ชิเกกิ เทราชิ (Shigeki Terashi) ผู้บริหารระดับสูงของโตโยต้า (Toyota) บริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นและเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (วัดตามจำนวนคันที่ผลิต) ได้ตอบคำถามจากนักลงทุนผ่านสำนักข่าว Bloomberg เกี่ยวกับความพยายามใช้แบตเตอรีในรถยนต์ไฟฟ้าว่ารถยนต์ไฮบริดและเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน รวมทั้งตัวเลือกอื่น ๆ ซึ่งหมายถึงรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) จะแข่งขันกันไปอีกหลายปีจนถึง 2050 แล้วถึงตอนนั้นโตโยต้าก็จะได้ตัวเลือกที่ดีที่สุด และอ้างว่าวัตถุดิบที่ใช้ผลิตแบตเตอรีอาจเป็นมลพิษมากกว่ารถยนต์น้ำมัน
โตโยต้าเป็นรายแรกที่ผลิตรถยนต์ไฮบริดจำนวนมากโดยการเปิดตัว Toyota Prius NHW10 ในญี่ปุ่นเมื่อปี 1997 อีกทั้งได้ผลิตรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน Mirai ออกจำหน่ายจำนวนมากโดยเปิดตัวในงานแสดงรถยนต์ Los Angeles Auto Show เมื่อพฤศจิกายน 2014
โตโยต้ายึดมั่นในความเชื่อว่ารถยนต์ไฮบริดและเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ตัวเองพัฒนามาอย่างยาวนั้นดีเลิศประเสริฐศรีมณีเด้งและยังเมินรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี ซึ่งปลายปี 2020 อากิโอะ โทโยดะ (Akio Toyoda) ซีอีโอของโตโยต้ากล่าวในการประชุมประจำปีของผู้ผลิตรถยนต์ว่าการมุ่งเน้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะก่อให้เกิดมลพิษมากกว่ารถยนต์เชื้อเพลิงน้ำมันจากการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหินและน้ำมัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ขัดกับการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งจะทำให้อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ล่มสลาย
มิถุนายน 2019 โตโยต้าประกาศเร่งแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่จะออกมาขายครึ่งหนึ่งของยอดขายทั่วโลกภายในปี 2025 แต่ยังคงให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฮบริดและเซลล์เชื้อเพลิงมากกว่าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) รวมทั้งได้จับมือกับ CATL และ BYD ผู้ผลิตแบตเตอรี่ของจีนในการจัดหาแบตเตอรี่ ซึ่งจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) เริ่มเจาะตลาดในประเทศจีน
กุมภาพันธ์ 2021 โตโยต้าประกาศเตรียมเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี (BEV) 2 รุ่นในสหรัฐฯ เพื่อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและต่อมาเดือนเมษายนโตโยต้าได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี (BEV) Toyota bZ4X เป็นรุ่นแรกในซีรีส์ใหม่ bZ ที่งานแสดงรถยนต์ Auto Shanghai พร้อมประกาศแนะนำรถยนต์ BEV 15 รุ่นที่จะออกมาภายในปี 2025 ซึ่งประกอบด้วยรถยนต์ในซีรีส์ bZ จำนวน 7 คัน
ถ้าสังเกตดี ๆ โตโยต้าก็สนใจในรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) นั่นแหละ แต่การปรับแผนการผลิตรถยนต์จะใช้เวลาประมาณ 5 ปี ที่สำคัญจะต้องจัดเตรียมแบตเตอรี่ให้เพียงพอ ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ได้ร่วมมือกับพานาโซนิค (Panasonic) ร่วมพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แล้วต่อมาก็จับมือกับ CATL และ BYD นั่นคงไม่ใช่เน้นแค่ไฮบริดแล้วล่ะเพราะสเกลใหญ่ขึ้นขนาดนี้น่าจะมุ่งไปที่รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ในแบบเต็ม ๆ แต่ก็อาจเป็นไปได้ที่โตโยต้าอยากเก็บรถยนต์ไฮบริดและเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนไว้รองรับกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่อยากเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ในช่วงหลายปีนี้
ที่มา : electrek
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส