เมื่อรถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในอุตสาหกรรมยานยนต์ และประเทศจีนก็กลายเป็นผู้นำในด้านนี้อย่างก้าวกระโดด ทั้งในมุมของผู้ผลิตและยอดขายที่ทำได้เกือบ 7 ล้านคันต่อปี เราจึงปฏิเสธความเป็นเจ้าตลาดยนตรกรรมไฟฟ้าของจีนไปเสียมิได้ และดูเหมือนพี่ใหญ่จีนจะไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะหลังจากเราได้ไปเยี่ยมชมโรงงานทดสอบพลังงานไฮโดรเจนหรือ FCEV บอกได้เลยว่าจีนก็เอาจริงไม่แพ้กัน
โรงงานพลังงานไฮโดรเจน FTXT ที่เราได้ไปเยี่ยมชม ตั้งอยู่ที่เมืองเป่าติง ใกล้ ๆ กับเมืองปักกิ่งของประเทศจีน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2016 โดยบริษัท GWM หนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์เจ้าใหญ่ของจีน ที่มีแบรนด์รถยนต์ในเครือมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Ora, Haval, Tank, Wey และ Poer โดย GWM ลงทุนไปกว่า 2,800 ล้านบาท เนรมิตโรงงานทดสอบการกักเก็บพลังงานไฮโดรเจน, การขนส่งพลังงานไฮโดรเจน, การทดสอบตัวรถ FCEV รวมถึงมีสถานีกักเก็บไฮโดรเจนเหลวในบริเวณนี้และกระจายตัวอยู่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศจีนแล้วครับ
ภายในโรงงาน FTXT เราได้เห็นต้นแบบโมเดล FCEV ที่ใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไฮโดรเจนเหลว ซึ่งได้มาจากแผ่นเซลล์ขนาดเล็กเรียงต่อกันจนเป็นโมดูลขนาดใหญ่ รวมถึงถังเก็บไฮโดรเจนทำมาจากวัสดุคาร์บอนที่มีความเหนียวแน่นและยืดหยุ่นสูง เพื่อให้ป้องกันการรั่วไหลจากแรงดันและการกระแทกอย่างรุนแรง แม้จะโดนกระสุนยิงใส่ก็ไม่เกิดการระเบิดนั่นเอง โดยตัวถังไฮโดรเจนขนาด 10 กก. เมื่อนำไปติดตั้งกับรถยนต์ FCEV ต้นแบบสามารถขับขี่ได้สูงสุด 400 กม. เลยทีเดียว
เรายังได้เยี่ยมชมส่วนประกอบรถยนต์แต่ละรุ่นของ GWM ซึ่งน่าประหลาดใจที่ขั้นตอนประกอบส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยเครื่องจักรอัตโนมัติ แขนกลและหุ่นยนต์ต่าง ๆ ส่วนแรงงานคนเห็นจำนวนแค่บางตา ซึ่งเป็นการประหยัดแรงงานและลดความผิดพลาดของมนุษย์ที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่จะใช้แรงงานคนจริง ๆ ในขั้นตอนทดสอบการใช้งานหลังประกอบเสร็จเรียบร้อยแล้วครับ ที่นี่เราได้ยินว่ามีกำลังผลิตคร่าว ๆ ประมาณ 70 คันต่อชั่วโมง
นอกจากส่วนของโรงงานเรายังได้ไปเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนา ที่ GWM ลงทุนมากกว่า 500,000 ล้านบาท จนถึงปี 2025 ทำให้เห็นว่า GWM ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขนาดไหน
ภายในอาคารนี้เราได้เห็นการทดสอบประสิทธิภาพแบตเตอรี่, การทดสอบเรื่องเสียงลมจากภายนอก เสียงเครื่องยนต์ในการขับขี่และการเก็บเสียงภายในตัวรถ, การสั่นสะเทือนของตัวรถ, การต้านลมตามหลักแอโรไดนามิก ไปจนถึงการทดสอบการใช้งานในสภาพอากาศต่าง ๆ ตั้งแต่ร้อนจัดไปจนถึงอุณหภูมิติดลบ เพื่อเช็กว่าตัวรถสามารถทำงานในสภาพอากาศที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศได้นั่นเอง
หลังจากนั้นเราก็ย้ายไปนั่งในรถรุ่นใหม่ที่เปิดตัวในงาน Auto Shanghai 2023 เพื่อทดสอบการขับขี่ในสนามของ GWM ที่เหมือนการขับรถไต่ถังบนถนนลาดเอียง เราได้นั่ง Haval Fierce Dragon Max ที่ค่อย ๆ เพิ่มความเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงความเร็วสูงสุด 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถือว่าเป็นประสบการณ์ทดสอบรถที่ไม่เคยเห็นในไทยและได้ฟิลไปอีกแบบครับ
สุดท้ายสิ่งที่คนไทยอาจจะได้สัมผัสเร็วที่สุดเห็นจะเป็นเทคโนโลยีแพลตฟอร์มใหม่ของ GWM ที่เปิดตัวในงาน Auto Shanghai 2023 เป็นครั้งแรกของโลกอย่าง GWM Hi4 ย่อมาจาก ‘Hybrid Intelligent Four-Wheel Drive’
Hi4 เป็นการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อน 4 ล้อ และใช้เครื่องยนต์ในการปั่นไฟแทน ทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น 8% และจัดการความร้อนได้ดีขึ้น 41.5% ซึ่งจะนำไปใช้งานกับรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ของ GWM ไม่ว่าจะเป็น Haval หรือ Tank ที่กำลังจะเข้าไทยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้แล้วครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส