นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการลดใช้รถยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญของโลก
ประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งในที่ประชุมคาดการณ์ว่าในปี 2025 ราคาจำหน่ายของรถยนต์ไฟฟ้าจะเทียบเท่ากับรถยนต์สันดาป จึงได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และ กระทรวงคมนาคม ร่วมกันพิจารณาส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าประกอบด้วย รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถบัสสาธารณะ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมในส่วนของผู้ผลิต โดยเฉพาะการร่วมมือของผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเร่งให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยโดยเร็ว
ตั้งเป้าปี 2035 มียอดผลิตในไทยรวม 18 ล้านคัน
สำหรับเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทในประเทศไทย ในปี 2025 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,055,000 คัน แบ่งเป็น
- รถยนต์/รถปิกอัพ 402,000 คัน
- รถจักรยานยนต์ 622,000 คัน
- รถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน
ขณะที่ในปี 2035 จะมีจำนวนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทเพิ่มขึ้นเป็น 15,580,000 คัน แบ่งเป็น
- รถยนต์/รถปิกอัพ 6,400,000 คัน
- รถจักรยานยนต์ 8,750,000 คัน
- รถบัส/รถบรรทุก 430,000 คัน
พร้อมวางเป้าหมายผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทในปี 2025 ให้ได้รวม 1,051,000 คัน แบ่งเป็น
- รถยนต์/รถปิกอัพ 6,400,000 คัน
- รถจักรยานยนต์ 8,750,000 คัน
- รถบัส/รถบรรทุก 430,000 คัน
และในปี 2035 มียอดผลิตสะสมรวม 18,413,000 คัน แบ่งเป็น
- รถยนต์/รถปิกอัพ 8,625,000 คัน
- รถจักรยานยนต์ 9,330,000 คัน
- รถบัส/รถบรรทุก 458,000 คัน
เร่งแผนกระตุ้นการใช้รถ EV ภายใน 5 ปี
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้วางนโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยมาตรการระยะเร่งด่วนและมาตราการระยะ 1-5 ปี โดยมุ่งส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งประเภทสองล้อ สามล้อ และสี่ล้อไฟฟ้า และวางแผนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) สำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานแบตเตอรี่และการบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ที่เกิดจากการใช้งานภายในประเทศอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดยมาตรการกระตุ้นระยะ 1-5 ปี จะส่งเสริมการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต การเตรียมการด้านการบริหารจัดการซากรถยนต์แบตเตอรี่ใช้แล้ว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ตามมาตรฐานสากล (EcoSystem) เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด อีกทั้งยังส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าดำเนินนโยบายไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรมและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอีกด้วย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส