การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาปรับตัว เราอาจจำกันได้ดีในสมัยที่โทรศัพท์ยังเป็นปุ่มกด ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคทัชสกรีนเต็มตัวด้วยการมาของ iPhone ในทุกวันนี้ เช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) จากสถิติปี 2022 รถยนต์ไฟฟ้าสามารถสร้างยอดขายกว่า 5% ใน 19 ประเทศ (และผู้เล่นอีกกว่า 5 ประเทศ) ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้า

ประเทศที่คาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจาก 5% ไปสู่ 25% ภายใน 4 ปี ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, จีนและยุโรปตะวันตก รวมถึงผู้เล่นหน้าใหม่อย่างแคนาดา, ออสเตรเลีย, สเปน, ไทยและฮังการี ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสงครามราคาที่หลายแบรนด์ต่างห้ำหั่นกันเอง ความพร้อมของสถานีชาร์จ และความกังวลในการใช้งาน ซึ่งหากปรับตัวได้ไวก็จะมีคนใช้รถ EV กันมากขึ้น

จุดเปลี่ยนของเทคโนโลยีไฟฟ้าในอเมริกาเริ่มขึ้นช่วงปลายปี 2021 ถือว่าค่อนข้างช้าสำหรับประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตดี เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนอเมริกันใช้ชีวิตอยู่บนรถมากกว่าประเทศอื่น ๆ รวมถึงขับขี่ทางไกลเป็นส่วนใหญ่ รถกระบะหรือ SUV ขนาดใหญ่จึงได้รับความนิยมมากในอเมริกา ซึ่งสวนทางกับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่ออกมาในตลาดช่วงแรก

แต่วันนี้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในอเมริกาเพิ่มขึ้นกว่า 42% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 เมื่อเทียบกับปีก่อน เมื่อ Tesla กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตรงใจคนอเมริกันอย่าง Cybertruck รวมถึงแบรนด์อื่น ๆ ก็เตรียมออกรถ EV ขนาดใหญ่ เช่น Chevy Blazer และ Silverado, Ford Explorer และ F-150 ไปจนถึง Jeep Wrangler

อีลอน มัสก์จับมือกับนาเรนดรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย

จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากจีนและอเมริกา และมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้า 3% ในไตรมาสที่ผ่านมา (เพิ่มขึ้น 2 เท่าในปี 2023) เห็นได้ชัดว่าอินเดียเอาจริงเอาจังกับเรื่องรถยนต์ไฟฟ้ามากแค่ไหน ล่าสุดเราก็ได้เห็นภาพอีลอน มัสก์ (Elon Musk) จับมือกับนาเรนดรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีอินเดีย เพื่อนำ Tesla ไปเผยแพร่ในอินเดียให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ส่วนในประเทศอื่น ๆ อย่างยุโรปเน้นไปที่ตลาดรถปลั๊กอินไฮบริด (แตกต่างจากอเมริกาและจีนที่เน้นไปทางรถ EV) เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็นต้องปรับตัวมากและไม่ต้องการโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งแม้จะเป็นการเปลี่ยนผ่านเล็ก ๆ แต่ก็มีตัวเลขระบุว่าในปี 2022 ทั่วโลกขายรถปลั๊กอินไฮบริดได้มากกว่า 10 ล้านคัน และอาจจะเพิ่มอีก 3 เท่าตัวภายในปี 2027

การที่จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมกว้างขึ้นได้ต้องทำให้ยอดขายรถพลังงานใหม่เกิน 10% ของรถทั้งหมด ซึ่งแม้แต่อเมริกา ออสเตรเลียและแคนาดาก็ยังทำไม่ได้ถึงจุดนี้ (แต่ถ้าพูดถึงรถปลั๊กอินไฮบริดอย่างเดียว อเมริกาสามารถทำยอดขายเกิน 10% ได้ในไตรมาสที่แล้ว และอาจจะเพิ่มขึ้นอีกในปีต่อไป) รวมถึงการกระตุ้นด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งการใช้โซลาร์เซลล์ พลังงานหมุนเวียน รวมถึงลดโลกร้อนก็สามารถกระตุ้นให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นได้

ทั้งนี้การเติบโตของเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ผลิตรถยนต์และซัปพลายเออร์ ตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบ ลดต้นทุนการผลิตชิ้นส่วน รวมถึงการทำการตลาด เพื่อทำให้ผ่านช่วงแรกจนสามารถสร้างยอดขายและเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้ ยกตัวอย่างในยุโรป ยอดขาย 10% ของแต่ละไตรมาสมาจากรถปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งทำให้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น 3 เท่าในเวลาไม่ถึง 2 ปี

แม้ปัจจุบันยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 90% มาจากอเมริกา, จีนและยุโรป หมายความว่ามีอีกหลายประเทศยังไม่ผ่านจุดเปลี่ยนสำคัญทางเทคโนโลยี ซึ่งก็คงไม่ใช่ในเร็ว ๆ นี้ เพราะปี 2017 รถยนต์สันดาปเพิ่งจะสร้างยอดขายสูงสุดไปหมาด ๆ และเราคงต้องอยู่กับรถสันดาปไปอีกสักพัก

ทั้งนี้หลายฝ่ายเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะฝ่ายบริหารของโจ ไบเดน (Joe Biden) ที่เรียกร้องให้ใช้รถพลังงานใหม่ 50% ภายในปี 2030 ตามมาด้วยการตั้งเครือข่ายชาร์จรถไฟฟ้าบนเส้นทางหลวง ไปจนถึงโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่และท่อส่งแบตเตอรี่ในอเมริกาด้วย ซึ่งเราคงต้องมาติดตามกันต่อไปว่าเส้นทางของรถ EV จะขับเคลื่อนเต็มตัวภายในปี 2030 ได้ไหม หรืออาจจะสะดุดเพราะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง รวมถึงโดนเบรกโดย ecosystem ของมันเองก็เป็นได้

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส