหันลมน้ำหนักเบา ควบคู่กับแผงโซลาร์เซลล์ ทำหน้าที่เครื่องปั่นไฟและใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศที่แสงอาทิตย์ค่อนข้างยาวนานนั่นเอง เสียดายที่เขาไม่ได้บอกว่ากังหันลมนี้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปริมาณเท่าไหร่ต่อวัน และการเดินทางครั้งนี้จะจบลงเมื่อไหร่

ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงเตรียมตัวขั้นสุดท้ายก่อนการเดินทางจริงในช่วงเดือนมีนาคม 2023 ตลอดการเดินทางกว่า 27,000 กิโลเมตร ผ่าน 14 ประเทศ ตั้งแต่ทวีปอาร์กติก ไปอเมริกาเหนือ กลางและใต้ ก่อนจะข้ามไปยังแอนตาร์กติกา ติดตามการเดินทางของพวกเขาได้ที่ https://poletopoleev.com/

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส