การไฟฟ้านครหลวง (MEA) เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้เปิดให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมทั้งพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการแล้วถึง 14 แห่ง สามารถชาร์จประจุแบบเร็ว 20 – 30 นาทีได้ความจุ 80% รวมทั้งมีแอป MEA EV สำหรับค้นหาจุดชาร์จและสั่งจองสถานีชาร์จหรือหัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้แบบเรียลไทม์
27 กุมภาพันธ์ MEA ได้ประกาศอัตราค่าบริการไฟฟ้าในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับสถานีชาร์จแบบ Low Priority ในเขตพื้นที่พื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ประกอบด้วย ค่าไฟ 2.6369 บาทต่อหน่วย (เท่ากันทุกระดับแรงดัน) ค่าบริการรายเดือน 312.24 บาท (เท่ากันทุกระดับแรงดัน) และค่า Ft (มีการทบทวนทุก 4 เดือน) เป็นระยะเวลา 2 ปี หรือจนกว่าจะมีอัตราใหม่ออกมา
ก่อนหน้านี้ MEA ได้เปิดให้บริการสถานีชาร์จทั้ง 14 แห่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่การขับเคลื่อนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและการลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้าจำเป็นจะต้องมีสถานีชาร์จรองรับผู้ใช้รถให้มากขึ้น ดังนั้นคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงได้มีมติกำหนดอัตราค่าชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าออกมาที่ 2.6369 บาท/หน่วย เพื่อสนับสนุนให้องค์กรและภาคธุรกิจเข้ามาร่วมลงทุนขยายสถานีชาร์จเพิ่มมากขึ้น
สถานีชาร์จแบบ Low Priority เป็นระบบที่ช่วยควบคุมการใช้ไฟฟ้าของสถานีชาร์จไม่ให้ไปแย่งการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟตามบ้านเมื่อความจุไฟฟ้าของสถานีชาร์จไม่เพียงพอ ส่วนค่า Ft ก็คือ ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. และค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนตามต้นทุนในการผลิตนั่นเอง
สรุปง่าย ๆ ว่าต่อไปผู้ที่เคยชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่สถานีชาร์จของ MEA จะต้องจ่ายค่าไฟตามราคากลางเพื่อช่วยขับเคลื่อนสถานีชาร์จที่จะขยายออกไปทั่วประเทศ ซึ่งติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ตั้งแต่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป ที่แผนกบริการของ MEA ทั้ง 18 เขต, Facebook และ Call Center 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
*** ลองมาคำนวณค่าไฟโดยประมาณจากสถานีชาร์จแบบ Normal Charger ขนาด 22 kW หัวชาร์จ Type 2 ของ MEA ด้วยอัตราค่าไฟ 2.63 บ./หน่วย ***
- สำหรับรถยนต์ NEW MG EP ใช้ LITHIUM-ION BATTERY ขนาดพลังงาน 50.3 kWh ให้ระยะวิ่ง 380 กม.
- คำนวณเวลาในการชาร์จแบบเต็ม 100% จะใช้เวลา : 50.3 kWh/22 kW = 2.28 หรือประมาณ 2.5 ชม.
- คำนวณหน่วยที่ใช้ไฟ : 22 x 2.5 = 55 หน่วย
- คำนวณค่าไฟ (ไม่รวมค่า Ft) : 55 x 2.63 = 144.65 บาท
- ค่าใช้จ่ายต่อการเดินทาง (ไม่รวมค่า Ft) : 144.65 / 380 = 0.38 บาท/กิโลเมตร (หากการใช้งานจริงรถยนต์มีระยะวิ่งน้อยลงค่าใช้จ่ายต่อการเดินทางจะสูงขึ้นแปรผันตามระยะวิ่งนั่นเอง)
- การชาร์จเองที่บ้านมีแนวโน้มว่าจะแพงกว่าชาร์จที่สถานี เพราะถ้าจำนวนหน่วยการใช้ไฟในบ้านรวมทั้งเดือนสูง อัตราค่าไฟหรือตัวคูณก็จะสูงตามไปด้วย เช่น หน่วยที่ 36 – 100 ค่าไฟ = 3.6237 บาท และหน่วยที่ 101 – 150 ค่าไฟ = 3.7171 บาท
ที่มา : เพจ MEA
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส