ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า จีนกลายเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว ด้วยยอดขายกว่า 6.8 ล้านคันในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งความสำเร็จของจีนเกี่ยวพันกับ Tesla บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติอเมริกาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ Tesla มีส่วนเข้ามายกระดับยานยนต์ไฟฟ้าของจีนอย่างไร และทำไมถึงกลายเป็นรุ่นที่ขายดีที่สุดในจีนได้ เราไปหาคำตอบพร้อม ๆ กัน
บทความนี้เรามีโอกาสได้คุยกับคุณติ่ง-วุฒินันท์ ติยวรนันท์ เจ้าของช่องและเพจ TiY ผู้คลุกคลีอยู่ในวงการยานยนต์ไฟฟ้าและอาศัยอยู่ที่ประเทศจีน (แวะเวียนกลับไทยบ้าง) จึงได้เห็นความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของจีนอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังหยิบมาบอกเล่าเรื่องราวหลาย ๆ มุมเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนให้คนไทยฟังผ่านช่องทาง TiY เป็นประจำด้วย
เทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาประเทศ 5 ปีของรัฐบาลจีนตั้งแต่ปี 2001 ในการพัฒนารถพลังงานใหม่ (NEV) ไม่ว่าจะเป็นรถไฮบริด, รถปลั๊กอินไฮบริด, รถไฟฟ้าแบตเตอรี่และรถพลังงานทางเลือก (FCEV) ซึ่งแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง BYD ก็กำเนิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ในฐานะผู้ผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์ไฮบริดยุคแรก ๆ ของจีนนั่นเอง
จุดเปลี่ยนชัดเจนเริ่มต้นจากการที่ว่าน กัง (Wan Gang) อดีตวิศวกรที่เคยทำงานให้ Audi ที่เยอรมันมานานนับสิบปี ก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน เขาเป็นผู้ผลักดันให้เทคโนโลยีไฟฟ้าไหลเข้ามาสู่ประเทศจีนมากขึ้น รวมถึงการออกนโยบายสนับสนุนต่าง ๆ ในปี 2009 ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินสนับสนุน การลดหย่อนภาษีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงการจำกัดป้ายทะเบียนรถยนต์สันดาป แต่เปิดโอกาสให้ป้ายทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
อย่างที่รู้กันว่าประเทศจีนมีจำนวนประชากรมหาศาล จำเป็นต้องจำกัดปริมาณรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนน จึงเกิดเป็นนโยบายเกี่ยวกับการจำกัดวันและเวลาขับขี่ของรถยนต์สันดาป รวมถึงการขอป้ายทะเบียนรถยนต์สันดาป ที่ใช้เวลาขอนานมาก ๆ อาจรอนานถึง 20 ปีเสียด้วยซ้ำ อีกทั้งยังจำกัดแค่ 1 ใบขับขี่ต่อ 1 ป้ายทะเบียนเท่านั้น ทำให้การเป็นเจ้าของรถยนต์ถือว่าเป็นเรื่องยากในประเทศจีน แต่การสนับสนุนทางด้านรถยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐ ทำให้ลดระยะเวลาในการขอป้ายทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าง่ายขึ้น เหลือแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้น คนจึงหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้นไปโดยปริยาย
การเข้ามาของ Tesla
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางด้านรถยนต์ไฟฟ้าของจีนคือ การที่จีนยอมให้ Tesla เข้ามาทำการตลาด รวมถึงก่อตั้งโรงงาน Gigafactory ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในจีนเลยก็ว่าได้ โดย Tesla เริ่มเข้ามาลองตลาดด้วยการนำเข้า Tesla รุ่น Medal S และ Model X มาขายในจีนช่วงปี 2012
แม้ Tesla จะเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้ากว่า 900 ฉบับ แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดคือเมื่อเจ้าของบริษัทอย่างอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ออกมาประกาศในปี 2014 ว่า “All Our Patent Are Belong To You” แปลกันตรง ๆ ว่า สิทธิบัตรทุกใบของเราถือว่าเป็นของคุณ หรือพูดง่าย ๆ ว่า Tesla เปิดข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองให้เป็น Open saurce ที่ใครก็สามารถเข้าถึงได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้เกิดแบรนด์ Start up ด้านรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ ๆ ขึ้นอย่าง เช่น Xpeng, NIO และ Li Auto
หลังจาก Tesla ประสบความสำเร็จในการสร้างยอดขายแล้ว จึงต่อยอดมาสู่การสร้าง Gigafactory แห่งแรกนอกอเมริกาที่เมืองเซี่ยงไฮ้ในปี 2019 ซึ่งมีกำลังผลิตสูงกว่าที่ประเทศบ้านเกิดเสียอีก ความพิเศษของ Gigafactory แห่งนี้คือ Tesla เป็นเจ้าของโรงงานแบบ 100% โดยไม่ต้องไปทำสัญญากิจการร่วมค้า (Joint Venture) กับบริษัทใดของจีนเลย โดยแลกเปลี่ยนกันการกู้เงินระยะยาวจากธนาคารในจีนเป็นจำนวนกว่า 1,290 ล้านเหรียญ และสินเชื่อหมุนเวียนแบบไม่มีหลักประกันอีกกว่า 322 ล้านเหรียญ ซึ่งถือว่าเป็นแบรนด์รถต่างประเทศเจ้าแรกที่ทำแบบนี้ได้ในจีน
หลังจากโรงงาน Gigafactory ก่อสร้างเสร็จในช่วงต้นปี 2020 (ใช้เวลาสร้างไม่ถึง 6 เดือน) Tesla Model 3 ประกอบจีนคันแรกก็ได้ออกสู่ท้องตลาด ตามมาด้วย Tesla Model Y ที่สร้างยอดขายได้มากกว่า 250,000 คันภายในเวลา 1 ปี ทำให้ Tesla กลายมาเป็นเบอร์ 1 ของรถยนต์ไฟฟ้าในจีนนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ความสำคัญของ Gigafactory ซึ่งเป็นโรงงานผลิต Tesla แห่งที่ 3 และแห่งแรกนอกอเมริกา โดยมีกำลังผลิตอยู่ที่ประมาณ 450,000 คันต่อปี (สถิติจากปี 2022) หรือราวๆ 21,700 คันต่อสัปดาห์ แบ่งเป็นรุ่น Tesla Model Y 14,000 คันต่อสัปดาห์ และ Tesla Model 3 7,700 คันต่อสัปดาห์ ซึ่งถือเป็นโรงงานที่มีกำลังผลิตรถสูงสุดของ Tesla ก็ว่าได้
การเติบโตของแบรนด์น้องใหม่
ปัจจุบัน Tesla Model Y สร้างยอดขายครึ่งปี 2023 ได้มากกว่า 316,000 คัน ถือเป็นรุ่นที่สร้างยอดขายได้มากที่สุดในประเทศจีน ทั้งนี้การเข้ามาของ Tesla ไม่ได้ทำให้ประเทศจีนก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านยนตรกรรมไฟฟ้าได้อย่างเดียว แต่ยังเป็นการสร้างผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ รวมถึงยกระดับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าให้เติบโตอย่างรวดเร็วไปพร้อม ๆ กัน
จะเห็นได้ว่าแบรนด์น้องใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันการเปิด Open saurce ของ Tesla ในปี 2014 อย่าง Xpeng, NIO และ Li Auto แบรน์เหล่านี้ใช้เวลาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองแค่ไม่กี่ปีก็สามารถผลิตออกสู่ตลาดได้แล้ว และยังสร้างทางเลือกให้กับผู้ที่สนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามไปด้วย
ไม่ว่าจะเป็น Xpeng ที่โดดเด่นเรื่องเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติ ถึงขั้นหันไปพัฒนารถบินได้ที่ใช้ระบบขับขี่อัตโนมัติแล้ว หรือ NIO ที่สร้างความแตกต่างด้วยแนวคิดการผลิตรถคู่กับสถานีสลับแบตเตอรี่ ที่ใช้เวลาสลับแบตไม่ถึง 5 นาที ปัจจุบัน NIO มีสถานีสลับแบตเตอรี่ในจีนมากกว่า 1,564 แห่งเลยทีเดียว ซึ่งเป็นการสร้าง Ecosystem ของตัวเอง พูดง่าย ๆ ว่าใครซื้อ NIO เหมือนซื้อประสบการณ์มากกว่าซื้อรถ
ปัจจุบันยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีนยังคงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปีที่ผ่านมาสามารถกินส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์แตะเลขสองหลักที่ 12% ได้เป็นครั้งแรก ด้วยจำนวนยอดขายกว่า 4 ล้านคัน ซึ่งคาดว่าจะเติบโตขึ้นอีกมากจากสถิติยอดขายรถยนต์ 10 อันดับแรกในปีที่ผ่านมา มีรถยนต์สันดาปติดแค่ 3 อันดับเท่านั้น (และไม่ใช่ Top 3) ด้วยตัวเลือกรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ออปชันที่รถยนต์ไฟฟ้าให้มากกว่ารถยนต์สันดาปเมื่อเทียบกับราคาเท่ากัน ไปจนถึงนโยบายจากภาครัฐก็ยังคงกระตุ้นให้ผู้ใช้หน้าใหม่ ๆ ตบเท้าเข้ามาเป็นเจ้าของรถกันมากขึ้น
รวมถึงการขยับเยื้อนออกไปสู่ตลาดต่างประเทศของจีน เพราะเห็นได้ว่าในปีที่ผ่านมา จีนส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองไปถึง 679,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2021 กว่า 120% เลยทีเดียว แม้ว่าจีนจะเป็นผู้นำทางด้านรถยนต์ไฟฟ้าในเวลานี้ แต่คำถามเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ยังถูกถามอยู่วันยังค่ำว่า รถยนต์ไฟฟ้ารักษ์โลกจริงไหม แบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพแล้วจะได้รับจัดการอย่างไร อะไรจะมาแทนลิเธียม คำถามเหล่านี้ยังวนเวียนให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ต้องหาทางออกร่วมกัน เพื่อที่ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้สิ้นเปลืองทรัพยากรโลกไปมากกว่านี้นั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณวุฒินันท์ ติยวรนันท์ (พี่ติ่ง)
เจ้าของช่องและเพจ TiY ติดตามได้ที่ Facebook และ YouTube
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส